ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7585
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอาจารย์กว่า สุมโน วัดป่ากลางโนนภู่ ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์กว่า สุมโน


วัดป่ากลางโนนภู่
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิและการสืบเชื้อสาย

พระอาจารย์กว่า สุมโน มีนามเดิมว่า กว่า เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จึงนับเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดกัน ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ หลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) โยมมารดาชื่อ นางหล้า สุวรรณรงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ โดยท่านมีพี่ชายคือ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน แห่งวัดป่ากลางโนนภู่ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ อายุแก่กว่าท่าน ๔ ปี และท่านอายุอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิท ๕ ปี (พระอาจารย์ฝั้นเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒)

ตระกูลสุวรรณรงค์ สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไท เมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว (เชื้อสายของพระเวสสันดร) ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณานิคม และผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานยศเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งยศ “พระเสนาณรงค์” นี้เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองท่านแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึงพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองท่านที่สี่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ เมืองพรรณานิคมได้เปลี่ยนเป็นอำเภอพรรณานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณานิคมท่านแรก ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว ทั้งเพื่อป้องกันความสับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน เป็นต้น พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) นายอำเภอพรรณานิคม จึงได้เอานามตัว คือ “สุวรรณ์” มารวมกับนามบรรดาศักดิ์ คือ “เสนาณรงค์” แล้วนำมาตั้งเป็นนามสกุลว่า “สุวรรณรงค์”

เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า “พระ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง คือ “พระเสนาณรงค์” เพียงระดับเดียว ตำแหน่งพระเสนาณรงค์เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ระดับ “พระ” และในสมัยก่อนนั้นเมืองพรรณานิคมยังใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่อยู่ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่แบ่งตำแหน่งสำคัญออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร หากเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ โดยยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และปี พ.ศ. ๒๔๔๕ อาจเทียบได้ดังนี้ คือ เมืองต่างๆ ให้เรียกว่าอำเภอ, ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ, ให้อุปฮาด (อุปราช) เป็นปลัดอำเภอ, ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ และให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ

ดังนั้น พอจะอนุมานได้ว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่เป็นข้าราชการเทียบเท่าได้กับระดับ “อุปฮาด (อุปราช)” หรือในระบบใหม่ก็คือ “ปลัดอำเภอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น

ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น และหลวงพรหมผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นอีกให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ ก็เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ฯลฯ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหมเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือลำห้วยอูน อยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) โยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวาง และเยือกเย็น เป็นที่ประจักษ์มาช้านาน

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 21:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ขณะอายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านไร่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์  

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านมีความประสงค์จะออกบวชติดตามพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย จึงได้กราบลาหลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) และนางหล้า สุวรรณรงค์ โยมบิดา-โยมมารดา เพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระรักและพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอาจารย์กว่า สุมโน ก็ได้ออกติดตามพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย และร่วมพักจำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์ต่างๆ ที่จำพรรษาในปีเดียวกันนั้น ได้แก่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์สาร, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป


๏ พระอาจารย์กว่าและพระอาจารย์ฝั้น พบพระอาจารย์มั่น

-------------------------------------


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 21:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย


พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) พระอุปัชฌาย์


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ญาติใกล้ชิดของพระอาจารย์กว่า สุมโน


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 21:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี


แผนที่แสดงเส้นทางการอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น
จากวัดป่าบ้านหนองผือ ไปยังวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร




5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 21:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาท่านพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์กว่า สุมโน ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่บ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) โดยทันที และเมื่อเหล่าศิษยานุศิษย์ตกลงใจที่จะนำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส ตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นประสงค์ พระอาจารย์กว่าก็ได้ติดตามนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจังหวัดสกลนครด้วย

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริอายุของท่านพระอาจารย์มั่นรวมได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๕๖

วันประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ตรงกับวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คือ ๘๑ วันหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน พระอาจารย์กว่า สุมโน ก็ได้ไปร่วมงานด้วย


บรรดาศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมในงานประชุมเพลิง
สรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร  
พระอาจารย์กว่า สุมโน นั่งแถวกลาง หมายเลข ๑๘

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 21:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ช่วงปลายชีวิตของพระอาจารย์กว่า

ในช่วงปลายชีวิตขององค์หลวงปู่ เข้าใจว่าท่านได้ย้ายจากสถานที่จำพรรษาที่บ้านนาหัวช้างมาอยู่ประจำที่วัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อคราวหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายอาพาธหนักอยู่ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า โดยหลวงปู่กู่ผู้เป็นพี่ชายท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวท่าน ซึ่งเคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ

ครั้นต่อมาในปี ๒๔๙๖ นี้หลวงปู่กู่ได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงเป็นวิบากกรรม และคงไม่พ้นจากมรณภัยนี้ไปได้ ท่านจึงเร่งทำความเพียร มิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ตลอดพรรษา

เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาญาติโยมขึ้นไปปฏิบัติสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ภูพาน ที่ท่านได้มาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการโรคกลับกำเริบขึ้นอีก ญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านกลับวัดเพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ คงอาศัยอยู่ที่นั้นโดยมีพระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้น้องชาย พระประสาน ขันติกโรและสามเณรหนูผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นท่านอาจารย์กู่นั่งสมาธิทำความสงบนิ่งอยู่ โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณะภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ ณ ถ้ำนั้นเองในวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖

พระอาจารย์กว่าจึงได้ร่วมกับชาวบ้านเชิญศพของท่านบรรจุหีบนำมาไว้ที่วัดป่ากลางโนนภู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลและในงานฌาปนกิจศพ ท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาร่วมงานกันมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป เป็นต้น

จากนั้นท่านจึงได้อยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่เป็นการถาวร

เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงปู่ได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบท พระภิกษุสนธิ์ อนาลโย (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระราชภาวนาพินิจ แห่งวัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, องค์ท่าน (พระอาจารย์กว่า สุมโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในช่วง ๔ ปีสุดท้ายของพระอาจารย์กว่า ได้มีการอนุญาตให้มีการออกวัตถุมงคล โดยรุ่นแรกได้ออกเหรียญที่ระลึกในงานกฐินวัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวาย เหรียญตอกโคด “จ อ” ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า “วัดป่าบ้านภู่” เป็นเหรียญรูปน้ำเต้า

ในปี ๒๕๑๗ ก็ได้ออกมา ๒ รุ่น รุ่นหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกในงานกฐินวัดป่ากลางโนนภู่ ปี ๒๕๑๗ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวาย เหรียญตอกโคด “จ อ” ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า “วัดป่าบ้านภู่” เป็นเหรียญรูปน้ำเต้า และอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างธุดงคสถานน้ำตกกะอาง จ.นครนายก ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า “วัดป่านาภู่” เป็นเหรียญรูปไข่

ในปี ๒๕๑๘ ได้ออกเป็นพระผงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อเป็นที่ระลึกในงานทอดกฐิน วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยโรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวายและเหรียญสุดท้ายเป็นเหรียญกลม ไม่ระบุวันที่หรือปีที่สร้าง เป็นเหรียญที่ โรงเรียนจ่าอากาศ ดอนเมืองสร้างถวายอีกเช่นกัน ชื่อวัดในเหรียญใช้ชื่อว่า “วัดป่ากลางโนนภู่” และมีข้อความบนเหรียญระบุว่า “รุ่นหนึ่ง” ฝีมือการผลิตค่อนข้างประณีตกว่าเหรียญรูปน้ำเต้ามาก

ภายหลังจากงานกฐินปี ๒๕๑๘ ได้ ๒ เดือนเศษท่านก็มรณภาพ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-12 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การมรณภาพ

พระอาจารย์กว่า สุมโน ได้มรณภาพด้วยโรคหัวใจวาย ณ วัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สิริอายุรวมได้ ๗๒ พรรษา ๕๑ หลังจากงานฌาปนกิจศพท่านแล้ว ก็ได้มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้เคียงคู่กับเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย ณ วัดป่ากลางโนนภู่


เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย (ขวา)
และเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กว่า สุมโน (ซ้าย)
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร




.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง                                                                                        
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20983


ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้