http://board.palungjit.org/7792801-post3734.html
พระกริ่งอรหัง ๒๔๙๘ เป็นพระกริ่งที่วงการพระเครื่อง ส่วนหนึ่ง เช่าหากันในนาม พระกริ่งหลวงพ่อโอภาสี ทั้งนี้เนื่องจากได้รับ ทองชนวน (ทองเก่าพันปี) จากหลวงพ่อโอภาสี มาเป็นส่วนผสมในการหล่อสร้างด้วย
พระกริ่งอรหัง เป็นองค์พระพุทธปฏิมากร ที่ได้จำลอง มาจากองค์ พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ คือ "พระพุทธอังคีรส" และได้ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธฯ โดยมีพระคณาจารย์ ๑๐๘ รูป นั่งปรกปลุกเสก ความเป็นมาของ พระกริ่งอรหัง นี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่ง ของประวัติ หลวงพ่อโอภาสี...ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในเรื่องกฤตยาคมอยู่มาก โดยเฉพาะท่านมีความเคารพศรัทธาเลื่อมใส หลวงพ่อโอภาสี และเคยได้รับครอบน้ำมนต์สำหรับเก็บใส่น้ำล้างหน้าจากหลวงพ่อโอภาสีไว้ด้วย ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มียศ พลเอก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านได้สร้าง พระกริ่งอรหัง ไว้รุ่นหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องจากในปีนั้นท่านมีอายุครบ ๔ รอบ ๔๘ ปี จึงเห็นว่า ควรจะสร้างพระพุทธปฏิมากร องค์พระประธานไว้ในบวรพุทธศาสนาสักองค์หนึ่ง พอดีกับในขณะนั้น ทาง วัดสุวรรณจินดาราม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กำลังวางรากโบสถ์ และยังไม่มีองค์พระประธาน พลเอกสฤษดิ์ จึงตกลงใจสร้าง พระประธานถวาย โดยได้ปรึกษากับ พระธรรมปาโมกข์ (สมเด็จพระสังฆราช-วาสน วาสโน) และ พระครูอาทรธรรมานุวัตร วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พลเอกสฤษดิ์มีความเคารพนับถืออย่างยิ่ง พระพุทธรูปที่สร้างนี้เป็นแบบขัดสมาธิ แบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๒ ศอก ประกอบพิธีหล่อที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม. เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ และได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธสยมภูพรรณพิจิตร พร้อมกันนั้น ท่านก็ได้จัดสร้าง พระกริ่งอรหัง โดยจำลองรูปแบบจากองค์พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ คือ พระพุทธอังคีรส พระกริ่งอรหัง ที่สร้างมีจำนวน ๑๐,๐๐๙ องค์ และพระคะแนน ซึ่งเป็น พระกริ่ง ๒ หน้าเหมือนกัน อีกจำนวน ๑๐๐ องค์ ในการสร้างพระ-เททองผสมโลหะ-หล่อพระในคราวนั้น คณะกรรมการตกลงกันว่า จะว่าจ้างทีมสร้างและหล่อพระของ นายช่างฟุ้ง บ้านช่างหล่อ ไปปั้นหุ้นถอดแบบพระกริ่งและเทผสมโลหะหล่อพระในมณฑลพิธีภายในบริเวณวัดราชบพิธฯ สำหรับแผ่นโลหะ ทองคำ เงิน นาก ทองแดง ทองเหลือง ได้ลงอักขระเลขยันต์ โดยพระคณาจารย์จากทั่วเมืองไทย ประมาณกว่า ๑๐๘ แผ่น เท่าที่มีหลักฐานแน่นอน คือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ พระสังฆราช (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร, หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด, พระภาวนาโกศลเถระ (พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำ, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง, พระครูวินิตศีลคุณ (หลวงพ่อลา) วัดโพธิ์ศรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น สำหรับ หลวงพ่อโอภาสี ท่านได้บริกรรม ทองชนวน ให้กับพลเอกสฤษดิ์ไว้ผสมกับทองที่จะหล่อพระประธาน และพระกริ่งอรหังครั้งนั้นไว้ด้วย โดยท่านบอกว่าเป็น "ทองเก่าพันปี" พิธีผสมโลหะหล่อพระและพิธีพุทธาภิเษกฯ ได้ประกอบกันที่วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ ปีมะแม เวลา ๐๙.๒๕ น. เป็นเวลาปฐมฤกษ์ เป็นการจัดพิธีทั้งหมดให้สำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน โดยใช้เวลาตลอดทั้งวันทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า โดยมีพระครูอาทรธรรมานุวัตร เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายพระสงฆ์, พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานจุดเทียนชัย, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโนทัย) วัดสระเกศ เป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา และพระคณาจารย์ร่วมบริกรรมคาถา นั่งปรกปลุกเสก ภายในบริเวณพิธี อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงปู่ธูป วัดแค นางเลิ้ง, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ, หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิตร, พระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาส, ท่านพ่อลี วัดอโศการาม, หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว, หลวงพ่อเสงี่ยม วัดสุทัศนฯ, เจ้าคุณศรีฯ (ประหยัด) วัดสุทัศนฯ, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง, หลวงพ่อมิ่ง วัดกก, เจ้าคุณผล วัดหนัง, หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว ฯลฯ หลังจากนั้นพลเอกสฤษดิ์ ได้ถวายพระกริ่งอรหัง แด่สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น นพวงศ์) วัดบวรฯ จำนวนหนึ่ง ถวายพระครูอาทรฯ จำนวนหนึ่ง เพื่อแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญในครั้งนั้น และอีกจำนวนหนึ่งได้ถวายให้วัดสุวรรณจินดาราม อ.ลาดหลุมแก้ว ส่วนที่เหลือพลเอกสฤษดิ์ได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติสนิทมิตรสหาย และเหล่าบรรดาทหารทั้งหลายที่ใกล้ชิด เนื่องในโอกาสทำบุญวันคล้ายวันเกิดอายุ ครบ ๔๘ ปี ของท่าน พระกริ่งอรหัง ในส่วนของพระครูอาทรฯ ท่านได้แจกไปส่วนหนึ่งและเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่งประมาณ ๑๕๐ องค์ ท่านได้มอบให้กับ พระครูวิบูลธรรมธัช วัดราชบพิธฯ เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้ร่วมกันทำบุญเช่าบูชา นำปัจจัยถวายวัดราชบพิธฯ ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเพื่อการศึกษาของเยาวชนในท้องที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ขนาดขององค์ พระกริ่งอรหัง กว้าง ๒.๐ ซม. สูง ๓.๕ ซม. เป็นเนื้อโลหะผสม ...ติดต่อสอบถามได้ที่ พระครูวิบูลธรรมธัช โทร. ๐-๒๒๒๑-๑๘๘๘, ๐-๑๙๓๐-๖๓๘๘ หรือที่ "มด" โทร. ๐-๖๕๖๕-๕๒๗๔ พระกริ่งอรหัง นี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ได้เขียนไว้ว่า...สร้างขึ้นด้วยพิธีแบบลงเลขยันต์และพิธีพุทธาภิเษก เพื่อให้ทรงคุณพระทั้งฝ่าย พระเดช และ พระคุณ ในฝ่ายพระเดช ทำหน้าที่กำจัดและป้องกันส่วนเสีย จึงแสดงผลดีในเชิงคงกระพันชาตรี อยู่คงคมศัตราวุธ แคล้วคลาด ปลอดภัย เพราะแสดงอำนาจปราบสิ่งตรงกันข้ามให้สลาย ในฝ่ายพระคุณ ทำหน้าที่รักษาและก่อส่วนดี จึงแสดงผลดีในทางให้เกิด เมตตา มหานิยม ศรีสวัสดี ลาภสักการะ ความสำเร็จ เพราะแสดงอำนาจ ฝ่ายสร้างความดี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะนำ พระกริ่งอรหัง ติดตัวไปไหน จึงควรทำใจให้เลื่อมใสและเชื่อมั่นจริงๆ ในคุณพระ แล้วอาราธนาด้วยพระคาถา "อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวี คงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง" พระคาถานี้ หลวงพ่อโอภาสี ได้นำมาจารึกไว้หลังเหรียญกลมที่สร้างครั้งแรก ที่มีรูปสวัสติกะ (๒๔๙๕) นั่นคือข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในประวัติของหลวงพ่อโอภาสี อนึ่ง ตามที่เคยมีผู้เข้าใจกันว่า พระกริ่งอรหัง รุ่นนี้ หลวงพ่อโอภาสี ได้ปลุกเสกให้ด้วยนั้น เป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เนื่องจากวันประกอบพิธีที่วัดราชบพิธฯ คือ วันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ ซึ่งทางคณะกรรมการได้นิมนต์ หลวงพ่อโอภาสี ไปร่วมนั่งปรกปลุกเสกด้วย ตามความประสงค์ของ พลเอกสฤษดิ์ โดยตรง แต่พอดี หลวงพ่อโอภาสี ได้มรณภาพเสียก่อน คือ ท่านได้มรณภาพในตอนเช้าของ วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๔๙๘ ก่อนพิธี ๑๖ วันเท่านั้น (ในปัจจุบันสรีระของหลวงพ่อโอภาสียังคงอยู่ที่วัดหลวงพ่อโอภาสี บางมด) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคารพเลื่อมใสใน หลวงพ่อโอภาสี ต่างก็ให้ความศรัทธาเช่าหา พระกริ่งอรหัง รุ่นนี้กันมาก เพราะถือว่ามีส่วนผสมของ "ทองเก่าพันปี" ที่หลวงพ่อโอภาสี ได้ปลุกเสกไว้แล้วนั่นเอง อีกทั้งยังมีพระคณาจารย์เก่งๆ ในสมัยนั้นลงจารแผ่นทองชนวนและร่วมนั่งปรกปลุกเสกหลายท่านด้วยกัน จึงมีความเชื่อกันว่าเป็นพระกริ่งที่มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยเลยทีเดียว และถ้าหากจะนับถึงความเก่า "พระกริ่งอรหัง" มีอายุการสร้างมาแล้ว ๔๙ ปี นับว่าเป็นพระกริ่งเก่าพอสมควรอีกรุ่นหนึ่งที่น่าสักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง |