ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1971
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนาน ความเป็นมา เมืองมุกดาหาร

[คัดลอกลิงก์]

วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร
ภาพโดย: เหมียวสินธร bloggang
วัดศรีมงคลใต้ หรือ “วัดเหนือ” เป็นวัดอารามหลวงตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง มีการก่อสร้างพร้อมกับการก่อตั้งเมืองมุกดาหาร โดยได้รับการพัฒนามาหลายยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาเมืองมุกดาหาร
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดมุกดาหาร
เจ้าจันทรสุริยวงษ์และพรรคพวกได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรี ผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก
เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก) เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า “พระเจ้าองค์หลวง” เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ(ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ(ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132(พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหารครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน (รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย)
ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระยาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร
………………………..

ภาพเจ้าแม่สองนางพี่น้องโดย: ริมโขง oknationปริศนา เจ้าแม่สองนางพี่น้อง-มุกดาหาร
เรื่องจาก: kobnon bloggang
ประวัติความเป็นมามีเรื่องเล่าขานกันมานานว่า ราวปี พ.ศ.1896 เจ้าฟ้างุ้ม แห่งเมืองล้านช้าง เป็นบุตรเขยกษัตริย์เมือง อินทะปัดได้พาลูกหลาน อพยพ ตามลำน้ำโขง ผ่านเมืองหนองคาย เมืองนครพนม จนถึงเขตเมืองมุกดาหาร แล้วเกิดเรือล่มที่บริเวณปากห้วยมุก ธิดาสาวทั้งสองคนซึ่งมีพระนามว่า พระนางพิมพา กับ พระนางลมพามา สิ้นชีพพิตักษัยจนกระทั่ง
ปี พ.ศ. 2313 เจ้ากินรีได้มาสร้างเมืองมุกดาหารพร้อมกับได้สร้างโบสถ์วัดศรีมงคลใต้ขึ้นและในขณะก่อสร้างได้พบพระเมาลี(มวยผม) พระพุทธรูปเหล็กจมอยู่ใต้พื้นดิน (บริเวณศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องในปัจจุบัน) จึงขุดไปประดิษฐาน ณ โบสถ์วัดศรีมงคลใต้ แต่พอรุ่งขึ้น พระพุทธรูปเหล็กองค์นั้น ก็กลับมาประดิษฐานอยู่ที่เดิมที่พบในครั้งแรกอีก
ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “พระหลุบเหล็ก” ประกอบกับบริเวณดังกล่าว ทุกวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 จะมีเสียงร่ำไห้ของ ผู้หญิงสองคนซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเสียงของพระนางพิมพา กับ พระนาง ลมพามา และได้แสดงอภินิหารให้ปรากฏอยู่เนือง ๆ
เจ้ากินรีเจ้าเมือง มุกดาหาร ได้สืบทราบประวัติแห่งความเป็นมาจึงตั้งศาลขึ้น ณ ที่แห่งนั้น เพื่อให้วิญญาณได้สิงสถิต เมื่อ พ.ศ. 2315 และได้ขนานนามว่า “หอเจ้า แม่สองนางพี่น้อง” อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองมุกดาหาร
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขงติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหารศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ไม่ทราบประวัติความเป็นมาต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองและเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน
………………………..
ตำนานเจ้าแม่สองนาง
เขียนโดย นางสาวเบ็ญจรัตม์ มาประณีต culture.go.th
12 กุมภาพันธ์ 2556(2013)
ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธิดาหรือลูกหลานของเจ้าเมืองหรือนักรบเวียงจันทน์ในสมัยโบราณ เป็นบุคคลสำคัญที่ชาวบ้านในอีสานหลายจังหวัดเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของตนมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถปกป้องคุ้มครองให้ตนและชุมชนรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงได้
ตำนานเจ้าแม่สองนางส่วนใหญ่มีลักษณะโครงเรื่องที่คล้ายกัน คือ พระธิดาหรือลูกหลานของเจ้าเมือง หรือนักรบ ซึ่งเป็นพี่น้องกันหรือฝาแฝดกัน ล่องเรืออพยพมาตามแม่น้ำโขง แล้วเรือล่มเสียชีวิตในแม่น้ำโขง ต่อมาวิญญาณได้ปรากฏให้ชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆหรือเป็นผู้ติดตามนักรบไปทางบก ต่อมาเสียชีวิตบ้าง ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับประวัติการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนและชุมชนที่เคยเป็นหัวเมืองเก่าในสมัยอาณาจักรล้านช้างมาก่อนเกือบทั้งสิ้น
เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางนอกจากจะเป็นความเชื่อร่วมกันของผู้คนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์แล้ว
ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มชนในแต่ละกลุ่มชนว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน หรือได้อพยพหนีภัยสงครามมาจากนครเวียงจันทน์เหมือนกันและอาจจะอยู่ในช่วงสมัยเดียวกัน
ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายในชุมชนชายฝั่งแม่น้ำโขงและภาคอีสานตอนกลางที่มีศาลหรือหอเจ้าแม่สองนางตั้งอยู่หลายพื้นที่ คือ ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ ตำบลเวียงคุก ชุมชมวัดหายโศก อำเภอเมือง และ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ บ้านแพงใต้ ตำบลบ้านแพง อำเภอบ้านแพง บ้านนาเขท่า ตำบลนาเข อำเภอบ้านแพง บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บ้านสิงห์ท่า และบ้านสิงห์โคก อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
ชุมชนต่าง ๆ ที่นับถือเจ้าแม่สองนางจึงต้องบวงสรวงและเซ่นไหว้เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตนรวมทั้งการร้องขอความอุดมสมบูรณ์และความสันติสุขของชุมชน ในทุกชุมชนยังมีความเชื่อในตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางอย่างแนบแน่นและยังถือปฏิบัติการบวงสรวงเซ่นไหว้ในช่วงเดือน ๖ กันเป็นประจำทุกปี
ตำนานและความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สองนางในเขตชุมชนเมืองและจังหวัดมักจะได้ความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะหน่วยงานการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดจะนำตำนานเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางลงในเว็บไซต์ของจังหวัดในเชิงประชาสัมพันธ์สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของจังหวัด จึงทำให้ตำนานและความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สองนางได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในเมืองไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้