|
ปราณบุรี
ปราณบุรี ชื่อในเอกสารเก่าสะกดด้วย น. หนู ว่าเมืองปรานบุรี หมายถึงเมืองที่มีไม้แดง หรือเมืองไม้แดง (ปราน เป็นคำมอญ แปลว่า ไม้แดง) เป็นไม้เนื้อแข็งมีราคา
ชื่อ “ปรานบุรี” มีแล้วตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 1919-1921 ยุคต้นอยุธยา ในแผ่นดิน ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราช)
ในเอกสารเก่าเรื่องพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ระบุว่า ชื่อ “เมืองปรานบุรี”ได้จากราชทินนามเจ้าเมืองว่า “พระปรานบุรีศรีสงคราม”
เมื่อ พ.ศ. 2230-2231 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) คณะราชทูตฝรั่งเศส เดินทางกลับฝรั่งเศส ผ่านเมืองปราณไปเมืองมะริด แล้วมีบันทึกว่าเมืองปราณเป็นเมืองใหญ่
“บ้านเรือนวัดวาอารามทำด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้น รูปเมืองนี้สี่เหลี่ยมยาว มีรั้วทำด้วยเสาไม้ ปักลงดิน ที่สี่มุมมีป้อมสี่เหลี่ยม ก่ออิฐพบนป้อมมีหอรบและใบเสมา แต่ไม่มีชานป้อมพในรั้วนั้นปลูกกอไผ่ชิด ๆ กัน ซึ่งเป็นรั้วอยู่ในตัว”
เมื่อ พ.ศ. 2205 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีคณะบาทหลวงจากปารีส เดินทางผ่านเมืองปราณบุรี แล้วมีบันทึกถึงแม่น้ำปราณบุรีว่า
“เมืองนี้มีการสัญจรไปมาบ้าง เนื่องจากมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านและอยู่ไม่ไกลจากทะเล………….”
แม่น้ำปราณบุรี ยาว 162 กม.
ต้นน้ำปราณบุรีเกิดจากเขาพะเนินทุ่ง อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี
ไหลเข้า อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ แล้วเป็นเส้นแบ่งเขต อ. หัวหิน กับ อ. ปราณบุรี
ไหลผ่านที่ตั้งเขื่อนปราณบุรี เข้าเขต อ. ปราณบุรี แล้วออกทะเลที่ ต. ปากน้ำปราณบุรี
กุยบุรี
กุยบุรี หมายถึง เมืองที่มีเขากวาง หรือนอแรด (กุย เป็นคำเขมร แปลว่า เขา, นอ) ใช้เป็นส่วนผสมยาโบราณ ส่งขายมีราคา
ชื่อกุยบุรีมีแล้วตั้งแต่ราว พ.ศ. 1900 นามเดิมว่า เมืองกุย เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองว่า “ออกพระพิชัยภักดีศรีวิสุทธิสงคราม”
เมื่อ พ.ศ. 2205 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) มีคณะบาทหลวงจากปารีส เดินทางผ่านเมืองกุยบุรี แล้วมีบันทึกว่าเป็นเมืองรูปร่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ
“กำแพงเมืองทำด้วยไม้ มีบ้านอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน”
ต่อมา พ.ศ. 2230-2231 คณะราชทูตฝรั่งเศสมีบันทึกถึงเมืองกุยว่า
“คล้ายกับเมืองปราณ ตั้งอยู่บนเนิน และมีแม่น้ำเล็ก ๆ ไหลอยู่เชิงเนิน แม่น้ำนี้ไหลไปตกทะเลประมาณ 1 ไมล์ครึ่ง เรือเดินขึ้นล่องได้อย่างสะดวกไปจนถึงช่องทะเลประมาณ 3 ไมล์………..”
คลองกุย ยาว 60 กม.
ต้นน้ำคลองกุยเกิดจากลำห้วยหลายสายทางทิศตะวันตกในทิวเขาตะนาวศรี เขต อ. กุยบุรี จ. ประจวบฯ
ไหลไปทางทิศตะวันออก เข้าเขต อ. กุยบุรี แล้วออกสู่ทะเลที่ ต. กุยเหนือ
ประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์ หมายถึง เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขา เป็นชื่อใหม่แรกมีในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2398
ประจวบ แปลว่า สบ, พบ, จำเพาะ, ฯลฯ คีรี แปลว่า ภูเขา (เป็นคำบาลี-สันสกฤต) ขันธ์ แปลว่า หมู่, กอง, พวก (เป็นคำบาลี-สันสกฤต)
เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขาคือประจวบคีรีขันธ์นี้ ผูกนามขึ้นใหม่จากสภาพภูมิประเทศจริงๆ ที่มีทิวเขาตะนาวศรีพาดผ่านทอดยาวไปตามแนวเส้นเขตแดนไทย-พม่า ตั้งแต่กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เขตหัวหิน, ปราณบุรี, สามร้อยยอด, กุยบุรี, เมือง, ฯลฯ ต่อไปเรื่อยๆ
หัวหิน
หัวหิน หมายถึง โขดหินเรียงรายทั่วไป เป็นชื่อใหม่เพิ่งมีเมื่อราว พ.ศ. 2445 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5
ชื่อเดิมของหัวหินเปลี่ยนไปหลายอย่าง แรกทีเดียว ชาวบ้านเรียกบริเวณหัวหินว่าสมอเรียง หรือถมอเรียง หมายถึงโขดหินเรียงรายทั่วไป (สมอ หรือถมอ เป็นคำเขมร แปลว่า หิน)
ต่อมาเรียกให้สะดวกปากว่าบ้านหินเรียง, บ้านแหลมหิน นานไปกลายเป็นหัวหิน
http://www.matichon.co.th/news/289877
|
|