ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1840
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” ในสมัยอยุธยา นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2021-8-7 08:34







© Matichon ภาพประกอบข่าว
นอกจากความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง และโชคลางแล้ว “เวทมนตร์คาถา” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งในแขนงแห่ง “ไสยศาสตร์” โดยเวทมนตร์คาถาเป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นสำหรับบริกรรมเสกเป่าตามวิธีที่กำหนด อาจใช้เพื่อป้องกันตัว ใช้ทำร้ายผู้อื่น ใช้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ใช้รักษาโรคภัย ใช้ป้องกันภูติผี หรือใช้ทำเสน่ห์ ฯลฯ
ในราชสำนักอยุธยา เวทมนตร์คาถาเป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝน ดังในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นต้นเหตุให้เกิดฝนแล้ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงแก้ไขด้วยการรับสั่งให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 2 องค์ ประกอบพิธีกรรมแก้ไข ดังปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า
“บัดนี้เกิดภัยคือฝนแล้ง ราษฎรพากันอดอยาก ท่านอาจารย์ทั้ง 2 จะคิดประการใด จึงจะให้ฝนตกได้ พระอาจารย์ทั้ง 2 ก็อาสาว่า ถึงวันนั้นคืนนั้นจะทำให้ฝนตกให้ได้ แล้วพระอาจารย์ทั้ง 2 ก็ไม่กลับไปยังพระอาราม อาศัยอยู่ในพระราชวังตั้งบริกรรมทางอาโปกสิณ และเจริญพระพุทธมนต์ขอฝนด้วยอำนาจสมาธิและพระพุทธมนต์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้ง 2 นั้น พอถึงกำหนดวันสัญญา ก็เกิดมหาเมฆตั้งขึ้นทั้ง 8 ทิศ ฝนตกลงมาเป็นอันมาก”
เวทมนตร์คาถายังถูกนำมาใช้แก้หรือรักษาโรคร้ายต่าง ๆ เช่น เมื่อถูกผีเข้า หรือถูกคุณไสย ก็จำเป็นต้องแก้ไขด้วยเวทมนตร์ ด้วยการใช้หวายหวด โดยหวายนั้นต้องเสกเวทมนตร์คาถากำกับจึงจะได้ผล ดังที่ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้ ความว่า
“ชาวสยามเป็นโรคคลั่งเพ้อบางอย่างเรียกผีเข้า อาการโรคที่เป็นนั้น บางทีก็พิลึกมาก เชื่อกันว่าเป็นด้วยถูกเวทมนตร์คุณไสย…เป็นอำนาจปีศาจแผลงฤทธิ์คือผีเข้า จำต้องแก้ทางขับผี จึงรักษาคนไข้ด้วยใช้หวดด้วยหวายอาคมลงคุณพระ หรือไปหาคนดีมีวิชา…”
เมื่อเวทมนตร์คาถาถูกนำมาใช้ในด้านดี เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข หรืออำนวยสิ่งต่าง ๆ ให้เจริญขึ้นได้ฉันใด เวทมนตร์คาถาย่อมต้องถูกนำมาใช้ในด้านร้ายฉันนั้น หรือที่มักจะเรียกกันว่า “มนตร์ดำ” หรือ “คาถาดำ” นั่นเอง ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีการนำเวทมนตร์คาถามาใช้ในด้านร้าย พบเห็นตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไปไปจนถึงในราชสำนัก
ดังในสมัยของสมเด็จพระยอดฟ้า ปรากฏมีการใช้เวทมนตร์คาถาโดย “หมอผี” ในแผนการลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ดังปรากฏในพงศาวดาร ฉบับ วัน วลิต ความว่า “…พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี ใช้เวทมนตร์สะกดพระเจ้าแผ่นดินและลอบปลงพระชนม์ ทุกวันพระสนมจะนำหมอผีไปยังห้องพระบรรทมและขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน…และเมื่อหมอผีได้ใช้เวทมนตร์คาถาสะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย…”


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2021-8-7 08:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ซึ่งหมอผีในที่นี้ก็คือ ขุนวรวงศาธิราช โดย เยเรเมียส วัน วลิต อธิบายว่า “หมอผีก็อาศัยอยู่ในวังนั่นเอง และด้วยความช่วยเหลือของพระสนม ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระขุนชินราช ซึ่งขัดกับความประสงค์ของขุนนางและประชาชนทั้งปวง…”
ด้านนอกวังนั้นเล่า มนตร์ดำก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ ก็มีการใช้เวทมนตร์คาถาอย่างแพร่หลาย จึงต้องมีกฎหมายควบคุม และกำหนดบทลงโทษผู้นำมนตร์ดำมาใช้ทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของคนในสมัยนั้นด้วยวิธีที่รุนแรง ดังเช่น
มาตรา 163 “ผู้ใดใส่ง้วนยาให้ท่านกิน ท่านเหงาเงื่องจะตายแล แก้รอดก็ดี อนึ่งผู้รู้กระทำให้ท่านปวดหัวมัวตาลำบากด้วยประการใด ๆ ก็ดี ท่านจับได้ ให้เอาตัวมันผู้นั้นมาง้วนยามาให้ท่านกินแลผู้กระทำท่านั้น ขึ้นขาหย่างประจารแล้วปลงลงทวนด้วยลวดหนัง 60 ที แล้วให้ไหมปลูกตัวเปนสินไหม พิไนย กึ่งแล้วส่งตัวจำไว้ ณ คุก โดยยถากำม ถ้าทำท่านตายให้ฆ่ามันเสีย”
มารตรา 165 “ผู้ใดให้ยาแก่ลูกท่านกินเปนบ้า ให้มันรักษาลูกท่าน ถ้ามันรักษาหายให้ทวนมันนั้น 30 ที ถ้ามันรักษามิหาย ให้ไหมปลูกตัวแล้วทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วจำไว ณ คุก”
มาตรา 168 “หญิงก็ดีชายก็ดีเปนชู้เมียกัน หญิงจะใคร่ให้ชายนั้นรัก ให้แม่มดพ่อหมอกระทำมนตร์ดนมกรูด ส้มป่อย สรรพการ เสน่ห์ ดั่งนั้น ท่านว่า หญิงทำแต่จะให้ชายรัก ชายทำแต่จะให้หญิงรัก หวังจะให้เปนประโยชน์ จำเริญแก่ตัวสืบไป แม้น ชาย หญิง ก็ดี เคราะห์ร้ายหากไข้เจ็บตาย จะใส่โทษแม่มดพ่อหมอนั้น มิได้เลย เปนกำมแก่ผู้ตายนั้น เทวดายังรู้จุติมนุษหฤๅจะอยู่ได้”
มาตรา 169 “ผู้ใดจะให้ผู้อื่นพิศวงงงงวยในตนแลปรกอบ กฤตยาคุณเปนยาแฝดด้วยสิ่งใด ๆ ให้ท่านกินก็ดี แลปั้นรูปฝังด้วยวิทยาคุณประการใด ๆ ก็ดี พิจารณาเปนสัจ ให้ทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วทะเวนบก 3 เรือ 3 วัน แล้วฆ่ามันเสีย ถ้าทำให้ชู้ผัวมันกิน รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเปนสัต ให้ลงโทษดุจเดียวแล้วส่งตัวให้ชายผัวตามแต่ใจมัน”
นอกจากนี้ ในกฎมณเฑียรบาล ก็มีการกล่าวถึงเวทมนตร์คาถา ในมาตรา 69 ความว่า “อนึ่งผู้ใดทำลูกกุญแจเรียนมนตร์คุณวุธิวิทยาคมเสดาะประตูวัง แลเปิดโขลนทวารเข้าไปในพระราชมณเฑียรสถาน ลักภาสาวใช้กำนัลแลลักพระราชทรัพย ให้ลงโทษโดยมหันตโทษแล้วให้ฆ่าเสีย ถ้าทรงพระกรรุณาบให้ฆ่าเสียไซ้ ให้ลงโทษ 5 สถาน โดยพระราชอาชาท่านกล่าวไว้”
ดังนั้น มนตร์ดำเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำเสน่ห์ และการทำให้ผู้ที่เป็นศัตรูของตนล้มป่วยเจ็บไข หรือถึงขั้นมีอันเป็นไปเสียชีวิต
ในเรื่องการนำเวทมนตร์คาถามาใช้เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารนั้น กระทำไปเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึกศัตรู หรือเพื่อแสดงบุญบารมีของกษัตริย์ เช่น
ในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาสีหราชเดโชแม่ทัพฝ่ายอยุธยาใช้เวทมนตร์คาถาล่องหนหายตัวได้ ความว่า “พระยาสีหราชเดโชเห็นลาว [แต่ก่อนเรียกคนในภาคเหนือว่าลาว] นิ่งอยู่ไม่ออกมาสู้รบดังนั้น จึงถือดาบขึ้นหลังม้ากลั้นใจหายตัวควบไปควบมาให้ลาวแลเห็นแต่ดาบ กับได้ยินแต่เสียงมิได้เห็นตัว พวกลาวเห็นดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัวพากันแตกหนีไปเป็นขบวน”
ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงศึกษาศาสตร์เหล่านี้เช่นกัน ในสำนักของพระอาจารย์พรหม ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “เป็นผู้ชำนาญในทางเวทมนตร์ มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงเอาพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์ ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึงรับสั่งให้น้ำขึ้นแล้วทรงพระแสงฟันลงอีก น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระนารายณ์มีพระราชประสงค์อย่างไรก็เป็นไปตามทั้งสิ้น”
กษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องมีอิทธิฤทธิ์ด้วยเวทมนตร์คาถา คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “มีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์ ชำนาญในทางเวทมนตร์กายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังกายเสด็จประพาส ฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร และทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนตร์ ให้เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนตร์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ ผู้ใดที่โอ้อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา”
นอกจากนี้ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) กล่าวถึงเวทมนตร์คาถาของสมเด็จพระเจ้าเสือ ขณะยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ ไปลักพาตัวบุตรสาวของเจ้าพระยาราชวังสรรค์ ความว่า “ครั้นเวลาสักสองยามเศษ จึงเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์นั้นกับบ่าวที่รักใคร่สนิทกัน จึงเข้าไปดูแยบคาย ครั้นได้ทีแล้วจึงเสกกรวดแล้วก็ปรายเข้าไปอันผู้คนทั้งนั้นก็หลับไปทั้งสิ้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์จึงเข้าไปดับไฟแล้วก็เข้าไปอุ้มเอาลูกสาวมา”
เหล่านี้เป็นเรื่องราวของเวทมนตร์คาถาเพียงบางส่วนที่ปรากฎในพงศาวดารหรือบันทึกสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมีเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง และโชคลาง ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็เป็น “ศาสตร์” แห่ง “ไสย” เช่นเดียวกัน
อ้างอิง :
จิตใส อยู่สุขี. (2539). การศึกษาความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทยจากเอกสารสมัยอยุธยา, ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ไทย) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2564


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้