ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1789
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

[คัดลอกลิงก์]
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ศ.นพ.อมร  ลีลารัศมี  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ

      ปัจจุบันเรามักได้ยินข่าวการเสียชีวิตจากเหตุ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” อยู่บ่อยครั้ง เกิดเป็นข้อสงสัยสำหรับใครหลายคนว่า  ติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่

ความหมายของ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด”
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หมายถึง  การที่มีเชื้อก่อโรคในกระแสเลือดซึ่งสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการเพาะเชื้อหรือวิธีการพิเศษต่างๆ  เช่น เทคนิกทางโมเลกุล โดยทั่วไป ร่างกายเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง  แล้วเชื้อก่อโรคนั้นหลุดเข้าสู่กระแสเลือด  ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่บริเวณส่วนอื่นของร่างกายหรือทั่วทั้งร่างกาย  หากเชื้อมีความรุนแรงมาก อาจพัฒนาไปสู่ภาวะช็อก และการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ  ล้มเหลว มีอันตรายถึงชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  เชื้อดังกล่าวได้แก่ จุลชีพต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา  ซึ่งการติดเชื้อทุกส่วนของร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งสิ้น

        ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า  การพบเชื้อในกระแสเลือดกับการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นไม่เหมือนกัน  กล่าวคืออาจมีการตรวจพบเชื้อในกระแสเลือด  แต่ถ้าเชื้อนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติใดๆ  อย่างนี้ไม่นับว่าติดเชื้อในกระแสเลือด  ในภาวะปกติร่างกายจะมีกลไกการปราบเชื้อที่ปะปนอยู่ในกระแสเลือดอยู่แล้ว  การติดเชื้อในกระแสเลือดจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ  ในคนปกติที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  แต่มักพบภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ  และผู้ป่วย  หรือเชื้อมีความสามารถที่จะหลบหลีกการทำลายเชื้อโรคของร่างกายได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
> ความเจ็บป่วย ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ  ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง  เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้  เชื้อโรคจึงสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น  ผู้ที่ถูกตัดม้ามก็มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเช่นกัน

> การทำหัตถการต่างๆ เช่น การสวนทวาร  หรือการเสียบสายสวนปัสสาวะ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น  สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้หมด  จึงเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น  ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเรื่องการใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ  เข้าไปในร่างกายให้มาก เช่น ถ้าจำเป็นต้องให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำผ่านทางสายยาง  ก็ไม่ควรเสียบเข็มคาหลอดเลือดดำไว้นานเกิน 3-4 วันต่อครั้ง

> สาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด  ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคผ่านทางเข็มฉีดยาแล้ว  ในสารเสพติดยังมีเศษสิ่งสกปรกจำนวนมาก และอาจเกิดตะกอนหากละลายน้ำไม่ดี  เมื่อตะกอนเหล่าเข้าสู่กระแสเลือด อาจไปบาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวใจและปอด  เกิดเป็นแผล  และเมื่อมีเชื้อโรคไปจับที่แผลก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นเดียวกัน  นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ  ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้  เพราะเชื้อโรคบางอย่างความสามารถสูง  สามารถเจาะผ่านเยื่อบุลำไส้เข้าไปในกระแสเลือดได้
อาการแสดง
      เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด  ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ เรียกว่า  เป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (Systemic inflammatory response  syndrome; SIRS) ยกตัวอย่าง เช่น

- มีไข้สูงเกิน 38.3 องศาเซลเซียส  บางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย

- ชีพจรเต้นเร็วเกิน 90 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่

- หายใจเร็วเกิน 24 ครั้งต่อนาที  ในผู้ใหญ่

- เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น

      นอกจากนั้นยังมีอาการจำเพาะที่ที่เกิดบริเวณอวัยวะที่ติดเชื้อ  เช่น อาการปัสสาวะแสบขัด แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อที่ระบบขับปัสสาวะ หรือมีอาการไอ  เจ็บหน้าอก อาจหมายถึงการติดเชื้อที่ปอด  เป็นต้น

การวินิจฉัยและรักษา
      แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการของผู้ป่วย  ร่วมกับการเจาะเลือดเพื่อนำไปเพาะหาเชื้อ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน  แต่เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่ฉุกเฉิน  แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้น  และเลือกให้ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุไว้ก่อน  ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพที่ “ตรง” กับเชื้อในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกของการติดเชื้อ โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งสูงขึ้น  ในทางตรงกันข้ามหากผู้ป่วยได้รับยาที่ “ไม่ตรง” กับเชื้อ หรือได้รับยาช้าไป 4-5 ชั่วโมง ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน  ดังนั้นแพทย์จึงพิจารณาให้ยาที่ครอบคลุมที่สุด จากนั้นจึงค่อยปรับยาให้เหมาะสม  หรือปรับเปลี่ยนยาให้ตรงกับเชื้อเมื่อทราบผลการเพาะเชื้อแล้ว

        นอกจากการให้ยาต้านจุลชีพ แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น  ฟอกไตเมื่อเกิดภาวะไตวาย ให้ออกซิเจน ให้เลือด ให้สารน้ำ ใช้เครื่องช่วยหายใจ  หรือพิจารณาให้ยาลดไข้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้สูง เป็นต้น

การติดเชื้อในกระแสเลือดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย  โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ  ซึ่งพื้นฐานการป้องกันที่ดีคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกาย  รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางอย่าง  นอกจากนี้ยังควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเองให้ดี หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจ  เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป อาจหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิตที่เพิ่มขึ้น

http://www.healthtoday.net/thailand/feature/feautre_150.html
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-12-22 06:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้