เมื่อนายพรานจากไปแล้ว เราเอาผ้านั้นมาคลี่ดู เห็นเป็นผ้ายันต์ เขียนด้วยอักษรไทยเหนือ ในคำนำบอกว่า เป็นพระคาถา ที่พระพลรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประสิทธิ์ประสาทให้ พระนเรศวร กับพระเอกาทศรถ พร้อมด้วยทหารหาญ ในการกู้บ้านกู้เมือง เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ภาวนาบ่อยๆ เนืองนิจจะพิชิตหมู่ไพรี ไล่ความอัปรีย์ จัญไรได้หมด ข้าพเจ้าอ่านแล้ว ก็พับเอาไว้อย่างเดิม เพราะคาถานี้ ข้าพเจ้าเองสวดทุกเช้าเย็น และตอนกลางคืน คือ วันศุกร์ที่ ๓๐ เมษายนนั่นเอง นายพรานคนนั้น ก็กลับมาอีก
มาคราวนี้แกนำเอาแท่งเงิน แท่งทองคำ มาให้จำนวนมาก บอกว่า กลัวท่านจะลำบาก ในการเดินทาง เมื่อท่านอดอยาก ก็ขายเงินแท้ๆ ทองคำแท้ๆ เพื่อประทังชีพในการเดินทาง เพราะทางเปลี่ยว ต้องข้ามเขา ลงห้วย ลำบาก ก็ปฏิเสธแกไปว่า ไม่หรอกโยม ขอบใจมากที่เป็นห่วง ขอให้คุณโยมเอากลับไปเถิด อาตมาไม่เอาติดตัวไป ไม่ว่าทรัพย์สมบัติชนิดใด ที่เขา สมมุติว่ามีค่า สิ่งนั้นจะนำทุกข์มาให้ทุกอย่าง อาตมาเอง มาแสวงหาทรัพย์ภายใน คือ อริยทรัพย์ ส่วนทรัพย์ภายนอกคือ ข้าวของเงินทอง ที่จะต้อง ใช้จ่าย เพื่อความสุขของชีวิตทางโลกนั้น อาตมาไม่ถือเงินทองไปด้วยเลย มีก็แต่เสื้อผ้า ที่จะนำไปให้คนจน อาตมาจึงขอขอบใจ เจตนาดีของคุณโยม อย่างมาก เมื่อเราไม่ยอมรับ แกก็กลับไป และก่อนไปแกถวายไม้เท้าไว้หนึ่งท่อน แกบอกว่าป้องกันได้สารพัด อันตัวหนอน ตัวทาก มันชุกชุม มันรุมกัน ไต่ขึ้นขา มาดูดกินเลือด ตัวมันคล้ายตัวปลิง ปลิงบกเราเรียกทาก หากมันเกาะ เอาไม้นี้แตะเข้า มันจะหลุดไป และกันภัยได้ทุกอย่างเลย
อันไม้เท้าที่แกให้นั้น บัดนี้เรายังรักษา และถือประจำอยู่ จึงนึกในใจว่า ผู้ชายนายพรานคนนี้ เป็นใครกันแน่ แต่ที่แกบอกว่า ชื่อหิรัญพนาสูรนั้น คือใครกันแน่ และแกอยู่ที่ไหน เราก็ลืมถามแกด้วย เมื่อพิเคราะห์ดู ก็คงจะเป็นเจ้าป่า คือท้าวหิรัญ ซึ่งมีรูปปั้นหล่อ อยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎนั้นเอง จึงมาเชื่อมั่นว่า คิดดี พูดดี ทำดี ผีช่วย เราจึงมีรูปท้าวหิรัญ ไว้ดูเป็นขวัญตามาทุกวันนี้
|