ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2479
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

Avatar” อวตาร ในมุม...ฮินดู พราหมณ์ พุทธ

[คัดลอกลิงก์]



Avatar”  อวตาร ในมุม...ฮินดู พราหมณ์ พุทธ


อวตาร (อ่านว่า อะ-วะ-ตาน) เป็นภาพยนตร์สามมิติแนวมหากาพย์วิทยาศาสตร์ โดย เจมส์ คาเมรอน สามารถโกยเงินจากผู้ชมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ และได้รับรางวัลภาพยนตร์ประเภทชีวิตยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม จากงานประ

คำว่า “อวตาร” เป็นภาษาสันสกฤตจากคำว่า “avatara” ทั้งนี้เป็นการทับศัพท์โดยภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Avatar”
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการทับศัพท์ภาษาสันกฤตอีกจำนวนมาก เช่น คำว่า นิรวาณ (ภาษาบาลีใช้ว่า "นิพพาน") โดยภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Nirvana” ปัจจุนนี้การทับศัพท์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอังกฤษนั้น กลายมาเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ในการใช้ภาษาอังกฤษทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การถอดจิตจากร่างหนึ่งเพื่อไปควบคุมอีกร่างหนึ่ง ตามตัวเอกในบทภาพยนตร์เรื่องอวตารนั้น ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู คำว่า "อวตาร" หมายถึง การแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์โดยเทพแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ในลัทธิไวษณพนิกาย ถือว่า เมื่อศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลง จนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว พระนารายณ์จะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ                               


ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงอวตารของพระนารายณ์จำนวนสิบปาง คือ มัตสยาวตาร กูรมาวตาร วราหาวตาร นรสิงหาวตาร วามนาวตาร ปรศุรามาวตาร รามาวตาร กฤษณาวตาร พุทธาวตาร กัลกยาวตาร

ส่วนคัมภีร์อื่น ระบุจำนวนการอวตารต่างไป คัมภีร์ภควัตปุราณะกล่าวว่ามี ๒๒ ปาง บางแห่งกล่าวว่าพระนารายณ์จะอวตารลงมาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย บุคคลที่ทำประโยชน์แก่โลก บางครั้งถือเป็นอวตารของพระนารายณ์ด้วย

ศาสนาฮินดูที่มีมาจากศาสนาพราหมณ์ นับถือพระพรหมเช่นกัน และมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากของเดิม ซึ่งลักษณะที่ต่างกันก็คือจำนวนพระเจ้า และแต่ละลัทธิมีการเน้นการบูชา ความศรัทธาในพระเจ้าแต่ละองค์ ศาสนาพราหมณ์ยึดถือพระพรหมองค์เดียว โดยยึดหลักว่าหนึ่งเท่านั้น ไม่มีสองสิ่งที่นอกเหนือจากพระพรหมคือมายา หรือสิ่งหลอกลวง แต่ศาสนาฮินดูถือว่า โลหิตของพระพรหมทำให้เกิดเทพอีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระรุทระ แล้วพระรุทระยังแบ่งภาคหรือที่เรียกว่าอวตารออกเป็นเทพอีกสององค์ คือ พระศิวะ และพระนารายณ์ (วิษณุ) แล้วเทพทั้งสองยังแบ่งได้อีกมากมาย

เมื่อเกิดลัทธิอวตารขึ้น ประชาชนจึงหันมาสนใจภาคอวตารมากขึ้น ต่อภาคพระศิวะและพระนารายณ์ เพราะถือเป็นภาคที่ช่วยเหลือโลก คือ คัมภีร์มหาภารตะว่าด้วยพระวิษนุ (นารายณ์) ได้อวตารลงมาในโลกเป็นพระกฤษณะในร่างของมนุษย์

การที่ชาวฮินดูมีพระเป็นเจ้าอวตารมาสู่โลกมนุษย์เพื่อช่วยดับทุกข์เข็ญ ทำให้มนุษย์อบอุ่นใจ  เพราะพระเป็นเจ้ามาเป็นมนุษย์ มามีชีวิตทุกข์สุขเช่นเดียวกัน พูดจาขอร้องกันได้ ดีกว่าเป็นเทพเจ้าอยู่บนสวรรค์  คอยรับแต่เครื่องพลีกรรมของมนุษย์แต่อย่างเดียว โดยไม่ได้เห็นหน้าตากัน จึงสู่แบบเป็นมนุษย์ไม่ได้ และคราวใดที่โลกเดือดร้อนลำเค็ญ ถึงขั้นต้องพึ่งพระเจ้าพระองค์ก็จะอวตารมาเป็นรูปใดรูปหนึ่งเพื่อช่วยเหลือ

การมีเรื่องอวตารนี้ ทำให้เกิดแยกออกเป็น ๒ นิกาย คือ ไพษณะ ซึ่งนับถือ วิษณุ กับนิกายไศษะ ซึ่งนับถือพระศิวะอันเป็นภาคอวตารปางหนึ่งของพระพรหม แต่ละนิกายก็เชียร์พระเป็นเจ้าของตนเสียเลิศลอย พร้อมกับกดพระเป็นเจ้าอีกฝ่ายหนึ่งให้ต่ำกว่า

จนกระทั่งมีผู้คิดตั้งลัทธิตรีบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นลัทธิว่าด้วยพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ เป็นพระเจ้าร่วมกัน โดยพระพรหมมีหน้าที่สร้างโลก พระวิษณุมีหน้าที่ถนอมรักษา พระศิวะมีหน้าที่ทำลายเพื่อสร้างใหม่ของพระพรหม อันที่จริงตามทฤษฎีก็เป็นสิ่งดี เพราะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดการแตกแยก แต่ในทางปฏิบัติประชาชนก็ยังคงนับถือพระเจ้าเป็นเจ้าของตนเป็นเลิศอยู่

ประเด็นหนึ่งน่าสนใจ คือ เรื่องเอาพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ที่เรียกว่าพุทธาวตารนั้น เรื่องนารายณ์อวตารนี้เกิดขึ้นในยุคคัมภีร์ปุราณะของฮินดูมีทั้งหมด ๑๘ คัมภีร์ แต่ก่อนเคยเข้าใจกันว่าเก่าแก่มาก แต่เวลานี้รู้กันลงตัวหมดแล้วว่า แต่งขึ้นเริ่มแรกในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ (ราว พ.ศ.๘๕๐) และแต่งกันเรื่อยๆ มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ (ราว พ.ศ.๑๔๕๐) แต่ปราชญ์บางท่านว่าถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (ราว พ.ศ.๒๐๕๐)
เรื่องเอาพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ที่เรียกว่าพุทธาวตารนั้น ปรากฏขึ้นระหว่าง พ.ศ.๑๐๐๐-๑๑๐๐ คัมภีร์ปุราณะ คัมภีร์แรกที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตาร คือ "วิษณุปุราณะ" ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งในช่วง พ.ศ.๙๔๓-๑๐๔๓

อวตารในมุมพุทธ

ความเชื่อของชาวพุทธนิกายเถรวาท จะไม่เชื่อว่าการอวตารมีจริง เพราะจิตนั้นมีดวงเดียว (ตามบทที่ว่า เอกะ จะรัง จิตตัง) เพียงแต่เกิดดับตลอดเวลา เมื่อจิตนั้นเกิดเป็นเทพเจ้าไม่ว่าชั้นใดๆ หากแปลงกายเป็นมนุษย์ (เนรมิตขึ้นมาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เช่น พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์แก่) โดยจิตเดิมยังอยู่เป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้น มีจริง แต่การที่จิตนั้นลงมาเกิดอวตารเป็นมนุษย์ โดยการอยู่ในครรภ์ คลอดออกมา เจริญเติบโตเล่าเรียนรู้เลยทั้งๆ ที่ยังมีจิต (เหมือนกัน ดวงเดียวกัน) อีกดวง ยังเป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้นเป็นไปตามความจริงไม่ได้ ตามหลักที่ปรากฏในพระอภิธรรม
ในขณะที่ความเชื่อของชาวพุทธที่นับถือนิกายวัชรยาน ถือว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวตาร หรือแบ่งภาคได้เช่นเดียวกัน อาทิ พุทธะอวตารมาเป็นพระธยานิพุทธะ
นอกจากนี้ ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่า ทะไล ลามะ เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวร และปันเชน ลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภะพุทธะ เป็นต้น
  ภิกษุณีธัมมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม บอกว่า การกลับชาติมาเกิดเป็นแนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่ต่างชาติยังไม่ค่อยแยกแยะ หรือยังแยกแยะไม่เป็น ระหว่างความเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดและอวตาร ศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทเช่นที่ประเทศไทยถือกันอยู่นั้น เราเชื่อในเรื่องรีเบิร์ธ (rebirth) คือ การเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะนี้ เป็นไปตามแรงกรรมที่สะสมมาแต่ภพชาติก่อน เราเลือกที่จะไปเกิดเป็นอะไรตามใจเราเองไม่ได้  ตรงกันข้าม เราจะได้ยินเรื่องการกลับชาติมาเกิด ที่ควรจะแปลมาจากคำว่า re-incarnation เช่น การกลับชาติมาเกิดขององค์ทะไล ลามะ องค์ปัจจุบันก็เป็นองค์ที่ ๑๔ แล้ว ในทางฝ่ายพุทธศาสนาสายวัชรยาน หรือสายทิเบต
การกลับชาติมาเกิดในลักษณะนี้ ก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป แต่จะเป็นไปได้ในหมู่พระอาจารย์ที่ได้ปฏิบัติจิตมาอย่างดีแล้ว สามารถที่จะเลือกกลับไปเกิดเป็นคนเดิม เช่น องค์ทะไล ลามะองค์ที่ ๑๔ ก็เชื่อว่า เป็นองค์ที่ ๑๓ กลับชาติมาเกิดเพื่อมาแบกรับภาระหน้าที่ที่องค์ที่ ๑๓ ยังทำไม่สำเร็จ เป็นต้น

การแยกแยะตรงนี้ เราจึงต้องชัดเจนระหว่าง อวตาร คือการแบ่งภาคของเทพเจ้าฮินดู การกลับชาติมาเกิด (re-incarnation) โดยการเจาะจงเลือกที่จะมาเกิดเพื่อสืบสานภาระหน้าที่ และการเวียนว่ายตายเกิด (rebirth) ของสรรพสัตว์ทั่วไป
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"


http://www.komchadluek.net/news/detail/46053

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้