ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3084
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ถอดจารึกขอม"ภูถ้ำพระ" ทำไมพระพุทธรูปไปอยู่ที่นั่น

[คัดลอกลิงก์]
หลายท่านที่สนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์เมืองสกลนครคงจะทราบว่าที่ภูถ้ำพระ บ้านหนองสะไน ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร มีจารึกภาษาขอมอยู่ที่หน้าผาหินทรายใต้เพิงผา (ลักษณะคล้ายถ้ำ) บนภูเขาชื่อว่าภูถ้ำพระภาวนา ซึ่งกรมศิลปากร โดยนายชะเอม แก้วคล้าย และนายบุญเลิศ เสนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาขอม ได้ถอดความออกเป็นภาษาไทย มีใจความว่า"ศักราช 988 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 7 วันจันทร์นั้น ได้ประดิษฐานพระนี้ ด้วยความเคารพยิ่ง และวิตานนี้ อยู่ภายใน ซึ่งท่านครูโสมังคลาจารย์ได้จารึกประกาศนี้ไว้"

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของภูถ้ำพระ บ้านหนองสะไน ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร อยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูถ้ำพระภาวนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน และอยู่ห่างจากปราสาทภูเพ็กไปทางทิศใต้ประมาณ 5.6 กิโลเมตร

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพิกัดของเพิงหน้าผาที่มีจารึกภาษาขอม

ภาพถ่ายดาวเทียมขยายให้เห็นภูมิประเทศของตำแหน่งเพิงหน้าผาภูถ้ำพระ และบริเวณวัดถ้ำพระที่อยู่ติดกัน

เพิงหน้าผาที่มีการจารึกภาษาขอม (พระพุทธรูปที่เห็นนี้สร้างในยุคปัจจุบัน)

พบว่าส่วนหนึ่งของเพิงหน้าผามีแท่งหินทรายที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้าใจว่าจะมีการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ไม่ทันได้ลงมือ

บริเวณที่มีจารึกภาษาขอม ได้มีการทำคอกกั้นไว้เพื่อไม่ให้ใครเข้าใกล้

ารึกภาษาขอมบนแผ่นหินทราย

ผู้เชี่ยวชาญภาษาขอมจากกรมศิลปากร นายชะเอม แก้วคล้าย และนายบุญเลิศ เสนานนท์ ได้ถอดคำอ่านไว้

ป้ายโลหะแสดงคำแปลจารึกเป็นภาษาไทย โดยสำนักงานศิลปากร ที่ 9 ขอนแก่น
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-1-6 16:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

คำขึ้นต้นของจารึกระบุปี "มหาศักราช" 988 แรม 10 ค่ำ เดือน 7 (อาณาจักรขอมใช้ปฏิทินมหาศักราชซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทำให้ทราบว่าเดือน 7 อยู่ในราศีตุล ระหว่างวันที่ 23 กันยายน 22 ตุลาคม) ผมเลยต้องใช้โปรแกรมดาราศาสตร์ทำภาพจำลอง (Simulation) ย้อนหลังไปที่ ค.ศ.1066 (ปีมหาศักราช = ปี ค.ศ. - 78) พบว่าวันแรม 10 ค่ำน่าจะตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1066 หรือ พ.ศ.1609
  
ปฏิทินมหาศักราช ระบุว่าเดือน 7 ตรงกับราศีตุล (Libra) ชื่อเดือน Ashwin ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 22 ตุลาคม


พระพุทธรูปองค์นี้ยังแกะไม่เสร็จ ดูเหมือนตั้งใจจะสร้างให้เป็นพระพุทธรูปนั่งท่าใดท่าหนึ่ง และไม่ทราบว่าเป็นองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหรือไม่ เพราะไม่พบพระพุทธรูปที่กล่าวถึงตามจารึก
  
จาการใช้เครื่อง จีพีเอส ทราบว่าเพิงผาแห่งนี้หันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกและมีมุมมองกว้าง ทำให้เห็นดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงของปฏิทินมหาศักราชได้อย่างชัดเจน

บรรยากาศทั่วไปของเพิงผา ห้อมล้อมไปด้วยป่าทึบ
ข้อวิจารณ์ ทำไมพระพุทธรูปไปอยู่ที่นั่น
ขอเริ่มต้นจากความเห็นของนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร โดยคณะผู้จัดทำหนังสือเรื่อง "รอยอดีตสกลนคร" จากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่ 7 ขอนแก่น นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี เป็นบรรณาธิการ ผมได้ลอกมาแบบคำต่อคำเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นต้นฉบับ
ภูถ้ำพระนั้นเป็นโบราณสถานของกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่นี้ โดยมีอายุตั้งแต่พุธศตวรรษที่ 16 ลงมา และเป็นพุทธสถานในลัทธิหินยานที่มีการสืบเนื่องมาจนถึงสมัยล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ปราสาท (พระธาตุ)ภูเพ็ก ปราสาทหินองค์ในของพระธาตุเชิงชุม ปราสาทนารายณ์เจงเวง พระธาตุดุม เป็นต้น ที่มีอายุร่วมสมัยกันแต่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู น่าจะแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของศาสนาทั้งสองในเขตพื้นที่ของสกลนครในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถให้ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของศาสนาทั้งสองได้ว่า ในขณะที่ศาสนาพุทธนั้นได้ตั้งหลักปักฐานกระจายอยุ่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดสกลนครอยุ่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 ในสมัยวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้พบหลักฐานอยู่เป็นจำนวนมาก และจากการที่ได้พบศาสนาทั้งสองอยู่ร่วมสมัยเดียวกันนั้นอาจตั้งข้อสมมุติฐานได้ดังนี้
1.ศาสนาทั้งสองได้มีการผสมผสานกันอย่ากลมกลืน หรือ
2.ศาสนาทั้งสองมิได้ผสมผสานกัน แต่แบ่งแยกกันนับถือโดยระดับหัวหน้า (ผู้ปกครอง) จะนับถือศาสนาฮินดูที่เอื้อต่อระบอบเทวราชาตามอย่างอาณาจักรเขมรโบราณ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังคงนับถือศาสนาพุทธอันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของชุมชนต่อไป
สำหรับข้อสมมุติฐานข้างต้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อใดมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง จึงต้องรอผลการศึกษาวิจัยที่อาจมีในอนาคตมาเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้ลองมาดูความเห็นของผม นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา
      ผมคิดว่าในยุคสมัยนั้นผู้คนที่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์จนสามารถใช้ปฏิทินมหาศักราช และขณะเดียวกันก็อ่านออกเขียนได้ คงมีจำนวนไม่กี่คนและท่านเหล่านั้นน่าจะทำงานรับใช้อยู่กับเจ้านายซึ่งเป็นผู้แทนราชสำนักขอมจากเมืองหลวงและมีสำนักงานอยู่ในตัวเมืองสกลนคร หรือไม่ก็ชุมชนใหญ่ๆ ไม่น่าที่จะระหกระเหินไปหลบลี้หนีกายอยู่ตามป่าถิ่นทุรกันดารแบบภูถ้ำพระ ถ้าเปรียบเป็นระบบราชการปัจจุบันบรรดาท่านนักวิชาการที่จบด๊อกเตอร์พูดภาษาฝรั่งฟุตฟิตฟอไฟเป็นน้ำ คงไม่ไปรับราชการอยู่ที่สำนักงาน อบต. หรือโรงเรียนประถมไกลปืนเที่ยง ท่านเหล่านั้นคงนั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำในศาลากลางจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการพิเศษระดับ ซี 8 ให้กับสำนักงานจังหวัด มีลูกน้องสาวๆคอยเสริฟน้ำชากาแฟ
      ท่านพระครูโสมังคลาจารย์ผู้จารึกอักขระขอมและประดิษฐานพระพุทธรูปที่หน้าผาภูถ้ำพระ ย่อมเปรียบเสมือนนักวิชาการระดับซี 8 น่าจะปฏิบัติงานอยู่กับเจ้านายที่ในเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ แต่ท่านเล่นหนีลี้กายมาถิ่นลึกลับกลางป่ากลางดงแบบนี้ ก็น่าที่จะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดู เพราะดูจากช่วงเวลาใน พ.ศ.1609 เป็นรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยอาทิตย์วรมันที่ 2 ต่อเนื่องกับพระเจ้าอาชาวรมันที่ 3 ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู แต่ก่อนหน้านั้น ราว พ.ศ. 1545 - 1593 เป็นยุคของพระเจ้า "สุริยะวรมันที่ 1" กษัตริย์ผู้ถือศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า เรียกว่าเป็นยุคทองของศาสนาพุทธแห่งอาณาจักรขอม ทำให้ราษฏรจำนวนมากหันมานับถือศาสนาพุทธประกอบกับศาสนาพุทธมีรากฐานเดิมจากยุคทวาราวดีอยู่แล้ว ดินแดนแถวหนองหารหลวงจึงเต็มไปด้วยศาสนาพุทธ แต่พอเปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกษัตริย์ฮินดู บรรดาเจ้านายก็ต้องเปลี่ยนสีไปด้วยเข้าสูตรสัจธรรมที่ว่า "เจ้านายเอาอย่างไร พวกกระผมเอาด้วยครับ" นิสัยแบบนี้มีมานมนานตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว.....ไม่ว่ากันครับ ร้อนถึงท่านพระครูโสมังคลาจารย์ท่านคงต้องเลือกเอาระหว่าง "เปลี่ยนสีตามเจ้านาย" หรือ "ยึดมั่นอุดมการณ์เดิม" ท่านคงเลือกเอาอย่างหลังครับ จึงจำเป็นต้องพาผู้คนที่มีศัทธาต่อศาสนาพุทธจำนวนหนึ่งอพยพไปอยู่ในถิ่นไกลตาเจ้านาย และก็มาพบสถานที่ถูกสะเป็กในบริเวณภูถ้ำพระแห่งนี้แหละครับ เรื่องทำนองนี้ก็เกิดขึ้นอีกในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้นับถือศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ผู้นับถือศาสนาฮินดูแบบขวาสุด ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างไม่จบสิ้นแบบนี้แหละโยม
      อนึ่ง พระพุทธรูปหินทราย (ในภาพประกอบ) ที่แกะสลักได้เพียงเค้าโครงนั้น ไม่ทราบว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่ท่านพระครูโสมังคลาจารย์กล่าวถึงหรือไม่ แต่ถ้าเป็นองค์เดียวกันก็แสดงว่าท่านพระครูทำจารึกไว้ล่วงหน้าและสั่งให้ช่างลงมือแกะสลักตามไปแต่อาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นทำให้ช่างทิ้งงานเสียก่อน หากเป็นจริงตามนี้ก็เข้าทางที่ผมให้ความเห็นไว้
      อย่างไรก็ตามการศึกษาย้อนหลังไปในอดีตต้องใช้ดุลพินิจและมุมมองของแต่ละท่าน เพราะไม่มีใครได้เห็นเหตุการณ์จริงด้วยตนเอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเองท่านเหล่านั้นใช้ประสบการณ์และการตีความตามวัตถุพยาน ถ้าขึ้นโรงขึ้นศาลตามกฏหมายไทยทุกท่านจะถูกยกฟ้องหมดเนื่องจากเข้าข่ายคำว่า "พยานคิดเอาเอง" แต่ถ้าเป็นศาลอเมริกันพอสู้ได้ครับเนื่องจากเขาใช้หลักการไต่สวนโดยมีลูกขุนนั่งฟังและให้ความเห็นแบบลงคะแนนโหวต ใครมีข้อมูลน่าเชื่อถือก็ย่อมชนะใจลูกขุน ดังนั้น ความเห็นของผมจึงอาศัยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ปุถุชนมองกลับไปในอดีตว่า "ถ้าผมเป็นท่านพระครูโสมังคลาจารย์ ผมจะทำอย่างไร" เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย แม้ว่าผมจะไม่เคยเรียนหลักสูตรโบราณคดีในมหาวิทยาลัย แต่ผมก็ใช้สามัญสำนักนึกของความเป็นมนุษย์บวกกับข้อมูลที่ปรากฏอยู่แล้วในการวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆที่น่าจะเป็นไปได้ ผมกล้ายืนยันว่าหมื่นปีที่แล้วมนุษย์คิดอย่างไรเดี๋ยวนี้ก็ยังคิดแบบนั้นถ้าเป็นเรื่องของอำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติ หรือท่านว่าไม่จริง !
      การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลครั้งนี้ (วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2555) ผมต้องขอขอบคุณบุคคลสองคน คนแรกคือคุณลุงสวาท นรบุตร อายุ 61 ปี ชาวบ้านหนองสะไน (ยืนซ้ายมือ) เป็นผู้นำทางให้ผมและอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรือฤษีเอก อมตะ (ยืนขวามือ) ไปดูถ้ำที่มีจารึกภาษาขอม

และขอบคุณน้องฟ้า นางสาวรัตติยาภรณ์ คำเกตุ ชาวบ้านหนองสะไน เป็นนักเรียนมัธยมเอกภาษาอังกฤษ โรงเรียนกุดบากพัฒนาศึกษา ที่ช่วยนำทางและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณภูถ้ำพระ ได้แก่น้ำตก และบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนนำไปดื่มเพื่อรักษาโรค  






http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539369423
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้