สำหรับสถานที่ที่ถูกโจมตี ที่กรุงเทพได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟช่องนนทรีย์ สถานีรถไฟบางซื่อ โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระราม ๖ ท่าเรือคลองเตย สนามบินดอนเมือง สถานทูตญี่ปุ่น ที่พักและคลังอาวุธของทหารญี่ปุ่น ที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานบริเวณถนน กาติ๊บ สนามเป้า กองสัญญาณทหารเรือข้างสวนลุมพินี ประตูทดน้ำบางซื่อ โรงเก็บสินค้าและโรงงาน ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่คือ สะพานรถไฟ เส้นสู่ภาคใต้ , แทบทุกสะพานรถไฟ
ในเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้วัดสร้อยทองได้รับผลกระทบไปด้วยแต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจพระพุทธรูปในอุโบสถวัดสร้อยทองไม่ได้รับผลกระทบอย่างไรแต่ตัวและหลังคาพระอุโบสถได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในเหตุการณ์นั้นไม่สามารถทราบได้ว่าเพราะเหตุใด เครื่องบินฝ่ายพันธมิตรจึงทิ้งระเบิดทำลายสะพานพระราม ๖ ผิดพลาดจนทำให้ลูกระเบิด ๑๔ ลูก ตกมาถล่มใส่วัดสร้อยทองได้รับความเสียหายอย่างหนัก ที่ทราบว่าเป็นลูกระเบิด ๑๔ ลูกเพราะมีการนับหลุมระเบิดที่ปรากฏในบริเวณวัด ด้วยแรงระเบิดทำให้พระอุโบสถเสียหายทั้งหลัง แต่ที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ พระพุทธรูปในพระอุโบสถในวัดสร้อยทองได้รับผลกระทบเล็กน้อยบริเวณปลายคางด้านขวาและที่มือเท่านั้น พระพุทธรูปองค์นั้นจึงได้รับการกล่าวขานว่าหลวงพ่อเหลือ มาถึงทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนศรัทธาเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
ต่อมาชาวบ้านได้บูรณะซ่อมแซมองค์หลวงพ่อเหลือ เมื่อมีการปัดฝุ่นองค์หลวงพ่อเหลือ พบว่าส่วนเกศของหลวงพ่อเหลือเปิดออกได้จึงเปิดดูพบผงทรายจึงได้ปิดไว้ตามเดิม ภายหลังพบว่า ผงทรายเหล่านั้นคือ พระธาตุ ๕ พระองค์ จึงนำไปให้หลวงพ่อรวย เจ้าอาวาส ต่อมาผู้ใหญ่บ้านแห่งคลองบางเขน ได้พบเห็นพระธาตุนั้นด้วย ท่านมีความรู้เรื่องพระธาตุ ได้บอกลักษณะพระธาตุนั้นทั้ง ๕ พระองค์ ว่าเป็นพระอรหันตสาวกธาตุ คือ พระอรหันต์สารีบุตรเถระ, พระอรหันต์โมคคัลลานเถระ, พระอรหันต์สีวลีเถระ, พระอรหันต์องคุลิมาลเถระ, พระอรหันต์พิมพาเถรี ต่อมาหลวงพ่อรวย ได้บรรจุพระอรหันตธาตุทั้งหมดไว้ภายในเกศของหลวงพ่อเหลือตามเดิม หลังจากนั้น หลวงพ่อรวยเคยเล่าให้คุณลุงแม้นฟังว่าท่านเคยเห็นดวงไฟวิ่งไปมาระหว่างองค์หลวงพ่อเหลือกับพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ซึ่งประดิษฐานไว้หน้าอุโบสถ (ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ตามความเชื่อของคนลาวเรียกว่าพระธาตุเสด็จเป็นสื่อกันและกัน)
|