ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1576
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนานพระอินทร์

[คัดลอกลิงก์]

ตำนานพระอินทร์

---พระอินทร์นั้นท่านมีหลายชื่อ  เช่น  ท้าวสักกะ  ท้าวสหัสนัย  ท้าวสุชัมบดี  ท้าววาสพ  ท้าวมฆวาน  เป็นต้น  แต่ชื่อพระอินทร์มีคนรู้จักมากว่าชื่ออื่น  ท่านครอง  ๒  ชั้นฟ้า  คือ  สวรรค์ชั้นดาวดึงษ์  และสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา  ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระอินทร์นั้นตัวเขียว  เคยถามท่านผู้รู้ว่าทำไมพระอินทร์จึงตัวเขียว  ได้รับคำอธิบายว่าที่มีสีเขียวนั้น  เขียวด้วยแสงแห่งแก้วที่ชื่อว่าวชิระ  ไม่ใช่เขียวในเนื้อในหนัง

---อนึ่ง ในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้นสมบูรณ์ด้วยสมบัติอย่างมโหฬาร  เช่น  มีวิมานชื่อ  เวชยันตปราสาท  อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์มีแท่นทิพย์  ชื่อว่า  บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  มีลักษณะพิเศษ

---คือเวลาพระอินทร์ประทับนั่งก็จะยุบลง  เวลาเสด็จลุกขึ้นก็จะฟูขึ้น  มีสภาพอ่อนนุ่มนิ่ม  แต่พอมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแท่นทิพย์นี้ก็จะแข็งดุจศิลาขึ้นมาทันที  ดังคำที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา  กระด้างดังศิลาประหลาดใจ”  นอกจากนี้ยังมีต้นไม้วิเศษประจำชั้นดาวดึงษ์  มีชื่อว่า  ปาริฉัตร  หรือ  ปาริชาติ  ก็เรียก  มีสระโบกขรณีชื่อ  สุนันทา  มีสวนสวรรค์ชื่อ  จิตรลดา  มีศาลาสำหรับฟังธรรม  เรียกว่า  เทวธรรมสภา  มีเทวดาที่มีความสารถในเชิงช่างชื่อว่า  วิษณุกรรมเทพบุตร  และยังมีเทวดาที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง  คือ  เอราวัณเทพบุตร  ปรกติก็เป็นเทวดา  แต่เมื่อพระอินทร์กับเทพผู้เป็นสหายจะประพาสอุทยานสวรรค์  เทวดาองค์นี้ก็จะแปลงร่างเป็นช้างชื่อว่า  เอราวัณ  พอกลับจากอุทยานสวรรค์ก็จะคืนร่างเป็นเทพบุตรตามเดิม

---สำหรับมเหสีของพระอินทร์นั้นมี  ๔  นางด้วยกันคือ  นางสุธรรมา  นางสุจิตรา  นางสุนันทา และนางสุชาดา  ก็แลในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้นล้วนแต่มีสิ่งสวยสดงดงามทั้งสิ้น  รูปก็งาม  เสียงก็ไพเราะ  กลิ่นก็หอมหวนชวนอารมณ์  สมกับพระบาลีที่ว่า  สุนฺทรานิ  อคฺคานิ  อตฺถาติ  สคฺโค  สถานที่ที่มีอารมณ์อันเลิศ  เรียกว่า  สวรรค์  อนึ่งสวรรค์นั้น  สำหรับเป็นที่ต้อนรับเฉพาะคนทำความดีเท่านั้น  ส่วนคนทำความชั่วอยู่ไม่ได้  ดังมีธรรมภาษิตรับรองเป็นหลักฐานว่า  สุนฺทเรน  กมฺเมน  คมิตพฺโพ  สคฺโค  สถานที่ที่คนทำควาดีพึงไป  เรียกว่า  สวรรค์

---ก็พระอินทร์พร้อมด้วยสหายได้ทำความดีอะไรเล่า  จึงได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์  เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบชีวิตเบื้องหลังของท่านเหล่านั้น  จึงจะขอพาท่านลงไปยังแดนดินถิ่นมนุษย์  ณ  บ้านอจลคาม  แคล้นมคธ  เพื่อไปทำความรู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ  มฆมาณพ  ท่านผู้นี้มีคุณธรรมสูง  คือสามารถรักษาวัตตบทไว้ได้ถึง  ๗  ประการ  และรักษาไว้ได้ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว  เขารักษาไว้ได้ตลอดชีวิตทีเดียว  ธรรม  ๗  ประการนั้นคือ

---๑.เลี้ยงมารดาบิดา

---๒.เคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่

---๓.มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน

---๔.ไม่พูดส่อเสียด

---๕.ไม่ตระหนี่

---๖.มีวาจาสัตย์

---๗.ไม่โกรธ

---เธอมีภรรยา  ๔  คนด้วยกันคือ  ๑.นางสุธรรมา  ๒.นางสุจิตรา  ๓.นางสุนันทา  ๔.  นางสุชาดา  ขอให้ท่านสังเกตดูว่า  ชื่อนางทั้ง  ๔  นี้  ตรงกันทั้งภาคสวรรค์และภาคมนุษย์  นอกจากนี้  นายมฆมาณพยังเป็นนักพัฒนาชอบความสะอาด สวยงามมีระเบียบ  ทั้งยังเที่ยวแนะนำชาวบ้านให้ช่วยทำความสะอาด  อย่าเที่ยวทิ้งเที่ยวสาดให้อุจาดนัยตา  และว่า “ถ้าบ้านเมืองสะอาด  คนในชาติก็อยู่เป็นสุข”  น่าชมความคิดของนายมฆมาณพอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การเขียนสุภาษิตติดไว้ตามต้นไม้  ในที่สาธารณะซึ่งล้วนแต่เป็นคติสอนใจทั้งสิ้น  เช่น  เตือนคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายว่า “ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย  อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ”  เตือนคนขับรถว่า  “ความคะนองคือความพินาศ  ความประมาทคือความตาย”  ซึ่งล้วนแต่เป็นคติสอนใจทั้งสิ้น  เนื่องจากท่านผู้นี้มีนิสัยเป็นนักเสียสละชอบความก้าวหน้ารักประเทศชาติศาสนาเป็นชีวิตจิตใจดังนั้น  เขาจึงลงมือสร้างถนนเริ่มต้นจากบ้านอจลคามมุ่งสู่มคธรัฐ  โดยมิได้รับสินจ้างรางวัลจากใคร ๆ  ทั้งสิ้น  เขาทำงานเพื่องาน  ทำดีเพื่อความดี

---ต่อมาก็มีคนมาร่วมงานกับเขาด้วยรวมทั้งหมดเป็น  ๓๓  คน  ตอนนี้ก็บังเอิญเกิดมารมาผจญอันเนื่องมาจากความริษยาของนายอำเภอ  ซึ่งเกรงว่าเขาจะทำงานเกินหน้า  จึงแนะให้เขาเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นแทน  เช่น  ต้มเหล้าเถื่อน  เป็นต้น  เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตามก็โกรธ  ไป ทูลพระราชาโดยกล่าวหาว่าเขากับพรรคพวกเป็นกบฏถูกรับสั่งประหารชีวิตด้วยวิธี ให้ช้างเหยียบ แต่ด้วยอำนาจเมตตาพวกเขาจึงปลอดภัยภายหลังความจริงทั้งหลายก็ปรากฏ  จึงทำให้นายอำเภอถูกถอดยศ  มฆมาณพได้เป็นนายอำเภอแทนพร้อมทั้งได้รับพระราชทานช้างเชือกนั้นด้วย  นี่แหละเข้าตำราที่ท่านว่า  “นายมฆมาณพนอนหลับไม่รู้  นอนคู้ไม่เห็น  นายอำเภอทำเข็ญ ก็วินาศสันติ”

---ด้วยหัวใจที่รักความก้าวหน้า  รักชาติบ้านเมือง  เขาจึงพร้อมใจกันสร้างศาลาริมทางขึ้นมาหลังหนึ่งสำหรับคนไปมาจะได้พักพาอาศัย  ศาลาหลังนี้มีความสวยงามมาก  เพราะได้นายช่างที่มีจิตเป็นกุศล  แม้ช้างเชือกนั้นก็ได้พลีกำลังช่วยงานนี้มาโดยตลอดด้วยจิตยินดี  ศาลาหลังนี้มีชื่อว่า  ศาลาสุธรรมา  เพราะความฉลาดของนางสุธรรมา  ถึงแม้ว่าจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในงานนี้  แต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบนางก็หาอุบายจนได้สร้างช่อฟ้าทั้งมีชื่อปรากฏด้วยว่า ศาลาสุธรรมา  นอกจากนี้  นาย มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลางเอาไว้ที่ใกล้กับศาลาหลังนั้นด้วย และนำแผ่นหินก้อนใหญ่มาวางไว้ที่โคนต้นทองหลางสำหรับคนไปมาจะได้อาศัยนั่ง พัก

---กล่าวถึงนางสุนันทา กับนางสุจิตรา  ก็ไม่ยอมน้อยหน้านางสุธรรมาเหมือนกันจึงได้สร้างสระน้ำและส่วนดอกไม้ไว้ใกล้ ๆ กับศาลาหลังนั้นเช่นกัน  ส่วนนางสุชาดาหาได้สร้างอะไรกับเขาไม่เพราะประมาทเข้าใจผิดคิดไปว่า  ตัวมีรูปสวยเป็นภรรยาของนายมฆมาณพด้วย  ยังแถมเกี่ยวกับเป็นเครือญาติกันอีกด้วย  ดังนั้น  เมื่อสามีทำบุญตัวเธอก็ต้องได้บุญด้วย  นี่นับว่าเธอเข้าใจผิดอย่างมาก  เพราะบุญนั้นใครทำใครได้  เหมือนกับอาหารที่เรารับประทาน  ใครรับประทานคนนั้นก็อิ่ม  จะมาอิ่มแทนกันไม่ได้ ฉะนั้น  ด้วยความเข้าใจผิดนางจึงไม่ประสงค์จะทำบุญอะไร ๆ ทั้งนั้น  แม้สามีจะเคี่ยวเข็ญอย่างไรนางก็เฉยเมยไม่สนใจใยดีอะไรทั้งสิ้น


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


---ทีนี้เราจะได้ทราบกันว่าคนทำดีกับคนที่ไม่ทำความดีนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไรเริ่มต้นด้วยนายมฆมาณพผู้ซึ่งสร้งแต่ความดีมาโดยตลอด  มีบำเพ็ญวัตบท  ๗  ประการเป็นต้น  เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์  อานิสงส์ที่สร้างศาลาเป็นเหตุให้ได้เวชยันตปราสาท  อานิสงส์ที่ปลูกต้นทองหลางเป็นเหตุให้ได้ต้นไม้ปาริชาติ  อานิสงส์ที่วางแผ่นหินเอาไว้ที่โคนต้นทองหลางเป็นเหตุให้ได้แท่นทิพย์บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  ส่วนนายช่างที่สร้างศาลาด้วยจิตเป็นกุศล  ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรที่ชื่อว่าวิษณุกรรม  สหายทั้ง  ๓๒  คน  ก็ขึ้นไปเกิดเป็นเทพบุตรโดยถ้วนทั่วกันและมีวิมานอยู่องค์ละหลัง ๆ ด้วยอานิสงส์ที่ได้ร่วมกันสร้างศาลา

---เรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า  ผู้ที่สร้างอะไรที่รวมกันเป็นคณะ  ครั้นเมื่อได้สวรรค์วิมานก็ได้กันคนละหลังโดยที่ไม่ต้องไปอยู่รวมกัน  ซึ่งมีตัวอย่างดังที่กล่าวมานี้  สระโบกขรณีสวรรค์ก็เกิดขึ้นเป็นคู่บารมีของนางสุนันทา  สวนสวรรค์ชื่อจิตรลดาก็เกิดขึ้นคู่บารมีของนางสุจิตรา

---ส่วนนางสุชาดาหญิงผู้เลอโฉมหาได้ไปเกิดในสวรรค์เหมือนผู้อื่นไม่  กลับไปเกิดเป็นนางนกยาง  ทั้งนี้  เพราะความหลงติดอยู่ในความสวยงามของตัวเอง  เรื่องนี้ท่านทั้งหลายต้องระวัง  อย่าไปหลงติดในสิ่งต่าง ๆ  เพราะเดี่ยวจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานอย่างนางสุชาดา  หลักฐานอันเป็นพุทธภาษิตก็มีอยู่ว่า “โมเหน  ติรจฺฉานโยนิ”  ผู้ที่มีโมหะควาลุ่มหลง  จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน

---เมื่อพระอินทร์ได้สอดส่งทิพยเนตรตรวจดูสมบัติ  ก็ปรากฏว่าบริบูรณ์ดีทุกอย่างหากขาดแต่นางแก้วสุชาดาซึ่งไปเกิดในกำเนิดนกยาง  พระองค์จึงเสด็จลงไปประทานอุบายให้นางรักษาศีล ๕  และด้วยอานิสงส์ศีล ๕  ที่นางรักษาอย่างเคร่งครัดนี่เองผลสุดท้ายนางก็ได้ไปบังเกิดเป็นมเหสีของพระอินทร์สมความปรารถนา

---ท่านทั้งหลาย  การที่นายมฆมาณพได้บรรลึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลายก็เพราะอาศัยอความไม่ประมาท  ด้วยว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท  แต่กลับติเตียนความประมาทในกาลทุกเมื่อ  ซึ่งตรงกับพระบาลีพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นตั้งไว้ข้างต้นนั้นแล้ว

---ท่านสาธุชนทั้งหลาย  เรื่องของพระอินทร์นับว่มีสาระตลอดทั้งเรื่อง  ถ้าจะเปรียบก็เหมือนสิงโตน้ำตาลซึ่มีความหวานตลอดทั้งตัว  ไม่ว่าจะแต่ที่หัวหางกลางตัวหวานทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้  เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์จากเรื่อนี้  จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้โยนิโสมนสิการ  คือพิจารณาด้วยอุบายอันแยบคาย  เห็นตัวอย่างไหนดีก็นำไปปฏิบัติ  เห็นตัวอย่างไหนไม่ดีก็อย่านำไปปฏิบัติ  อุปมาเหมือนกับรับประทานปลาเราก็เลือกรับประทานแต่เนื้อปลา ส่วนก้างปลาขี้ปลาเราก็ทิ้งไปเสีย  การฟังเทศน์ด้วยวิธีนี้แหละที่น่ายกย่องว่าได้บุญมาก

---สำหรับในเรื่องนี้ตัวอย่างที่ดีเด่นก็เห็นจะได้แก่นายมฆมาณพ  ไม่ว่าจะเป็นในด้านครองเรือน  การครองรัก  เธอก็ครองกันมาด้วยความเรียบร้อย  ทั้ง ๆ ที่มีภรรยาถึง  ๔  คน ทั้งนี้  ก็เพราะต่างมีคุณธรรมประจำใจ  รู้จักหน้าที่ของตัว  ในด้านการปฏิบัติพัฒนาทั้งภายในบ้าน นอกบ้านและสาธารณะสถาน  สนใจทำความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ข้อนี้ชาวไทยควรถือเป็นตัวอย่าง  ควรคิดไว้เสมอ ๆ ว่า  บ้านเมือง จะสะอาดก็เพราะคนในชาติช่วยกันพัฒนา  ว่าถึงน้ำใจก็ควรยกให้ช้างที่ช่วยเหลือนายช่างสร้างศาลา อานิสงส์ที่มีน้ำใจเป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์  มีชื่อว่าเอราวัณเทพบุตร ดูซิเป็นสัตว์เดียรัจฉานแท้ ๆ  ยังมีน้ำใจ  ก็ท่านเล่าเป็นมนุษย์จะไปยอมแพ้แก่ช้างกระนั้นหรือ  ดังนั้น  ท่านจักต้องฝึกฝนตนให้เป็นคนมีน้ำใจอยู่เสมอ

---เมื่อสมัยที่กรุงเทพยังมีรถราง  เด็กหนุ่มคนหนึ่งเห็นคนชราถือของพรุงพะรังขึ้นมาบนรถจึงลุกขึ้นให้ชายชรานั่ง  เมื่อถึงเวลาลงจากรถเขาก็ช่วยหิ้วของตามส่งถึงบ้านชายชราซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก  ตัวเขาเองก็อยู่บ้านในซอยใกล้ ๆ กันนั่นเอง  และต่อมาเด็กหนุ่มผู้มีน้ำใจผู้นี้ก็เป็นบุตรบุญธรรมชองชายชรา  และได้ครองสมบัติเป็นจำนวนมากในกาลต่อมา  เพราะสองตายายไม่มีลูกหลานที่จะสืบตระกูล  จากเรื่องทำนองนี้ทำให้นึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งว่า  “น้ำบ่อน้ำคลองก็ยังเป็นรองน้ำใจ  น้ำที่ไหน ๆ ก็สู้น้ำใจไม่ได้”  โปรดจำไว้ว่า  น้ำใจเป็นน้ำที่มีฤทธิ์

---ตัวอย่างดี ๆ ในเรื่องนี้ยังมีอีกมาก  ยกมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง ที่นี้มากล่าวถึงนางสุชาดาบ้าง  นางนี้แม้ในตอนต้นเธอจะหลงผิดไปบ้างตามวิสัยของปุถุชนที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด  บรรพชิตยังรู้เผลอ”  แต่ถึงกระนั้นในตอนสุดท้ายเธอยังกลับตัวได้  จึงนับว่าน่าสรรเสริญอยู่

---ฉะนั้น  ท่านที่ยังหลงทำอะไรผิด ๆ  อยู่จงได้คิดว่า  ยังไม่สายเกินไปในการกลับตัว จงถือคติที่ว่า “ความผิดพลาดเป็นของมนุษย์  แต่มนุษย์ที่ดีต้องรู้จักกลับตัว”

---ท่านทั้งหลาย  ยอดปรารถนาของมนุษย์เราอยู่ที่ความสุข  แต่ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการปฏิบัติธรรม  อยู่เฉย ๆ  ความสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้  เหมือนเสือนอนอ้าปากอยู่  เนื้อจะวิ่งเข้าปากเสือนั้นเหลือวิสัย  เสือจะต้องไปจับเนื้อกินเอง  ฉันใดฉันนั้น  ความสุขที่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการปฏิบัติของผู้นั้นเอง  ด้วยเหตุนี้  เราจึงมาปฏิบัติธรรมกันเถิด  แล้วความสุขที่เป็นยอดปรารถนาก็จะพลันสำเร็จสมประสงค์ทุกประการ  ดังเทศนาที่ได้แสดงมา  ด้วยประการฉะนี้.


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


*ตำนานท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์)๒

*พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์


---พระอินทร์เป็นตำแหน่งของพระราชาแห่งเทพทั้งปวง ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา

---เรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำ ประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์ เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน  ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพระอินทร์สมัยพุทธกาลเท่านั้น

*อดีตชาติของพระอินทร์

---ณ หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์

*คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข

---ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตน ฉะนั้นกรรมนี้ ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่


---มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย  ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการและได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคน ทั้งหลาย


---ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยมมาสมัคร เป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้างสองโยชน์บ้าง


*เมื่อประพฤติธรรม ย่อมไม่หวั่นภัยใด ๆ

---ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกว่าสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด


---ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน ช้างและตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา


---พระราชาเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส


*บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

---สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง

---ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย


---มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ  ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์




ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

*วัตตบท ๗ ประการได้แก่

---๑.เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต


---๒.ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต


---๓.มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต


---๔.มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต


---๕.มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต


---๖.มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต


---๗.ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต



5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

*ทรงมีหลายชื่อ

---ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต


---ท้าวมฆวาน -  เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ


---ท้าวปุรินททะ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง


---ท้าวสักกะ -  เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ


---ท้าววาสะ หรือวาสพ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก


---ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา - ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว


---ท้าวสุชัมบดี - ทรงมีชายาชื่อสุชา


---ท้าวเทวานมินทะ หรือพระอินทร์ - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์

*ความเพียร

---ในคราวที่สุวีวรเทวบุตรขอพรกับพระอินทร์ ว่าขอให้ตนได้เป็น "ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา"


---พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า


---"คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย"

---ถึงกระนั้น สุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า "ขอพระองค์ได้โปรด ประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย"

---พระอินทร์ตรัสว่า "ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้อง ทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย"

*ขันติธรรม

---ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับได้และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย


---พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า "ทรงอดกลั้น ได้เพราะกลัว หรือว่า เพราะอ่อนแอ"

---พระอินทร์ตรัสว่า "เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร"

---พระมาตลีแย้งว่า "พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง"

---พระอินทร์ "เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละ เป็นวิธีกำหราบพาล"

---พระมาตลีก็ยังแย้งว่า "ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่"

---พระอินทร์ "พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลัง อดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอ ต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครอง ย่อมไม่โกรธตอบ

---ผู้โกรธตอบผู้โกรธ  หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น  แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่น ทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย"


*ความไม่โกรธ

---ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ฆ่าความโกรธ"




6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


--ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่า น่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ


---พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือ ท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้


---คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-8-17 22:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

---จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และ เทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยหวังผลคือ ความสุขของส่วนรวม


---แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ นับวันจะเลือนหายไปในสังคมไทยของเรา เพราะคิดแต่จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมฝรั่ง โดยหารู้ไม่ว่า ได้เพาะเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นแก่ตัว ความไร้คุณธรรม ลงไปในความอยากมีอยากเป็นตามกระแสของสังคมศิวิไลซ์ที่เน้นวัตถุนิยม


---ฉะนั้น หากเราช่วยกันนำคุณธรรมที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยทำมาแล้ว ให้กลับคืนมา สังคมอันดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน


อารามโรปา วนโรปา   เย ชนา เสตุการกา  ปปญฺจ อุทปานญฺ  จ     เย ททนฺติ อุปสฺสยํ   เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ     สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ.

(ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน.)



.....................................................................




ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

ปรับปรุงครั้งที่ 5 วันที่ 25 กันยายน 2556



ที่มา http://www.watkaokrailas.com/articles/643347/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้