ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2276
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนานศาลเจ้าแม่เบิกไพร บ้านโป่ง

[คัดลอกลิงก์]
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 ผมได้ไปธุระที่วัดปากบาง ต.ลูกแก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา ขากลับเลยลองขับรถเรื่อยๆ บนถนนเล็กๆ อันคดเคี้ยว เลียบริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา ผ่านหมู่บ้านและวัดหลายแห่ง จนมาถึงราชบุรี  ในช่วงเข้าเขต อ.บ้านโป่ง ผมได้ผ่าน ศาลเจ้าแม่เบิกไพร ซึ่งเป็นศาลที่เก่าแก่มาก เป็นที่เคารพสักการะของชาวราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวเรือ มาแต่อดีต และขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เลยตั้งใจจะกลับมาค้นหาเรื่องราวและตำนานของศาลเจ้าแม่เบิกไพร ตามที่มีบันทึกเอาไว้ในหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งพออ่านแล้ว อาจจะมีความไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ...ลองอ่านดูนะครับ...



ที่ตั้งศาลเจ้าแม่เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google Map

เจ้าแม่เบิกไพรเป็นบุตรีของชาวประมง
คุณมโน  กลีบทอง ได้สัมภาษณ์นางกิมเต็ง แซ่ตั๊น (นางละออง ศรีคำ) อายุ 72 ปี ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่เบิกไพร ไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2541 ซึ่งนางกิมเต็งฯ ได้เล่าประวัติเจ้าแม่เบิกไพรไว้ว่า

"ท่านเป็นบุตรีของชาวประมง มีพี่ชายหนึ่งคน ระหว่างที่ท่านอยู่ในครรภ์มารดา มารดาของท่านรับประทานแต่อาหารเจ และเมื่อเจ้าแม่คลอดจากครรภ์มารดา เจ้าแม่ก็รับประทานแต่อาหารเจจนตลอดชีวิตของท่าน เหตุที่ท่านเป็นที่นับถือของคนเดินเรือ เนื่องมาจากวันหนึ่งบิดาและพี่ชายของท่าน ออกหาปลาด้วยเรือคนละลำ เกิดพายุใหญ่ทำให้เรือของบิดาและพี่ชายโดนพายุเกือบจะอับปาง ท่านได้ตั้งจิตช่วยเหลือด้วยการใช้ปากคาบเรือของบิดาและใช้มือสองข้างจับเรือของพี่ชาย

ขณะนั้นมารดาและพี่สะใภ้มาพบเข้าและไม่รู้ว่าเจ้าแม่กำลังตั้งจิต จึงร้องเรียก เจ้าแม่ขานรับคำ เรือของบิดาท่านจึงหลุดออกจากปากจมลงทะเล ท่านเสียใจมากที่ช่วยบิดาไว้ไม่ได้ จึงตั้งใจจะช่วยคนเดินเรือทุกคนให้เดินเรือด้วยความปลอดภัย จากนั้นท่านจึงเดินลงทะเลหายไป ตั้งแต่นั้นมาชาวเรือที่บูชาเจ้าแม่จะเดินเรือด้วยความปลอดภัย"


ผงธูปของเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อ
ในเว็บไซต์ห้องสมุดออนไลน์ MyfirstInfo ได้เขียนประวัติของศาลเจ้าแม่เบิกไพรไว้เมื่อ 26 พ.ย.2550 ดังนี้

"ในราวปี พ.ศ.2317 นายเม่งตะ แซ่ตั้นพ่อค้าชาวจีนได้เดินทางโดยทางเรือเข้ามาค้าขายที่เมืองราชบุรี หรือที่เรียกว่าเมืองคูบัวในสมัยนั้น นายเม่งตะฯ เป็นผู้ที่มีความเคารพศรัทธาต่อเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อ จึงได้นำผงธูปที่ไหว้เจ้าแม่ติดตัวมาด้วยจากประเทศจีน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจระหว่างการเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงที่บ้านโป่งก็ได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมทั้งได้นำผงธูปที่ติดตัวมานั้นประดิษฐานไว้ ต่อมาศาลแห่งนั้นก็ได้รับความเคารพจากชาวจีนในบ้านโป่งต่อมา และได้ขนานนามศาลเจ้าแห่งนั้นไว้ว่า "ศาลเจ้าแม่เบิกไพร" เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเรือ เชื่อว่าจะคุ้มครองให้ปลอดภัย และเบิกทางให้ไปถึงจุดหมายด้วยดี"


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-2-25 16:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อและบุตรีของชาวประมง
จากตำนานทั้ง 2 เรื่องทำให้ผมลองสืบค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อและบุตรีของชาวประมง ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร จึงไปพบเรื่องราวที่โพสต์เอาไว้ในเว็บบอร์ด หัวข้อ เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม ในเว็บไซต์ Phuketvegetarian.com เขียนเอาไว้น่าสนใจ ดังนี้

คุณศิษย์เหล่าเอี๊ย โพสต์ว่า "เจ้าแม่ทับทิม หรือเทพยุดาตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง ที่ชาวไหหลำให้ความเคารพบูชา ท่านเป็นเทพยดาแห่งความเมตตา ส่วนเจ้าแม่เทียงเซียงเซี่ยบ้อ หรือเทียนโหวเซี่ยบ้อ ไหหลำเรียกเทียงโหวเต๋งหม้าย เต๋งหม้ายก้อคือ เซี่ยบ้อ เป็นเจ้าแม่ทางน้ำ แต่จริงๆ ถ้าแปลตามชื่อเจ้าแม่ทับทิมน่าจะดูแลรักษาทางน้ำมากกว่า...."



คุณศิษย์อาม่า โพสต์ว่า "หม่าโจ้ว  จุ้ยบ๊วยเนี้ยว  เทียนโหวเซี่ยบ้อ  หม่าจ๋อโป๋  เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ  เจ้าแม่เบิกไพร  เจ้าแม่เขาสามมุข  ชื่อทั้งหมดนี้เป็นชื่อเรียกของอาม่า(เจ้าแม่ทับทิม)  ทั้งหมดครับ  การเรียกชื่อในแต่ละท้องที่นั้นไม่เหมือนกัน  จึงทำให้มีหลากหลายชื่อ...."


คุณศิษย์ซือจุง โพสต์ว่า "เจ้าแม่ทับทิมมีทั้งหมด 4 องค์นะครับ (เท่าที่พบเห็นในประเทศไทย) เรียงลำดับดังนี้คือ
  • เทียนโหวเซี้ยบ้อหรือหม่าโจ้ว (เจ้าแม่ทับทิมเดือน 3 ) เช่น เจ้าแม่โต๊ะโมะ จ.นราธิวาส เจ้าแม่ม่าผ่อ จ.ยะลา เจ้าแม่เบิกไพร จ.ราชบุรี
  • จุ้ยบ่วยเสี่ยเนี้ยหรือตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง เป็นเจ้าแม่ทับทิมเดือน 10 ที่ชาวไหหลำให้ความเคารพนับถือมาก ตามประวัติที่แกะจากขอนไม้ลอยน้ำแล้วนำมาแกะสลักเป้นองค์เจ้าแม่
  • ไท้ฮั้วเสี่ยเนี้ยหรือไท้หว่าโผ่ (เจ้าแม่ทับทิมเดือน 6) เป็นเจ้าแม่ที่มีประวัติลึกลับคล้ายๆกับจุ้ยบ่วยเนี้ยคือไม่มีชีวิตเป็นตัวเป็นตนจริง ซึ่งที่ตลาดน้อย ริมคลองผดุงเกษมจะมีศาลของไท้ฮั้วโผ่อยู่
  • เจี่ยสุ้นเสี่ยเนี้ยหรือเจ้าแม่ทับทิมเดือน 2 ซึ่งศาลท่านที่พบเห็นแถวย่านบางโพ ซึ่งมีประวัติคล้ายๆ ท้าวสุรนารี (ย่าโม) หรือคุณหญิงมุก ของชาวภูเก็ต เป็นวีระสตรีผู้กล้า มีประวัติจารึกอยู่ที่ไหหลำ ประเทศจีน"

ส่วนในหนังสือ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ ได้เขียนไว้ว่า "....ในการขึ้นล่องค้าขายทางเรือของชาวจีน เมื่อผ่านคุ้งน้ำสำคัญๆ ก็ได้นำวัฒนธรรม ความเชื่อตามประเพณีบอกเล่า ได้สร้างศาลที่พวกตนนับถือมาตั้งแต่อยู่เมืองจีน เช่น ชาวไหหลำนิยมสร้างศาลเจ้าแม่ชุ่ยเว่ยเหนียง หรือเจ้าแม่ชายน้ำ ที่คนไทยรู้จักในชื่อของเจ้าแม่ทับทิม ที่ตำบลท่าผา อ.บ้านโป่ง ขณะที่ชาวแต้จิ๋ว ได้สร้างศาลทับศาลดั้งเดิมของคนพื้นเมืองมาก่อนที่คนไทยเรียกว่า ศาลเจ้าแม่เบิกไพร อ.บ้านโป่ง.....

จากข้อมูลที่ค้นหามา ผมก็ยังค่อนข้างสับสนอยู่พอสมควร แต่พอจะสรุปได้ว่า เจ้าแม่เบิกไพร เจ้าแม่เทียนโหวเซี่ยบ้อ และเจ้าแม่ทับทิม น่าจะเป็นองค์เดียวกัน และมีความเกี่ยวข้องกับทางน้ำ (การประมงและการเดินเรือ) จริง (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ กรุณาเพิ่มเติมไว้ได้ที่ท้ายบทความนี้)

บันทึกศาลเจ้าแม่เบิกไพร ในสมุดราชบุรี พ.ศ.2468
"เจ้าแม่องค์นี้ เป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์แพร่หลายไปถึงต่างจังหวัดที่ใกล้เคียง ศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำแม่กลอง ณ ตำบลเบิกไพร ท้องที่อำเภอบ้านโป่ง อยู่เยื้องตลาดบ้านโป่งลงมาทางใต้ระยะทางประมาณ 40 เส้น

ภาพศาลเจ้าแม่เบิกไพร ในสมุดราชบุรี พ.ศ.2468
เจ้าแม่องค์นี้ได้มีปรากฏมาแต่กาลนานก่อนตั้งที่ว่าการอำเภอและตลาดบ้านโป่ง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาอย่างใด เมื่อครั้งไร ศาลของเจ้าแม่โดยเหตุที่ตั้งอยู่ริมน้ำและตรงท้องคุ้งตลิ่งพัง จึงได้มีการขยับเลื่อนหนีน้ำประมาณ 2 ครั้งแล้ว ในบัดนี้ลักษณะรูปศาลคงเป็นเช่นเรือนฝากระดาน 2 หลังแฝด หลังคามุงสังกะสี พื้นกระดานขนาดกว้างยาว 4 วา 2 ศอก สี่เหลี่ยม ความเป็นอยู่ภายในเหมือนอย่างศาลเจ้า

รูปเจ้าแม่ในบัดนี้ เป็นรูปพระจีนทรงเครื่องปิดทองนั่งอยู่บนฐานสูงประมาณ 1 ฟุต และมีรูปสาวกอีก 2 องค์ ความจริงเจ้าแม่ควรจะเป็นเทพารักษ์อย่างไทยๆ แต่ที่กลายเป็นไปอย่างจีนและศาลก็เป็นศาลเจ้าไปเช่นนี้ เพราะเหตุด้วยคนจีนเป็นผู้ปกครองดูแลศาลและความนิยมนับถือก็อยู่ในหมู่ชาวจีนเป็นส่วนมากด้วย

แต่อย่างไรก็ดีเกือบจะกล่าวได้ว่า เจ้าแม่องค์นี้ราษฎรมีความนิยมนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าเทพารักษ์องค์อื่นๆ ในจังหวัดราชบุรี ตามปกติมีผู้ไปเซ่นไหว้ทุกวัน วันละหลายๆ พวก บ้างไปบนบานศาลกล่าว บ้านก็ไปเสี่ยงทายขอใบเซียมซี  ด้วยปรากฏว่าใบเสี่ยงทายมีความศักดิ์สิทธิ์แน่นอนมาก บรรดาชาวเรือแทบทุกลำที่ขึ้นล่องผ่านหน้าศาล ต้องทำการเซ่นไหว้มีจุดธูปเทียนเผากระดาษเงิน ทอง และจุดประทัด นับว่าในวันหนึ่งๆ ที่ศาลนี้จะไม่ขาดเสียงประทัดเลย



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-2-25 16:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กำหนดเวลาที่ราษฎรไปไหว้กันมากก็คือระหว่างใกล้ตรุษจีน ตลอดไปจนหมดตรุษจีนแล้ว ซึ่งราษฎรตามจังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัด ได้พากันมาเป็นจำนวนมากทุกๆ วัน....

.....การจะไปยังศาลนี้ เป็นความสะดวกทั้งทางบกและทางเรือ ในทางบกนั้นเมื่อลงรถไฟที่สถานีบ้านโป่งแล้วเดินผ่านตลาดไปยังริมแม่น้ำ และเดินต่อไปข้างใต้อีกไม่ช้าก็จะถึงท่าเรือจ้าง แล้วลงเรือข้ามฟาก ซึ่งมีประจำคอยรับผู้โดยสารอยู่เสมอ  ส่วนทางเรือนั้น ในลำน้ำแม่กลอง มีเรือเมล์คอยรับส่งคนโดยสารขึ้นล่องอยู่ตลอดลำน้ำ และทุกๆ วัน ฉนั้นเมื่อจะโดยสารจากที่ใดไปก็ได้เสมอ......"

พุทธรูป 5 องค์ ปางต่างๆ กัน
รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ สักการะศาลถึง 2 ครั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เคยเสด็จมาสักการะศาลเจ้าแม่เบิกไพรแห่งนี้ด้วยเช่นกัน โดยครั้งแรกปี พ.ศ.2420 พระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารคผ่านแม่น้ำแม่กลองเมืองราชบุรี เพื่อเสด็จไปยังเมืองกาญจนบุรี  ในตอนขากลับพระองค์ ก็ได้ขึ้นไปสักการะที่ศาลเจ้านั้นด้วย ต่อมาครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ.2431 คราวเสด็จกลับจากประพาสไทรโยคเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ก็ยังมีพระพุทธรูป 5 องค์ ปางต่างๆ กัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำมาประดิษฐานไว้ เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาทอดกฐินที่อำเภอบ้านโป่งนี้ด้วย จึงถือว่าศาลเจ้าแม่เบิกไพรนี้มีความสำคัญ และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนโดยเสมอมา

การบูชาศาลเจ้าแม่ฯ สำหรับชาวเรือ
การบูชาเจ้าแม่เมื่อเดินเรือผ่านศาล คนเรือจะไหว้ด้วยมะพร้าว กล้วยน้ำว้าสุก และจุดประทัด จากนั้นจะวิดน้ำจากหน้าศาลเจ้าเข้าเรือ 3 ครั้งเพื่อเป็นน้ำมนต์



********************************************


ที่มาข้อมูลและภาพ
  • มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 138-139)
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2550). สืบสาน 3 วัฒนธรรม "111 ปีบ้านโป่ง".ห้องสมุดออนไลน์. [Online]. Available :https://news.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsID=1241560&keyword=. [2554 กุมภาพันธุ์ 11 ].
  • Phuketvegetarian.com. (2550). เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม. Available :http://www.phuketvegetarian.com/borad/data/2/0505-1.html. [2554 กุมภาพันธุ์ 11 ].
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 168-169)
  • ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ. (2547). ไทยจีน : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 40)


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้