ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5050
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หน้าศึกอย่านอนใจ

[คัดลอกลิงก์]
กุนซือสมองเพชร

สุภาษิตพระร่วง สอนว่า เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หน้าศึกอย่านอนใจ

ในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย  ตอนพระมหาอุปราชาจะยกทัพมาทำสงครามกับพระนเรศวร พระเจ้านันทบุเรงทรงเตือนว่า

"สงครามการเศิกไซร้   แสนกล
จงพ่ออย่ายินยล          แต่ตื้น"

เพราะการทำสงคราม  เป้าหมายก็คือ  ต้องชนะ
ทั้งสองฝ่ายจึงต้องงัดกลยุทธ์  กลศึก  ออกมาใช้กันทุกรูปแบบ

กลศึก  กลยุทธ์ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "กล" ก็คือซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยากจะคาดเดา  คนที่วางแผนจึงต้องมีสติปัญญาไม่ธรรมดา

สุดยอดกุนซือที่วางแผนกลศึกลึกล้ำเหลือกำลัง   เห็นจะไม่มีใครเกินขงเบ้ง ในเรื่องสามก๊ก

ขงเบ้งแต่เดิมเป็นนักปราชญ์ชาวบ้าน ออกแนวสมถะ ปลีกวิเวกอยู่ในกระท่อมหลังน้อยบนเทือกเขาโงลังกั๋ง  แต่ชื่อเสียงก็ลือเลื่อง จนได้รับสมญาว่า "มังกรหลับ"

เมื่อเล่าปี่เชื้อพระวงศ์ตกยากคิดกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นมือทรราชย์  เล่าปี่ตะเกียกตะกายไปอ้อนวอนขงเบ้งให้มาช่วย ซึ่งก็ต้องเทียวไล้เทียวขื่ออยู่หลายรอบกว่าจะได้พบ  ท้ายที่สุดขงเบ้งทนลูกตื๊อไม่ไหวก็เลยยอมโดดเข้าสู่สงคราม มาเป็นกุนซือให้


ประวัติการศึกษาของขงเบ้ง ไม่แน่ชัดว่าเรียนจบจากสำนักไหน  สาขาอะไร แต่พี่แกฉลาดรอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกสงคราม  ภาษา ดนตรี หรือแม้แต่ดูดวงดูดาว พยากรณ์อากาศ ฯลฯ เป๊ะไปหมด จนได้ฉายาว่า"ผู้หยั่งรู้ดินฟ้า"

ในสงคราม ขงเบ้งจะออกไปบัญชาการรบเองด้วยทีท่าน่าหมั่นไส้ไม่เบา คือนั่งไปในรถแทนที่จะขี่ม้า  สวมหมวก  แถมถือพัดขนนกโบกสะบัดแทนที่จะถืออาวุธ  เก๋เสียไม่มี.. ดูไฮโซพิลึก

กลศึกของขงเบ้งไร้เทียมทาน แต่ละครั้งก็หลอกทหารฝ่ายตรงข้ามให้พลาดท่าเสียที ตกเข้าสู่วงล้อม แล้วก็สังหารโหดเสียนับหมื่ีนนับแสน  เลือดนองแผ่นดิน  ขงเบ้งจึงถูกมองอีกมุมหนึ่งว่า เป็นทรราชย์ตัวจริง ยิ่งกว่าตั๋งโต๊ะที่ว่าเป็นทรราชย์ดั้งเดิม


แต่ขงเบ้ง นักปราชญ์หนุ่ม คนที่เคยสมถะ อยู่กระท่อมไม้ไผ่ เมื่อเปลี่ยนสถานภาพก็เปลี่ยนวิธีคิด  เมื่อตัดสินใจโดดเข้าสู่สนามรบ  ก็ต้องรบ และต้องชนะ..เรื่องอื่นไม่ต้องพูดถึง

ขงเบ้งก็เลยใช้ชีวิตอยู่กับการทำสงคราม ทำให้  จ๊กก๊กกลายเป็นหนึ่งในสามก๊กใหญ่ ในประวัติศาสตร์จีน ทำให้เล่าปี่ เชื้อพระวงศ์ตกยาก อัพเกรดขึ้นมาเทียบรุ่นกับโจโฉ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและซุนกวนเจ้าเมืองแดนตะวันออก  แถมหวุดหวิดจะล้ำหน้ากล้าแกร่งกว่าด้วยซ้ำ


แต่คนคำนวณ ไม่สู้ฟ้าลิขิต  จู่ๆ ดาวประจำตัวของขงเบ้งที่ีเคยสุกใส  ก็ดับวูบเอาดื้อๆ

เพลงขงเบ้งดูดาว พรรณนาความรู้สึกของขงเบ้งผู้หยั่งรู้ดินฟ้าไว้ว่า
"ขงเบ้งดูดาว..เห็นดาวตก
ช้ำในหัวอกเมื่อเห็นดาวไม่สดใส
หรือว่าเป็นกรรม...จึงเป็นไป
ดาวที่สดใสแต่ก่อนนั้นพลันมืดมน
หรืิอโชคชะตา..ของเราขาด
เราจึงไม่อาจจะหนีตายได้อีกหน
เคยช่วยคนมาให้โด่งดังตั้งหลายคน
ถึงคราวช่วยตนให้รอดตายไม่ได้เลย"



ขงเบ้งรู้ว่าตัวเองชะตาขาด ลองทำพิธีต่ออายุก็ไม่สำเร็จ แต่ด้วยความเป็นห่วงว่าจะเสียเมือง ยังอุตส่าห์สั่งให้ทหารนำศพใส่รถศึก จัดท่าถือพัดให้เหมือนยังมีชีวิต ออกบัญชาการรบ ซึ่งก็ได้ผลเพราะกองทัพสุมาอี้มองเห็นขงเบ้งแต่ไกล ไม่ได้ซูมภาพให้ถนัดชัดเจน คิดว่าคนอะไรดาวตกแต่ดวงยังแข็งเป๊ก  ก็เลยใจเสียถอยกรูด  กลศึกของขงเบ้งก็เลยยังใช้ได้แม้แต่ตอนที่ตายไปแล้ว

แต่ท้ายที่สุด หลังจากขงเบ้งตาย จ๊กก๊กที่ขงเบ้งทุ่มให้สุดตัวสุดชีวิต ก็เสื่อมสลายอยู่ดี


ขงเบ้งก้ำกึ่งระหว่างวีรบุรุษ และทรราชย์ แต่ที่แน่ๆ เขาเป็นกุนซือสมองเพชร และที่น่ายกย่องก็ตรงที่แม้จะเก่งฉกาจปานนั้น แต่ขงเบ้งก็ไม่ได้พยายามจะช่วงชิงอำนาจ ไม่ว่าจะจากเล่าปี่หรือมาจนสมัยพระเจ้าเล่าเสี้ยนลูกชายเล่าปี่ซึ่งไม่ทรงพระเอาไหน น่าทำรัฐประหารเสียยิ่งนัก

เรื่องราวของไอ้หนุ่มหลังเขา ที่ผันตัวเองจากนักปราชญ์ชาวบ้านมาบัญชาการรบ กลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่โลกไม่เคยลืม จนได้รับยกย่องเทียบชั้นเทพเจ้า มีศาลเจ้าให้คนกราบไหว้ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฉากสุดท้าย


คิดว่าหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นกุนซือเวลานี้ ไม่ว่าระดับสมองเพชร สมองพลอย หรือลูกปัดพลาสติก รวมทั้งบางคนที่มีคนชเลียร์ว่าเป็นขงเบ้งเข้าไปแล้ว น่าจะลองไปฟังเพลงขงเบ้งดูดาวเล่นบ้าง ก็ไม่เลว

อาจจะช่วยให้เห็นสัจธรรม แล้วก็เพลาๆ บทบาทลงบ้าง  ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียวราวกับอยู่ในสงคราม

วีรบุรุษกับทรราชย์ บางทีมันก็แยกกันไม่ค่อยออก

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ  ดาวที่สดใส มันต้องมีวันมืดมน  ไม่ช้าก็เร็ว
ไม่เชื่อไปถามขงเบ้งดูก็ได้






ข้อมูลจาก

http://konchopkid.blogspot.com.






ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้