เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี กล่าวถึงเนื้อเพลง “ค่าน้ำนม” ซึ่งนิยมเปิดในวันแม่แห่งชาติ ว่าเป็นผลงานการประพันธ์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร (บุตรชายของพระเจนดุริยางค์) มีการขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ครูชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 โดยในครั้งแรกครูไพบูลย์ บุตรขันตั้งใจจะให้ครูบุญช่วย หิรัญสุนทรเป็นผู้ร้อง หากแต่ครูบุญช่วย หิรัญสุนทรไม่สบาย จึงเปลี่ยนมาให้ครูชาญ เย็น แข ร้องแทน
เพลงค่าน้ำนมวางจำหน่ายเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยบริษัทนำไทย จำกัด แผ่นเสียงตราสุนัขสลากเขียว เป็นแผ่นครั่งขนาด 10 นิ้ว ความเร็ว 78 รอบต่อนาที ขายได้ 800 แผ่น ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่มากพอสมควร
“วัตถุประสงค์ของการแต่งเพลงค่าน้ำนมนั้น ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้แต่งขึ้นเพื่อมอบให้กับมารดาของครู คือ นางพร้อม ประณีต ซึ่งเป็นผู้ดูแลครูไพบูลย์ บุตรขัน อย่างใกล้ชิดตั้งแต่วัยหนุ่ม ทั้งนี้เพราะครูไพบูลย์ป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะฉะนั้นครูไพบูลย์ บุตรขันไม่ได้ประพันธ์เพลงเพื่อแม่ของใคร แต่เพื่อแม่ของครูท่านเอง ต่อมาในปีรุ่งขึ้นเมื่อมีการจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ 15 เมษายน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงได้เปิดเพลงค่าน้ำนม จึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงประจำวันแม่มาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามเพลงค่าน้ำนมวัตถุประสงค์ในการประพันธ์ครั้งแรกไม่ใช่เพื่อร้อง ในงานวันแม่แห่งชาติ แต่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการดนตรีไทยคือเป็นการสะท้อนให้แนวคิด ศิลปะเพื่อชีวิต ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้เพลงที่ขับร้องกันมุ่งเน้นเพลงที่แสดงอารมณ์รักใคร่ ในเชิงชู้สาวเป็นหลัก ส่วนความเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วยกับการที่จัดให้เพลงค่าน้ำ นมเป็นเพลงลูกทุ่ง” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหงผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า หลังคลอดระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกติน จากต่อมพิตุอิตารีไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้หลั่งน้ำนมซึ่งมีส่วนประกอบที่ได้ จากเลือดของมารดา หากแต่สังคมโบราณได้อธิบายการเกิดน้ำนมแม่ โดยปรากฏใน “อรรถกถามหาตัณหาสังขยาสูตร” ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ผลงานการประพันธ์ของพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาในราวพ.ศ. 1000 ได้กล่าวว่า มารดายังทารกผู้เป็นนั้นให้ดื่มกินน้ำนมในกาลใด กาลนั้นโลหิตในดวงหทัยของมารดาก็แล่นมาถึงบุตรแล้วก็บังเกิดเป็นน้ำนม เพราะความรักในบุตรจึงทำให้เลือดสีขาวเป็นน้ำนม
เนื้อความดังกล่าวยังไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์สารัตถสังคหะ ฉบับที่รจนาในลังกาทวีปของพระสิตธัตถะและฉบับที่รจนาล้านนาของพระนันทาจารย์ ซึ่งคัมภีร์สารัตถสังคหะทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นหนังสือที่พระในอดีตท่านนิยมตัดเอาข้อความไปใช้เทศนา
ไม่ทราบว่าครูไพบูลย์ บุตรขัน ท่านได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์เนื้อเพลงท่อนที่ว่า “เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน” จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือได้จากคัมภีร์ทางศาสนา