ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1936
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

•• ทับหลังนารายณ์ ••

[คัดลอกลิงก์]
•• ทับหลังนารายณ์ ••


ภาพแห่งสยาม ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ในอัลบั้ม: จดหมายเหตุแห่งสยาม
25 กุมภาพันธ์ เวลา 11:47 น. ·




•• ทับหลังนารายณ์ ••


"ทับหลังนารายณ์"
นานเกือบ 30 ปีที่ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประติมากรรมล้ำค่าสูญหายไปจากประเทศไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปครึ่งค่อนโลก ก่อนจะกลับหวนสู่มาตุภูมิอีกครั้ง เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2531 เส้นทางศิลาโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ??
จากหลักฐานที่พอสืบค้นได้ อนุมานได้ว่า ประมาณปี 2507-2508 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง กรมศิลปากรได้พยายามค้นหา กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2508 ได้พบชิ้นส่วนด้านซ้ายที่ร้านค้าของเก่า "Capital Antique" แถวราชประสงค์ กรุงเทพฯ จึงยึดไว้ แต่ก็ไม่พบชิ้นส่วนที่เหลือ
ดร.สรเชต วรคามวิชัย กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตอาจารย์วิชาโบราณคดี ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโบราณสถานในพื้นที่เชื่อว่า เกิดจากฝีมือนักค้าวัตถุโบราณชาวกรุงเก่าว่าจ้างคนในพื้นที่กลุ่มหนึ่งขนย้ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ลงมาจากปราสาทหินพนมรุ้ง หลังจากได้รับออเดอร์จากลูกค้าชาวอเมริกันว่า ต้องการทับหลังชิ้นนี้กลับไปโชว์ที่ต่างประเทศ
ดร.สรเชต ขยายความต่อว่า สมัยก่อนบริเวณปราสาทหินพนมรุ้งยังไม่มีถนนตัดผ่าน โบราณสถานยังไม่ได้รับการบูรณะเหมือนปัจจุบัน ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้า เมื่อไม่มีถนนการขนย้ายทับหลังนารายณ์ฯ จึงเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้คนจำนวนมากช่วยกันใช้คานหามและนำใส่เกวียนบรรทุกลงมาพื้นราบแล้วส่งต่อให้พ่อค้าวัตถุโบราณที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อคนกลุ่มนี้ส่งทับหลังไปแล้วกลับไม่ได้เงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ เป็นเหตุให้มีการตามฆ่าล้างแค้นและตามทวงหนี้ในเวลาต่อมา
ปี 2516 ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร.ไฮแรม วูดเวิร์ด จูเนียร์ อดีตอาสาสมัครสันติภาพที่เคยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์โดยบังเอิญที่สถาบันศิลปะนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในสภาพลวดลายขอบขวาของทับหลังถูกกระเทาะออกไปครึ่งหนึ่ง
หลังจากตรวจสอบจนทราบว่าวัตถุโบราณล้ำค่าชิ้นนี้เป็นของ "เจมส์ อัลสดอร์ฟ" มหาเศรษฐีชาวอเมริกันและประธานมูลนิธิอัลสดอร์ฟ ที่ให้สถาบันศิลปะนครชิคาโกยืมไปโชว์ จึงทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการว่า ควรจะขอคืน !?!
ระหว่างปี 2516-2521 กรมศิลปากรได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทั้งทำหนังสือและส่งหลักฐานยืนยันถึงรัฐบาลสหรัฐ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยในอเมริกา ถึงผู้ว่าอำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเอเชียของยูเนสโก ประเทศญี่ปุ่น และถึงเลขาธิการสภาพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (ICOM - International Council of Museums) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นไม่ได้เข้าร่วมภาคีแห่งอนุสัญญาขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันกรมศิลปากรเองก็ได้บูรณะปราสาทหินพนมรุ้งควบคู่ไปกับการติดตามทวงคืนทับหลังนารายณ์ฯ จนถึงปี 2530 การบูรณะเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงเริ่มกระบวนการติดตามทวงคืนอีกครั้ง จากการริเริ่มของคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ต่อมามีหนังสือตรงจากผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน แต่กรมศิลปากรยืนยันจะไม่มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอันขาด
มีนาคม 2531 มารุต บุนนาค รมว.ศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืน ได้เจรจากับสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สามเดือนต่อมามีการเจรจาอีกครั้งแต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ต่อมามีการประชุมสภาเมืองชิคาโกเรื่องทับหลังฯ มีผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยจำนวนมาก ทั้งที่กรรมการเป็นบุคคลภายนอก เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอเมริกันด้วยกันเอง
ด้วยแรงกดดันเหล่านี้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกจึงส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนให้แก่รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 ในพระนาม ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และวันที่ 10 พฤศจิกายน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ มี พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมชาวบุรีรัมย์นับพันคนเดินทางมารอรับที่สนามบิน
จากนั้นกรมศิลปากรได้นำทับหลังไปจัดแสดงที่ศาลามุขมาตย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามของสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ ก่อนจะนำกลับไปประดิษฐานไว้ยังที่เดิมในวันที่ 7 ธันวาคม 2531 เวลา 09.00 น.และวันต่อมาจึงมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
ถึงแม้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จะกลับคืนสู่มาตุภูมิแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการลักลอบขโมยวัตถุโบราณก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
ความเชื่อและแรงศรัทธา ?
"โรม แก้วบงกฎ" เจ้าหน้าที่เทศบาลพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ วัย 40 ปีเศษ เล่าว่า หลักฐานที่ยืนยันได้ว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นของปราสาทพนมรุ้ง ได้แก่ ภาพถ่ายเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสปราสาทพนมรุ้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2472 เป็นภาพถ่ายทับหลังที่แตกหักออกเป็น 2 ชิ้น เหมือนกับที่ "มานิต วัลลิโภดม" ถ่ายไว้เมื่อปี 2503 ปรากฏในหนังสือรายงานการสำรวจขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2
ปราสาทพนมรุ้งและทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ในสายตาชาวบ้านอย่างโรมและคนอื่นๆ แล้ว ไม่ได้เป็นเฉพาะโบราณวัตถุล้ำค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความเชื่อและศรัทธาที่ไม่อาจแยกออกจากวิถีชีวิตและวิถีชุมชนของคนที่นี่ ดังนั้น พวกเขาจึงหวงแหนทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมเหล่านี้พอๆ กับเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ถือว่า คนเหล่านี้ได้กระทำละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันควรเคารพบูชา
"ชาวบ้านที่นี่รับรู้กันดีว่า คนที่รับจ้างลักลอบนำทับหลังนารายณ์ฯ ออกไปขาย 80% มีอันเป็นไปในรูปแบบต่างๆ กัน เรียกว่าตายโหงกันแทบทั้งนั้น น้อยนักที่จะแก่ตาย ล่าสุดมีคนเข้าไปทำพิธีไสยศาสตร์เคลื่อนย้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง คนที่ว่าก็ตายไปแล้ว เร็วๆ นี้อำเภอจะจัดพิธีบวงสรวงครั้งใหญ่ เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์"
ทับหลัง
ดร.สรเชต วรคามวิชัย อธิบายว่า ทับหลัง คือ แผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางทับอยู่บนกรอบประตูทางเข้าปราสาท ในศาสนสถานแบบขอมที่สร้างด้วยหิน นอกจากจะช่วยเสาประตูรับน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนแล้ว ยังช่วยลดขนาดความสูง ความกว้างของประตูทางเข้า ซึ่งมีผลต่อการรับน้ำหนัก และยังเป็นส่วนประดับตกแต่งที่สำคัญของประตูทางเข้า ดังนั้น ทับหลังจึงได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายและเรื่องราวต่างๆ เพื่อสื่อความหมายตามที่ต้องการอย่างงดงาม จากลวดลายและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลังนี้เอง ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาค้นคว้าหาวิวัฒนาการของอดีตกาล
สำหรับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ประดับอยู่ประตูทางเข้ามณฑปปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก ปราสาทหินพนมรุ้ง อ.พระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์สี่กร บรรทมตะแคงขวา บนหลังพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร พระหัตถ์ขวาหน้ารองรับพระเศียร พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์
บริเวณปลายพระบาทของพระนารายณ์ เป็นภาพพระนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระนารายณ์ แกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภีองค์พระนารายณ์ ภายในดอกบัวแกะสลักเป็นรูปพระพรหมสี่พักตร์สี่กร พระหัตถ์ทั้งสี่ไม่สามารถระบุได้ว่าทรงถืออะไร
ภาพทั้งหมดจัดไว้กึ่งกลางทับหลัง ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเป็นรูปครุฑ ข้างครุฑเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง และภาพลิงอุ้มลูก ส่วนด้านใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว การออกแบบลวดลายและการแกะสลักประณีต จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ก็ว่าได้
...............
สวัสดี
-ภาพแห่งสยาม-


ขอบคุณครับ


เค้าบอกว่ามือที่เห็นหลายๆๆมือ
แท้จริง...คือลักษณะการวาดมือไป-มา
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้