ป้อมฝรั่งเศส (คุกขี้ไก่)
"ป้อมฝรั่งเศส" (คุกขี้ไก่) “ป้อมฝรั่งเศส” สร้างโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๑ สร้างคราวเดียวกับ "ตึกแดง" และ "สะพานฝรั่งเศส" ที่ "ชายเขตกองทหารฝรั่งเศส" ที่ "ปากน้ำแหลมสิงห์" ใกล้คลองที่สองฝั่งเป็นป่าชายเลนพื้นดินอ่อน เมื่อน้ำขึ้นจะทำให้มีน้ำล้อม ๓ ด้าน ทำให้ผนังด้านติดคลองชำรุดและพังลงไปในน้ำเกือบ ๒ ด้าน ผนังจึงเหลือเพียง ๒ ด้าน ต่อมาได้รับการซ่อมทำผนังที่พังใหม่โดยกรมศิลปากร ทำให้เห็นผนังตัวป้อมเอียงอยู่ ๒ ด้าน จนปัจจุบันนี้
รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ.๒๕๓๙
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ มีความว่า ชื่อโบราณสถาน คุกขี้ไก่ ที่ตั้ง ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี พิกัดแผนที่ ลำดับชุด L๗๐๑๗ ระวาง ๕๔๓๓IV พิกัดกริด ๔๘PSU๘๑๗๘๑๒ ประวัติสังเขป คุกขี้ไก่สร้างขี้นในสมัย ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ โดยชาว "ฝรั่งเศส" สร้างเพื่อใช้ขังคนไทยที่จัดขืนคำสั่ง เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครอง "เมืองจันทบุรี" เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) ไทยกับฝรั่งเศสยกกองทหารเข้าสู่เมืองจันทบุรี รวมทั้งสิ้น ๖๐๐ คนเศษ แยกกันอยู่ ๒ แห่ง ฝ่ายไทยตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีในบริเวณที่เป็น "ค่ายตากสิน" ส่วนฝรั่งเศสรื้อ "ป้อมพิฆาตปัจจามิตร" ริมปากน้ำแหลมสิงห์สร้างตึกแถวที่พักและกองบัญชาการ เรียกว่า "ตึกแดง" และ "คุกขี้ไก่"
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม ลักษณะคล้ายป้อมทรงสูง ไม่มีหลังคาเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร สูงราว ๑๐ เมตร ส่วนฐานมีช่องสี่เหลี่ยมแนวตั้ง ๔ ช่อง และที่มุมอีก ๑ ช่อง เหนือขึ้นไปบริเวณส่วนกลางของผนังทุกด้านจะมีช่องสี่เหลี่ยมแนวตั้งลักษณะเดียวกับส่วนฐาน ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันตก กรมศิลปากรทำการบูรณะใหม่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของจังหวัดจันทบุรี การขึ้นทะเบียน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม ๑๑๓ ตอนพิเศษที่ ๕๐ ง วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ พื้นที่โบราณสถาน ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ป้ายประสัมพันธ์ ที่เคยติดตั้งไว้ที่ป้อมฝรั่งเศส (คุกขี้ไก่) มีความส่วนหนึ่งกล่าวว่า
"สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งเข้ายึดครองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) พร้อมกับการสร้างตึกแดง แต่เดิมเชื่อกันว่าพวกฝรั่งเศสสร้างเป็นป้อม เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ป้อมฝรั่งเศส" โดยฝรั่งเศสจะจับนักโทษขังไว้ในป้อมนี้แล้วเลี้ยงไก่ไว้ข้างบน ให้ไก่ขี้รดหัวนักโทษ จึงเรียกว่า "คุกขี้ไก่"
สภาพความเปลี่ยนแปลงของป้อมฝรั่งเศส (ศรายุ บรรเทาวงษ์)
ป้อมฝรั่งเศส ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เนื่องจากตั้งอยู่ริมคลองที่ริมสองฝั่งคลองเป็นป่าชายเลนเต็มไปด้วยต้นจากและต้นแสม ด้านทิศตะวันออกเป็นคลองเล็ก ๆ ที่แยกมาจากคลองด้านหลังหัวแหลม ข้ามคลองไปมี "สถานีตำรวจภูธร อ.แหลมสิงห์" หลังเก่า (สร้าง พ.ศ.๒๔๕๒ คราวเดียวกับที่ว่าการอำเภอแหลมสิงห์) ด้านทิศเหนือของป้อมฝรั่งเศสเป็นป่าแสม ด้านทิศตะวันตกเป็นบ้านประชาชนและสุขศาลา (สถานีอนามัยแหลมสิงห์) และด้านทิศใต้เป็นสะพานข้ามคลองและป่าแสม มีป้ายเล็ก ๆ ขนาดประมาณ ๑๐ x ๓๐ ซม. เขียนไว้ว่า "ป้อมฝรั่งเศส" ป้อมฝรั่งเศสพัง ต่อมามีการรื้อสะพานข้ามคลองออกสร้างเป็นท่อระบายน้ำแทน เนื่องจากคลองนี้เป็นคลองซึ่งไม่ห่างจากทะเลมากนักจึงมีน้ำขึ้นลงตามการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นประจำทำให้มีการไหลเข้าออกของน้ำตลอดเวลา น้ำที่ออกจากท่อน้ำนั้นพุ่งออกมาแรงกว่าเดิมที่เป็นสะพาน แรงน้ำได้พัดตลิ่งคลองข้างป้อมฝรั่งเศสที่เป็นดินเลนหายไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำถึงตัวป้อมฝรั่งเศส และทำให้ป้อมฝรั่งเศสเอียง ต่อมาผนังป้อมด้านทิศตะวันออกทิังหมดและด้านทิศใต้ครึ่งหนึ่งจึงพังลง หลังการซ่อมแซมบูรณะแล้วจึงเห็นด้านเหนือและด้านตะวันตกของป้อมฝรั่งเศสเอียงอยู่เหมือนตอนที่ก่อนพัง ส่วนด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออกนั้นเห็นตั้งตรง ถมคลองริมป้อม ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ สถานีตำรวจภูธร อ.แหลมสิงห์เก่าถูกย้ายไปสร้างในหมู่ที่ ๒ ห่างไปประมาณ ๑ กม. ต่อมาพื้นที่นี้ได้ถูกถมสร้างเป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแหลมสิงห์ (ที่มาตั้งแทนในพื้นที่ของที่ว่าการอำเภอแหลมสิงห์ที่ย้ายออกไปตั้งที่หมู่ที่ ๒ ในปัจจุบัน) คลองจึงถูกถมไปด้วย
บูรณะป้อมฝรั่งเศส มีการบูรณะป้อมฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ตำนานป้อมฝรั่งเศส ที่มาของคำว่า "คุกขี้ไก่" (ศรายุ บรรเทาวงษ์) ในอดีต เนื่องจากบริเวณนี้เป็นป่าชายเลนและเป็นแหล่งน้ำมากมายเกรงจะเป็นอันตรายต่อการเล่นซุกซนของเด็ก ๆ บรรดาผู้ใหญ่ในบริเวณบ้านปากน้ำแหลมสิงห์ ได้ใช้กุศโลบายกุเอาเรื่องป้อมฝรั่งเศสแห่งนี้ว่าเป็น "คุก" โดยหลอกเด็ก ๆ ว่าเป็นคุกที่เลี้ยงไก่ไว้ข้างบน "หากเด็ก ๆ ดื้อหรือเที่ยวเล่นซุกซน ก็จะจับไปขังในคุกขี้ไก่ให้ไก่ขี้รดหัว" จากตำนานนี้ทำให้ชาวบ้านเรียก "ป้อมฝรั่งเศส" นี้ว่า "คุกขี้ไก่"
ฺ"ป้อมฝรั่งเศส" ไม่ใช่คุก
เมื่อคราวที่เกิด "วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" "ฝรั่งเศส" เข้ายึด "เืมืองจันทบุรี" เป็นเมืองประกันนั้น "ฝรั่งเศส" และ "สยาม" ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวทางด้านการปกครองซึ่งกันและกัน ใน "จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี" ของ "หลวงสาครคชเขต" (ประทวน สาคริกกานนท์) กล่าวไว้ว่า
"การปกครองฝ่ายสยามในสมัยที่ฝรั่งเศสตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรีนั้น ต่างฝ่ายก็ปกครองไปคนละอย่าง คือฝรั่งเศสปกครองแต่ส่วนกองทหารและบุคคลที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขา หาได้มาเกี่ยวข้องด้วยการปกครองบ้านเมืองของฝ่ายเราประการใดไม่"
ที่มา: http://www.chanthaburitoday.com
|