ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4009
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

งานภูเขาทอง (งานห่มผ้าแดง) วัดสระเกศ

[คัดลอกลิงก์]

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ eyepan


งานภูเขาทอง (งานห่มผ้าแดง) วัดสระเกศ
โดย... ณัฏฐะปัญโญ


หากพูดถึงงานวัด คนในรุ่นก่อนไม่มีใครไม่รู้จักงานภูเขาทอง วัดสระเกศ เพราะเป็นงานวัดที่เก่าแก่สุดของคนกรุงเทพฯ ที่มีสีสันเต็มไปด้วยการแสดง การละเล่น และของกินมากมาย ในแต่ละปีผู้คนต่างรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อเพื่อรองานภูเขาทองมาถึง เพราะปีหนึ่งจะมีโอกาสได้เที่ยวเล่นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินครั้งหนึ่ง

งานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทงในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทองครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา

ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพบูชาสักการะ และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลัง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม

งานภูเขาทอง วัดสระเกศ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนแล้วเสร็จ พระองค์ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดย นายวิลเลี่ยม แคลคัสตัน เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์พระบรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเกี่ยวกับ พระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลู หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่า “ประเทศไทยนี้มีเจดีย์และที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากมาย แต่ที่แน่ใจว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง คือ องค์ที่บรรจุที่พระบรมบรรพต ภูเขาทอง เพราะมีบันทึกเป็นจดหมายเหตุประกอบโดยละเอียดตั้งแต่ขุดพบ จนอัญเชิญจากประเทศอินเดียมาสู่ประเทศไทย  ประกอบกับทางประเทศอินเดียก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย ครั้นคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำเพื่อการเฉลิมฉลอง และที่พระสมุทรเจดีย์นี้เอง พระบรมสารีริกธาตุได้เกิดปาฏิหาริย์ ส่องแสงสว่างแวววาวออกจากองค์พระบรมสารีริกธาตุเป็นที่อัศจรรย์”
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-15 09:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนั้น วัดสระเกศยังเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่ากรุงธนบุรีเกิดจลาจล จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงคราม จึงประกอบ ธีมูรธาภิเษก (พิธีสรงพระวรกายก่อนขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์) ขึ้นบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก อันเป็นที่ตั้งหอไตรในปัจจุบัน ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ภายหลังเมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงทรงสถาปนา “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” พระอารามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ทรงประกอบพิธีมุรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี

ต่อมาสระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมุรธาภิเษกได้ถูกถมไป เพราะถือว่าสระน้ำที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้แล้ว ไม่ควรที่ประชาชนทั่วไปจะใช้อีก ยังคงปรากฏอยู่แต่หอไตร นอกจากนั้น ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ ๑ อยู่บริเวณเดียวกับหอไตร เดิมเป็นเรือนไม้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้เปลี่ยนเป็นตึกก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม เพราะพระองค์เกรงว่าหากพระตำหนักยังเป็นเรือนไม้อาจจะทรุดโทรมเสียหายได้ง่าย ภายในพระตำหนักมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายกระบวนจีน อันแสดงถึงลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓


ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : facebook คุณกอบ

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-15 09:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภูเขาทอง


ประเพณีห่มผ้าแดงองค์พระบรมสารีริกธาตุ ภูเขาทอง

พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวว่า พระเจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์วัดภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้างโดยรอบเส้นศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร ใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เหตุการณ์มีความสอดคล้องกันเช่นนี้

ประเพณีห่มผ้าแดง เป็นประเพณีเก่าแก่ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และให้มีพิธีการห่มผ้าแดงขึ้นในทุกปี ซึ่งจะมีขึ้นในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึง วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ คือ ก่อนจะมีพิธีลอยกระทง ๕ วัน จนหลังวันลอยกระทง ๒ วัน ก็คือจะมีขึ้น ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งก็จะตรงกับงานวันลอยกระทง ประเพณีห่มผ้าแดงนั้น เนื่องจากสีแดงตามความเชื่อโบราณคือสีแห่งความเป็นมงคล ในโบราณกาลนั้นการฉลองห่มพระบรมสารีริกธาตุจึงใช้ผ้าสีแดง โดยมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ นามสกุล บนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะมีความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้มาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังได้เป็นการออกกำลังกาย ได้ฟังธรรมอีกด้วย
  
งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายประกาศให้รู้ว่างานจะได้เริ่มขึ้นแล้ว การห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ยังเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาด เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีการประชาสัมพันธ์อันรวดเร็วเช่นปัจจุบัน การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้จัดพิธีห่มผ้าแดงขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวพระนครได้มองเห็นแต่ไกล และทราบว่างานภูเขาทองที่ทุกคนรอคอยกำลังจะมาถึงอีกวาระหนึ่ง


ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ TeddyBear[Picnic]

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-15 09:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ TeddyBear[Picnic]


อานิสงส์การห่มผ้าองค์พระธาตุ

พิธีห่มผ้าแดงในงานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เป็นพิธีที่ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีทำให้เกิดสิริมงคล อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย อันตรายนานาประการอันตรธานไปสิ้น เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฏความว่า คราวหนึ่งหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ ๓ พรรษา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ชาวเมืองเวสาลี ผู้คนประสบภัยพิบัตินานาประการ ทั้งข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ภูตผีปีศาจทำอันตราย บ้านเมืองกระด้างกระเดื่อง เกิดโจรผู้ร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปสู่เมืองเวสาลีเท่านั้น ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายก็พลันหายไปสิ้น เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อโรคภัยไข้เจ็บหายก็ทำให้ประชาชนมาแวดล้อมพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้มิใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาพระเจดีย์ในอดีตชาติ

พิธีห่มผ้าแดงได้จัดให้มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่อลังการตามแบบอย่างประเพณีโบราณ เริ่มจากขบวนผู้แต่งกายด้วยชุดเทวดา สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล และตามด้วยประชาชนในชุดไทยโบราณ

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่บนพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นส่วนที่ขุดค้นได้จากพระสถูปโบราณอันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์สมัยพุทธกาล รัฐบาลอินเดียถวายแด่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ นายวิลเลี่ยม แคลคัสตัน เปปเป ชาวอังกฤษซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นเนินดินในที่ของตนพบพระสถูปโบราณหักพังจมอยู่ภายใต้เนินดินที่ปิปราห์ระหว่างทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์สมัยพุทธกาล

เมื่อนายวิลเลี่ยม แคลคัสตัน เปปเป ขุดรื้อพระสถูปโบราณนั้น ก็พบกล่องศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เต็มไปด้วยข้าวของเงินทองเครื่องประดับมากมาย และภายในกล่องศิลาแลงมีผอบบรรจุพระอัฐิธาตุ และที่ผอบนั้นมีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมีโบราณ อันเป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาล นักศึกษาภาษาศาสตร์เชื่อว่ามีอายุเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งใช้ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นไม่นานเกินพุทธศตวรรษที่ ๒-๔ ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลความได้ว่า

"ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราชผู้มีเกียรติงาม กับพระภาดา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้"

จากจารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พระอัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าโดยพราหมณ์ผู้ใหญ่ คือโทณพราหมณ์ อย่างแท้จริง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-15 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นต่อมา มาร์ควิสเคอร์ซัน ผู้ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย  ซึ่งเคยเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ และมีสัมพันธไมตรีใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มาก่อน เห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ จึงควรมอบคืนให้แก่ชาวพุทธ และมาร์ควิสเคอร์ซันพิจารณาว่า กษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้นก็ยังมีแต่พระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น รัฐบาลอินเดียจึงมีประสงค์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ ๕ พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งทูตผู้แทนไปรับ และกราบบังคมทูลขอให้รัชกาลที่ ๕ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น พม่า ลังกา ญี่ปุ่น ไชบีเรีย เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ณ ประเทศอินเดีย โดยเริ่มเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๑ และเดินทางกลับในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านเมืองตรัง พัทลุง สงขลา แต่ละเมืองที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุและบูชาสักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แก้วแหวนเงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่างดี ครั้นถึงเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการฉลอง ๓ วัน ๓ คืน วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงกรุงเทพฯ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ

ผ้าแดงที่ผูกติดกันเป็นสายยาวหลายสิบเมตรให้คนจับเป็นแนวยาวเดินวนขวาไปรอบองค์พระเจดีย์อย่างพร้องเพรียงนี้ เปรียบเสมือนจีวรของพระพุทธเจ้า การได้จับผ้าแดงขึ้นไปห่มองค์พระเจดีย์ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ข้างใน จึงเหมือนกับการได้ถวายจีวรแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

สีแดงเป็นสีแห่งมงคล เป็นสีแห่งการเจริญรุ่งเรืองของชีวิต นอกจากนั้นสีแดงของผ้ายังเป็นสัญญาลักษณ์ของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ การได้มาร่วมพิธีห่มผ้าแดงเพื่อบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ภูเขาทองนี้ ย่อมเกิดเป็นผลานิสงส์บันดลความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตน ครอบครัว ตลอดจนประเทศชาติบ้านเมือง จึงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตราบจนถึงปัจจุบัน


6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-15 09:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ TeddyBear[Picnic]
    

   ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล : คุณน้อมเศียรเกล้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=26025

สักการะ “ธรรมเจดีย์” ณ ภูเขาทอง วัดสระเกศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=40738                                                                                       

.............................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45973

ขอบคุณคร้าบ เพิ่งเคยเห็น
สาธุครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้