ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2136
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สุรินทร์ หัวเมืองเขมรป่าดง

[คัดลอกลิงก์]
หัวเมืองเขมรป่าดง
ปราสาทจอมพระ บ้านจอมพระ อำเภอจอมพระ เป็นอโรคยาศาลอีกแห่งหนึ่งที่พบในเมืองสุรินทร์ สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ (พ.ศ.๑๗๒๔–๑๗๖๓) พบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระวัชชระสัตว์


สุรินทร์ หัวเมืองเขมรป่าดง
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

สุวัฒน์  แก้วสุข
        ผมตั้งหัวเรื่องของบทความนี้ค่อนข้างแรงและตรงไปตรงมา ด้วยเหตุเพราะว่าในสมัยหนึ่ง ชัยภูมิที่เป็นเมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้เคยถูกเรียกว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง”
        เรียกกันอย่างนี้มานาน  มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า พระองค์เคยรับสั่งให้ “เจ้าพระยาบดินเดชาสิงหเสนีย์” (สิงห์ สิงหเสนีย์) ผู้เป็นแม่ทัพสำคัญของไทยในขณะนั้นออกเดินทางมายังบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดทำบัญชีพลหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้ชัดเจนเป็นหลักฐานเก็บรักษาไว้ ซึ่งก็รวมถึงหัวเมืองเขมรป่าดงเหล่านี้ด้วย
        การเรียกชื่ออย่างนี้ แม้ว่าจะเป็นการใช้ภาษาเก่าดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ในแง่หนึ่งได้สื่อความหมายในลักษณะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และไร้อารยธรรมความเจริญอยู่พอสมควร
        ตรงนี้สรุปว่าเป็นความเข้าใจหรือรู้สึกดูถูกดูแคลนของผู้คนทางเมือง กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงที่ห่างไกลออกไปก็คงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทั้งหมด
        แม้จะมีคนคิดในทำนองนั้นอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องไปโกรธเคืองด้วยเรื่องอย่างนี้


        เพราะถ้าเราอ่านประวัติความเป็นมาของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเคยเขียนไว้เพียงสั้นๆ ก็อาจรู้สึกคล้อยตามได้ง่ายเหมือนกัน เนื่องจากจะพบข้อมูลแค่ว่าต้นตระกูลของชาวสุรินทร์เป็นพวก “ส่วย” ที่อพยพมาตั้งบ้านเมืองชื่อ “คูปะทายสมันต์” หรือ “ผไทสมันต์” ต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านมีความดีความชอบจากการตามจับช้างเผือกหลวงที่พลัดหลงมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก จึงได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ “สุรินทร์ภักดี” ให้เป็นเจ้าเมืองปกครองสืบทอดลูกหลานกันตั้งแต่นั้นมา
        ถ้าเรานับช่วงเวลาตั้งแต่แรกก่อตั้งเมืองสุรินทร์จากเหตุการณ์ตามไล่จับช้างเผือกเป็นต้นมา ก็พอจะรวมเวลาได้สองร้อยปีเศษ เรื่องราวก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ และแทบจะหาหลักฐานอะไรไม่ได้เลย ทำให้เกิดความรู้สึกว่าบ้านเมืองแถวนี้คงรกร้างกลายสภาพเป็นป่าดงดิบมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่เมื่ออาณาจักรเขมรโบราณหรือขอมเสื่อมอำนาจไป ไม่ต่างจากนาฬิกาที่จู่ๆ ก็หยุดเดินเอาเสียดื้อๆ
        แม้แต่ในแวดวงวิชาการก็แทบไม่มีผู้ใดศึกษาถึงเรื่องในอดีตของเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของหัวเมืองเขมรป่าดงเหล่านี้กันอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เมืองสุรินทร์มีชัยภูมิอยู่บริเวณอีสานใต้ ทางตอนล่างของลำน้ำมูลอันเป็นแหล่งอารยธรรม มีทั้งซากกำแพงเมืองเก่า และโบราณสถานกระจัดกระจายไปทั่วจังหวัด ซึ่งล้วนแต่เป็นบ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนยุคสุโขทัยและอยุธยาทั้งสิ้น
        ความเข้าใจที่ว่ามีชาวส่วยจากที่ไหนไม่รู้มาตั้งหลักปักฐานจนกลายเป็นเมืองสุรินทร์มาจนทุกวันนี้ ดูจะเป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไปในทางวิชาการและบั่นทอนความภาคภูมิใจในท้องถิ่นลงอย่างมาก
        ในฐานะที่ผมเป็นชาวเมืองสุรินทร์โดยกำเนิด ทั้งบิดามารดาถือกำเนิดจากที่นี่ พูดเขมรกันทั้งบ้าน และทุกวันนี้ก็ยังถือตนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาว สุรินทร์อย่างไม่เสื่อมคลาย
        ตรงนี้จึงต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นสำนึกแห่งการรู้จักตนเองให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดประตูความคิดให้กว้างเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นบนพื้นฐานความจริงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรอบด้านให้มากกว่าที่เป็นอยู่

       ปราสาทภูมิโปน ศาสนสถานศิลปะขอมโบราณสมัยไพรเกมง พบจารึก ๑ หลัก จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๓ ปรางค์ก่ออิฐองค์ใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า-ออก ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนยอดก่อเป็นชั้นหลังคาซ้อนหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ใต้หน้าบันของประตูทางเข้า-ออก  มีลวดลายจำหลักเป็นรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ (จากลักษณะของปรางค์องค์นี้เทียบได้กับกลุ่มปราสาทขอมสมัยก่อนเมืองพระนครที่ใช้อิฐในการก่อสร้างทั้งหลัง)
        ถ้าเมืองสุรินทร์เคยเป็นบ้านเมืองที่มั่นคงมาตั้งแต่สมัยนครวัดนครธมหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกละก็ ความสำคัญของท้องถิ่นย่อมมีอยู่บ้างไม่มากก็น้อย อย่าลืมว่าปราสาทภูมิโปนที่ยังมีซากเหลืออยู่ให้เห็นที่อำเภอสังขะนั้นมีอายุเก่าแก่กว่านครวัดของเขมรหลายร้อยปี คือตั้งแต่ระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เป็นสถาปัตยกรรมเขมรที่โบราณที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็ว่าได้ แม้กระทั่งปราสาทบ้านพลวง ก็ยังมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัดร่วม ๑ ศตวรรษ
        
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-6 15:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นี่คือหลักฐานที่ยืนยันได้แน่นอนว่า พื้นที่บริเวณนี้มีการก่อตั้งบ้านเมืองอย่างมั่นคงมาแล้ว และต้องมีความเจริญพอสมควร
        คำว่า “คูปะทาย” หรือ “ผไทสมันต์” เป็นชื่อเมืองมาตั้งแต่เมื่อใด ในชั้นนี้คงยากจะสืบค้น แต่เชื่อว่าเป็นคำที่โบราณมาก ผมเคยอ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งต้องยกย่องว่าเป็นปราชญ์ในเรื่องอารยธรรมเขมรคนหนึ่งของเมืองไทย จิตร ภูมิศักดิ์ได้กล่าวถึงปราสาทหินแห่งหนึ่งในกัมพูชาชื่อ “บันทายฉมาร์” (Banteay Chamar) ว่า ทางฝั่งไทยจะรู้จักในชื่อ “บันทายสมันต์” หรือ “ผไทสมันต์” คำว่า “บันทาย” ในภาษาเขมรออกเสียงเป็น “บันเตียย” หมายถึงเมืองที่มีลักษณะเป็นป้อมค่ายแข็งแรง คำนี้คนไทยจะเรียกเพี้ยนเป็น บันทาย หรือ พุทไธ เสมอ เช่น บันทายศรี บันทายมาศ พุทไธมาศ (เมืองฮาเตียน ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม มีผู้รู้บอกว่าคนไทยเรียกเพี้ยนเป็นท่าเตียน) เป็นต้น ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับเมืองบันทายฉมาร์ก็คือว่า เมืองนี้มีที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองสุรินทร์ ออกจะใกล้ด้วยซ้ำหากไม่มีเทือกเขาพนมดงรักทอดตัวขวางเป็นแนวผาชัน จนเป็นที่มาของการแบ่งเขตเขมรออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ “เขมรสูง” ทางฝั่งไทย และ “เขมรต่ำ” ทางฝั่งกัมพูชา
        เพราะฉะนั้นการตั้งประเด็นว่า “ผไทสมันต์” เป็นชื่อเดียวกับ “บันทายฉมาร์” จึงเป็นเรื่องทางวิชาการที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง
ความเชื่อมโยงในเรื่องชื่อเมืองนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงราชทินนามที่เป็นสร้อยท้ายชื่อเจ้าเมือง “สุรินทร์ภักดีศรีผไทสมันต์” ด้วย
ราชทินนามนั้นได้มาในสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเขตแดนของไทยยังครอบคลุมทั่วทั้งกัมพูชา บางทีอาณาเขตเมืองสุรินทร์อาจกินลึกไปถึงเมืองบันทายฉมาร์ ดังนั้น ราชทินนามที่ตั้งให้จึงอาจมีนัยยะแห่งการแสดงอำนาจการปกครองดูแลพื้นที่ดังกล่าวด้วยก็เป็นได้
เทือกเขาพนมดงรัก บริเวณช่องตาเมือน (พ.ศ.๒๕๔๙) เบื้องหน้าเป็นที่ราบ
เขมรต่ำอันกว้างใหญ่
อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้สามารถสรุปจากการวิเคราะห์ “ศรีผไทสมันต์” ได้อย่างไม่ยุ่งยากนักว่า ในอดีตเมืองสุรินทร์ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขมรโบราณอย่างแน่นอน ข้อนี้คงไม่ต้องพิสูจน์อะไรกัน
แต่ถึงตรงนี้แล้วอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นได้ว่า เขมรสูงกับเขมรต่ำจะติดต่อกันได้อย่างไรในเมื่อเทือกพนมดงรักขวางเป็นพรมแดนธรรมชาติอยู่ตลอดแนวอย่างนั้น เรื่องกำแพงภูเขานี้ถ้าประสงค์จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นก็ลองปีนขึ้นไปบนปราสาทเขาพระวิหาร จากด้านจังหวัดศรีสะเกษ จะเห็นแนวเขาและหน้าผาสูงชันทางฝั่งไทยอย่างชัดเจน
เรียกว่าถ้าพวกเขมรต่ำปีนผาขึ้นมาได้ก็ด้วยความยากลำบากเต็มที
ดังนั้น เส้นทางที่คนโบราณนิยมใช้เดินทางจากนครธมไปยังบ้านเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงไม่น่าจะทรมานข้ามภูเขาทางด้านนี้ สู้ตรงไปทางเมืองพระตะบอง ตัดเข้าปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ราบได้สะดวกกว่ามาก
เพราะนี่เป็นเส้นทางหลักมานานแล้ว ในสมัยนี้ก็ยังเป็นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของแนวพรมแดนไทย-เขมร อยู่และผมก็เชื่อว่าเส้นทางนี้เป็นถนนโบราณที่มุ่งหน้าออกจากนครธมเพื่อไปเมืองละโว้ (ลพบุรี) อันเป็นศูนย์กลางสำคัญของอาณาจักรเขมรทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเป็นเสมือนรัฐเครือญาติที่สำคัญมากของเขมรด้วย
        ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางจังหวัดปราจีนบุรีจะมีซากโบราณสถานเขมรหลายแห่ง และเป็นเมืองโบราณในอดีตรู้จักกันในชื่อเมือง “ดงศรีมหาโพธิ์”
ที่สำคัญพระมหากษัตริย์ไทยไม่ว่าในสมัยอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ต่างก็ให้ความสำคัญและกังวลกับช่องทางด้านปราจีนบุรีมากกว่าหัวเมืองเขมรป่าดง
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ว่า ทำไมหัวเมืองสุรินทร์หรือบุรีรัมย์จึงด้อยความสำคัญลงทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหารเมื่อเปรียบเทียบกับปราจีนบุรี

ผาเปยตาดี ที่เขาพระวิหาร เป็นหน้าผาสูงชั้นของเทือกเขาพนมดงรัก
        อย่างไรก็ดี ตามแนวเขาพนมดงรักก็มีช่องทางผ่านเข้า-ออก ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีหลายแห่ง เช่น ช่องเสม็ด (จ.สุรินทร์) ช่องตะโก (จ.บุรีรัมย์) และช่องสะงำ (จ.ศรีสะเกษ) เป็นต้น
        เป็นช่องเขาที่ผู้คนใช้สัญจรจากพรมแดนเขมรต่ำไปหาเขมรสูงด้วยความคุ้นเคยมาแต่โบราณ ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าการไปมาหาสู่จะไม่หนาแน่นเหมือนด้านปราจีนบุรี แต่ก็ต้องถือว่าเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สำคัญของเขมร เห็นได้จากการสร้างปราสาท อโรคยาศาล และศาลาพักไว้หลายแห่งตามรายทางจากแนวเขาไปจนถึงเมืองพิมาย อันเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอาณาจักรเขมรบนที่ราบสูงโคราช
        ชาวเขมรในสมัยนั้นใช้ช่องทางเหล่านี้เองในการเดินทางไปยังเมืองพนมรุ้ง เมืองพิมาย และเมืองอื่นๆ
        บทสรุปในช่วงแรกนี้ จึงต้องย้ำอีกครั้งว่าเมืองสุรินทร์ที่กลายเป็นเมืองเขมรป่าดงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์นั้น ถ้าย้อนยุคไปสัก ๑,๐๐๐ ปี พื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนใหญ่ที่อาจมีความเจริญล้ำหน้าบ้านเมืองทางฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรุ่งเรืองเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ จนถึงนครราชสีมา
        คำว่า “เขมรป่าดง” เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะหลังนี้เอง และเป็นที่มาของความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนของคนไทยมาจนทุกวันนี้

ที่มาของเนื้อหา..http://www.oknation.net/blog/surin-samosorn/2007/06/19/entry-1
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้