|
อุปสมบท
นายพรหม ใช้ชีวิตอย่างปกติแต่ยังคงฝึกฝนวิชาอาคมกับบิดา อย่างต่อเนื่อง ครบอายุ 20 ปี นายพรหมตั้งใจที่จะเป็นทหารรับใช้ชาติเสียก่อน แต่ไม่สมหวัง คุณพ่อสุวรรณจึงพาบุตรชายไปฝากเข้าทำงานกับท่าน หลวงเสรีรณฤทธิ์ นายพรหมเข้าทำงานในตำแหน่ง หัวหน้าแผนกพัสดุการรถไฟฯ นายพรหมทำงานด้วยความขยันขันแข็งเป็นที่ถูกใจของผู้ใหญ่หลายท่าน ด้วยนิสัยรักการศึกษาวิชาอาคม นายพรหมเก็บตัวเป็นคนเรียบร้อยศึกษาวิชาไม่ยุ่งกับใคร จนเป็นที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนร่วมงานว่า นายพรหมมีของดี จากเด็กบ้านนาที่รักสงบกับชีวิตในกรุงที่มีแต่แสงสี ความแก่งแย่ง แข่งขันชิงดีชิงเด่น ของผู้คนในกรุงทำให้ นายพรหมเกิดความเบื่อหน่ายกับชีวิตในเมือง จึงขอลาออกจากงานที่ทำ กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตนดังเดิม
นายพรหมได้เข้าพิธีอุปสมบท เดือน ๖ ปี พ.ศ.๒๔๗๙ อายุ ๒๓ ปี
พระครูสารกิจ (ฝัก) วัดทำเลไทย อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ชุ่ม วัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ทอง วัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้ฉายาว่า “ติสฺสเทโว” เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อพรหมได้อยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์ ที่วัดทำเลไทย และได้ศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากท่าน จึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดขนอนเหนือบ้านเกิด ด้วยความที่เป็นผู้มีวิชาอาคมอยู่ก่อนแล้ว หลวงพ่อพรหมจึงมีลูกศิษย์เข้ากราบไหว้ทำบุญกับท่านอยู่ไม่ขาด ทั้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อพรหม นำปัจจัยที่ได้ ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมและบูรณะส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมภายในวัดขนอนเหนือ หลวงพ่อพรหมท่านเป็นพระลูกวัด ในขณะนั้นมีท่านพระอาจารย์ชุ่มเป็นเจ้าอาวาส การที่ท่านเป็นพระลูกวัดจึงถือเป็นโอกาสดี ที่ท่านสามารถเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ต่างๆได้โดยไม่ติดภาระอันใด
เป็นศิษย์หลวงพ่อขัน หลวงพ่อพรหมจำพรรษาอยู่วัดขนอนเพียงไม่กี่พรรษา โยมบิดาเห็นว่าควรที่จะให้พระบุตรชาย ได้ศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจึงได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ ซึ่งเป็นพระที่เก่งกล้าในวิชาอาคมแบบไม่เป็นสองรองใครรูปหนึ่ง หลวงพ่อพรหม มีพื้นฐานในวิชามาจากโยมบิดาซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อขันมาก่อนแล้ว หลวงพ่อขันจึงสอนเพียงวิชาการสักอักขระเลขยันต์รูปแบบต่างๆและเชือกคาดเอว,ผ้าขอด, การลงตะกรุด, เดินธาตุสี่ หลวงพ่อพรหมเรียนวิชาอยู่ไม่นานจากพื้นฐานที่มีมาก่อนนั้น ทำให้ท่านสำเร็จแต่ละวิชาอย่างแตกฉาน ท่านได้อยู่รับใช้ หลวงพ่อขันอีกระยะหนึ่งจึงกราบลาพระอาจารย์กลับ ความเก่งกล้าในวิชาอาคม และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของหลวงพ่อพรหม ทำให้เกิดศรัทธาจากคณะศิษย์มากขึ้น แต่ละวันหลวงพ่อพรหมจะรับลูกศิษย์เป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เวลาที่เหลือท่านจะใช้ในกิจของสงฆ์ และการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิ ข้อวัตรปฏิบัติประจำวันมีดังนี้
เวลา ๑๐.๐๐ น.- ๑๖.๐๐ น. อนุเคราะห์ศิษย์และญาติโยมที่มากราบไหว้
เวลา ๑๖.๐๐ น.- ๒๐.๐๐ น.สวดมนต์ ธรรมวัตร
เวลา ๒๐.๐๐ น.-๐๒.๐๐ น.จำวัด
เวลา ๐๕.๐๐ น.-๑๐.๐๐ น.ทำกิจ ส่วนตัวและภาระอื่นๆ
หลวงพ่อพรหมปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่ทราบกันดี หากผู้ใดอยากมากราบท่าน ควรรู้ว่าจะมาเวลาไหนจึงสามารถพบท่านได้ ทั้งท่านยังเป็นพระที่กตัญญูต่อ บิดา-มารดา ท่านจะปลีกเวลาเพื่อแสดงธรรมให้แก่คุณแม่ผลได้ฟังเสมอ แลคอยดูแลบิดาท่านเป็นอย่างดีเนื่องจากคำทำนายของบิดาท่านนั้นแม่นยำนัก
|
|