|
ตำราพิชัยสงคราม ๒๑ กลยุทธไทย "
ตำราพิชัยสงครามของไทย เขียนโดยการผูกโยงเป็นคำกลอน มีทั้งสิ้น ๒๑ กลยุทธ์
ฤทธี สีหจักร ลักษณ์ซ่อนเงื่อน
เถื่อนกำบัง พังภูผา ม้ากินสวน
พวนเรือโยง โพงน้ำบ่อ ล่อช้างป่า
ฟ้างำดิน อินทร์พิมาน ผลาญศัตรู
ชูพิษแสลง แข็งให้อ่อน ยอนภูเขา
เย้าให้ผอม จอมปราสาท ราชปัญญา
ฟ้าสนั่นเสียง เรียงหลักยืน ปืนพระราม
กลยุทธ์ ๑ : กลฤทธี
กลอันหนึ่ง..........................ชื่อว่าฤทธีนั้น
ชั้นทะนงองอาจ....................ผกผาดกล่าวเริงแรง
สำแดงแก่ข้าแกล้วหาญ..........ชวนทำการสอนศาสตร์
อาจเอาบ้านเอาเมือง..............ชำนาญเนืองณรงค์
ยงใจผู้ใจคน.......................อาสาเจ้าตนทุกค่ำเช้า
จงหมั่นเฝ้าอย่าครา...............พักตราชื่นเทียมจันทร์
ทำโดยธรรมจงภักดิ์..............บันเทิงศักดิ์จงสูง
จูงพระยศยิ่งหล้า.................กลอันศึกนี้ว่า กลชื่อฤทธี
กลยุทธ์นี้สรุปความว่า ให้ฝึกซ้อมให้เชี่ยวชาญการศึก ให้พร้อมที่จะรบได้ตลอด เมื่อมีโอกาสจะได้อาสาเจ้านายทำศึก การจะชนะศึกได้ต้องเตรียมพร้อมให้ดี ฝึกฝนฝีมือสม่ำเสมอไม่ประมาท มีวินัย นับเป็นกลยุทธ์พื้นฐานที่ ทุกกองทัพต้องมี ถ้าทัพใดหย่อนยานการฝึกและขาดวินัย ก็เตรียมใจพ่ายแพ้ได้เลย และการที่กองทัพจะแสดง “ฤทธิ์” ได้นั้นต้องมีแม่ทัพที่ดี ที่เอาใจใส่ร่วมเป็นร่วมตายกับลูกน้อง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงจะสามารถฝ่าฟัน พิฆาตไพรีเอาชนะศึกได้
กลยุทธ์ ๒ : กลสีหจักร
“กลหนึ่งชื่อว่าสีหจักร..........ให้บริรักษ์พวกพล
ดูกำลังตนกำลังท่าน..........คิดคะเนการแม่นหมาย
ยักย้ายพลเดียรดาษ..........พาสไครคลี่กรรกง
ตั้งพลลงแปดทิศ..............สถิตช้างม้าอย่าไหว
ตั้งพระพลาชัยจงสรรพ.......จงตั้งทัพโดยศาสตร์
ฝังนพบาทตรีโกน.............ให้ฟังโหรอันแม่น
แกว่นรู้หลักมิคลาด............ให้ผู้อาจทะลวงฟัน
ให้ศึกผันแพ้พ่าย..............ย้ายพลใหญ่ให้ไหว
ไสพลศึกให้หนี................กลศึกอันนี้ชื่อว่า สีหจักร”
กลยุทธ์นี้สรุปใจความอยู่ที่ “ดูกำลังตนกำลังท่าน” ซึ่งก็คือ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา” ในพิชัยสงครามซุนวูนั่นเอง การรู้เขารู้เราเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่รู้ว่าจุดด้อยของเราคืออะไร เราก็จะป้องกันไม่ถูก และถ้าเราไม่รู้จุดบอดของข้าศึก ดุ่มๆโจมตีไปความเสียหายย่อมมีมาก ดีไม่ดีสูญเสียทั้งกองทัพ ประดุจเดินผิดตาเดียวแพ้ทั้งกระดาน ดังนั้นข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนทำศึก
กลยุทธ์ ๓ : กลลักษณ์ซ่อนเงื่อน
“กลหนึ่งลักษณ์ซ่อนเงื่อน.........เตือนกำหนดกฎหมายตรา
แยกปีกกาอยู่สรรพ.........................นับทหารผู้แกล้ว
กำหนดแล้วจงคง............................แต่งให้ยงยั่วเย้า
ลากศึกเข้าในกล............................แต่งคนแต่งช้างม้า
เรียงหน้าหลังโจเจ..........................รบโยเยแล้วหนี
ศึกติดตีตามติด.............................สมความคิดพาดฆ้องชัย
ยกพลในสองข้าง...........................ยกช้างม้ากระทบ
ยอหลังรบสองข้าง..........................จึ่งบ่ายช้างอันหนี
คระวีอาวุธโห่ร้อง............................สำทับก้องสำคัญ
ยืนยันรบทั้งสี่................................คลี่พลออกโดยสั่ง
ศัตรูตั้งพังฉิบหาย...........................อุบายศึกอันนี้
ชื่อว่าลักษณ์ซ่อนเงื่อน”
กลยุทธ์นี้มีให้เห็นทุกนิยายพงศาวดาร และทุกตำราพิชัยสงคราม นักการทหารทุกคนทราบดี แต่ก็มักจะได้ผลเสมอ ๆ ปราชญ์โบราณท่านแต่งร่ายได้เห็นภาพเลย คือแต่งทัพหลอกล่อให้ข้าศึกหลงกลตามตีแล้วทำเป็นพ่ายให้ข้าศึกได้ใจตามตีต่อ เข้าสู่ killing field ที่มีทัพหนุนของเราซุ่มคอยโอบล้อมโจมตีอยู่ ที่ไหนกองทัพข้าศึกจะไม่พลาดพลั้งเสียทีแก่เรา
กลยุทธ์ ๔ : กลเถื่อนกำบัง
“กลหนึ่งชื่อว่าเถื่อนกำบัง........รั้งรบพลตนน้อย
ชัดคนคล้องแฝงป่า.......................แต่งพลหล้าแล่นวง
ทั้งกงนอกกงใน..........................ไว้ช้างม้าให้แฝง
แทงให้ร้องทรหึง..........................มี่อึงฆ้องกลองชัย
ไว้ให้เสียงสำทับ..........................ปืนไฟกับธนู
หน้าไม้กรูกันมา...........................ดาบทะลวงฟันดาหลัง
ประนังช้างม้าเรี่ยชายไพร...............ลูกหาบในป่าโห่
เกราะเสโลนี่นั่น..........................ให้ศึกงันรึถอย
ครั้นศึกคล้อยเห็นผู้ห้าว.................กลเสือคราวครึมป่า
แล้วออกหล้าแล่นฉาว...................ทำสามหาวซ่อนเล็บ
เก็บแต่เตียนกินรก.......................ลอบฉวยฉกเอาจงเนือง
ให้ศึกเคืองใจหมอง......................คลองยุบลดังนี้
ชื่อว่าเถื่อนกำบัง”
กลเถื่อนกำบังคือ ฝ่ายเราคนน้อยกว่าแต่ทำเป็นมีกำลังมากกว่า หลอกให้ศัตรูไม่กล้าโจมตี เพราะเกรงว่าจะมีกำลังซ่อนอยู่ อุบายเมืองเปล่าที่ขงเบ้งขู่สุมาอี้นับเป็นตัวอย่างอันดี
(ใครที่เคยดู ภาพยนตร์ สุริโยไท ๕ ชั่วโมง ก็จะเคยได้ยินนะครับ ตอนที่ ขุนพินิจ กำลังถวายการสอนแก่ ราชธิดาในพระสุริโยไท ขุนพินิจจึงสอน กลศึก "เถื่อนกำบัง" )
กลยุทธ์ ๕ : กลพังภูผา
“กลนี้ชื่อพังภูผา................แม้ศึกมาปะทะ
อย่าเพ่อระเริงแรง..............สำแดงดุจเห็นน้อย
ชักคล้อยแฝงป่าเข้า............ศึกเห็นเราดูถูก
ผูกช้างม้าออกไล่..............ยอพลใหญ่กระทบ
ผิรบเข้าบ่ไหว...................ให้ช้างม้าโรมรุม
กลุ้มกันหักอย่าคลา............อย่าช้าเร่งรุมตี
ศึกแล่นหนีตามต่อย...........ให้ยับย่อยพรายพรัด
ตัดเอาหัวโห่เล่น.................เต้นเริงรำสำแดงหาร
ให้ศึกคร้านคร้ามกลัว...........ระรัวระเสริดสัง
กลศึกอันนี้ชื่อว่าพังภูผา”
กลยุทธ์นี้จะตรงกันข้ามกับกลเถื่อนกำบัง คือฝ่ายเรามีมากกว่าแต่กลับหลอกให้ข้าศึกตายใจว่า เรามีทัพน้อยอ่อนด้อย หลอกให้ข้าศึกตั้งตนประมาทเข้าตี แล้วในที่สุดก็เสร็จเรา
กลยุทธ์ ๖ : กลม้ากินสวน
“กลหนึ่งชื่อว่าม้ากินสวน.....ให้หาผู้ควรหาญห้าว
ลาดเอาเหย้าเอาเรือน.................บ้านถิ่นเถื่อนอยู่ใกล้
จับกุมได้เอามา.........................นานาเลศเทศกาล
ปันพนักงานจงขาด....................ปรนไปลาดเนืองๆ
ให้ศึกเคืองใจแค้น....................แม้นจะอยู่ก็บ่มีสุข
บุกขับกับทุกเดือน....................เตือนใจตื่นไปมา
กลขับปลาให้ห้อม....................ด้อมดักสักสุ่มเอา
ให้ศึกเหงาใจถอย....................ค่อยเก็บนอกเข้ามา
ให้ระอาใจอ่อน.......................ผ่อนผู้คนให้หนี
กลอนกล่าวกลศึกนี้.................ชื่อว่าม้ากินสวน”
พฤติกรรมม้ากินสวนคือ ค่อย ๆ ตอดเล็มกินทีละนิดทีละนิดค่อยเป็นค่อยไป แต่สุดท้ายก็กินจนหมดสวน คือการตีรุกคืบทีละนิดค่อยๆกลืนกินดินแดนทีละส่วนทีละน้อย เป็นกลยุทธ์ที่ใช้มากในสงครามโลกครั้งที่1 คือสงครามสนามเพาะ คือค่อยๆยึดพื้นที่ทีละน้อย แล้วขุดสนามเพาะไว้ให้ทหารประจำการ ทหารที่อยู่ในหลุมเพาะสามารถโจมตีข้าศึกที่เคลื่อนที่เข้ามาได้ แต่ตัวอยู่ในหลุมสามารถป้องกันการโจมตีจากอีกฝ่ายได้ สงครามนี้กินเวลายาวนานเพราะทั้งสองฝ่ายต่างทำสนามเพาะเฝ้าระวังซึ่งกันและ กัน กว่าจะกินพื้นที่ได้สักกิโลเมตรหนึ่งใช้อาจเวลานานเป็นสัปดาห์ สงครามลักษณะนี้สิ้นสุดด้วยการประดิษฐ์รถถังเข้าโจมตี เพราะรถถังสามารถป้องกันกระสุนที่เหล่าทหารในหลุมเพาะโจมตีได้ และยังเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่เป็นหลุมบ่อ ของสนามเพาะไปโจมตีข้าศึกได้
กลยุทธ์ ๗ : กลพวนเรือโยง
“กลศึกอันหนึ่ง...........ชื่อว่าพวนเรือโยง
ประดุจพะองปีนตาล..............ทำจงหวานแช่มชิด
ผูกเป็นมิตรไมตรี.................สิ่งใดดียกให้
ละไล่ต่ออย่าเสีย.................แต่งลูกเมียให้สนิท
ติดต่อตั้งยังกล....................ยุบลช้างเถื่อนตามโขลง
โยงเบ็ดราวคร่าวเหยื่อย่าม......ค่อยลากก้ามเอามา
ด้วยปัญญาพิสดาร...............กลการศึกอันนี้
ชื่อว่าพวนเรือโยง”
เมื่อข้าศึกมีฝีมือเก่งกล้าเอาชนะไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลยเอามันเป็นพวกเลยดีกว่า ไม่ต้องรบให้เหนื่อยแถมได้กำลังอันเก่งกล้านั้นเป็นพวกอีกต่างหาก ทำได้โดยการ ให้ทรัพย์สมบัติดีมีราคา ใ ห้สาวงาม ยกลูกสาวให้จะได้เป็นญาติกันเสีย ฝ่ายนั้นก็ไม่กล้ามาโจมตีเรา เพราะเรามีศักดิ์เป็นพ่อตาเสียแล้ว ในพงศาวดารไทย และจีนมีตัวอย่างกลยุทธ์เช่นนี้มาก
กลยุทธ์ ๘ : กลโพงน้ำบ่อ
“กลหนึ่งชื่อว่าโพงน้ำบ่อ.......คิดติดต่อข้าศึก
ฝ่ายเขานึกดูแคลน....................ใครรุกแดนรุกด้าว
เลียบเลียมกล่าวข่มเหง...............ชรเลงดูหมิ่นเรา
โอนอ่อนเอาอย่างขวาง...............ข้างเราทำดุจน้อย
ค่อยเจรจาพาที........................ลับคดีชอบไว้
อ่อนคือใครตามใจ....................น้ำไหลลู่หลั่งหลาม
พูดงามก้านกิ่งใบ.....................อัธยาศัยถ่อมถด
อดคำกล่าวท่าวเอา....................ครั้นว่าเขาดูหมิ่น
ผินฟังคนดูแคลน.....................แดนพังพลดูถูก
ประดุจลูกหลานตน....................ครั้นสบสกลไซร้
จึงยกได้เขาคืน.......................เราลุกยืนผูกเอา
ได้เขาทำสง่าเงย......................เตยหน้าตาโอ่โถง
ดุจหนึ่งโพงใต้น้ำ......................คำคดีติดต่อ
ชื่อว่าโพงน้ำบ่อ”
กริยาโพงน้ำคือ ต้องน้อมตัวลงวิดน้ำ จึงจะได้น้ำมา เมื่อฝ่ายข้าศึกมีกำลังเก่งกล้า ต้องโอนอ่อนผ่อนตามเขาไปก่อน รอให้เขาประมาทเลิกระแวงคลายใจ เราจึงค่อยหาจังหวะลงมือ
กลยุทธ์ ๙ : กลล่อช้างป่า
“กลศึกอันหนึ่งชื่อว่าล่อช้างป่า.......ผี้ศึกมาคะคึก
ศึกครั้นหนีครั้นไล่...............................บ่ค่อยไต่ค่อยตาม
ลามปามแล่นไล่มา.............................ให้แทงหาขุมขวาก
พากที่เหวที่ตม..................................แต่งให้ล้มหลุมขุม
ซุ่มซ่อนตนสองปราด..........................แต่งให้ลาดเบื้องหน้า
คอยอยู่ท่าที่ดี..................................ถ้าไพรีเห็นได้
ศึกเห็นใคร่ใจคด...............................ค่อยถอยถดฝ่ายเรา
ฝ่ายเขาขามบ่ไล่...............................ฝ่ายเราไปล่รี้พล
ไว้เป็นกลหลายฐาน...........................ปันการตามน่าหลัง
ระวังยอหลายแห่ง.............................สบที่แต่งเนืองเนือง
พลเขาเปลืองด้วยกล..........................ยุบลล่อช้างเถื่อน
แล้วแต่งเตือนหน้าหลัง........................ทั้งไปน่าก็บ่ได้
ถอยหลังไปก็บ่รอด............................ทอดตนตายกลางช่อง
คลองยุบลดังนี้.................................ชื่อว่าล่อช้างป่า”
เคล็ดลับของกลยุทธ์นี้อยู่ที่ หลอกล่อให้ข้าศึกหลงกลมาติดกับเรา วางหลุมพรางล่อหลอกเป็นระยะ ๆ จนสุดท้ายทัพข้าศึกก็ถูกทำลายย่อยยับปราชัยไป การหลอกล่อจะใช้อะไร ก็ขึ้นอยู่กับแม่ทัพของฝ่ายศัตรู ถ้าโลภก็ทิ้งของมีค่า ทิ้งสเบียงให้ตามไปเก็บ ถ้าแม่ทัพมีปัญญา ต้องลวงล่อด้วยกลศึก ให้หลงเข้าใจผิด
กลยุทธ์ ๑๐ : กลฟ้างำดิน
“กลศึกอันหนึ่ง...................ชื่อว่าฟ้างำดิน
หมั่นสำเหนียกพลพฤนทรามาตย์.....ให้ใจอาจใจหาญ
ชำนาญช้างม้ากล้าณรงค์ ...............มั่นให้คงชี้ฉับเฉียว
เหลีอบเหลียวหน้าซ้ายขวา..............ไปมาผับฉับไว
ใช้สวยยอดยวดยง.......................จงชำนาญแล่นแอ่นไว
ปืนไฟหน้าไม้พิษ.........................สนิทธนูดาบดั้งแพน
แสนเสโลหโตมร.........................กรไว้พุ่งเชี่ยวชาญ
ชำนาญศิลป์ทั้งปวง.......................ถลวงฟันรันรุม
ชุมพลสิบพลร้อย.........................อย่าให้คล้อยคลายกัน
ทั่วพลพันพลหมื่น........................หื่นพลแสนพลล้าน
จรเดียวดาลเด็ดมา.......................แปรงาช้างบ่ายตาม
ฟังความตามบังคับ.......................กับเสบียงเรียงถุง
ประดุงไพร่พลช้างม้า.....................กลศึกอันนี้ว่า ชื่อฟ้างำดิน”
กลยุทธ์นี้ เน้นที่การเคลื่อนทัพให้พร้อมเพรียง แม่ทัพสามารถบังคับบัญชากองทัพประดุจบังคับนิ้วในมือ แม้จะมีกองทัพใหญ่ก็เหมือนบังคับบัญชาทหารหน่วยย่อย
การที่จะสามารถบังคับบัญชา ทหารนับหมื่นนับแสนให้ พร้อมเพรียงกัน ทำงานประสานกันได้อย่างกลมกลืนนั้นทำได้ยาก ทุกหน่วยต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิฉะนั้นแม้มีกำลังนับล้านก็มิอาจแสดงกำลังได้ สุดท้ายต้องพ่ายแพ้ภัยไปเอง
กลยุทธ์ ๑๑ : กลอินทร์พิมาน
“กลหนึ่งชื่อว่าอินทพิมาน.....ให้อาจารยผู้รู้
เทพยาคูฝังนพบาท....................แต่งสีหนารทข่มนาม
ตามโบราณผู้แม่น......................อันชาญแกวนเเหนประโยชน์
บรรเทาโทษโดยศาสตร์...............ยุรยาตรโดยอรรถ
ให้ประหยัดซึ่งโทษ....................อย่าขึ้งโกรธอหังการ์
มนตราคมสิทธิ์ศักดิ์....................พำนักในโบราณ
บูรพาจารย์พิไชย......................โอบเอาใจพลหมู่
ให้ดูสกุณนิมิต..........................พิศโดยญาณประเทศ
ภิเษกราชภักดี.........................ศรีสุริยศักดิ์มหิมา
แก่ผู้อาสานรนารถ....................เทพาสาธุการ
โดยดำนานดั่งนี้.......................ชื่อว่าอินทพิมาน”
กลยุทธ์นี้เน้นที่ การสร้างขวัญกำลังใจให้ฝ่ายเรา สมัยก่อน มี การใช้จิตวิทยาเพื่อปลุกระดมให้หึกเหิม ไม่กลัวศึก การปลุกเสกของวิเศษ คาถาอาคม มนตรายังเป็นสิ่งที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน กองทัพที่มีขวัญกำลังใจดี ย่อมเอาชนะศึกได้ไม่ยาก ของไทยเราที่เห็นเด่นชัดมาแต่โบราณก็คือพิธีตัดไม้ข่มนาม คือทำพิธีตัดต้นไม้ที่มีนามพ้องกับศัตรู ยกตัวอย่างเช่นสมัยรัชกาลที่6 เมื่อทรงนำไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1 ทรงกระทำพิธีตัดไม้ข่มนาม ฟันต้น “ฝรั่ง” ก่อนจะส่งทหารไปร่วมรบในยุโรป
กลยุทธ์ ๑๒ : กลผลาญศัตรู
“กลหนึ่งชื่อว่าผลาญศัตรู........ข้าศึกดูองอาจ
บ่พลาดราษฎรกระทำ....................นำพลพยัคฆะปะเมือง
พลนองเนืองแสนเต้า.....................แจกเล่าเข้าเชาเรา
เอาอาวุธจงมาก...........................ลากปืนพิษพาดไว้
ขึ้นหน้าไม้ธนู..............................กรูปืนไฟจุกช่อง
ส่องจงแม่นอย่าคลา......................ชักสารพาบรรทุก
อย่าอุกลุกคอยฟัง........................อย่าประนังตนเด็ด
เล็ดเล็งดูที่มั่น.............................กันที่พลจงคง
คนหนึ่งจงอย่าฉุก........................ปลุกใจคนให้หื่น
ให้ชื่นในสงคราม........................ฟังความสั่งสำคัญ
ฆ้องกลองพลันแตรสังข์................ประนังโรมรันรุม
เอาจุมพลดาศึก..........................พิพฤกคะเป็นนาย
ครั้นถูกกระจายพ่ายพัง.................พลเสริดสั่งฤาอยู่
บ่เป็นหมู่เป็นการ........................โดยสารโสลกดั่งนี้
ชื่อว่าพลาญศัตรู”
กลยุทธ์นี้คือการปลุกใจกองทัพให้หึกเหิมกล้าหาญ พร้อมจะตะลุยฟาดฟันอริราชศัตรู การที่ทัพจะหึกเหิมกล้าหาญไม่กลัวตายได้นั้น ต้องมีผู้นำทัพที่เป็น“ทหารเสือ” กล้าบุกตะลุยนำทัพจึงจะชนะศึกได้ ทัพแกะที่มีราชสีห์นำ อาจชนะทัพราชสีห์ที่แกะนำได้ฉันใด แม้จะมีกองทัพที่อ่อนแอ แต่ถ้ามีแม่ทัพที่เข้มแข็งก็อาจเอาชนะศึกได้ฉันนั้น
กลยุทธ์ ๑๓ : กลชูพิษแสลง
“กลหนึ่งว่าชูพิษแสลง.......ข้าศึกแรงเรืองฤทธิ์
คิดไฝ่ภัยเอาเรา......................เคยเขามากมาก
ภาคที่แคบที่คับ......................สลับรี้พลช้างม้า
เคยคลาปล้นรุกราม.................ผลาญล่อลวงบ้านเมือง
เนืองเนืองมาเพื่อนตน...............ให้ใส่กลปราศรัย
ฝากของไปฝากรักษ์.................ลักลอบให้เงินทอง
รังวันปองขุนใหญ่....................หัวเมืองไพร่ข้าศึก
ให้ตรึกจงลับแล้ง....................แข่งอุบายเล่ห์คิด
ไปมาสนิทเป็นกล....................ให้เขาฉงนสนเท่ห์
เพราะเป็นเล่ห์ภายใน.................บ่ไว้ใจแก่กัน
ผันใจออกกินแหนง...................แยงให้ผิดด้วยกัน
ชูพิษผันแปรพิษ......................ให้ผิดกันเองโจกเจก
บ่เป็นเอกใจเดียว......................บ่เป็นเกี่ยวเป็นการ
เพราะพิษพลาญศัตรู.................กลศึกอันนี้
ชื่อว่าชูพิษแสลง”
กลยุทธ์นี้คือการยุแยงให้พันธมิตร ไม่ไว้ใจกัน ไม่ให้รวมตัวกันติด แล้วเข้าทำลาย และเข้ายึดครอง เป็นกลยุทธ์หลักที่มหาอำนาจตะวันตกชอบใช้ ในสมัยล่าอาณานิคม ให้แต่ละเผ่าแต่ละฝ่ายในประเทศผิดใจกัน ไม่ไว้ใจกันจนเป็นปัญหาสืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นปัญหาอินเดีย-ปากีสถาน, ตะวันออกกลาง, และคาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น
กลยุทธ์ ๑๔ : กลแข็งให้อ่อน
“กลหนึ่งแข็งให้อ่อน.......ผ่อนเมื่อศัตรูยก
ให้ดูบกดูน้ำ..........................ซ้ำดูเข้ายาพิษ
พินิจพิษจงแหลก....................ตัดไม้แบกเบื่อเมา
เอาไปทอดในน้ำ....................ทัพซ้ำหนามขวาก
แต่งจงมากท่าทาง..................วางจางห้าวแหลมเล่ห์
บ่อดานทางเข่าที่ขัน................กันหลายแห่งที่คับ
แต่งสนับไว้จ่อไฟ..................ไล่เผาคลอกป่าแขม
แนมหวากแนมห่วงน้ำข้าม........ตามเผาป่าแทบทัพ
ยับไม้เผาเป็นถ่าน..................หว่านไฟไว้รายเรียง
รอเผาเสบียงจงสิ้น.................อย่าให้กินเป็นอาหาร
แต่งคนชาญหลอกทัพ............ให้เสียหับเสียหาย
ทำลายคาบเนืองเนือง.............เปลืองเสบียงเปล่าเฉาแรง
กลเชื้อแข็งให้อ่อน”
กลยุทธ์นี้คือการทำให้ศัตรูอ่อนแรง โดยการล่อหลอกวางเล่ห์กล ทำขวากหนาม เผาทำลายค่ายเสบียง ให้ข้าศึกอ่อนแรง จนไม่มีศักยภาพพอในการทำศึกสงครามกับเรา
กลยุทธ์ ๑๕ : กลยอนภูเขา
“กลหนึ่งยอนภูเขา..........ข้าศึกเนาประชิ
ให้ริดูช่องชอบ........................ที่จะขอบจะขัง
แต่งระวังยักย้าย.....................ฝ่ายพลเขาเอาเสบียง
เรียงงานในเมืองเรา.................เอาใจไพร่ใจพล
คนอยู่ประจำการ.....................พนักงานใครใครรบ
แต่งบรรจบพลแล่น.................ให้ทำแกว่นชวนกัน
แต่งถลวงฟันบุกทัพ.................คอยฟังศัพย์สำคัญ
หาที่ยันที่อ้าง.........................เอาม้าช้างเป็นดิน
ปีนคูหักค่ายเข้า......................รบรุกเร้ารุมแทง
อย่าคลายแคลงพรายพรัด.........ตัดให้ม้วยด้วยกัน
ให้สำคัญจงแม่น.....................แล่นช้างม้าวางขวาก
เขาตามยากเอาเรา..................เท่าทิศที่ตนหมาย
ฆ่าให้ตายกลากลาด................ต้องบาดเจ็บป่วยการ
ศัตรูดาลระทด.......................ขดด้วยเสียงปืนไฟ
ในเมืองเร่งโห่ร้อง...................ให้มี่ก้องนิรนาท
มีปี่พาทย์เสียงสรวญใน............ชมชื่นใจขับรำ
ซ้ำทะนงองอาจ......................ปืนไฟพาดประนัง
กลชื่อพังภูเขา”
ชื่อของกลยุทธ์นี้อาจทำให้สับสน เพราะขึ้นต้นด้วย “ ยอนภูเขา” แต่กลับจบด้วย “ พังภูเขา” อาจเป็นเพราะหาคำสัมผัสไม่ได้ ใจความสำคัญอยู่ที่ “ ฝ่ายพลเขาเอาเสบียง เรียงงานในเมืองเรา” คือรู้ว่าข้าศึกส่งสายสืบเข้ามาในทัพเรา เราแสร้งทำเป็นไม่รู้แต่ซ้อนกลใช้สายนั้นให้ ส่งข่าวที่ผิดๆ หลอกล่อฝ่ายข้าศึกเป็นการ “ยอน หรือ ย้อนรอย” ให้ข้าศึกสูญเสียในที่สุด นอกจากนี้ยังต้องคอยระวังรักษาป้องกัน อย่าให้ข้าศึกบุกรุกเข้ามาได้
กลยุทธ์ ๑๖ : กลเย้าให้ผอม
“กลหนึ่งเย้าให้ผอมนั้น..........บั้นเมื่อให้เธอลีลา
พาธาอธิราช ...............................ให้พินาศศัตรู
หมั่นตรวจดูกำลัง..........................ช้างม้าทั้งรี้พล
ปรนกันพลัดไปลาด.......................ผาดจู่เอาแต่ได้
หนังสือไว้หมายหมก......................ว่าจะยกพลหลวง
ลวงใส่กลเป็นเขต..........................ดูในเทศการ
ให้ป่วยงานทำนา........................... แสงตรวจตราพลแกล้ว
แล้วคลายพลเราเสีย.......................เยียกลเมฆมืดฝน
ฝนไป่ตกตรนกอางขนาง..................ให้แผ้วถางแสร้งทำ
คคึกคำแรงรณ...............................ครั้นหลงกลยกเล่า
ลากพลเข้าเนืองเนือง......................แยงให้เปลืองไปมา
ดุจกลกาลักไข่...............................จะไล่ก็ไล่มิทัน
วันคืนปีป่วยการ..............................ข้าศึกต้านยืนอยาก
ให้ข้าวยากหมากแพง.......................สิ่งเป็นแรงให้แรงถอย
ร่อยรอนไข้ใจหิว.............................ตีนมือปลิวพลัดพราย
ไพร่หนีนายนายเปลี่ยว.....................บ่เป็นเรี่ยวเป็นแรง
ใครใครแข็งมิได้.............................ใครใครไม่มีลาภ
ถ้ารูปงามเสาวภาพย์ก็จะเศร้า..............กลอุบายนี้เล่า
ชื่อว่าเย้าให้ผอม”
กลยุทธ์นี้คือการนำกำลังทหารหน่วยย่อย ๆ เข้าตีรบกวนตามแนวชายแดน ให้ข้าศึกต้องเตรียมทัพเข้าสกัดไม่มีเวลาหยุดพักเพราะไม่รู้กำลังพลเรา ทำให้ขวัญและกำลังใจอ่อนด้อยลง ต้องเกณท์ทหารจัดทัพทั้งปีไม่มีเวลาทำไร่ไถนา เตรียมเสบียง เมื่อขวัญและกำลังข้าศึกอ่อนล้าเต็มที่แล้ว จึงค่อยเคลื่อนทัพใหญ่เข้าเผด็จศึก
กลยุทธ์ ๑๗ : กลจอมปราสาท
“กลหนึ่งชื่อจอมปราสาท..........องอาจมุ่งมาทดู
คูหอคอยเวียงวัง.............................ตั้งไชยภุมจงผับ
รู้ตั้งทัพพระพลาไชย.......................อย่าได้ไหวได้หวั่น
หมั่นดูฉบับธรรมเนียม......................เตรียมปูนปันเป็นกอง
น่าหลังสองตราบข้าง.......................รอบไว้ช้างม้ารถ
ห้วยธารคดโยธา.............................ให้รักษาจงรอบ
ทุกคันขอบนอกใน..........................อย่าได้ไหวปั่นป่วน
อย่าได้ด่วนคอยฟัง.........................คอยดูหลังดูน่า
จัดช้างม้ารี้พล................................ปรนกันกินกันนอน
อย่ายอหย่อนอุตส่าห์.......................ให้หมั่นว่าหมั่นตรวจตรา
ทังกะลากะแลงแกง.........................อย่าได้แฝงนายไพร่
ภัยรักษาจงมาก..............................อย่าให้ยากใจพล
อย่าทำกลดุจเสือ............................บกเรือจงชำนาญ
ชาญทั้งที่โดยกระบวน......................คิดควรรู้จงผับ
นับหน้าดูผู้อาสา..............................หาคนดีเป็นเพื่อน
อย่าเลื่อนถ้อยให้เสียคำ....................ทำอันใดโดยศาสตร์
ตามฉบับราชโบราณ.........................กระทำการให้รอมชอม
กลศึกอันนี้ชื่อว่าจอมปราสาท”
กลยุทธ์นี้ท่านให้รู้จักจัดทัพ วางค่ายกล ให้รู้ว่าภูมิประเทศแบบไหนควรตั้งทัพอย่างไร จึงจะได้ชัย นอกจากนี้ท่านสอนให้รู้จักดูลักษณะของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพไปทำศึก ให้เลือกคนที่เหมาะสมกับหน้าที่นั้นๆ ถ้าเลือกแม่ทัพผิดก็เตรียมใจแพ้ได้เลย
กลยุทธ์ ๑๘ : กลราชปัญญา
“กลหนึ่งชื่อว่าราชปัญญา..........พร้อมเสนาทั้งสองข้าง
ช้างม้ารถเสมอกัน...........................หานักธรรม์ผู้ฉลาด
อาจใส่กลไปปลอม..........................ด้อมดูที่ดูทาง
วางต้นหนคนใช้..............................ไว้กังวลแก่เขา
เอาสินให้หฤหรรษ์...........................ให้คิดผันใจออก
ทั้งภายนอกภายใน..........................หวั่นไหวใจไปมา
แต่งโยธาหัดกัน..............................หลายหมู่พรรค์หลายกอง
จองนายหนึ่งไพร่สี่...........................ทวีนายหนึ่งไพร่หก
ยกนายหนึ่งไพร่เก้า..........................เคล้านายห้าจองพล
ซ้ายขวาพลหน้าหลัง.........................ทั้งอาวุธท่าทาง
ถอยพึงกางกันรบ.............................ทบท่าวอย่าหนีกัน
คอยยืนยันรบพลาง..........................ใส่ยาวางเรียเด็ก
นายไพร่เล็ดลอดตาม.......................ให้ฟังความสั่งสำคัญ
ฆ้องกลองพลันธงไชย......................กดให้ไล่ให้หนี
ลีลาลาดศึกเข้า...............................ในพลเคล้าเป็นกล
สองกองพลซ้ายขวา.........................ดูมรรคาชอบกล
เอาพลตั้งสองข้าง............................กองกลางง้างพลถอย
ศึกตามลอยแล่นไล่..........................ครั้นศึกไปล่ออกข้าง
คอยดูช้างดูม้า................................ ดูทวยค้ารี้พล
สบสกลโดยสำคัญ............................จึ่งกระทบกันเข้ารบ
สบสำเหนียกเสียกสา.........................อย่าให้คลาให้คลาด
ผาดเอาคงเอาวัน..............................หยิบเอาพลันจงได้
ไว้กำหนดนายกอง............................ช่างปองปูนจงสลับ
นับอ่านเร่งตรวจตรา...........................กลศึกอันนี้ชื่อว่า
กลราชปัญญา”
ถ้าทัพทั้งสองฝ่ายมีกำลังพอกัน มีแม่ทัพที่มีความสามารถพอกัน ท่านให้ใช้กลราชปัญญาเอาชัยกล่าวคือ การใช้สายลับจารชน ซึ่งสมัยก่อนนิยมใช้ผู้ทรงศีลสูงวัยเนื่องจากเป็นที่เคารพเกรงใจของเหล่าขุน พลฝ่ายตรงข้าม ให้เข้าไปยุแหย่ให้แตกแยก ไปให้สินบนต่างๆนานา และล้วงความลับต่างๆ
กลยุทธ์ ๑๙ : กลฟ้าสนั่นสียง
“กลชื่อฟ้าสนั่นเสียง..........เรียงพลพยุหกำหนด
กดประกาศถึงตาย.....................หมายให้รู้ถ้วนตน
ปรนปันงานณรงค์......................ยวดยงกล่าวองอาจ
ผาดกำหนดกดตรา....................ยามล่าอย่าลืมตน
ทำยุบลสีหนารท.......................ดุจฟ้าฟาดแสงสาย
สำแดงการรุกรัน.......................ปล้นปลอมเอาชิงช่อง
ลวงเอาบุรีราชเสมา....................ตรารางวัลเงินทอง
ปองผ้าผ่อนแพรพรรณ................ยศอนันต์ผายผูก
ไว้ชั่วลูกชั่วหลาน.......................การช้างม้าพลหาญ
ใช้ชำนาญการรบ.......................สบได้แก้จงรอดราษฏร์
ดุจฟ้าฟาดเผาผลาญ...................แต่งทหารรั้งรายเรียง
เสียงคะเครงคะคร้าน..................ทังพื้นป่าคะครัน
สนั่นฆ้องกลองไชย....................สรในสรรพแตรสังข์
กระดึงดังฉานฉ่า........................ง่อนงาช้างรายเรียง
เสียงบรรณพาคร้านครั่น...............กล่าวกลศึกนั้น
ชื่อฟ้าสนั่นเสียง”
กลยุทธ์ฟ้าสนั่นเสียงคือ การใช้กำลังทางทหาร บุกตะลุยรวดเร็วอย่างฉับพลัน ใช้ฆ้องกลองแตรสร้างเสียงข่มขวัญข้าศึก ทำให้ไม่มีกำลังใจที่จะต่อกรกับเรา ประดุจเราตกใจกลัวเสียงฟ้าร้อง
กลยุทธ์ ๒๐ : กลเรียงหลักยืน
“กลศึกชื่อเรียงหลักยืน..........ให้ชมชื่นรุกราน
ผลาญให้ครอบทั่วพัน....................ผันเอาใจให้ชื่น
หื่นสร้างไร่สร้างนา.......................หาปลาล่วงแดนต่าง
โพนเลื่อนช้างล่วงแดนเขา..............เอาเป็นพี่เป็นน้อง
พร้องตั้งค่ายตั้งเวียง.....................บ้านถิ่นเรียงรายมั่น
เร่งกระชั้นเข้ารียงราย...................เกาะเอานายเอาไพร่
ไว้ใจกายใจถึง............................ระวังพึงจงให้
ใส่ไคร้เอาเป็นเพื่อน.....................ใครแข็งกล่นเกลื่อนเสีย
ให้เมียผูกรัดรึง............................ให้เป็นจึ่งม่ามสาย
รายรอบเอาจงมั่น.........................จงเอาชั้นเป็นกล
กลให้เขาลอบลัน.........................ปล้นบ้านถิ่นเถื่อนไปมา
ระวาเพศแทบเวียง........................กลศึกอันนี้ชื่อว่าเรียงหลักยืน”
กลยุทธ์นี้คือการค่อยขยายอำนาจอย่างใจเย็น ค่อย ๆ รุกรานเข้าชิงพื้นที่ทีละนิด แล้วส่งคนของเราเข้ามาสร้างความคุ้นเคยอยู่อาศัย แต่งงานอยู่กินจนกลายเป็นพวกเราเลย
กลยุทธ์ ๒๑ : กลปืนพระราม
“กลชื่อว่าปืนพระราม..........ว่าอย่ามีความโกรธขึ้ง
ทรอึงใจหนักพฤกษ์.....................สำแดงศึกใหญ่มา
พาธาจงคอยฟัง..........................ให้ระวังถอยแกล้ง
แม่นอย่าแอ่วแวนไว้....................ได้แล้วกลับคืนรอด
ริรอบปลอดมีชัย.........................หวั่นไหวใจศัตรู
ดูสนั่นใจเศร้า.............................ให้พระยศเจ้ารุ่งเรือง
เลื่องลือเดชหาญห้าว....................ทุกทั่วท้าวเกรงขาม
ชื่อปืนพระรามสำเร็จ.....................ยี่สิบเอ็ดกลณรงค์
ด้วยประสงค์ดั่งนี้”
มาถึงกลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์นี้ใจความอยู่ที่ “สำแดงศึกใหญ่มา พาธาจงคอยฟัง ให้ระวังถอยแกล้ง” ก็คือให้รู้จักถอย เมื่อข้าศึกมีกำลังพลมหาศาลเกินกว่าที่จะเอาชนะได้ ต้องรู้จักถอย
*
*
*
เขียนโดย VikingsX ที่ 20:44
http://vikingsx.blogspot.com/2010/01/21.html
|
|