updated: 05 มี.ค. 2558 เวลา 18:20:42 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"บิ๊กตู่" ไม่หวังรีดเลือดจากภาษีที่ดิน-บ้าน แต่ต้องเก็บเพราะรายได้ ไม่พอรายจ่าย "ปรีดิยาธร" คาดเก็บแค่ 0.1-0.5% แทนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 2 สัปดาห์ เข้าถกใน ครม. เผยผ่าน สนช.แล้ว อีก 2 ปี จึงพร้อมจัดเก็บ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 เรื่องพระราชบัญญัติภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ว่า ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะรีดเลือด แต่ตรงกันข้ามจะเป็นการขีดเส้นว่า รัฐต้องการเดินหน้าพัฒนาประเทศ เพราะงบประมาณภาครัฐตกลงไปเรื่อย ๆ สินค้า การส่งออก ไม่เข้มแข็ง ภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ไม่เตรียมการไว้ล่วงหน้า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสดงพิษภัยของมัน ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ปัญหาตรงนี้อยู่ และต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันภาษีอะไรต่าง ๆ ก็เป็นรายได้ของรัฐ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในอีก 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ เมื่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้วกฎหมายนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ทันทีแต่จะมีระยะเวลาเว้นการใช้กฎหมายประมาณ 2 ปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ "GISTDA" จัดทำแผนที่สำหรับการประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศทุกแปลงโดยใช้ดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศเข้ามาช่วยเพื่อให้มีแม่แบบในการตีราคาที่ดินที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานและใช้การประเมินราคาของกรมธนารักษ์เป็นเกณฑ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยอมรับว่ามีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การยกเว้นและผ่อนปรนในการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่น บ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทไม่เสียภาษี ส่วนที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีแม้จะมีเพดานสูงสุด เช่น ที่ดินสำหรับทำเกษตร เสียภาษี 0.25% หรือบ้านจัดสรรที่ราคาไม่สูงเสียภาษี 0.5% ของมูลค่า ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดแต่ในขั้นตอนการจัดเก็บจริงจะมีขั้นต่ำอยู่ด้วย เช่น เริ่มจัดเก็บภาษีที่อัตรา 0.1% แต่ในส่วนที่จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงจะเป็นที่ดินว่างเปล่า เพื่อส่งสัญญาณให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินที่ครอบครองไปใช้ประโยชน์หรือขายต่อให้คนอื่นไปใช้ประโยชน์ต่อไป
"การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำเป็นต้องมีการเริ่มต้นจัดเก็บในประเทศไทยเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด10 ปีที่ผ่านมาก็คืองบประมาณรายจ่ายภาครัฐสูงกว่ารายได้ที่ภาครัฐจัดเก็บได้ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งรายได้เข้ามาเพิ่มเพื่อทดแทนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดีกว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะกระทบกับการจับจ่ายของประชาชนมากกว่า ซึ่งถ้าเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็จะทดแทนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐได้ระดับหนึ่ง" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
|