แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2023-8-15 16:47
ศิรทิ ไสบาบา : จงมองมายังฉัน แล้วฉันจะเฝ้ามองเธอ
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
“หากเธอร่ำรวยจงอ่อนน้อม ต้นไม้เมื่อมีผลก็โน้มลง, จงใช้เงินเพื่อกิจกุศล จงมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อกว้างขวางแต่อย่าฟุ่มเฟือย, หากมีสิ่งสร้างใดของพระเจ้ามาสู่เธอไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งอื่น ให้ปฏิบัติอย่างอาทร จงมองให้เห็นทิพยภาวะในมนุษย์ทั้งปวง” ศิรทิ ไสบาบา
ชายชราคนหนึ่งพำนักอย่างยากจน ณ มุมเล็กๆ ของมัสยิดในหมู่บ้านศิรทิ (Shirdi) เมืองอหเมดนคร (Ahamednagar) แคว้นมหาราษฏร์ ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายเท้าของชายคนนี้ ไม่มีใครทราบแม้แต่ชื่อของเขา ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นมุสลิมหรือฮินดูกันแน่ แต่แรกชาวบ้านคิดว่าเขาเป็นคนบ้า คนบ้าผู้แต่งตัวด้วยชุดคลุมยาวและใช้ผ้าหุ้มศีรษะเหมือนมุสลิม ริมฝีปากของเขามักจะเอ่ยพระนาม “อัลเลาะห์” อยู่บ่อยๆ แต่กลับตั้งชื่อมัสยิดร้างที่ตนเองอาศัยว่า “ทวารกาไม” (Dvarakamai) ทวารกาคือเมืองแห่งพระกฤษณะ ส่วน “ไม” หมายถึงแม่ในภาษามาราฐี ดังนั้น มัสยิดอิสลามจึงมีชื่ออย่างฮินดูว่านิวาสสถานของพระกฤษณะที่รักสาวกดั่งแม่
ราวปี ค.ศ.1855 ถึง 1858 สามปีแรกที่ปรากฏตัวในศิรทิ ไม่มีใครสนใจนักบวชบ้าคนนี้ แต่ภายหลังเมื่อเริ่มแสดงปาฏิหาริย์และเป็นที่รู้จัก ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า “ไสบาบา” (Sai Baba) ด้วยความเคารพ ไสหรือสาอี (Sai) แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า “สวามี” อันหมายถึงนายหรือผู้ควรเคารพ ส่วนบาบาเป็นการเขียนตามเสียง (พาพา) แปลว่า พ่อหรือปู่ ชาวอินเดียมักเรียกผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างลำลองด้วยคำว่าบาบา ทำนองเดียวกับคนไทยมีคำเรียกว่า พ่อปู่ หลวงปู่ หรือพ่อท่านอะไรทำนองนั้น
ทั้งนี้ ไม่พึงสับสนกับผู้ใช้นามว่าไสบาบาอีกท่านหนึ่ง (สัตยไสบาบา) อันเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่ในเมืองไทย ดังเราจะเห็นภาพชายผิวคล้ำสวมชุดคลุมยาวสีส้ม ผมหยิกฟูทรงกลม ผู้โด่งดังจากการแสดงปาฏิหาริย์แห่งเมืองปุตตปรติ ซึ่งท่านผู้นี้อ้างว่าเป็นอวตารของไสบาบาแห่งศิรทินี่เอง
เรื่องราวชีวิตของไสบาบามีบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “ศรี ไส สัตจริต” (Shri Sai Satcharit) หรือเรื่องราวอันจริงแท้แห่งไสบาบา ประพันธ์โดย โควินทะ รฆุนาถ ทโภลกร หรือ เหมัทปันต์ (Hemadpant) ผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับไสบาบา มีบางข้อสันนิษฐานว่าไสบาบา เกิดใกล้ศิรทิในราวปี 1838 บ้างก็ว่าท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์แต่ถูกเลี้ยงดูโดยฟากีร์ (Fakir) หรือนักบวชมุสลิมซูฟี ซึ่งเร่ร่อนละทิ้งทรัพย์สมบัติเพื่อแสวงหาพระเจ้า นั่นทำให้ไสบาบาเติบโตมาเป็นฟากีร์เช่นเดียวกัน ชาวบ้านศิรทิค้นพบบาบาครั้งแรกเมื่อท่านยังเป็นหนุ่มน้อย ทว่าหนุ่มน้อยคนนี้กลับบำเพ็ญตบะทั้งวันทั้งคืนอยู่ใต้ต้นนีมหรือสะเดาแขก ทนต่อความร้อนหนาวนิ่งอยู่ในท่าโยคะ วันหนึ่งเด็กหนุ่มคนนี้ก็หายตัวไป และกลับมาที่ศิรทิในงานแต่งงานของบ้านจันทะ ภาอี ผู้ที่ไสบาบาเคยช่วยทำนายการหายไปของม้าของเขา ระหว่างนั้น มหัลษปติเจ้าของไร่ใกล้เคียง พบฟากีร์หนุ่มนั่งอยู่ใต้ต้นไทร เขาจึงเอ่ยเชื้อเชิญว่า “ยา ไส!” ซึ่งหมายความว่า “เชิญเถิดสวามี” จึงเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่มีผู้เรียกท่านว่าไส แม้จะดูเหมือนฟากีร์และพำนักอยู่ที่มัสยิด แต่ไสบาบาจะสอนชาวฮินดูให้ศึกษาคัมภีร์ของตน ท่านสามารถยกเอาเทวตำนานฮินดูมาเล่าประกอบการสอนได้ ส่วนศิษย์มุสลิมท่านจะยกคำสอนในอัลกุรอ่านมาสาธกได้เช่นเดียวกัน ที่น่าตลกคือหากใครคิดว่าท่านเป็นฮินดู ท่านจะแสดงตนว่าเป็นมุสลิม หากใครคิดว่าท่านเป็นมุสลิม ท่านจะแสดงตนเป็นฮินดู
ศิรทิ ไสบาบา
แก่นคำสอนของไสบาบาอยู่ที่ให้มีความรักต่อพระเจ้าอย่างจริงใจและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม ให้ช่วยเหลือผู้ยากไร้และดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ท่านถือว่าทุกๆ ชีวิตล้วนมีสภาวะแห่งพระเจ้าอยู่ภายในจึงควรค่าแก่การเคารพ ดังนั้น ความแตกต่างที่ปรากฏไม่ว่าจะเรื่องชนชั้นวรรณะหรือศาสนา เป็นก็แต่เพียงมายาภาพเท่านั้น ไสบาบากล่าวว่า “พระเจ้าทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีความแตกต่างระหว่างฮินดูและมุสลิม เทวสถานหรือมัสยิดก็ล้วนเหมือนๆ กัน” ความพยายามประสานความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมนี้ เป็นเสมือนเอกลักษณ์อันหนึ่งของนักบุญแห่งอินเดียตั้งแต่สมัยกลางมาเลยทีเดียว และยังคงมีต่อไปจนถึงยุคสมัยของไสบาบาอันใกล้กับยุคสมัยของเรา ที่ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้ดูจะไม่มีวันจบสิ้น ไสบาบารวมเอาคุณลักษณะที่น่าสนใจของนักบุญมาไว้ที่ตัวท่าน ท่านไม่มีที่มาที่ไป ดูลึกลับ ท้าทายการแบ่งแยกไม่ว่าจะเรื่องศาสนาหรือวรรณะ มีชีวิตเรียบง่าย ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์
|