ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1555
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กรรมอะไรทำให้มีเสน่ห์

[คัดลอกลิงก์]
กรรมอะไรทำให้มีเสน่ห์
จากหนังสือ "ดังตฤณ วิสัชนา"

ถาม - การที่คนเรามีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไป เป็นผลของกรรมอะไรบ้างคะ?

เหตุแห่งการเป็นผู้ทรงเสน่ห์นั้น ไม่ใช่ง่ายที่จะกล่าวถึงให้ครอบคลุม เพราะไม่ใช่แค่ 'ทำดีแล้วจะมีเสน่ห์' เนื่องจากเสน่ห์มีหลายรูปแบบ และเสน่ห์แต่ละแบบก็ไม่ใช่จะ 'ใช้ได้ผล'กับทุกคน คุณอาจประหลาดใจว่า ทำไมบางคนประพฤติตัวชั่วร้าย พูดจาเอาแต่ได้ ทว่ายังคงมีเสน่ห์ลึกลับ ทรงพลังพอจะจับใจคนใกล้ชิดให้ถวิลหาอาวรณ์ได้เกือบตลอดเวลา


สรุปง่ายๆนะครับ ถ้าแค่มองหา 'สูตรสร้างเสน่ห์' ด้วยการแต่งตัวจัดทรงผม ปรับปรุงบุคลิกในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนกระทั่งฝึกพูดจาให้น่าพิศวาส คุณจะพบความจริงว่าสำหรับหลายๆคนแล้ว สูตรสร้างเสน่ห์ทั้งหลายอาจแค่ช่วยให้ดูดีขึ้น แต่หาได้เปิดก๊อกเทพลังเสน่ห์ให้ไหลมาเทมาแต่อย่างใดไม่
แม้แต่สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพระดับโลกยังทราบครับว่าไม่มีสูตรสำเร็จครอบจักรวาลที่ทำให้ 'ทุกคน' ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น เอาแค่ข้อจำกัดทางกายภาพที่แต่ละคนมีเด่นมีด้อยต่างกัน ก็ไม่ทราบจะหั่นหรือเฉือนกันท่าไหนให้เท่าเทียมกันทั้งหมด ฉะนั้นตามแนวคิดเชิงพุทธ คำถามของคุณนับว่าตรงเป้าที่สุดแล้ว นั่นคือ กรรมอันใดส่งผลให้เกิดเสน่ห์

ก่อนอื่นต้องมองว่า'เสน่ห์' คือพลังอะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอื่นหลงใหลหรือรักใคร่ อยู่ห่างแล้วถวิลถึง อยากเข้าพบ อยากเข้าใกล้ และประกายเสน่ห์อาจเปล่งออกมาจากรูปกายก็ได้ เปล่งออกมาจากวิธีพูดจาก็ได้ หรือเปล่งออกมาจากกระแสจิตเงียบๆก็ได้
นอกจากนั้น พลังเสน่ห์ยังมีอยู่ ๓ ชนิดหลักๆ คือพลังดึงดูด พลังประทับ และพลัง
ชะโลม เมื่อเข้าใจตามนี้ก็จะเห็นกลไกและที่มาที่ไปของเสน่ห์แต่ละชนิดอย่างกระจ่าง

เสน่ห์ทางกาย

เป็นเสน่ห์ที่เน้นพลังฝ่ายดึงดูดมากกว่าอย่างอื่น เช่นเห็นแล้วดึงดูดให้อยากมองนานๆยากจะถอนสายตา หรือกระทั่งอยากถลาเข้าไปลองสัมผัสให้ได้เดี๋ยวนั้น

เสน่ห์ทางกายปรากฏเด่นเห็นง่ายสุด จับต้องได้ง่ายสุด เพราะกายมนุษย์เปล่งประกายเสน่ห์ได้ผ่านความสมส่วนแห่งรูปพรรณสัณฐาน ตลอดจนความผ่องใสมีสง่าราศีแห่งผิวพรรณ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหรือพิธีรีตองใดๆ ในการเปล่งประกายเสน่ห์ชนิดนี้ แค่ปรากฏตัวก็ใช้ได้แล้ว
ความเปล่งปลั่งชนิดบาดตาได้ตั้งแต่แรกพบนั้น เป็นผลอันเกิดจากการให้ทานที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ไม่มีความขัดข้องทางใจเท่ายองใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโอกาสถวายทานแด่พระพุทธเจ้าหรืออริยสงฆ์สาวก แล้วรักษาความเลื่อมใสนั้นไว้ได้ตลอดชีวิต ก็จะมีความรุ่งเรืองปรากฏชัดทางผิวหนังตั้งแต่ชาติแห่งทานนั้น แล้วปรากฏชัดเจนในชาติถัดมา ไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมนุษย์

ความสมส่วนแห่งรูปพรรณสัณฐานจะเกิดจากความมีศีลสะอาดเป็นหลัก รายละเอียดและมิติของรูปร่างหน้าตาที่ล่อตาชวนตะลึง กลิ่นกายที่น่าพิสมัย ตลอดจนความละเอียดน่าสัมผัสของผิวหนังที่เหมาะกับเพศนั้น บันดาลขึ้นจากความสามารถในการ 'งดเว้น' ความประพฤติทางกายและวาจาอันสกปรกเน่าเหม็นจนเคยชิน แม้กระทั่งความคิดก็ไม่หลุดออกนอกกรอบของศีล พูดง่ายๆว่าเป็นผู้เคยมีศีลอันมั่นคงแข็งแรง จิตสะอาดสะอ้านจากมลทินยิ่ง จึงบันดาลให้เกิดผลงดงามไร้ที่ติ กระทบตาผู้คนแล้วชวนหลงใหลยิ่ง

คนที่ไม่ค่อยทำบุญกับบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆมักมีอำนาจเสน่ห์ทางกายน้อย เนื่องจากโอกาสที่จิตจะเปล่งประกายความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าขณะทำบุญนั้นยากนัก

เสน่ห์ทางวาจา

เป็นเสน่ห์ที่มีพลังฝ่ายประทับมากกว่าอย่างอื่น เช่นฟังใครพูดแล้วติดหูมิรู้ลืม ราวกับพลังเสียงและสำเนียงพูดบุกรุกเข้ามาฝังตัวและกลอกกลิ้งอยู่ในแก้วหูคนฟังได้

เสน่ห์ทางวาจาจะแผลงฤทธิ์เต็มที่ต่อเมื่อผู้พูดมีโอกาสฉายไม้เด็ดสักประโยคสองประโยค การโอภาปราศรัยทักทายเพียงคำสองคำอาจจะยังไม่ได้ผลนัก แต่หากได้ช่องสำแดงเดชเต็มกำลัง เสน่ห์ทางวาจาก็อาจจชวนให้หวนคิดถึงได้ยิ่งกว่าเสน่ห์ทางกายมาก เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับส่ำเสียงและถ้อยคำจะยืนยาวกว่าความทรงจำเกี่ยวกับรูปลักษณ์

เสน่ห์ทางวาจาที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเห็นภาพง่ายที่สุดคงได้แก่วิธีรบเร้าหรือวิธีตื้อของแต่ละคน บางคนตื้อแล้วน่ารัก แต่หลายคนตื้อแล้วน่ารำคาญ ทั้งที่ก็เป็นการรบกวนผู้ฟังเหมือนๆกัน นี่ก็เพราะบางคนเท่านั้นที่มีพลังเสน่ห์ทางวาจา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มี
เสน่ห์ทางวาจามีองค์ประกอบหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็เกิดจากกรรมเกี่ยวกับวาจาทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมกันทั้งสิ้น องค์ประกอบหลักของเสน่ห์ทางวาจาจำแนกได้เป็น ๓ ส่วนดังนี้

๑) ความไพเราะของแก้วเสียง เกิดขึ้นจากความเป็นผู้มีวาจาสุจริตทั้งพูดเรื่องจริงเท่าที่ควรพูด เลือกคำที่ฟังรื่นหูไม่หยาบคาย หาวิธีพูดประนีประนอมไม่เสียดสีใคร ตลอดจนครองสติในการพูดเพื่อประโยชน์ได้เสมอ องค์ประกอบหลักเหล่านี้จะปรุงแต่งแก้วเสียงให้ฟังดี ฟังเย็นและฟังมีพลังสะกด ถ้ายิ่งหมั่นสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญ ตลอดจนเปล่งเสียงประกาศธรรมอันชอบโดยไม่เคอะเขิน

๒) ลูกเล่นในการจำนรรจา เกิดขึ้นจากความเป็นผู้ใส่ใจเจรจาให้น่าเอ็นดู เป็นที่ถูกใจ ทำความบันเทิงสดใสแก่ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่นพวกชอบเล่านิทานให้เด็กฟัง ด้วยความหวังว่าเด็กจะได้สนุกสนาน ได้ข้อคิด และได้มองโลกในแง่ดีมีความอบอุ่น กรรมอันเกิดจากการฝึกเล่านิทานจริงจังจะบันดาลให้เกิดสัญชาติญาณในการมัดใจด้วยลีลาพูด คือรู้เองว่าด้วยลูกเล่นการออกเสียงสั้นยาว ลงเสียงหนักเบา ตลอดจนควบกล้ำอย่างไรให้ฟังน่ารักน่าใคร่ ชัดถ้อยชัดคำ พวกนี้ถ้าทำงานพากย์จะประสบความสำเร็จง่ายมาก และอาจจะไม่ต้องร่ำเรียนที่ไหนก็เก่งได้ยิ่งกว่ามืออาชีพที่คร่ำหวอดมานมนาน

๓) ความฉลาดเลือกคำ เกิดขึ้นจากความเป็นผู้คิดก่อนพูด ใช้สติในการง้างปากที่อ้ายาก ไม่ใช่ปล่อยให้อารมณ์บงการปากที่ไร้หูรูด ธรรมชาติของสตินั้น ยิ่งฝึกฝนให้เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ปัญญาก็ยิ่งทวีขึ้นเท่านั้น
คนที่ไม่ค่อยใส่ใจกับการพูดนั้น นอกจากจะขาดเสน่ห์ทางวาจาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดข้อน่ารังเกียจได้มากมาย เช่นคนพูดส่อเสียดและใส่ไคล้ผู้อื่นบ่อยๆ มักมีกลิ่นปากเหม็นเน่า คนติดพูดคำหยาบคายกระโชกโฮกฮากมักมีสำเนียงเสียงไม่รื่นหูไม่ชวนฟังเป็นต้น



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้