สมัยหลวงพ่อพุธยังเป็นพระครูอยู่วัดป่าแสนสำราญ ผมยังเด็กเรียนแค่ชั้นประถม
มีบ้านอยู่หน้าวัด
เวลาว่างก็จะเข้าไปวิ่งเล่นอยู่ลานวัด
ทำเสียงหนวกหูรบกวนพระในวัดบ้าง..ประสาเด็ก ท่านพระครูก็จะแย้มหน้าโผล่หน้าต่างออกมา
แค่เห็นหน้าท่านก็เผ่นแน่บ
กลัวขี้หดตดหาย แต่ไม่เคยได้ยินท่านด่าหรือเอ็ดเอาสักครั้ง เหรียญตีนโตรุ่นแรกหลวงพ่อก็ให้ ซึ่งก็ได้แขวนเปลือยในคอจนสึกและภายหลังทำหล่นหายไป อาจกล่าวได้ว่าหลวงพ่อพุธใกล้ชิดกับครอบครัวผมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับพี่สาวที่ท่านถือเป็นศิษย์กับพี่ชายซึ่งท่านก็เป็นธุระพาไปบวชที่วัดสุปัฏฯ บวชแล้วก็พามาอยู่วัดป่าแสนสำราญด้วยกัน
คราวหนึ่ง พี่สาวผมขึ้นบ้านใหม่ หลวงพ่อก็มาทำพิธีให้
ก่อนกลับล้วงย่ามหยิบเอาพระชินราชอินโดจีนปี๘๒ วางลงที่ฝ่าพระหัตถ์พระพุทธรูปในบ้าน และยังวางอยู่ตรงนั้นจนวันนี้
หลายปีต่อมาหลวงพ่อพุธก็ออกจากวัดป่าแสนสำราญไปครองวัดหลวงที่เมืองศรีสะเกษ แล้วย้ายไปครองวัดป่าสาละวันเมืองโคราช รวมเวลาที่จากวัดป่าแสนสำราญไปนานหลายสิบปี จึงได้เห็นท่านย้อนกลับเมืองอุบลฯครั้งหนึ่ง
พี่สาวกับลูกชายซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยูู่มหาวิทยาลัยอุบลฯและผมรู้ข่าวว่าท่านมาเมืองวารินฯ ก็ชวนกันไปกราบท่านที่วัดป่าแสนสำราญ ซึ่งท่านจะพักแรมที่วัดเก่าของท่านแค่คืนเดียว รุ่งขึ้นก็จะกลับโคราช ระหว่างนั้นเห็นท่านเคี้ยวหมากอยู่หงึบหงับ ผมก็นึกในใจว่ารอท่านเคี้ยวเสร็จ จะขอชานหมาก โดยพลันท่านก็ล้วงย่ามเอาถุงพลาสติคขึ้นมา
คายหมากในปากใส่ถุง
รีดเอาน้ำหมากออกจนหมด
คลึงถุงปั้นหมากเป็นก้อนกลมๆแล้วก็ยื่นให้ผม ไม่ได้เอ่ยปากขอเลย —
พี่สาวถามหลวงพ่อว่า มารถอะไร ?
ท่านว่าเอารถเบ๊นซ์มา
ชี้ให้ดูรถที่คันใหญ่จอดอยู่หน้ากุฏิ
พี่สาวหันไปบอกลูกชายว่าให้ถวายหลวงพ่อเป็นค่าน้ำมันรถสัก ๕๐๐ ด้วยนะ
เจ้าลูกชายก็หลบตานั่งก้มหน้าเฉยทำอาการเหมือนไม่ได้ยิน หลวงพ่อจึงเอ่ยว่า “ถวายสัก ๔๐ บาท พอเป็นธรรมเนียมก็พอ” เจ้าลูกชายยังคงนั่งเฉยไม่มีอาการตอบสนอง ใครไม่รู้คงนึกว่าไอ้นี่ขี้เหนียวเข้าขั้น ผมจึงล้วงกระเป๋าควักเงิน ๕๐๐ บาทถวายหลวงพ่อเอง หลังจากนั้นก็สนทนาไปสารพัดเรื่องจนพอสมควรก็ลากลับ —
ออกมาพ้นวัดเท่านั้นเจ้าลูกชายพี่สาวก็หันมาเอะอะมะเทิ่งกับผม
“อาครับ..หลวงพ่อรู้ได้ไงว่าผมมีเงินอยู่แค่๔๐บาท”
“ว่าไงนะ ”
“ก่อนเข้ามาวัดผมมีเงินพันกว่าบาทจริงๆ ..ผมซื้ออะไหล่รถจนหมดเกลี้ยง.. เหลือตังค์ทอน ๔๐ บาทในกระเป๋าเท่านั้น ..ผมรู้ว่าหลวงพ่อจะรักษาหน้าผมไว้ ..ผมก็ยังไม่กล้าถวายอยู่ดี”
|