ตามประวัติศาสตร์อันยาวนาน พระมหากษัตริย์ที่ปกครองดินแดนชมพูทวีป
พระเจ้าอโศกมหาราชนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีประวัติที่เด่นและดีงามที่สุดในสายตาของชาวพุทธทั่วโลก
ต่อจากพระเจ้าอโศกก็คือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช อยู่ในราวปลายศตวรรษที่ ๕ พระองค์สืบเชื้อสายมาจาก
เผ่าอินโดไซเธียน
ได้อพยพลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำอมูดาเรียในเตอรกีสถานตะวันตก ทำลายอาณาจักรบากเตรีย ซึ่งเป็นอาณาจักรของพวกกรีกลงได้
แล้วแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่อัฟกานิสถาน ในตอนนี้พวกอินโดไซเธียนได้รับอารยธรรมของอินเดียทางภาษาไว้เป็นจำนวนมาก
เช่น พระนามของพระเจ้า "
กนิษกะ" เป็นต้น
พระเจ้ากนิษกะทรงยึดแบบการทำงานของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นหลัก พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกกว้างขวางมาก จั
กรวรรดิของพระองค์เริ่มจากเตอรกีสถานลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนา
ทรงให้การทำนุบำรุง รักษา ก่อสร้างศาสนสถานขึ้นเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยดี พระราชกิจประจำเดือนก็คือ
การอาราธนาพระเถระในนิกายต่าง ๆ เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในพระราชวัง
แต่เนื่องด้วยรัชสมัยที่พระเจ้ากนิษกะครองราชย์นั้น พระสงฆ์มีความแตกแยกกันทางนิกายมาก พระธรรมเทศนาที่ท่านแสดงบางเรื่องก็ขัดกันเอง ทำให้พระเจ้ากนิษกะมหาราชเกิดความสงสัย
จึงได้เรียนปรึกษากับพระปารศวะซึ่งเป็นพระเถระในนิกายสรวาสติวาท คณะสงฆ์ในนิกายสรวาสติวาท
จึงขอร้องให้พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา สังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นที่กุณฑลวันวิหาร แคว้นกาศมีระ
มีภิกษุและบัณฑิตคฤหัสถ์เข้าประชุมร่วมกัน โดยมี
พระปารศวะเป็นประธาน และยังมีพระเถระที่สำคัญอีกเช่น พระวสุมิตร พระอัศวโฆส เป็นต้น ที่ประชุมได้ร้อยกรองอรรถกถา พระไตรปิฎก เรียกว่า
วิภาษาปิฎก ปิฎกละแสนโศลก รวมสามแสนโศลก
พระเจ้ากนิษกะโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาเหล่านี้ไว้ในแผ่นทองแดง แล้วบรรจุไว้ในพระสถูปแล้วรักษาไว้มั่นคงเป็นต้นฉบับหลวง และการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นการทำสังคายนาของฝ่ายนิกายสรวาสติวาท จึงไม่มีปรากฏในฝ่ายปกรณ์บาลีเลย อันนี้เราก็จะเห็นได้ชัดว่า
เป็นความขัดแย้งกันทางด้านความคิดไม่ต้องการที่จะเชิดชูฝ่ายตรงกันข้ามกับนิกายที่ตนเองนับถือนั่นเอง
ด้วยราชานุภาพของพระเจ้ากนิษกะพระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆ
ทางฝ่ายเหนือของอินเดีย รวมทั้งประเทศจีนก็พลอยได้รับเอาพระพุทธศาสนาไปในตอนนี้ด้วย