ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดีย
๑. บทนำ
คำว่า ปรัชญาอินเดีย หมายเอาระบบความคิดทางปรัชญาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะมีอยู่ในสมัยโบราณ หรือว่าสมัยใหม่ ทั้งที่มีสายมาจากฮินดู และมิใช่ฮินดู ที่นับถือพระเจ้า และไม่นับถือพระเจ้า ทำนองเดียวกันกับเมื่อเราพูดถึงปรัชญาจีน ปรัชญาญี่ปุ่น ปรัชญาตะวันตก ก็จะสื่อความรวมทั้งหมด ไม่จำเพาะเจาะจงเอาเพียงสำนักใดสำนักหนึ่ง
คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์สำคัญ ๆ อย่างพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถาทั่วไป ได้กล่าวถึงระบบความคิดทางปรัชญาของอินเดียไว้มากมายหลายสำนัก หลายลัทธิ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยพัฒนาการทางปรัชญา และประวัติศาสตร์ปรัชญาในดินแดนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ปรัชญาอินเดีย เป็นปรัชญาที่มีเสน่ห์ เป็นปรัชญาที่เน้นคุณค่าของชีวิต และจิตวิญญาณ มีความลุ่มลึก และละเอียดลออ ไม่แข็งกระด้างไปด้วยข้ออ้างและเหตุผลเหมือนอย่างปรัชญาตะวันตก เพราะปรัชญาอินเดียนั้น ส่วนใหญ่เป็นปรัชญาที่มุ่งแสวงหาความจริง และความหลุดพ้น ไม่ใช่มุ่งแสวงหาความรู้เพียงเพื่อตอบสนองความสงสัยใคร่รู้ทางพุทธิปรัชญาอย่างเดียว เหตุนั้น รากศัพท์คำว่า ปรัชญา ในบริบทของชาวตะวันตก กับอินเดียจึงมีความแตกต่างกัน
ตะวันตกมองปรัชญาเป็นกิจกรรมของการแสวงหาความรู้ รากฐานของศัพท์ปรัชญาจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการแสวงหาความรู้ เครื่องมือสำคัญในการใช้แสวงหาความรู้จึงอยู่ที่ข้อมูลทางผัสสะ และชุดข้ออ้างเหตุผลสำเร็จรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ปรัชญาอินเดียมองปรัชญาเป็นเรื่องของการแสวงหาความจริง ความจริงที่ได้จากการแสวงหาจึงถือเป็นความรู้อันประเสริฐ เพราะเป็นความรู้ที่ทำให้มนุษย์ค้นพบตนเอง และอยู่เหนือพันธนาการทั้งปวง เป็นความรู้ที่จะทำให้มนุษย์เป็นอิสระ เข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง
ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของคนที่อยู่ในกลุ่มนักบวช ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่าสันยาสี และวนปรัสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยวางชีวิตแบบโลก ๆ แล้ว เหตุดังกล่าวนี้ จึงมักเรียกปรัชญาอินเดียว่า สมณธรรม หรือ พราหมณธรรม ขณะที่นักปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่เป็นนักคิด นักวิชาการ นักการศึกษา ซึ่งดำเนินชีวิตและกิจกรรมแบบปกติโลก ๆ
|