ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1832
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กรรมเหนือหมอดู โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

[คัดลอกลิงก์]
ผมเป็นศิษย์โหร แต่มิได้เป็นโหร หลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี หรือมหาอิ๋น เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ธนบุรี (สมัยนั้น) เป็นโหราจารย์ชั้นยอด สมัยนั้นมีโหราจารย์ที่ดังอยู่เพียงสองท่านเท่านั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกรูปหนึ่งคือ พระภัทรมุนีแต่โหรสมัยก่อนเขามิได้ทายส่งเดช อย่างหลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี ท่านเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจให้แก่ศิษย์มากกว่าเป็นหมอดู เรื่องประเภทไหนควรทาย ไม่ควรทาย ท่านมี “จรรยาบรรณ”
บางทีกว่าจะทายได้สักราย ท่านคำนวณแล้วคำนวณอีกถึงสองสามวันก็มี ไม่แน่ใจท่านก็ไม่ทาย
มีเรื่องเล่าว่า หนุ่มสาวคู่หนึ่งจูงมือมาให้หลวงพ่อกำหนดวันแต่งงานให้ ท่านดูๆ แล้ว บอกว่าท่านไม่สามารถให้ฤกษ์ได้ ขอให้ไปหาสมเด็จฯ วัดสระเกศ สองคนก็ไปหาสมเด็จฯ และก็ได้ฤกษ์ไป มีผู้ถามสมเด็จฯ ภายหลังว่า ทำไมเจ้าคุณอิ๋นไม่ให้ฤกษ์ สมเด็จฯ บอกว่า “เจ้าคุณท่านดูแล้วสองคนนี้จะอยู่ด้วยกันไม่ตลอด แต่อาตมาถือว่า เขาเป็นคู่กันต้องได้แต่งงานกัน ส่วนต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงให้ฤกษ์แต่งไป”
ถูกทั้งสองรูป รูปหนึ่งมองว่าถ้าจะแต่งงานกันก็ควรไปได้ตลอด อีกรูปหนึ่งมองว่า ดวงมันเป็นคู่กันก็ต้องได้แต่งงานกัน ส่วนจากนั้นไป จะอยู่ด้วยกันยืดหรือไม่ เป็นเรื่องของทั้งสองคน แล้วแต่จะมอง
เมื่อผมสอบเปรียญเก้าประโยคได้แล้ว หลวงพ่อพยายามชักจูงให้ผมเรียนโหราศาสตร์ ผมก็ยืนยันว่า ไม่อยากเป็น “หมอดู” หลวงพ่อบอกว่า โหร มิใช่หมอดู เราศึกษาโหราศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่จำเป็นต้องพยากรณ์ใคร คล้ายจะบอกว่า โหราศาสตร์กับพยากรณ์ศาสตร์แยกกันได้
แต่ผมก็เห็นโหรส่วนมากท่านก็พยากรณ์ทั้งนั้น
ผมแย้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตำหนิเป็น “ติรัจฉานวิชชา” มิใช่หรือ ท่านตอบว่า ถ้าเอาคำจำกัดความว่า ติรัจฉานวิชชาคือ วิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เณรเรียนนักธรรมบาลีก็เข้าเกณฑ์นี้ทั้งนั้น
ผมจำนนท่าน แต่ผมก็ไม่ยอมเรียนอยู่ดี ไม่งั้นป่านนี้เป็นหมอดูแม่นๆ ไปแล้ว
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-1 11:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อเล่าว่า ปราชญ์โบราณท่านเรียนโหราศาสตร์ทั้งนั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่สี่ สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ก็ทรงเชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งนั้น แต่ก็ไม่เห็นท่านใช้โหราศาสตร์พยากรณ์ใครเป็นอาชีพ แล้วท่านก็เล่าเรื่องที่ต่างๆ ให้ผมฟัง แล้วก็ตื่นเต้นด้วยความดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราวเก่าๆ ชนิดจะไปหาอ่านที่ไหนไม่ได้ ก่อนทรงศึกษาโหราศาสตร์นั้น พระวิชรญาณ (สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่สี่) ทรงได้รับพยากรณ์จากหลวงตาเฒ่ารูปหนึ่งดูเหมือนชื่อ ทอง แห่งวัดตะเคียน ว่า จะได้ราชสมบัติแน่นอน รับสั่งว่าให้เป็นจริงเถอะ จะสมนาคุณอย่างงามเลย แล้วในที่สุดก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ ทรงรำลึกถึงหลวงตาเฒ่าวัดตะเคียนขึ้นมา ตั้งพระทัยจะไปนมัสการ ก็ทรงทราบว่า หลวงตาเฒ่ามรณภาพไปนานแล้ว จึงทรงปฏิสังขรณ์เป็นการบูชาคุณหลวงตาเฒ่า แล้วพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดมหาพฤฒาราม (แปลว่า วัดที่สร้างถวายพระผู้เฒ่า)
เมื่อทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์แล้ว ก็มิได้ทรงใช้วิชาโหราศาสตร์ทำนายทายทักอะไร นอกจากทรงวิพากษ์วิจารณ์ดวงพระชาตาของพระราชโอรสบางองค์ ดังทรงวิจารณ์ดวงพระชาตา กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่โหรทั้งหลายว่าเป็นดวงแตก เอาดีไม่ได้ ว่าถ้าถอดดวงให้ละเอียดแล้ว กลับเป็นดวงดีอย่างยิ่งเป็นต้น
และทรงสามารถใช้โหราศาสตร์แก้เคล็ดได้อีกด้วย ดังทรงเห็นว่าดวงพระชาตาพระอนุชาธิราชแข็งมาก จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อถูกอัญเชิญลาสิกขาเพื่อไปครองราชย์ พระองค์จึงทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง พระนามว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากันว่าทรงแก้เคล็ดทางโหราศาสตร์
สองสามวันมานี้มีข่าวโหร หรือหมอดูแม่นชื่อ หมอดูอีที (ขอประทานโทษถ้าฟังมาผิด) เป็นชาวพม่า ทำนายดวงนักการเมืองดังๆ มามาก หลายท่านก็ว่าทำนายได้แม่นยำ
อย่างป๋าเหนาะท่านว่า ท่านเองก็เคยให้หมอดูอีทีทำนาย แม่นมาก “ขนาดเงินกระเป๋าผม ยังทายได้เลยว่า มีใบพัน ใบห้าร้อย ใบร้อยกี่ใบๆ และแต่ละใบเลขอะไร” แล้วท่านเล่าต่อ หมอเขาก็เตือนว่า
ระวังจะถูกหลักหลัง ดวงทำบุญคนไม่ขึ้น หมอยังบอกว่าใครควรคบไม่ควรคบ ถึงตรงนี้เสียงนักข่าวแทรกขึ้นว่า “แล้วหมอบอกหรือเปล่าว่าคนหน้าเหลี่ยมไม่ให้คบ” ป๋าท่านก็บอกว่าไม่เอาแล้วๆ อย่าถามมาก อะไรประมาณนั้น
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-1 11:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หมอดูที่ทายแม่นยังกับตาเห็น มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ส่วนมากทายอดีตและปัจจุบันค่อนข้างแม่น แต่ทายอนาคตไม่ค่อยแม่น นานๆ จะทายอนาคตค่อนแม่นยำ ดังกรณีซินแสมองหน้าพระหนุ่มสองรูปกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ แล้วก็หัวเราะชอบใจ พระหนุ่มสองรูปถามว่า หัวเราะอะไร ซินแสตอบว่า “ลื้อสองคงนี้จะได้เป็นพระเจ้าแผ่งลิง (แผ่นดิน)” แล้วก็หัวเราะเห็นฟันเหลือง
คราวนี้ พระคุณเจ้าทั้งสองรูปหัวเราะบ้าง ดังกว่าเสียงของซินแส ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไร สองคนเป็นพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน ! ถ้าซินแสแกมีอายุยืนยาวจนได้เห็นว่า อดีตพระหนุ่มสองรูปนั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจริง คือ “พระสิน” ได้เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ “พระทองด้วง” ได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่ง
แกก็คงหัวร่อชอบใจที่แกพยากรณ์แม่นจริงๆ
ทำไมการพยากรณ์อดีตจึงแม่น พยากรณ์อนาคตไม่แม่น
ตอบง่ายนิดเดียว เพราะชีวิตคนมิได้ขึ้นอยู่กับโหราศาสตร์เป็นเงื่อนไขอย่างเดียว มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมาย อดีตนั้น “นิ่ง” แล้ว ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาผลักดันให้เป็นอื่นได้ เพราะฉะนั้น การทำนายทายทักจึงมักจะตรง แต่ปัจจุบันและอนาคต มันยังเคลื่อนไหวเพราะเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง ยังไม่นิ่ง
เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ “กรรม” (การกระทำ) ของคนๆ นั้นเอง เขาทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีคละกันไป สิ่งเหล่านี้แหละมีแนวโน้มจะให้ผลในอนาคต ไม่ว่าดีหรือไม่ดี
พูดอีกนัยหนึ่ง เราเป็นผู้กำหนดอนาคตเราเอง ถ้าต้องการให้ชีวิตเป็นไปอย่างใด ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีๆ ไว้ให้มาก แล้วอนาคตจะไปดีเอง ตรงข้ามถ้าสร้างแต่เงื่อนไขไม่ดี อนาคตก็เป็นไปตามนั้น
ลองฟัง นิทานชาดก นี้ดู พระราชาสองเมืองทำสงครามกัน ผัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถึงฤดูฝนก็หยุดพักสิ้นฤดูฝนก็รบใหม่ เป็นอย่างนี้มานาน จนมีคนไปถามฤๅษีว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็ไปถามพระอินทร์อีกต่อ พระอินทร์บอกว่าพระราชาเมือง ก. จะชนะ เมือง ข. จะพ่ายแพ้ ข่าวนี้ก็ไปเข้าพระกรรณของพระราชาทั้งสององค์ ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็ดีใจ ประมาท เลี้ยงฉลองกันมโหฬารตั้งแต่ยังไม่รบ ไม่ฝึกปรือกองทัพให้พร้อม สบายใจว่าจะชนะแน่ ส่วนพระราชาที่หมอทำนายว่าจะแพ้ ก็ไม่ยอมถอดใจ ตั้งหน้าตั้งตาฝึกปรือกองทัพอย่างเข้มงวด วางแผนรุกแผนรับไว้อย่างพร้อมสรรพ
เมื่อถึงคราวรบจริง เรื่องก็กลับตาลปัตร ฝ่ายที่ว่าจะชนะ ก็ถูกตีกระจุย ฝ่ายที่ว่าจะแพ้ ก็กำชัยชนะไว้ได้ พระราชาองค์ที่ฤๅษีว่าจะชนะ จึงไปต่อว่าฤๅษีหาว่าทำนายส่งเดช ฤๅษีก็หน้าแตกไปตามระเบียบ จึงไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าทายซี้ซั้ว ทำให้แกผู้นำคำทำนายไปเผยแพร่เสียหน้า พระอินทร์กล่าวว่า
“ไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน พระราชา ก. จะชนะแน่นอน แต่บังเอิญว่ามีเงื่อนไขใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ความพากเพียรพยายามฝึกฝนฝึกปรือกองทัพของพระราชาเมือง ข. การณ์จึงกลายเป็นตรงกันข้าม”
แล้วพระอินทร์จึงกล่าวปรัชญาว่า
“คนที่พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้”
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-1 11:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของเหลียวฝาน ที่มิสโจ แปลไว้ในหนังสือโอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน ที่พิมพ์เผยแพร่มาหลายครั้งแล้ว เหลี่ยวฝานเดิมชื่อเสวียห่าย ได้พบผู้เฒ่าข่ง ผู้เฒ่าทำนายว่าจะได้เป็นขุนนาง ปีไหนจะเป็นอย่างไรบอกไว้หมด และว่าท่านเหลี่ยวฝานจะไม่มีบุตร และจะตายเมื่ออายุได้ 50 ปี
คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่า แม่นยำมาตลอด จนท่านคิดว่าชะตาชีวิตคนเราถูกฟ้าดินกำหนดมาแล้ว ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เลยไม่คิดที่จะขวนขวายพยายามต่อไป ปล่อยให้เป็นไปตามฟ้าลิขิต ต่อมาท่านได้พบ พระเถระนาม ฮวิ๋นกุ ท่านได้สอนว่า ชะตาชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างเอง คนทำดีชะตาก็ดี ทำชั่วชะตาก็ชั่ว เมื่อต้องการอนาคตดี ต้องทำดี ถ้าประกอบแต่ความไม่ดี แม้ชีวิตดีมาแล้วก็กลายเป็นร้ายได้
เหลี่ยวฝานได้เล่าคำทำนายของท่านผู้เฒ่าให้พระเถระฟัง ว่าที่ท่านทำนายไว้ถูกต้องแม่นยำมาตลอด ยังเหลือแต่สองข้อสุดท้าย คือจะไม่มีบุตร และสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 50
พระเถระกล่าวว่า ให้ตั้งปณิธานว่าจะทำดีให้มาก สั่งสมบารมีให้มาก ไม่ยอมตนอยู่ในอิทธิพลของคำพยากรณ์ต่อไป บุญกุศลใดที่ทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ แม้กระทำครั้งเดียว ก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งทีเดียว
ท่านก็เชื่อพระเถระ ตั้งหน้าทำแต่ความดีงาม สำรวจความดีความชั่วของตนเองว่า วันหนึ่งๆ ทำความชั่วอะไรบ้าง ความดีอะไรบ้าง แล้วพยายามลบความชั่วด้วยความดีเรื่อยๆ จนมีความดีเพิ่มมากขึ้น แล้วท่านก็ชนะชะตาชีวิต คือได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อถึงอายุ 50 ปี ก็มิได้ตายดังคำทำนายของผู้เฒ่าข่ง อยู่มาถึงอายุ 69 ปี
ท่านจึงแน่ใจว่า คนเราถ้าไม่ขวนขวายพยายาม ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟ้าดิน แต่กรรมเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดอย่างแท้จริง นั่นคือเราต้องสร้างอนาคตของเราเอง คนที่พยายามพึ่งตัวเองด้วยการกระทำแต่ความดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมอยู่เหนือโชคชะตา ถ้าใครคิดว่าชีวิตถูกลิขิตมาอย่างใดก็ย่อมเป็นอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้เลย ผู้นั้นถึงจะเป็นคนคงแก่เรียนเพียงใด ก็นับว่าโง่อยู่นั้นเอง







คนทำหรือะสู้ฟ้าลิขิต .....แต่ถ้าคนมีความเพียรพยายามก็สามารถลิขิตชะตาตนเองได้
ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลของกรรมเก่า



ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรากล่าวกะพวกนิครนถ์นั้นต่อไป
อีกอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน สมัยใด พวกท่านมีความพยายาม
แรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านย่อม
เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความ
พยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความความ
พยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น
พวกท่านย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ
อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า.
พวกนิครนถ์รับว่า
“พระโคดมผู้มีอายุ ! สมัยใด พวกข้าพเจ้ามีความ
พยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกข้าพเจ้า
ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความ
พยายามแรงกล้า สมัยใด พวกข้าพเจ้าไม่มี ความพยายามแรงกล้า สมัยนั้น พวกข้าพเจ้าย่อมไม่เสวยเวทนา อันเป็น
ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า”.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! เท่าที่พูดกันมานี้เป็น
อันว่า สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความ
เพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็น
ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่
สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความ
เพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านย่อมไม่เสวยเวทนา
อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายาม
แรงกล้า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่เป็นการสมควรแก่ท่านผู้เป็น
นิครนถ์ทั้งหลายที่จะกล่าวว่า บุคคลเรานี้ย่อมเสวยเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์
มิใช่สุขก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำ
ไว้ในกาลก่อน และว่าเพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ
และเพราะการไม่ทำกรรมใหม่ กระแสแห่งกรรมต่อไปก็
ไม่มี เพราะกระแสแห่งกรรมต่อไปไม่มี ก็สิ้นทุกข์
เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้ง
ปวงก็สูญสิ้นไป ดังนี้.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! ถ้าสมัยใด พวกท่านมี
ความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้าสมัยนั้น
เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความเพียร
พยายามนั้นก็ยังตั้งอยู่ แม้เมื่อใด พวกท่านไม่มีความ
พยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น
เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายาม
พึงหยุดได้เอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควร
กล่าวได้ว่า บุคคลเรานี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ทั้งหมด
นั้นเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในกาลก่อน หมด
กรรมเก่าด้วยตบะ และเพราะการไม่ทำกรรมใหม่
กระแสแห่งกรรมต่อไปก็ไม่มี เพราะกระแสแห่งกรรม
ต่อไปไม่มี ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์
เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวง
ก็สูญสิ้นไป ดังนี้.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! ก็เพราะเหตุที่ สมัยใด
พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น พวกท่านจึงเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวก
ท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น พวกท่านจึงไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บ
แสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า พวกท่านนั้น
เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความ
เพียรเองทีเดียว ย่อมเชื่อผิดไป เพราะอวิชชา คือความ
ไม่รู้ เพราะความหลงว่า บุคคลเรานี้ย่อมเสวยเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์
มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตน
ทำไว้ในกาลก่อน ทั้งนี้ และว่าเพราะหมดกรรมเก่าด้วย
ตบะ และเพราะไม่ทำกรรมใหม่ กระแสแห่งกรรม
ต่อไปก็ไม่มี เพราะกระแสแห่งกรรมต่อไปไม่มี ก็สิ้น
กรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้น
เวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงก็สูญสิ้นไป ดังนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรามีถ้อยคำและความเห็นแม้อย่างนี้
แล จึงไม่เล็งเห็นการโต้ตอบ ถ้อยคำและความเห็นอัน
ชอบด้วยเหตุอะไรๆ ในพวกนิครนถ์.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรากล่าวกะพวกนิครนถ์นั้นต่อไปอีกอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็น
ของให้ผลในอนาคต ด้วยความพยายาม หรือด้วยความ
เพียรเถิด.
พวกนิครนถ์นั้นกล่าวว่า
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
กรรมใดเป็นของให้ผลในอนาคต ขอกรรมนั้นจงเป็น
ของให้ผลในปัจจุบัน ด้วยความพยายามหรือด้วยความ
เพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้น จงเป็นของ
ให้ผลเป็นทุกข์ ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่ากรรม
ใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล
เป็นสุข ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญ
ความ ข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้
หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรม
นั้นอย่าพึงให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วย
ความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรม
ใดเป็นของให้ผลยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของ
ให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
กรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล
น้อย ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรม
ใดเป็นของให้ผลน้อย ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลมาก
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! พวกท่านจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
กรรมใดเป็นของให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของอย่าให้ผล
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรม
ใดเป็นของไม่ให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล ด้วย
ความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด.
ท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้หามิได้เลย.
ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ทั้งหลาย. ! เท่าที่พูดกันมานี้เป็นอัน
ว่า พวกท่านจะพึงปรารถนาไม่ได้ ดังนี้ว่า กรรมใดเป็น
ของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลใน
อนาคต ... ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลในอนาคต ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ... ว่ากรรมใดเป็น
ของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ...
ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของ
ให้ผลเป็นสุข ... ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว
ขอกรรมนั้นอย่าพึงให้ผลเสร็จ ... ว่ากรรมใดเป็นของให้ผล
ยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น ...
ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรมนั้นจงเป็นของ
ให้ผลน้อย ... ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลน้อย ขอกรรม
นั้นจงเป็นของให้ผลมาก ... ว่ากรรมใดเป็นของให้ผล
ขอกรรมนั้นจงเป็นของอย่าให้ผล ... ว่ากรรมใดเป็น
ของไม่ให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล ด้วยความ
พยายามหรือด้วยความเพียรเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ความ
พยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็
ไร้ผล.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกนิครนถ์มีถ้อยคำ และความเห็น
อย่างนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตาม ๑๐ ประการ
อันชอบด้วยเหตุของพวกนิครนถ์ ผู้มีถ้อยคำและความ
เห็นอย่างนี้ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิ .
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ต้อง
เป็นผู้ทำกรรมชั่วไว้ก่อนแน่ ในบัดนี้พวกเขาจึงได้เสวย
เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์
ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ พวก
นิครนถ์ต้องเป็นผู้ถูกอิศวรชั้นเลวเนรมิตมาแน่ ในบัดนี้
พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ เห็น
ปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มี
ความบังเอิญ พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่
ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บ
แสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะ
เหตุแห่งอภิชาติ พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่
ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บ
แสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะ
เหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องเป็น
ผู้มีความพยายามในปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้
เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ต้อง
น่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ได้เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุ
แห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ
ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิต
ให้ พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ได้เสวยสุข
และทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ พวกนิครนถ์ก็ต้อง
น่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มี
ความบังเอิญ พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ได้
เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวก
นิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์
เพราะเหตุแห่งอภิชาติ พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่
สัตว์ไม่ได้เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ พวก
นิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์
เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้อง
น่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ได้เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุ
แห่งความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกนิครนถ์มีถ้อยคำ และความเห็น
อย่างนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตาม ๑๐ ประการ
อันชอบด้วยเหตุของพวกนิครนถ์ ผู้มีถ้อยคำและความเห็น
อย่างนี้ ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิ.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความพยายามไร้ผล ความเพียรไร้
ผล อย่างนี้แล.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ก็อย่างไร ความพยายามจึงจะมีผล
ความเพียรจึงจะมีผล.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ๑
ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ๑
ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น ๑
เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จักยังมีเหตุ
แห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้ อนึ่ง
ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อวางเฉย บำเพ็ญอุเบกขา
อยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้ เธอนั้นจึงเริ่มตั้งความเพียร และ
บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ด้วยการทำเช่นนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอัน
เธอสลัดได้แล้ว.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็น
ดังนี้ว่า :-
เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อม
แต่เมื่อเราดำรงตนอยู่ในความลำบาก อกุศลธรรม
ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
อย่ากระนั้นเลย เราพึงดำรงตนอยู่ในความลำบาก
เถิด เธอนั้นจึงดำรงตนอยู่ในความลำบาก เมื่อเธอดำรง
ตนอยู่ในความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศล
ธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอไม่ต้องดำรงตนอยู่ใน
ความลำบากอีก เพราะเหตุว่า ประโยชน์ที่เธอหวังนั้น
สำเร็จแล้วตามที่เธอประสงค์.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ความพยายามมีผล ความเพียรมีผลแม้อย่างนี้.

อุปริ. ม. ๑๔/ ๗ / ๘.
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-9-1 20:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สาธุธรรมครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้