ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7334
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปราสาทวัดพู

[คัดลอกลิงก์]

วัดพู... มรดกโลกนอกแผ่นดินกัมพูชา


จำปาสัก
บุญมนัสการวัดพู : ลักษณาการทางวัฒนธรรมที่ผี พราหมณ์ และพุทธอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์
       วัดพู คือที่ตั้งของศาสนาสถานฮินดูในเขตลาวตอนล่าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ แขวงจำปาสัก สปป.ลาวห่าง จากเมืองปากเซลงไปทางใต้ ตามถนนหมายเลข ๑๓ หรือตามเส้นทางน้ำโขงประมาณ ๔๐ กิโลเมตรเศษ วัดแห่งนี้ เป็นวัดหนึ่งในศาสนาสถานที่สำคัญที่สุด ของสปป.ลาว มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล และยังคงสามารถดำรงบทบาท ในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เหนี่ยวรั้ง และเกี่ยวสัมพันธ์ของผู้คน ไว้ด้วยกันอย่างมีนัยสำคัญ มีภูมิทัศน์ที่ผสานกับลักษณะการทางวัฒนธรรม ที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะลักษณะร่วมของประชาชนกับศาสนสถาน ที่ปรากฏในงานบุญมนัสการวัดพู ที่มีขึ้นทุกปีในเดือน ๓ เพ็ง หรือวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือวันมาฆบูชา
      
สันนิษฐานว่าคำว่า วัดพู น่าจะเป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยชาวจำปาสัก เมื่อครั้งพุทธศาสนา เข้ามาใช้สถานที่ศาสนาฮินดู บนที่ราบตีนเขาและเชิงเขาภูเกล้า เป็นพุทธสถาน ซึ่งมีพระสงฆ์ขึ้นมาพำนัก เพื่อวิปัสสนากรรมฐาน หรือประกอบศาสนกิจบนพื้นที่บริเวณ ปราสาทหิน และได้สร้างพระพุทธรูปดินเผา ตบแต่งผิวนอกด้วยปูนโบราณ ตั้งซ้อนอยู่ในตัวอาคารบวงสรวงศิวเทพ ซึ่งเป็นอาคารประธาน ของปราสาทหินบนภู เสมือนจงใจจะใช้ตัวอาคารปราสาทหิน แทนอาคารสิมหรือโบสถ์ นอกจากนั้น ยังสร้างพระพุทธรูป ไว้ตามลานหินบนเขาหลายองค์ รวมทั้งสร้างหอแจกและกุฎิพระสงฆ์ ในระยะต่อมา บริเวณแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า วัดพู เพราะเป็นวัด ในพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่บนเขา ต่างแต่ว่า เป็นวัดที่ซ้อนประสาน อยู่ในสถาปัตยกรรมของฮินดูโบราณ ที่หมดบทบาทเชิงไศวนิกายไป จากดินแดนแถบนี้แล้ว
       นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่บนภูเขาระดับชั้น ที่มีการสร้างอาคารบวงสรวงศิวเทพ ปราสาทหินด้านทิศตะวันตก ยังมีภาพสลักหินรูปจระเข้ เป็นการสลักหินแบบร่องลึก ที่สามารถจับจระเข้ตัวจริง ไปอัดขังอยู่ในร่องรอยรูปนั้น และฆ่าเพื่อบวงสรวงพิธีกรรมได้ บางคนสันนิษฐานว่า ร่องลึกรูปจระเข้ยังสามารถบังคับคนเข้าไปอยู่ในร่องนั้น ก่อนจะถูกฆ่าสังเวยอะไรบางอย่าง นอกจากนั้น ยังมีภาพสลักรูปหัวช้าง โดยดัดแปลงเสริมแต่ง จากรูปทรงของโขดหินที่ตั้งตระหง่านอยู่แล้ว ปัจุบันช้างสลักตัวนี้ ยังเป็นที่เคารพกราบไหว้ เชิงความเชื่อเหนือเหตุผล ด้วยการนำเอาหญ้าให้ช้างหิน เป็นการบูชาและยังมีแท่นหินสลักรูปอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์ ปัจุบันยังมีความเชื่อทีสืบทอดกันมาว่า บริเวณพื้นที่วัดพู ซึ่งหมายความรวมถึงภูเขาทั้งหมด คือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่สิงสถิตของผีบรรพชน ชาวเมืองจำปาสัก จึงมีพิธีเลี้ยงผีเจ้าถิ่นทุดปีในเดือน ๖ และเชิญบรรดาผีทั้งหลาย มาเสี่ยงทายขอความสุขุมร่มเย็น ให้บังเกิดแก่ชาวเมืองจำปาสัก โดยถือเป็นหน้าที่ของ เจ้าผู้ครองเมืองจำปาสัก เป็นผู้นำประกอบพิธี ในสมัยเจ้าบุญอุ้ม ณ. จำปาสัก มีอำนาจและมีบทบาทต่อประเทศลาว ท่านจะเป็นผู้นำการเลี้ยงผี ที่เชิงเขาบริเวณปราสาทหินวัดพูเป็นประจำทุกปี
       จึงน่าจะกล่าวได้ว่าภูฯ นี้ เป็นสถานที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ระหว่างผี พราหมณ์และพุทธศาสนา

จอมเกล้าและน้ำเที่ยงเพิงหินที่มาของความเชื่อและการตั้งชุมชน
       ลักษณะทางกายภาพ และภูมิสัณฐานของภูเกล้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างแม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันตก ๖ กิโลเมตร ที่เรียกว่าภูเกล้า มีธรรมชาติที่ถูกเชื่อมโยง และตีความไปสู่ความเชื่อทางศาสนาพรามณ์ลัทธิไศวนิกาย กลายมาสู่การสร้างเมืองและปราสาทหินดังกล่าว

ภูเกล้าหรือลึงคบรรพต
       คำว่า ภูเกล้า เป็นคำที่ชาวลาวลุ่มเรียก ภูเขาที่มีสัณฐานส่วนยอดมีรูปทรงของ การเกล้ามวยผมไว้เป็นกระจุกบนศรีษะ จึงถูกเรียกว่า ภูเกล้า ตราบจนปัจุบัน แต่สำหรับอารยธรรมเขมร ที่มาสร้างเมืองและสร้างปราสาทหินเรียกเขาลูกนี้ว่า ลึงคบรรพต ด้วยลักษณะพิเศษของภูเขา ที่นอกจากจะมีส่วนยอดเป็นปุ่มจอมขนาดใหญ่ มองเห็นเหมือนจอมปลวกที่ตั้งอยู่บนยอดภู แล้ว ยนส่วนยอดของปุ่มใหญ่นั้น จะเป็นลานกว้าง ที่ส่วนกลางของลานหินมีแท่งหินธรรมชาติขาดใหญ่สูง ๑๑ เมตร งอกขึ้นมาจากลานหิน ตั้งกตะหง่านติดเป็นเนื้อเดียวกันกับฐานพื้นแท่งหินหรือจอมๆ นี้มีรูปทรงเป็นแท่งกลม ส่วนยอดสุดโค้งแหลมนิดหน่อยชาว ลาวลุ่มเรียกว่า จอมเกล้า แต่สำหรับอารยธรรมขอมเรียกสิ่งเดียวกันนี้ว่า ลึงคะปาระวะตะ ซึงเป็นที่มาของลึงคบรรพตหรือภูเขาแห่งศิวลึงค์ เมื่อผสานรวมกันกับเบื้องหน้าด้านทิศตะวันออก ของลึงคบรรพตมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน จึงถูกตีความว่าเป็นท้องมหาสมุทรอันไพศาล เสริมความเชื่อว่า บริเวณลึงคบรรพตแห่งนี้ เป็นอีกสถานที่สิงสถิตของพระศิวะ และได้กลายเป็นสถานที่เคารพสักการะของ ผู้นัถือศาสนาฮินดูโดยทั่วไป จนส่งผลต่อการสร้างเมืองและสร้างปราสาทหินขึ้น
      
จอมเกล้า หรือ ลึงคะปาระวะตะ เป็นจุดสูงสุดของภูเกล้าทั้งหมด มีความสูงที่ ๑,๔๑๖ เมตร จากระดับน้ำทะเล มองเห็นได้ก็ต่อเมื่ออยู่ระยะห่างไกลจากเขา เช่น การมองขณะอยู่บนแผ่นดินฝั่งโขง ด้านซ้ายหรือบนแพขนานยนต์ ขณะข้ามกำลังเข้ามแม่น้ำโขง หรือบนถนน จากท่าบักบ้านพะพีนไปยังเมืองจำปาสัก แต่เมื่อเข้าไปใกล้เขตวัดพูแล้วจะมองไม่เห็น ด้วยระยะใกล้ทำให้มุมมองแคบลง ลึงคะปาวะระตะซึ่งเป็นยอดแหลมเล็ก เมื่อเปรี่ยบเทียบกับจอมเกล้าทั้งหมด จึงถูกบดบังมองเห็นได้เพียงส่วนฐานที่มีลักษณะ คล้ายเกล้ามวยผม ซึ่งมีความเชื่อสืบมาแต่โบราณว่า หากใครก็ตาม ได้ขึ้นไปสัมผัสกับลึงคะปาระวะตะบนจอมเก้าได้ จะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั้งปวง

ปราสาทหินวัดพูในฐานะฮินดูสถานลัทธิไศวนิกาย
       จากความเป็นมาของผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัย และสร้างศาสนสถาน อันสอดผสานไปกับสภาพภูมิประเทศ ทั้งในส่วนของภูเขาที่ราบและแม่น้ำโขง ซึ่งในส่วนของปราสาทหินวัดพู เป็นที่รู้จักกันดีของนักโบราณคดีทั่วโลก ว่ากลุ่มปราสาทหินวัดพู ถือเป็นต้นแบบสำคัญด้านสถาปัตยกรรม ของยุคสมัยอังกอร์วัด ประเทศกัมพูชา ผลจากการศึกษาค้นคว้าพบว่า กลุ่มโบราณสถานเขตวัฒนธรรมบริเวณที่ราบลุ่มจำปาสัก มีจอมเกล้าเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วขยายออกไปสู่ด้านทิศตะวันตกของสายภู และทิศตะวันออกจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง
       ก่อนหน้านี้ผู้คนทั่วไปต่างเข้าใจว่า กลุ่มสถานโบราณดังกล่าว มีเพียงปราสาทหินเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในกลุ่มปราสาทหินวัดพูหลายอย่าง เช่น ร่องส่งน้ำเชื่อมต่อจากผาหินสู่ตัวปราสาท อาบสรวงศิวลึงค์แล้วไหลไป สู่ผู้คนที่รอรับน้ำไปใช้ เป็นสิริมงคล ก่อนที่จะไหลไปลงรวมกับแม่น้ำโขง ตามลำห้วยสายเล็ก ห้วยแห่งนี้มีชื่อว่า ห้วยสระหัว เพราะผู้คนใช้น้ำที่ผ่านการไหลอาบศิวลึงค์ มาอาบและสระผมตนเองเพื่อเป็นมงคล และยังมีถนนเชื่อมต่อไปยังอังกอร์วัด เขตที่ตั้งชุมชนโบราณ แผนผังเมืองเก่าเสดถาปุระ มีอายุในยุคอังกอร์วัด ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๒,๕๐๐ ไร่เศษ และมีที่ตั้งชุมชนโบราณสมัยอังกอร์วัด อยู่ทางทิศใต้ของวัดพูอีกด้วย
       ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของปราสาทหินวัดพู ที่แตกต่างจากปราสาทหินหลังอื่น ในสายวัฒนธรรมเขมรก็คือ สถาปนิกผู้ออกแบบก่อสร้างปราสาทหินหลังนี้ ได้ใช้ภูมิปัญญาการจัดวางส่วนประกอบต่างๆ อย่างสอดผสานผสมกลมกลืน ไปกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของภูเกล้า อีกทั้งสามารถตีความสู่มิติด้านความเชื่อทางศาสนา ด้วยการวางผังสิ่งก่อสร้างทั้งหมด ของกลุ่มปราสาท ที่อยู่อาศัยของชุมชน และการปกครองอาณาจักร โดยถือเอาจอมภูเกล้าเป็นแกนกลาง บนพื้นฐานความเชื่อว่าภูเกล้า เป็นสถานทีสิงสถิตของศิวเทพ และแม่น้ำโขงเบื้องหน้า ด้านทิศตะวันออกก็เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งมหาสมุทรที่ล้อมรอบ
       สภาพของภูเขาที่มีจอมภูรูปศิวลึง และมีแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงเบื้องหน้า มีทุ่งเพียงหรือพื้นราบอยู่ส่วนกลาง จึงสามารถตอบสนองได้ทั้งเงื่อนไข ที่อยู่อาศัยอุดม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไปพร้อมกันชาวเมืองโบราณ จึงเมือนได้อยู่อาศัย ภายใต้ร่มเงาและใกล้ชิดศิวเทพอย่างผาสุกกว่าถิ่นใด
       เมืองโบราณเก่าแก่ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านทิศตะวันอกสุด ของปราสาทหินวัดพู เมืองนี้ถูกสร้างขึ้น ในยุคก่อนสมัยอังกอร์วัด มีหลักฐานซึ่งบ่ง คือโครงสร้างดินเผาจำนวนมากมาย มีกำแพงเมืองซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน จากภาพถ่ายทางอากาศ อาณาเขตเมืองโบราณดังกล่าว กินเนื้อที่ประมาณ ๓.๖ ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงดิน ๒ ชั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองนี้อาจจะถูกสร้างขึ้น เมื่อปลายศริสต์ศตวรรษที่ ๕ ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งของ กษัตริย์ผู้ทรงพระนามว่า เทวะนิกะ ค้นพบที่บริเวณบ้านพะนอนเหนือในปัจุบัน ในพื้นที่เดี่ยวกันนั้น ยังได้พบศิลาจารึกอีก ๒ แผ่น เป็นหลักฐานบ่งบอกว่า นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา ดินแดนแห่งนี้เป็นนครหลวงของแผ่นดิน พระเจ้ามะเหทะระวรมัน ซึ่งต่อมาพระองค์ ได้ย้ายไปปกครองอขตซำปอไปรกุก อยู่ห่างจากวัดพูไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๒๔๐ กิโลเมตร
       นักค้นคว้าหลายท่าน ให้การสันนิษฐานว่า นครโบราณแห่งนี้คือ
นครเสดถาปุระ ซึ่งได้เสียบทบาท ความสำคัญ การเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เพราะว่าบรรดาราชวงค์ได้ขยายอำนาจลงไปทางทิศใต้ และทำการปกครอง กลุ่มดินแดนของพวกขอมทั้งหมด จากนั้นจึงได้ตั้งอังกอร์วัดขึ้นเป็นนครหลวง
       กระนั้นบรรดาผู้นำขอมในยุคสมัยต่างๆ ต่อมาก็ได้ลืมรากเหง้าถิ่นกำเนิดของตน ดังปรากฏทุกรัชกาล ของกษัตริย์ขอม จนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์องค์สุดท้าย) ปราสาทหินแห่งนี้ ก็ได้รับการพระราชทานทรัพย์ และส่งช่างมาบำรุงรักษา ต่อเติมปราสาทหินอย่างเป็นปกติอีกด้วย จนพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลแทนศาสนาฮินดู ทั้งใน ดินแดนเขมรและลาวส่วนนี้ ปราสาทหินวัดพูจึงเปลี่ยนบทบาท จากฮินดูสถานกลายสภาพเป็นพุทธสถาน ถูกใช้เป็นศาสนาคารแห่ง พุทธศาสนาสืบต่อมาจนปัจุบัน โดยเฉพาะในตัวปราสาท ที่พุทธศาสนิกชนได้สร้างพระพุทธรูปไว้ด้าน ในแทนศิวลึงค์ เสมือนจะเป็น พุทธอุโบสถ และมีพระสงฆ์ปฎิบัติธรรมอยู่บนภูด้วย บริเวณนี้ทั้งหมดจึงถูกเรียกว่า วัดพู เพราะเป็นวัดทีตั้งอยู่บนภู คือ ภูเกล้านั่นเอง
       ท่านบุญฮ่ม จันทะมาด กับท่านเวียงแก้ว สุกสะหวัดดี (๒๐๐๐.๒๘) ได้กล่าวถึงปราสาทหินวัดพู ในงานเขียนชื่อ ไขความลึกลับเก่าแก่ของวัดพูจำปาสัก ว่า จากหลักฐานทางศิลาจารึก เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๕-๖ ได้กล่าวถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนภูว่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกับเมืองโบราณ แต่ว่าเทวสถานได้พังทลายไปหมดแล้ว ต่อมาจึงได้มีการสร้างเทวสถานขนาดใหญ่ ทับใส่เทวสถานเดิม และมีการต่อเติมเสริมแต่งมาเรื่อยๆ จึงกล่าวได้ว่า ช่วงระยะการสร้างปราสาทหินวัดพู คือระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๓-๑๓ จนครั้งหลังสุด คือปราสาทหินวัดพูที่ยังคงเหลือให้เห็นทุกวันนี้
       กลุ่มปราสาทหินวัดพู ได้รับการออกแบบแผนผังบนเส้นแกนตะวันออกตะวันตก จากพื้นราบตัดขึ้นไปตามเชิงภูจนถึงพักชั้นบนสุดมีความสูง ๖๐๗ เมตรจากรระดับน้ำทะเล เป็นที่ตั้งขององค์ปราสาทประธาน และหน้าผาหินทราย ที่มีน้ำไหลรินอยู่ทุกฤดูกาล จึงเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตราบปัจุบัน
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-9 13:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อเดินมุ่งหน้าจากจุดเริ่มต้น ด้านทิศตะวันออกไปยังปราสาทองค์ประธานชั้นบนสุด สิ่งแรกที่พบ คือ สระน้ำขนาดใหญ่ ขอบสระก่อด้วยศิลาทราย กว้าง ๒๐๐ เมตร ยาว ๖๐๐ เมตร วางตัวในแนวยาว ตามทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นสถานที่พักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และเป็นสระกักเก็บน้ำให้ประโยชน์ได้จนถึงปัจุบัน ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู หมายถึง มหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก ถัดจากขอบสระด้านทิศตะวันตก ก่อนถึงทางเดินขึ้นสุ่ปราสาท ได้มีการสร้างศาลารับเสด็จบนฐานหินเดิม สร้างเพื่อรับเสด็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ กับ พ.ศ.๒๕๑๑ รวมทั้งไว้ต้อนรับเจ้านายชั้นสูง เมื่อมาทำบุญวัดพู ปัจุบันชำรุดมาก จากนั้น จะเป็นทางเดินขึ้นไปตามทางเดินเท้า ระยะทาง ๒๘๐ เมตร ปูพื้นด้วยศิลาทราย ขอบทางเดินตั้งเสานางเรียง ๒ ฟาก เป็นเสาหิน มีสระน้ำขนาดเล็ก ไม่มีน้ำขังขนาบข้าง ทางเดินโบราณนี้ เชื่อว่าสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ทางเดินดังกล่าวมีไปจนถึงชั้นพักที่ ๑ คือที่ตั้งของปราสาท ๒ หลัง มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยหินทราย มีการแกะสลักที่หน้าบัน และลวดลายตามเปลือกผิวหิน มีบริเวณว่างใช้สอยด้านใน ยังไม่ประจักษ์ว่า อาคารทั้งสองหลัง ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือเป็นที่พักของกษัตริย์หรือประชาชน แต่ชาวบ้านพากัน เรียกว่า โรงท้าว กับ โรงนาง อันหมายความถึง ที่ปะทับของพระอิศวร สำหรับโรงท้าว กับที่ประทับของมเหสีพระอิศวร สำหรับโรงนาง ซึ่งเชื่อว่าสร้างในคริสต์ศวรรษที่ ๑๑ สำหรับลวดลายแกะสลักบนผิวหน้า ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมชุดนี้ ยังไม่ประณีตนัก
      
ถัดจากโรงท้าวโรงนาง เป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหินทั้งสองฟาก มีโครงสร้างหลังคาไปสู่บันไดขั้นแรก ที่จะขึ้นไปสู่ปราสาทประธาน แต่ปัจุบันหลังคาพังทลายไปหมดแล้ว ส่วนด้านใต้ของทางเดิน ช่วงระยะนี้มีร่องรอย ของหอไหว้หลังหนึ่ง ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ เรียกว่า โฮง งัวอุสุพะลาด หรือ งัวนันทึน ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ และเริ่มจากโรงวัวแห่งนี้ มีเส้นทางโบราณไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านธาตุ มุ่งตรงไปยังนครวัด ประเทศกัมพูชา

       จากนั้นเป็นบันไดหินขึ้นสู่ปราสาทแบ่งเป็น ๔ ช่วง มีลักษณะเป็นบันไดนาค ๒ ข้าง ปรับเป็นชั้นบันไดใหญ่ บางช่วงมีกองอิฐของปราสาทเก่า และชั้นกำแพงหินป้องกันดินทรุดเป็นระยะๆต่อไป
      
ชั้นบันไดพักแรก ที่เชื่อมต่อระหว่าง ระเบียงพักอีกแห่งหนึ่ง จะมีกำแพงกั้นดินทรุดตัว ด้วยหินทราย และชั้นบันไดพักที่สองมีซุ้มประตูโขง (สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒) ปัจุบันพังไปแล้วเช่นกัน มีส่วนเหลือให้เห็นคือ รูปของทวารบาล หรือผู้รักษาประตูด้านทิศเหนือ ในสภาพ มือขวากุมไม้เท้า มือซ้ายแนบหน้าอก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทเบื้องบน แต่คนทั่วไป กลับตีความว่าเป็นภาพพระยากำมะทา ผู้ควบคุมการก่อสร้างวัดพู กำลังทุบอกตนเอง ด้วยเสียใจที่การก่อสร้างวัดพูแล้ว เสร็จที่หลังการก่อสร้างพระธาตุพนม
       ถัดจากบันไดที่ ๒ ขึ้นไป เป็นทางเดินอีกแห่ง สร้างด้วยแผ่นหินทราย ที่มีความชันตามแนวลาดของภูเขา นำไปสู่ บันไดขั้นที่ ๓ บันไดขั้นนี้ ได้เชื่อมต่อกับระเบียงพักสุดท้าย ถึงบันไดขึ้นสู่ระเบียงพักบนสุด เป็นที่ตั้งของปราสาทหลังประธาน ซึ่งสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑
       ด้านใต้ของปราสาทประธานมีอาคารหลังเล็กเรียก หอไตรธิบรรณาลัย ด้านตะวันตก กั้นด้วยกำแพงกมมะเลียน สร้างไว้บนลานหินธรรมชาติ มีประตู ๒ ด้านเชื่อมต่อบริเวณ น้ำเที่ยง ที่เชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์ น้ำดังกล่าวรินไหลลงมาจากชะโง่นผาหินด้านหลังปราสาท นอกจากนี้ โขดหินด้านหลังปราสาทหลังประธาน ยังมีรูปแกะสลักนูนสูงตรีมูรติ หรือรูปเทพเจ้า ๓ องค์ แห่งศาสนาฮินดู มีพระศิวเทพอยู่กลาง พระพรหมอยู่ด้านขวา ส่วนพระวิษณุอยู่ด้านซ้าย
       สำหรับปราสาทองค์ประธาน ประกอบด้วยพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ฝาผนังส่วนด้านหน้าห้องโถง ก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้า ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐาน ศิวลึงค์ มีน้ำศักดิ์สิทธื จากเพิงผาหินน้ำเที่ยง ไหลตามร่องหิน เข้าสู่ปราสาท ทางด้านหลังไหลเข้ามาอาบรดศิวลึงค์อยุ่ตลอดเวลา แล้วไหลตามร่องน้ำออกมาทางผนังด้านเหนือ
       ดังนั้น ลักษณะพิเศษของปราสาทวัดพู คือ การสรงน้ำศิวลึงค์อยู่ตลอดเวลา ด้วยสายน้ำเที่ยงที่ไหลรินอยู่ ชั่วนาตาปี แล้วจึงไหลออกมาให้ประชาชน ได้ใช้เพื่อสิริมงคล ซึ่งมีเฉพาะปราสาทหินวัดพูเท่านั้น จึงเป็นภูมิปัญญาในการวิเคราะห์ เลือกสถานที่และการออกแบบก่อสร้าง ระหว่างความเชื่อและภูมิทัศน์ได้อย่างน่าพิศวง
       ในส่วนของเปลือกผิวอาคาร มีการแกะสลักขอบประตู เป็นรูปทวารบาลและภาพนางอัปสร บนซุ้มประตู ทางเข้าแต่ละช่อง พื้นที่สีหน้าและทับหลัง แกะสลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระกฤษณะ พระอินทร์ พระวิษณุ พระศิวะ พระฤาษี และเนื้อเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ด้วยทักษะเชิงช่างชั้นสุงและฝีมือ ที่วิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ

       รูปแกะสลักที่โดดเด่นที่สุด คือ
รูปแกะสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บนทับหลัง ส่วนกลางของปราสาท ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร
       การก่อสร้างปราสาทหินดังกล่าว จะมีช่างที่เกี่ยวข้อง ๓ กลุ่มใหญ่ คือ สถาปนิก วิศวกร และช่างแกะสลัก กลุ่มวิศกรมีหน้าที่สลักหิน และวางหินเรียงตามแบบแปลนของสถาปนิก ส่วนความงดงาม เป็นหน้าที่ของช่างศิลป์ ที่เข้ามาดำเนินการแกะสลัก ภายหลังโครงสร้างก้อนหินถูกจัดวางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ช่างศิลป์จึงต้องมีฝีมือในระดับที่เชื่อมั่นได้ เพราะจะผิดพลาด และนำเอาหินก้อนใหม่ไปเปลี่ยนแทน ไม่ได้นั่นเอง

       ปัจจุบันฝ่ายพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ องค์การยูเนสโก ร่วมกับอำนาจการปกครอง และประชาชนท้องถิ่น กำลัง นำเสนอกลุ่มสถานโบราณวัดพูจำปาสัก เข้าเป็นมรดกโลก ซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งบริเวณที่ราบลุ่มจำปาสัก สายภูเกล้า ไปจนถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงบริเวณ อุบมุงห้วยโต๊ะโม๊ะ บริเวณริมห้วยโต๊ะโม๊ะปากแม่น้ำโขง เขตเมืองปะทุมพอน เป็นอาณาบริเวณของ เขตมรดกโลกกลุ่มโบราณสถานวัดพู และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ได้พยายามที่จะทำการอนุรักษ์ กลุ่มปราสาทและโบราณสถานวัดพู ให้คงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นมรดกแก่ชาวลาวและชาวโลก ต่อไป

ปราสาทหินวัดพูในมิติทางพุทธศาสนา
       กล่าวสำหรับปราสาทหินวัดพู ในมิติทางพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนา ได้เข้ามาเป็นความเชื่อหลักของเจ้าของพื้นที่ แทนศาสนาฮินดู ได้อาศัยโครงสร้างทางพิธีกรรม และสถาปัตยกรรมของศาสนาฮินดู แล้วปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางพิธีกรรม แทนที่ศิวลึงค์ในปราสาทองค์ประธาน ให้เป็นพระพุทธรูปและเรียกบริเวณนี้ทั้งหมดว่า วัดพู รวมทั้งดำเนินงาน นมัสการตัวปราสาทพระพุทธรูปและสถานที่ทั้งหมดของอาณาบริเวณ ซึ่งแม้จะเป็นพิธีกรรมนมัสการวัดพู บนฐานพิธีของพุทธศาสนา ก็ยังคงมองเห็นถึงพิธีกรรม ในส่วนของความเชื่อ ประเภทอ้อนวอนร้องขอ ตามแบบอย่างศาสนาฮินดูไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในคืนขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันจุดธูปเทียนนมัสการ
      
การทำบุญของชาวพุทธเพื่อนมัสการวัดพู กำหนดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน หรือชาวลาวลุ่มเรียกว่า เดือน ๓ เพ็ง ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา จัดเป็นงานบุญที่ใหญ่ที่สุด ของ ๔ แขวงลาวภาคใต้ คือ จำปาสัก สาละวัน อัตตะปือ และเซกอ และถือเป็นงานหลัก เป็นพิธีด้านพุทธศาสนาของ สปป.ลาว เช่นกันกับงานนมัสการพระธาตุหลวง กำแพงนครเวียงจันทน์ และงานนมัสการพระธาตุอิงฮัง แขวงสะวันนะเขต
      
งานบุญนมัสการวัดพู จะมีพิธีสำคัญ ๒ วัน คือ ช่วงเย็นถึงค่ำคืนของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันจุดธูปเทียนไหว้บูชาวัดพูและพระพุทธรูป และเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันตักบาตรพระสงฆ์ ในช่วงระยะหลัง ทางแขวงจำปาสักได้เข้ามาร่วมเป็นผู้ดำเนินการจัดงาน โดยให้ถือเป็นงานประเพณีของทางแขวงด้วย จึงมักจะเริ่มงานก่อนหน้าวันมาฆบูชา ๒-๓ วัน และเพิ่มเติมกิจกรรม ด้วยปราสาทด้านทิศใต้ สระน้ำในขณะที่บริเวณสระน้ำโบราณยังมีการแข่งเรือด้วย
       การเริ่มงานก่อนหน้าวันมาฆบุชา มีส่วนดีต่อการเดินทางมาร่วมงานของคนต่างถิ่น ทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาส เป็นการเดินทางมาเพื่อแสวงบุญจริงๆ ในขณะเดียวกัน เจ้าของถิ่นคือ ชุมชนที่อยู่ในละแวกเมืองจำปาสัก เช่น บ้านไฮ บ้านห้วยสระหัว บ้านวัดหลวงเก่า บ้านหนองเวียน บ้านโพนงาม ฯลฯ และชุมชนต่างๆ บนดอนแดง เรือนชานของพวกเขาได้กลายเป็นสถานที่ ต้อนรับพุทธศาสนิกชน ที่เดินทางทะลักมาจากทุกสารทิศ ให้พักอาศัยอย่างเต็มใจและไมตรี
       สำหรับงานไหว้นมัสการวัดพูประจำปี ๒๕๔๔ ที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตการณ์ แบบมีส่วนร่วม โดยมีท่านอุดมสี แก้วสักสิด รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วัดพู เป็นผู้นำตรงกับวันที่ ๗-๘ กุมภาพันธ์ งานดังกล่าวจะเริ่มต้นอย่างเป็นพิธีการในช่วงบ่ายคล้อย ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ในวันนี้จะมีผู้คนจำนวนมาก เดินทางสู่เมืองจำปาสัก ด้วยขบวนรถเหมา รถรับจ้าง รถโดยสาร และรถส่วนตัว ขณะที่ผู้คนส่วนหนึ่ง ก็เดินทางด้วยเรือโดยสาร ทั้งที่มาจากปากเซและมาจากบริเวณสี่พันดอน จนกล่าวได้ว่าในวันนั้น การจราจรทั้งทางน้ำและทางบก ต่างมุ่งมาสู่เมืองจำปาสัก เพื่อจะเดินทางต่อ ไปยังเนินเขาภูเกล้า ที่ประดิษฐานปราสาท ซึ่งอยู่ห่างจาก เทศบาลเมืองจำปาสักประมาณ ๖ กิโลเมตร

แหล่งที่มา : บทความและภาพจากศิลปะวัฒนธรรม อาณาจักรเจนละ ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ รองศาสตราจารย์ ดร. ธิดา สาระยา
                                                                       
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-9 13:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้




เที่ยวลาวในวันนี้  เราพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หาดูได้ยากอีกหนึ่งแห่งของลาวครับ หรือจะบอกว่าเป็นมรดกโลกอีกแห่งของลาวใต้เลยก็ว่าได้ครับ จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้อยู่ที่ “ปราสาทวัดพู” เมืองจำปาสักครับ


ปราสาทวัดพู ถือเป็นโบราณสถานในประเทศลาว ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว ตั้งอยู่บนเนินเขาภู หรือเรียกกันว่าภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร  ซึ่งได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO ว่าเป็นสถานที่เมืองมรดกโลก


ในอดีตที่ตั้งของวัดพู นั้นเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแห่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกันนั่นเองครับ คือ อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6 – 8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหินในราวศตวรรษที่ 9 และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั่นเองครับ


เมื่อย่างเท้าเข้าสู่บริเวณของปราสาท สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาแก่ผู้พบเห็นก็คือภูเขาด้านหลังปราสาทที่ตั้งเด่นตระหง่านมองเห็นแต่ไกล  รูปร่างคล้ายนมของผู้หญิงและคนเกล้ามวยผม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูผาแห่งนี้ว่าเขานมสาว นั่นเองครับ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกภูเกล้ามากกว่า


อาณาเขตของปราสาทวัดภู เริ่มต้นจากริมฝั่งแม่น้ำโดยมีบันไดทางขึ้นรถหลั่นกันขึ้นมา 3 ชั้น จนถึงองค์ประธานของปราสาทซึ่งอยู่ชั้นบนสุด นอกเขตวัดมีบารายขนาดใหญ่ ซึ่งในสมัยโบราณใช้เป็นที่แข่งเรือและที่สรงน้ำสำหรับพิธีกรรมต่างๆนั่นเอง






ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งครับ


ส่วนไฮไลท์ของการท่องเที่ยวปราสาทวัดพูแห่งนี้อยูที่  งานประเพณีประจำปีที่เรียกว่า "งานประจำปีวัดภู"  นั่นเองครับสำหรับงานบุญประเพณีของวัดพูเป็นเทศกาลที่โด่งดัง และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งจะจัดติดต่อกัน 3 วัน โดยประชาชนชาวลาวจากทั่วทุกแขวงจะเดินทางนำสิ่งของมาบวงสรวงบูชาตามจุดต่างๆ ในบริเวณองค์ประธาน สำหรับในวันสุดท้ายจะมีพระสงฆ์ออกมาบิณฑบาต พอตกค่ำจะมีพิธีเวียนเทียนไปรอบๆปรางค์ประธานนั่นเองครับ ถือว่าเป็นอีหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่หาดูได้ยากอีกแห่งครับ








ขอบคุณข้อมูลการท่องเที่ยวจาก hotsia.com ครับ
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-9 13:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถัดจากโบสถ์มีเส้นทางเดินเท้าคดเคี้ยวไปสู่ที่ตั้งของหิน 2 ก้อนแกะสลักเป็นรูปจระเข้ (ภาพประกอบจากคุณ Lovecondo 3 ขอบคุณค่ะ) และบันไดนาคตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวเจนละในสมัยนั้นที่สลักไว้เพื่อใช้ในพิธีบูชายัญก็เป็นได้ … บางคนเชื่อว่าตรงนี้เป็นวิหารของพระอุมาหรือเจ้าแม่กาลี และหินที่เห็นเป็นแท่นสำหรับทำพิธีบูชายัญ .. เรื่องเล่าที่บอกต่อๆกันมาถึงพิธีกรรมบูชายัญในสมัยนั้น ค่อนข้างจะสยดสยองพอควร


เชื่อกันว่าในสมัยโบราณ ผู้คนแถบนี้มีศรัทธาความเชื่อเรื่องผีภู (เทพเจ้าแห่งภูเขา) ที่จะคอยปกปักรักษา และคุ้มครองผู้คน และดลบันดาลให้เกิดพืชภัณฑ์ธัญญาหาร และความอุดมสมบูรณ์ และทุกๆปีจะมีการเซ่นสังเวยผีภู โดยในพิธีจะมีการนำชายหญิงพรหมจรรย์หนึ่งคู่ มาเข้าพิธี โดยให้นอนลงบนแท่นหินที่เจาะเป็นรูปคน แทงด้วยมีดแล้วควักไส้ออกมาบูชา ส่วนเลือดที่ไหลงไปตามรางหินจะนำไปทาแผ่นดิน เพื่อก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์


ส่วนหินก้อนที่แกะเป็นบันไดรูปงู เป็นบันไดพญานาค (รูปภาพจาก Internet) ใช้สำหรับส่งวิญญาณผู้ถูกบูชายัญไปสู่สรวงสวรรค์ … ต่อมามนุษย์เจริญขึ้น พิธีกรรมที่ใช้คนเป็นๆได้ล้มเลิกไป หันไปใช้วัวควาย และสัตว์อื่นแทน .. แต่ได้มีการยกเลิกพิธีนี้ทั้งหมดในเวลาต่อมา .. ยังคงเหลือเพียงร่องรอย และรูปสลักหินให้หวาดเสียวเล่นๆจนทุกวันนี้


นอกจากนั้นยังพบก้อนหินรูปร่างกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเขาแกะสลักเป็นรูปหัวช้าง (รูปประกอบจาก Internet) เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายสมัยขอมเรืองอำนาจ … เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อบูชาช้างเอราวัณ พาหนะของพระอินทร์ และเพื่อสำนึกในบุญคุณของช้างที่ถูกใช้แรงงานมาสร้างปราสาท ความจริงช้างเอราวัณต้องมี 3 เศียร แต่ที่เห็นมีแค่เศียรเดียว เป็นเพราะยังแกะสลักไม่เสร็จนั่นเอง

อาจารย์ เคยบอกว่าอยากไปวัดนนี้น่ะครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้