พระครูโพธิสารคุณ (หลวงพ่อนวล) วัดโพธิ์ บางระมาด ตลิ่งชัน กทม
ประวัติหลวงพ่อนวล
พระครูโพธิสารคุณ (นวล ธมฺมธโร) นามสกุล สุดใจแจ่ม เกิดวัน ๖ฯ๘ ค่ำ ปีฉลู วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๒ ที่ตำบลบางขันแตก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรนายพลู นางทรัพย์ สุดใจแจ่ม มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ๑๐ คน หลวงพ่อนวลเป็นบุตรคนที่ ๘
การศึกษาและรับราชการ
เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทยสำเร็จชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ และรับราชการมียศเป็นนายดาบ ผู้บังคับหมวดทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์
การศึกษาพุทธาคม
ปฐมเหตุที่หลวงพ่อนวลมีความสนใจศึกษาพุทธาคม สืบเนื่องมาจาก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ขณะรับราชการ หลวงพ่อนวลได้ล้มป่วยลง ได้ทราบกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของหลวงพ่อปาน จึงไปยังวัดบางนมโค และขอให้หลวงพ่อปานรักษาโรคให้จนหายขาด หลวงพ่อนวลมีความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อปาน จึงฝากตัวเป็นศิษย์ ขอร่ำเรียนวิชาเวชศาสตร์แพทย์แผนโบราณ จนสามารถนำมาช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บป่วยได้มากมาย เมื่อมาบวชอยู่ที่วัดโพธิ์ นอกจากนี้หลวงพ่อนวลยังได้ขอเป็นศิษย์ศึกษาพุทธาคมทุกแขนงจากหลวงพ่อปาน ได้เรียนทางด้านเจริญกรรมฐาน วิชาลบผงทำผงวิเศษตามตำรับของหลวงพ่อปาน วิธีทำของขลัง การลงยันต์ทอและยันต์เกราะเพชร อันเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อปาน หลวงพ่อนวลศึกษาอยู่กับหลวงพ่อปานจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม จึงลาออกจากราชการมาอุปสมบทที่วัดโพธิ์ บางระมาด กรุงเทพมหานคร เมื่ออยู่ที่วัดโพธิ์ก็ศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อนิ่ม ที่วัดโพธิ์ ส่วนหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยานั้น หลวงพ่อนวลได้รับการประสิทธิประสาทวิชาอาคม เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐
ฉะนั้น จากลำดับการศึกษาพุทธาคมของหลวงพ่อนวล จากพระคณาจารย์ที่สูงด้วยวิทยาคมดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีข้อสงสัยเคลือบแคลงใดๆ เลยว่า หลวงพ่อนวลจะสูงด้วยวิทยาคมเพียงใด อนึ่ง พระอาจารย์ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมสืบต่อจากหลวงพ่อนวล และได้ร่วมสร้างวัตถุมงคลกับหลวงพ่อนวลมาโดยตลอด คือ พระอาจารย์บุญมาก สัญญโม พระอาจารย์บุญมาก ท่านนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างวัตถุมงคลรุ่น พ.ศ.๒๕๓๕ ของวัดโพธิ์ เพื่อนำรายได้สร้างอุโบสถด้วย
อุปสมบท
เมื่อลาออกจากราชการแล้ว อุปสมบทที่วัดโพธิ์ ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๔
พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย) เจ้าอาวาสวัดรัชฏาธิฐาน ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์นิ่ม พุทฺธสโร วัดโพธิ์ และพระอธิการผาด ธมฺมชโต เจ้าอาวาสวัดทอง เป็นพระกรรมวาจาอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า “ธมฺมธโร”
หลวงพ่อนวล ได้บำเพ็ญอุปัชฌาย์วัตรและอาจริยวัตรตามหน้าที่พระนวกะ บำเพ็ญสมณกิจตามระเบียบของสำนักศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เอาใจใส่ต่อการศึกษาด้วยความวิริยะอุตสาหะ สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์ในปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๓ และ ๒๔๘๗ ตามลำดับ
หลวงพ่อนวลเป็นผู้ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม เมตตากรุณาสงเคราะห์แก่ญาติมิตรศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้ชิดและห่างไกล ด้วยอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน สงเคราะห์ศิษย์ด้วยอามิสและธรรม ตั้งอยู่ในสังคมธรรมและสาราณียธรรมเป็นประจำ เนื่องจากหลวงพ่อนวลได้รับการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ฉะนั้น เมื่อพระภิกษุ สามเณร ในวัดอาพาธ ท่านได้ปรุงยารักษาช่วยทำการปฐมพยาบาลอุบาสกอุบาสิกาที่มาฟังธรรม รักษาศีลในวัด ป่วยไข้ไปขอยาแก้โรค ท่านก็จัดให้โดยฐานเมตตานุเคราะห์ จนได้จัดสร้างอนามัย ๒ ชั้นขึ้นในวัด ด้วยทุนส่วนตัวและบอบุญเรี่ยไร การงานที่ท่านได้ปฏิบัติมาตั้งแต่เป็นพระอันดับจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
งานปกครอง
พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองบริหารกิจการของวัดตามพระธรรมวินัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ตามอำนาจหน้าที่เรียบร้อยตลอดมา
งานศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๒ ตั้งสำนักศาสนศึกษาทั้งธรรมทั้งบาลีขึ้นในวัด สงเคราะห์พระภิกษุสามเณรปกครองและวัดที่ใกล้เคียงให้ได้รับความสะดวกในการศึกษาปริยัติธรรม หลวงพ่อนวลท่านเป็นครูสอนปริยัติธรรมด้วยตนเอง พ.ศ.๒๔๘๔ เปิดสอนบาลีโดยขอครูสอนบาลีจากท่านเจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ วัดอนงคาราม ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมงคลเทพมุนี เจ้าคณะอำเภอตลิ่งชันสมัยนั้น ท่านเจ้าคุณฯ ได้จัดส่งพระเปรียญมาเป็นครูสอนบาลีประจำสำนักวัดโพธิ์ หลวงพ่อนวลได้จัดส่งนักเรียนธรรมเข้าสอบในสนามหลวงประจำปี สังกัดสำนักเรียน วัดกาญจนสิงหาสน์ ธนบุรี สอบไล่ได้ทุกปีเสมอมา พระภิกษุสามเณรสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนักธรรมของสนามหลวง สอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๓ รูป การศาสนศึกษาซึ่งไม่เคยมีแต่เก่าก่อน หลวงพ่อนวลได้จัดให้มีขึ้นทั้งธรรมทั้งบาลี ทำให้วัดนี้เจริญก้าวหน้าทั้งฝ่ายปริยัติทั้งฝ่ายบริหาร พระภิกษุสามเณรในวัดผู้สมัครเรียนธรรมและบาลีได้สร้างหลักสูตรอุปกรณ์การศึกษาแจกพระภิกษุสามเณรอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา ส่วนในด้านการศึกษาวิทยาการทางโลก ท่านเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาล ซึ่งตั้งอยู่ในวัดด้วยอุปกรณ์การศึกษา อำนวยความสะดวกแก่โรงเรียน พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการศึกษา พ.ศ.๒๔๙๙ จัดหาที่ดินสร้างโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา มีผู้ศรัทธาบริจาคที่นาจำนวน ๔ ไร่ ๒ งาน ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัด เจ้าของที่ดินถวายเป็นศาสนสมบัติของวัดโพธิ์ สำหรับสร้างโรงเรียน พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง
งานเผยแผ่
ท่านได้ทำการเผยแผ่พระศาสนาด้วยวิธีการแสดงธรรมประจำวันธรรมสวนะและอบรมพระภิกษุสามเณรในปกครองสั่งสอนศีลธรรมจรรยา แก่นักเรียนโรงเรียนประชาบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาวิสามัญ ที่ตั้งอยู่ในวัดเป็นประจำ มีอุบาสก อุบาสิกา รักษาศีล ฟังธรรม ประจำวันธรรมสวนะ พระครูโพธิสารคุณเทศนาสั่งสอนเรื่องศีลและวัฒนธรรม บางคราวท่านได้ใช้วิธีสั่งสอนให้เส้นสิ่งที่ควรเว้น ทำสิ่งที่ควรทำแนะนำในทางสุปฏิบัติมีผู้เลื่อมใสยอมรับนับถือปฏิบัตินับว่าได้ผลในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก
พระประธานในอุโบสถหลังเก่า วัดโพธิ์ บางระมาด กทม.
|