ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2894
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

Ellora Caves, India .. ถ้ำทางศาสนาฮินดู ของหมู่ถ้ำเอลโลรา : ถ้ำหมายเลข 13-16

[คัดลอกลิงก์]
มหาวิหารไกรลาส ... มีหลักฐานว่าสร้างในสมัยของราชวงศ์รัชตคุต (พศ. 1278-1516) เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย คือมีพระศิวะ หรือพระอิศวร เป็นเทพเจ้าสูงสุด (เช่นเดียวกับถ้ำ Elephanta)
ในแต่ละถ้ำจึงมีมณฑปประดิษฐานศิวลึงค์ และภาพแสดงปางต่างๆของพระศิวะและพระนางปารวตี (พระอุมา) เช่น ศิวะนาฏราช และพระอุมามเหศวร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรามักพบภาพเล่าเรื่องอวตารของพระนารายณ์ทั้งสิบปางในถ้ำเสมอ ซึ่งถือเป็นปกติสำหรับศาสนสถานในศาสนาฮินดู ในแต่ละถ้ำมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
ถ้ำหมายเลข 13 : เป็นถ้ำขนาดเล็ก ภายในยังสร้างไม่เสร็จดี อาจจะใช้เป็นที่เก็บเสบียง เช่นเดียวกับถ้ำหมายเลข 1

***ภาพวราหาวตาร ในถ้ำหมายเลข 14 (Ravana Ki Khai)
ถ้ำหมายเลข 14 Ravana Ki Khai : เป็นถ้ำที่เชื่อว่าเป็นถ้ำทางพุทธศาสนา แต่มีการเปลี่ยนเป็นถ้ำทางศาสนาฮินดูในสมัยต่อมา



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-3-28 00:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มีลักษณะเป็นห้องโถง มีเสาค้ำเพดาน 2 แถว … ผนังด้านในมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเพื่อสลักภาพเทพเจ้าพระองค์ต่างๆ เช่น ทศกัณฑ์โยกเขาไกรลาส อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ (ชาวอินเดียเรียกทศกัณฑ์ว่า Ravna) พระพิฒเนศ เทพีทุรคา และอวตารปางต่างๆของพระนารายณ์

*** ภาพสลักหิน นรสิงหาวตาร
***อาคารลอยตัวแห่งแรกของหมู่ถ้ำแอลโลร่า
ถ้ำหมายเลข 15 ทศอวตาร (Dashavatara) : มีจารึกว่าสร้างในสมัยของพระเจ้า ตันติทัรคา (Dantidurga) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์รัชตคุต (พศ. 1278-1293)
ตัวถ้ำสร้างอยู่บนเนินเขา ซึ่งต้องขึ้นบันไดราว 50 ขั้น … เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปจะพบกับอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งนับเป็นอาคารลอยตัวแห่งแรกของหมู่ถ้ำเอลโลราที่สลักขึ้นจากหินชิ้นเดียว
ตัวอาคารมีการประดับด้วยภาพสลักอย่างเรียบง่าย แต่ที่น่าสนใจ คือ การสลักผนังให้เป็นช่องแสงลอดเข้ามาในตัวอาคาร
ส่วนถ้ำด้านบนนั้นสลักภาพพระศิวะ เช่น พิธีสยุมพรของพระศิวะกับพระนางปารวตี และภาพพระศิวะคงคาธาร นอกจากนี้ยังปรากฏภาพทศอวตาร (นารายณ์ 10 ปาง) ตามชื่อถ้ำด้วย เช่น นรสิงห์หาวตาร โดยพระนารายณ์ทรงอวตารเป็นอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งสิงห์ ลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ ที่ได้รับพรจากพระพรหมไม่ให้ตายด้วยน้ำมือของมนุษย์และสัตว์ใด จึงต้องมาจบชีวิตด้วยอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งสิงห์แทน
ต่อมาเป็นภาพวราหาวตาร โดยทรงอวตารเป็นหมูป่า (วราห์) เขี้ยวเพชร เพื่อปราบยักษ์หิรัณยกษะ ผู้เป็นพี่ของยักษ์หิรัณยกศิปุ … ยักษ์หิรัณยกษะได้รับพรจากพระศิวะ จึงไม่มีใครสามารถจะปราบลงได้ จึงได้พาลม้วนเอาแผ่นดินทั้งหมดลงไปใต้บาดาล โดยต้องต่อสู้กันนานถึงหนึ่งพันปีกว่าจะปราบยักษ์ตนนี้ได้ แล้วพระองค์จึงได้ใช้เขี้ยวเพชรงัดเอาผืนแผ่นดินขึ้นมาจากใต้บาดาลคืนดังเดิม
นารายณ์อวตาร
พระนารายณ์หรือพระวิษณุนั้นทรงอวตาร (แบ่งภาค) ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์จากเหล่าอสูรร้ายและทุกข์เข็ญในแต่ละยุคอยู่หลายครั้ง อวตารของพระองค์นั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่ที่นิยมกล่าวถึงและปรากฏในศิลปกรรมทางศาสนาฮินดูนั้นมีอยู่ 10 อวตาร เรียกว่า ทศอวตาร หรือที่นิยมเรียกว่า นารายณ์สิบปาง ดังนี้
1.       มัสยาวตาร อวตารเป็นปลากรายทองชื่อ ผศรี เพื่อช่วยเหลือมนุษย์จากเหตุการณ์น้ำท่วม
2.       กูรมารวตาร อวตารเป็นเต่ายักษ์ เพื่อรองรับเขาพระมันทระในคราวกวนเกษ๊ยณสมุทร
3.       วราหวตาร อวตารเป็นหมูป่าเขี้ยวเพชรลงมาปราบยักษ์หิรัณยกษะ ที่ม้วนเอาแผ่นดินไปไว้ใต้บาดาล
4.       นรสิงหาวตาร อวตารเป็นมนุษย์ครึ่งสิงห์เพื่อปราบอสูรหิรัณยกศิปุ
5.       วามนาวตาร อวตารเป็นพารหมณ์เตี้ย เพื่อคืนโลกทั้งสามจากอศูรพลี โดยแสดงปางศรีวิกรม (ย่างสามขุม)
6.       ปรศุรามาวตาร อวตารเป็นพระรามถือขวาน (รามสูร)
7.       รามจันทราวตาร อวตารเป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฑ์
8.       กฤษณาวตาร อวตารเป็นพระกฤษณะ เพื่อปราบอสูรกังสะและปรากฏในศึกมหาภารตะยุทธ
9.       พุทธาวตาร อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า
10.     กัลกยาวตาร อวตารเป็นมหาบุรุษทรงม้าสีขาว เพื่อช่วยเหลือมนุษย์จากสิ่งชั่วร้ายในช่วงปลายของกลียุค

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-3-28 00:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ำหมายเลข 16 มหาวิหารไกรลาส (Kailas) : เป็นกลุ่มอาคารที่มีขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงที่สุดของหมู่ถ้ำเอลโลรา โดยเป็นอาคารที่ได้ชื่อว่าสร้างจากหินชิ้นเดียว (Monolithic Monument) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก … ประมาณการกันว่าต้องสกัดหินจากภูเขาถึงสองแสนห้าหมื่นตัน ใช้คนงานกว่า 7,000 คนเพื่อสร้างมหาวิหารนี้
พระเจ้ากฤษณะที่ 1 (พศ. 1299-1316) ทรงโปรดใหเสร้างวิหารไกรลาสขึ้นในปลายรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งการก่อสร้างได้แล้วเสร็จในสมัยต่อมา รวมระยะเวลาที่ใช้ก่อสร้างกว่า 150 ปี
สถาปัตยกรรมของวิหารแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียใต้ โดยได้รับแบบอย่างมาจากวิหารไกรลาสนาถ แห่งเมืองคัญชิปุรัมย์ (Kanchipuram) ที่สร้างในรัชสมัยของพระเจ้านรสิงหวรมัน แห่งราชวงศ์ปัลลวะ (พศ. 1238-1265)
ความมหัศจรรย์ของมหาวิหาร รวมถึงภาพแกะสลักที่ได้สัดส่วนงดงามของมหารวิหารแห่งนี้แสดงถึงความเป็นเลิศในศาสตร์การคำนวน และงานสถาปัตยกรรมของชาวอินเดียโบราณได้อย่างดียิ่ง
มหาวิหารไกรลาสแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อต้องการจำลองเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระศิวะและสรวงสวรรค์ของบรรดาทวยเทพทั้งปวง มาไว้ยังโลกมนุษย์ … ดังนั้น เราจึงพบประติมากรรมของเทพเจ้า และภาพเล่าเรื่องเทพปกรณัมอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของมหาวิหารแห่งนี้
อยากจะขอย้ำว่า ภาพทั้งหมดที่เราเห็นเป็นการสลักหินทั้งสิ้น ไม่ใช่การปั้นนะคะ




มหาวิหารไกรลาสต่างๆ ดังนี้ประกอบด้วยอาคาร
โคปุระ : มีภาพสลักเทพเจ้าต่างๆประทับบนสัตว์พาหนะของพระองค์ (เพื่อให้ง่ายต่อการระบุพระนามของแต่ละพระองค์) รวมถึงแสดงภาพเล่าเรื่องนารายณ์อวตารปางต่างๆ ทั้งด้านนอกและด้านในตลอดความยาวของระเบียงคด … ส่วนชั้นบนนั้นเป็นระเบียงเปิดโล่งและมีทางเชื่อมกับวิหารนนทิ


วิหารนนทิ (Pavillion) Nandi: อยู่ถัดเข้ามาจากโคปุระ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง
ฐานด้านหน้าสลักภาพคชลักษมี (พระลักษมีประทับนั่งระหว่างช้างสองเชือกซึ่งชูงวงอยู่เหนือพระเศียร) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวัสดีและเจริญรุ่งเรือง ถือเป็นการอำนวยพรให้แก่ผู้มาเยือนตั้งแต่แรกเข้ามายังมหาวิหารแห่งนี้


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-3-28 00:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ตามช่องทางเดิน ประตู ... มีรูปเคารพของเทพเจ้า โดยเฉพาะรูปสลักหินของพระศิวะและพระอุมาประดับกระจายเต็มพื้นที่ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ศึกษา และเคารพบูชา
ภายในห้องบูชาของวิหารนนทิ ... ประดิษฐานรูปโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร
ซึ่งมีฉนวนเชื่อมต่อกับโคปุระชั้นบนได้
ทั้งสองข้างของวิหารนนทิมีเสาที่เชื่อว่าเป็นตรีศูลอาวุธของพระศิวะ สูง 15.9 เมตร
เสาตรีสูลนี้ ตั้งตระหง่าน .. ดดเด่นสะดุดตาท่ามกลางหมู่อาคารในมหาวิหาร

ความงามด้านข้าง ช่วงด้านล่างของอาคารนนทิ
ตลอดเวลาที่เดินชม .. เหมือนเราตกอยู่ในสายพระเนตรของเหล่าทวยเทพทุกอย่างก้าว
ถัดออกมาเป็นปฏิมากรรมรูปช้างขนาดเท่าตัวจริง
ใครบางคนเล่าว่า ช้างทุกๆด้านนั้น มีเพียงด้านทิศใต้เท่านั้นที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่


5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-3-28 00:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



วิหารเทพีแห่งแม่น้ำ : เป็นวิหารที่สลักหน้าผาด้านทิศเหนือเป็นแท่นบูชา สลักรูปเทพีทั้งสามองค์ คือ เทพีสุรัสวดี ..พระแม่คงคา ประทับเหนือมกร .. และพระยมุนา ประทับเหนือเต่า...
ซึ่งเทพีทั้งสาม เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา ความบริสุทธิ์ และความกรุณา







มณฑป : เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ตัวอาคารสูง 33 เมตร ตั้งอยู่บนฐานช้างแบกซึ่งสูงกว่า 8 เมตร ซึ่งมีสิงห์และครุฑแทรกอยู่บางช่วง …
โดยด้านหน้าเป็นทางขึ้นไปยังปราสาทประธาน ศิลปะน่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะปัลวะ และมีปราสาทจำลองประดับที่มุมทั้งสี่ของปราสาทประธาน


ด้านหนึ่งของฐานมณฑปสลักรูปทศกัณฑ์กำลังพยายามโยกเขาไกรลาส
พระศิวะ และพระอุมาประทับบนยอดเขา


ภายในมณฑป .. ประดิษฐานศิวะลึงค์
ผู้คนที่ศรัทธาต่างนำดอกไม้มาบูชาขอพร




ภายในอาคารมณฑปค่อนข้างมืด การถ่ายรูปทำได้ยากนิดหน่อย
มีเสาประดับและค้ำยันภายในอาคารหลายต้น ซึ่งได้รับการสลักเสลางดงาม

The Gallery : ผนังด้านต่างๆของอาคารประธานล้วนประดับด้วยเทพปกรณัมมากมาย ซึ่งเล่าเรื่องมหากาพย์โบราณของอินเดีย ... เช่น ฉากการสู้รบที่ทุ่งคุรุเกษตร ในเรื่องมหาภาระยุทธ (ด้านทิศเหนือ) … ฉากสงครามระหว่างทัพของพระรามและทศกัณฑ์ จากมหากาพย์รามายณะ (ด้านทิศใต้) …
การเดินชมระเบียงภาพสลักหินจะเต็มไปด้วยอรรถรส เพลิดเพลิน และได้ความรูู้มากมายหากมีไกด์นำชมที่มีความรู้ และสามารถบรรยายเรื่องราวของภาพสลักได้อย่างต่อเนื่อง
เราโชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง น้องเป้ .. คุณ รังสฤษณ์ .. มาเป็นไกด์และเล่าเรื่องาวของแต่ละภาพให้ฟัง (แต่จำได้ไม่หมด ต้องขออภัยค่ะ)

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2019-3-28 00:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนหน้าผาทั้งสามด้านรอบมณฑปมีการแกะสลักเป็นระเบียงสองชั้น ประดับด้วยเสาที่มีการแกะสลักอย่างงดงาม
รวมถึงภาพสลักหินของเทพเจ้าต่างๆ เช่น พระศิวะนาฏราช ภาพตรีมูรติ โคนนทิ นารายณ์อวตารทั้งสิบปาง .. จึงอาจกล่าวได้ว่า เราได้พบกับเทพเจ้าฮินดูทุกพระองค์ในมหาวิหารไกรลาสแห่งนี้
หากคุณมีโอกาสมาถึงถ้ำมดกโลกแห่งนี้ ต้องไม่พลาดการเดินขึ้นเขาเพื่อไปชมด้านบนของวิหารไกรลาส
ภาพที่ปรากฏในสายตาเมื่อเราไปถึงยอดเขานั้นน่ามหัศรรย์มาก ... น่าทีงมากมายกับความพยามอันเกิดจากศรัทธาอย่างสูงส่งในศาสนาของคนอินเดียสมัยโบราณ …
ที่น่าทึ่งมากกว่าสิ่งที่เราเห็นในสายตา คือความสามารถด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ที่ทำให้การออกแบบอาคาร เลยไปตลอดการก่อสร้างทำได้อย่างงดงาม ลงตัว ...
ผลงานที่ออกมาอวดสายตาชาวโลกนั้น จึงเปี่ยมด้วยความอลังการ สวยงาม และน่าอัศจรรย์มากในความสามารถของคนโบราณที่มีเพียงเครื่องมือง่ายๆ เบสิคๆ แต่สร้างสิ่งมหัศจรร์แบบนี้ได้
การขุดภูเขาทั้งลูกนั้นไม่ง่าย เมื่อไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ซับซ้อนดังเช่นปัจจุบัน
ใครบางคนบอกว่าสมัยนั้นการก่อสร้างใช้พียงสิ่วและฆ้อน ... คงจินตนาการได้ไม่ยากว่า คงต้องใช้ความแม่นยำในการวางผังหมู่อาคาร การคำนวณกำหนดสัดส่วนของอาคารที่จะใช้สอยแต่ละหลัง รวมถึงการจัดวางรูปเคารพต่างๆให้ต่อเนื่อง เพื่อเล่าเรื่องราวในมหากาพย์โบราณได้อย่างลงตัว



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้