ว่าด้วยเรื่องพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตอนที่2 โดย อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
ตอนที่เเล้วได้เล่าค้างเอาไว้ เกี่ยวกับเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของการดื่มน้ำ พระพิพัฒน์สัตยา หากท่านใดลืมเลือนไปแล้ว หรืออยากฟื้นความทรงจำของเรื่อง นี้ในสัปดาห์ที่เพิ่งผ่่านมา ก็ขอความกรุณาย้อนไปกดอ่านคอลัมน์นี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วได้เลยนะครับ มาในวันนี้ก็ขอเล่าต่อโดยไม่อารัมพบทหรือภาษาชาวบ้าน ก็ว่า ไม่พูดพล่ามทำเพลงกันเลยนะครับ
ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราช ดำริให้เปลี่ยนแปลงวันถือน้ำใหม่ จากเดิมปีละ 2 ครั้ง ให้เหลือเพียงปีละ 1 ครั้ง คือให้ เป็นวันตรุษขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ตกราววันที่ 3 เมษายน ของแต่ละปี และเมื่อ ถึงปีพ.ศ 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ให้ยกเลิกพระราชพิธีนี้ เป็นเหตุให้การให้สัตย์สาบาน การประกาศตนว่าจะเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ต้องห่างหายไปเป็นเวลานาน จนเมื่อ 37 ปีที่แล้วมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและเกียรติยศแห่งการรับราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2512 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมเข้ากับพระราชพิธีพระราช ทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ จัดเป็นการเฉพาะ สำหรับข้าราชการทหารทั้งสามเหล่าทัพและตำรวจเท่านั้น
การถือน้ำพระ พิพัฒน์สัตยาแต่ดั้งเดิมนั้น กระทำกันหลายครั้งในช่วงปี จากหลักฐานที่พบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งการถือน้ำออกเป็น 2 แบบใหญ่ คือการถือน้ำ ประจำและการถือน้ำจร
- การถือน้ำประจำ สามารถแยกย่อยออกได้ตามฐานะทางสังคม คือ
1) การถือน้ำของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหารและพลเรือนทุกคน รวมทั้งภรรยาบุตรธิดา และข้ารับใช้ของพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระราช วงศ์ต่างๆที่มีศักดินา 400 ขึ้นไป กำหนดให้ถือน้ำในพิธีตรุษ เดือน 5 และพิธี สารท เดือน10 ปีละ 2 ครั้ง
2) การถือน้ำของทหารที่เข้าเวรประจำเดือนที่ผลัดเปลี่ยนเวรประจำการกันไปทุกเดือน กำหนดให้ถือน้ำทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เพราะขณะนั้นมีระบบการเกณฑ์ราษฎรเข้า รับราชการทหารที่เรียกว่าเข้าเดือน-ออกเดือน จึงมีการสลับสับเปลี่ยนตัวคนกัน ตลอดทุกเดือน
- การถือน้ำจร เป็นการถือน้ำในกรณีพิเศษที่ไม่กำหนดเวลาตายตัว ขึ้นกับสภาวะ เหตุการณ์แวดล้อมเป็นหลัก แยกย่อยออกได้คือ
3) การถือน้ำเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน จะต้องมีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ในทันทีที่ทรงรับราชสมบัติ
4) การถือน้ำเมื่อมีผู้ที่มาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
5) การถือน้ำเมื่อมีการถวายตัวของบุคคลที่เข้ารับราชการ ในตำแหน่งที่ ปรึกษาข้อราชการต่างๆ ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ในปัจจุบันสำหรับข้อนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อ เฉพาะพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวแทนการดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
สำหรับ ในปัจจุบัน พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กำหนดแบ่งเป็น 2 วัน โดยวันแรกจะเป็นการเสกน้ำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหาราชครูวามเทพมุนี เป็นผู้ประกอบพิธี น้ำที่ใช้ในการเสกนี้เป็นน้ำฝนต้มสะอาด ใส่ไว้ในขันพระสาครขนาดใหญ่ เป็นขันเชิง เนื้อเงินถมตะทอง มีการอาราธนา พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ทวาทศปริตร จากนั้นพระครูพราหมณ์อ่านฉันท์ สดุดี ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ถือเป็นการเสกน้ำพระพุทธมนต์ และเทพมนต์
ในวันต่อมาจะเป็นขั้นตอนการแปลงน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ ให้เป็นน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือผู้ใหญ่บางท่านจะเรียกว่า "น้ำชำระพระแสง " ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะการแปลงน้ำครั้งนี้อาจถือเป็นหัวใจของพิธีส่วนหนึ่งก็ว่าได้ ส่วนที่เรียกว่า "น้ำชำระพระแสง" ก็เพราะในสมัยโบราณ การทำสัตย์สาบานต่อกันของ ชายอกสามศอก หรือสุภาพบุรุษ-ลูกผู้ชายนั้น จะใช้อาวุธประจำกายของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ิ และเป็นของสูงคู่ชีวิต มาล้างชำระด้วยเลือดของตนเอง ที่กรีดออกจากปลายนิ้วชี้มือขวา หรือจากท้องแขนของตนเอง หรือมิฉะนั้น ก็ล้างชำระด้วยน้ำสะอาด บรรจุลงในภาชนะเดียวกัน กล่าววาจาอันเป็นคำผูกมัดสัตย์สาบาน อย่างแม่นมั่น แล้วจากนั้นจึงนำเลือดหรือน้ำนั้นซึ่งถือว่าได้กลาย เป็นน้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ไปดื่มร่วมกัน เพื่อเป็นการปฏิญาณตนว่า จะรักใคร่ กลมเกลียว เกื้อกูลกันเป็นเสมือนเพื่อนตาย ไม่ทรยศหักหลังกันตลอดไป จนกว่า ชีวิตจะหาไม่
ครั้นมาถึงองค์พระมหากษัตริย์ โดยที่ทรงเป็นนักรบและทรงเป็นจอมทัพด้วย เมื่อจะ มีการทำสัตย์ปฏิญาณ จึงต้องนำพระเเสงราชศาสตราที่สำคัญองค์ต่างๆ มาชำระ ล้างด้วยน้ำสะอาด พร้อมร่ายโองการสาปแช่งกำกับน้ำนั้นไว้ด้วย แล้วจึงนำออก แจกจ่ายให้ผู้ที่รับใช้ถวายงานได้ดื่มสาบาน ถือว่าได้ดื่มน้ำชำระล้างอาวุธของพระราชา หากกาลต่อไปภายภาคหน้า ตนเองได้คิดคดทรยศ ไม่จงรักภักดี ไม่ปฏิบัติ ตนตามคำสัตย์สาบานที่ให้ไว้ขณะดื่มน้ำนั้น ก็จะเกิดมีอันเป็นไปด้วยอาการต่างๆ ด้วยคมของอาวุธแห่งองค์พระราชาที่ได้ชำระล้างและแทงลงในน้ำนั้น แต่หากผู้ใด ซื่อตรง จงรักภักดี ประกอบกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพระราชาแล้ว น้ำนั้นก็จะเป็นทั้งสิริและมงคลแก่ชีวิตตนและครอบครัวอีกด้วย
สำหรับ พระเเสงราชศาสตรา ที่เชิญเข้าในพิธีเพื่อทิ่มแทงลงในน้ำ พระพุทธมนต์- เทพมนตร์ เพื่อแปลงให้เป็นน้ำชำระพระแสงหรือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้น ประกอบ ด้วยพระแสงศรสามองค์ พระแสงขรรค์ชัยศรี อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงดาบคาบค่าย องค์ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นแทนองค์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งกรุงเก่า และพระแสงราชศาสตราประจำรัชกาลที่1-7
ใน ปี พ.ศ.2525 อันเป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย ผมเองได้มีโอกาสอยู่ร่วมและรับเห็นรับรู้ในขั้นตอนของ พระราชพิธีนี้ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในครั้งนั้นด้วย ได้เห็นว่า พระแสงราชศาสตราองค์ต่างๆเชิญไปเข้าพิธีนั้น ได้จัดตั้งไว้ด้านหลังพระฉาก บริเวณด้านข้างของฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อเวลาที่เจ้าพนักงานจะเชิญออกไปหน้าพระฉาก เพื่อให้พระมหาราชครูวามเทพมุนีเชิญลงแทงน้ำในขันพระสาครนั้น เจ้าพนักงานได้เชิญขึ้นจากที่ประดิษฐาน จากนั้นแพทย์และพยาบาลที่ใส่ผ้าปิดปากและจมูก ได้นำสำลีแผ่นใหญ่ชุบ แอลกอร์ฮออย่างชุ่มโชก เช็ดชะโลมลงบนใบมีดใบดาบของพระแสงเหล่านั้น แล้วจึงนำแผ่นสำลี แห้งขนาดใหญ่เช่นกันมาเช็ดลูบให้แห้งก่อน แล้วจึงเชิญออก ผมสอบถามท่านผู้ใหญ่ในนั้น ได้คำตอบว่า เพื่อความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรคทั้งปวง เพราะน้ำ นั้นจะเชิญขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำเสวยด้วย
ส่วน โองการหรือบทสวด ที่ใช้ในการปลุกเสกน้ำนั้น เรียกว่า "โองการแช่งน้ำ" คำว่า"โอง" กร่อนมาจาก "โอม" โดยที่คำว่า "โอม" จะมีที่มาจากคำที่สะกดว่า "ออ-อุ-มอ" อ่านว่า "โอม" สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำย่อ ที่มาจากคำว่า "อะ-อุ-มะ" อันหมายถึงเทพเจ้าสำคัญสูงสุดของศาสนาฮินดู 3 องค์คือ
อะ คือ พระศิวะ หรือคนไทยนิยมเรียกพระอิศวร
อุ คือ พระวิษณุหรือพระนารายณ์
มะ คือ พระพรหมหรือบรามัน
คำว่า "โอม" จึงถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับเป็นคำนำในการกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า หรือเป็นคำนำในบทสวดต่างๆของพราหมณ์
ส่วน คำว่า "โองการ" มาจากคำว่า "โอมการ" มีความหมายว่า "คำศักดิ์สิทธิ์" หรือ"คำประกาศของพระมหากษัตริย์" กร่อนมาจากคำว่า "โอมการ" สำหรับเนื้อหาของ"โองการแช่งน้ำ"นั้น แบ่งเป็นบทใหญ่ๆ 4 บท
บทแรก เป็นร่ายนำ เป็นการกล่าวสรรเสริญเทพเจ้าทั้งสามองค์ของศาสนาฮินดู เหมือนบทไหว้ครู ในกวีนิพนธ์ของไทยแต่โบราณ จากนั้นเป็นการอธิบายแจกแจง ลักษณะของเทพแต่ละองค์อย่างละเอียดชัดเจน ช่วงท้ายของร่ายโองการแช่งน้ำบท นี้จะมีการเชิญพระแสงศร 3 องค์ลงแทงน้ำพระพุทธมนต์-เทพมนตร์ใน ขันพระ สาคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงน้ำนั้นให้เป็นน้ำชำระพระแสง โองการแช่งน้ำ บทนี้น่าจะเป็นบทเก่าที่ร่ายสืบทอดกันมา เพราะแต่เดิมพระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธี ที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ ไม่มีพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลท ี่4 เป็นต้นมา
บทที่สองนั้น จะเป็นการกล่าวถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโลกมนุษย์ กล่าว ถึงฤทธานุภาพของเทพเจ้าทั้งสาม รวมถึงการอธิบายเรื่องไฟบรรลััยกัลป์ที่ล้างโลก จนราบเรียบ การจุติของพระพรหม การสร้างโลกขึ้นใหม่ของพระพรหม การแตก ดับ และการเกิดใหม่ของโลกตามวาระต่างๆ
บทที่สามน่าจะเป็นบทที่ประพันธ์ เสริมเพิ่มขึ้นใหม่ เพราะมีการเอ่ยถึงพุทธศาสนา ด้วย ในบทนี้จะเริ่มต้นด้วยการกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มารับทราบรับรู้ และเป็นพยานในพระราชพิธีนี้ รวมทั้งกล่าวอัญเชิญให้ลงโทษผู้ที่คิดคดทรยศใน การถือน้ำนี้ด้วย โดยจะกล่าวอัญเชิญพระรัตนตรัยก่อนเป็นปฐม ตามด้วยเทพเจ้า ทั้งสาม เทพชั้นรองอื่นๆ พระรามพระลักษณ์ อันหมายถึงการอวตารของพระมหา กษัตริย์ เทพเจ้าเเห่งป่าเขาคือพระพนัสบดี ภูตผีต่างๆรวมทั้งผีพื้นบ้านพื้นเมือง ศรีพรหมยักษ์ ยักษ์กุมาร และอื่นๆอีกมากมาย
บทสุดท้าย เป็นบทที่จะร่ายยาวถึงผลแห่งการคิดคดทรยศต่อชาติบ้านเมือง และ พระมหากษัตริย์ มีการแจกแจงการลงโทษทัณฑ์อย่างน่าสะพรึงกลัว กล่าวถึงการตายในลักษณะอุดจาดต่างๆ อันเนื่องมาจากจากความผิดต่อคำสัตย์สาบาน ในตอนท้ายจะกล่าวถึงการปูนบำเหน็จรางวัลและยศถาบันดาศักดิ์ต่อผู้ซื่อสัตย์อีกด้วย
ในระหว่างขั้นตอนทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว พระราชครูวามเทพมุนีประมุขแห่งศาสนาพราหมณ์ จะเป็นผู้อัญเชิญพระเเสงองค์ต่างๆลงแทงน้ำในขันพระสาคร พราหมณ์ทั้งนั้นบรรลือสังข์ หันปลายสังข์เข้าสู่ขันพระสาคร พนักงานภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์
สมเด็จพระสังฆราช ประมุขแห่งพุทธศาสนาพร้อมพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์บทสัจจคาถา จบแล้วจะได้น้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่บริบูรณ์ด้วยฤทธานุภาพ แห่งโองการและมนตรา จากนั้นพระมหาราชครูวามเทพมุนีจะใช้ภาชนะที่ถ้วยทอง คำ มีคำอักษรจารึกโดยรอบว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ตักน้ำนั้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงดื่มเป็นปฐม
จากนั้นผู้ที่เข้าร่วม พระราชพิธีที่ีได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทาน น้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายคำนับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วเดินไปยังท่าม กลางพระอุโบสถอันเป็นสถานที่ประดิษฐานขันพระสาคร พระมหาราชครูวามเทพ มุนีตักน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือน้ำ ชำระพระแสงส่งให้ เมื่อรับแล้วจึงหันไปจบน้ำนั้น ขึ้นเหนือศีรษะ ถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรก่อน แล้วจึงยกขึ้น ดื่ม โดยหันหน้าไปยังพระพุทธปฏิมานั้น เสร็จแล้วคืนถ้วยน้ำต่อพระมหาราชครู วามเทพมุนี จากนั้นจึงคลานเข้าไปหมอบกราบถวาย บังคมแทบเบื้องพระยุคล บาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนครบถ้วนทุกคน
ท้ายสุดของพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทย ธรรม ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงกราบลาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่เครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้า แล้วเสด็จพระราช ดำเนินกลับ แต่ก็มีบางครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังปราสาทพระเทพบิดร เพื่อถวายบังคมพระบรมรูปของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้งแปดรัชกาลแล้วจึงจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ
เครดิต ไทยรัฐ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
(ภาพประกอบ วัดนก วัดตูม เเละวัดขุนเมืองใจ สามวัดสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทำพิธีถือน้ำ)