ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3233
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วัดบุโรพุทโธ อินโดนีเซีย ศาสนสถานสิ่งมหัศจรรย์

[คัดลอกลิงก์]
วัดบุโรพุทโธ ที่อินโดนีเซีย  







แม้ไม่ใช่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่มหาเจดีย์ “บุโรพุทโธ” หรือ “บรมพุทโธ” (Borobudur) ก็จัดได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในระดับน้องๆ ของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในขณะที่ชาวอินโดนีเซียต่างยกย่องให้มหาเจดีย์แห่งนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำคัญของประเทศ และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เชิดหน้าชูตาของอินโดนีเซีย
วันก่อน ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยาย ‘กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว’ ให้นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย เป็นการเปิดตัวฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ จึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์บุโรพุทโธเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจ อึ้งและทึ่งอย่างที่สุด กับความใหญ่โตมโหฬารของพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวัดพุทธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จากศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนในอดีต
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-10 10:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทธสถานอันงามสง่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเกาะชวา ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) หรือยอกยาของอินโดนีเซียไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งสมัยนั้นหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธเป็นอย่างมาก
แต่กษัตริย์ของศรีวิชัยซึ่งเป็นชาวฮินดูเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และชนชาวศรีวิชัยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทำให้เกาะชวาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยนี้
บุโรพุทโธตั้งอยู่บนเนินดินธรรมชาติที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 15 เมตร รูปทรงภายนอกเป็นรูปทรงดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา ดอกบัวขนาดมหึมานี้ลอยอยู่ในบึงใหญ่ ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์ โบราณสถานแห่งนี้และบริเวณรอบๆ เป็นที่ลุ่มและถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโปรโก (Progo River) ทำให้เจดีย์โบราณบุโรพุทโธเป็นเสมือนดอกบัวลอยอยู่ในน้ำ
ผมได้มีโอกาสไปซื้อปลาดุก และปลาบัง (ปลาพื้นเมืองของที่นี่) จำนวน 20 กิโลกรัม ปล่อยลงในแม่น้ำโปรโกด้วย ทำให้ชาวอินโดฯ ดีใจกันใหญ่ เพราะสองปีก่อน สัตว์น้ำจำนวนมากต้องตายไปจากภูเขาไฟระเบิดในบริเวณใกล้ๆ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบุโรพุทโธแสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยะสูงสุดทางศิลปะสมัยไศเลนทร์ที่ต่างไปจากโบราณสถานทุกแห่งในชวา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เจดีย์บุโรพุทโธ ซึ่งกษัตริย์วิษณุแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ทรงเริ่มสร้างขึ้นใน พ.ศ.1318 จนกระทั่งมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของกษัตริย์อินทราเมื่อปี พ.ศ. 1390 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 70 ปีเศษ
ความมหัศจรรย์ของบุโรพุทโธเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ด้วยรูปแบบและรายละเอียดของศิลปะจากความคิดของช่างในสมัยนั้น โดยสร้างตามแบบศิลปะฮินดู-ชวา หรือศิลปะชวาภาคกลาง ที่ผสมผสานศิลปะระหว่างอินเดียกับอินโดนีเซียเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
บุโรพุทโธสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัดของกัมพูชาประมาณ 300 ปี ทำเลที่ตั้งเป็นเนินเขากว้างใหญ่ จำลองมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาไหลมาบรรจบกัน เช่นที่ประเทศอินเดีย ต้นกำเนิดแห่งศาสนาพุทธบริเวณที่มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน นั่นก็คือแม่น้ำโปรโกและแม่น้ำอีโล
มหาสถูปบุโรพุทโธอันงดงามถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักความศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนาของชนชาวศรีวิชัย ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามลงตัวและมีความหมายอันมีนัยถึงธรรม ธรรมชาติ หรือจักรวาล โดยสร้างขึ้นจากหินลาวา มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 55,000 ตารางเมตร รูปทรงด้านฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 123 เมตร แต่ละด้านมีบันไดและซุ้มประตูขึ้นสู่มหาเจดีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้น 1-6 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนชั้นที่ 7-10 มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม
ส่วนฐานของบุโรพุทโธ ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักประมาณ 160 ภาพ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในกาม ผูกพันกับความสุข สนุกสนาน ความปรารถนาทางโลกอันไม่รู้จบ ส่วนนี้จัดอยู่ในขั้นกามภูมิ ส่วนที่สอง คือ ส่วนบนของฐาน ผนังทั้งด้านนอกด้านในมีรูปสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ ประมาณ 1,460 ภาพ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นรูปภูมิ คือ ขั้นที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสทางโลกมาได้บางส่วน
ส่วนที่สาม คือ ส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุด้วยพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่ 3 ระดับ โอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สุดยอดของบุโรพุทโธ จำนวน 72 ชั้น หากพิจารณาในทางธรรมแล้วหมายถึง รูป 18 เจตสิก 52 จิต 1 นิพพาน 1 และฐานพระเจดีย์ที่เป็นรูปบัวผลิบานนั้นบ่งบอกถึงการรู้ตื่นและเบิกบาน ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้นภายในไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ อาจสื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพานแล้วย่อมไร้ลักษณ์ ไร้รูปรอยใดๆ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป
มหาเจดีย์บุโรพุทโธคงความยิ่งใหญ่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนผ่านกาลผ่านสมัยจวบจนเข้าต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ในเวลานั้นชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธก็ได้ถูกลืมเลือนไปและถูกทิ้งร้างท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี
จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธอีกครั้ง ในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในระหว่าง พ.ศ. 2448-2453
ต่อมาใน พ.ศ. 2516 รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มต้นโครงการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง โดยมีองค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติ ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งประเทศไทยก็มีส่วนร่วมด้วย
แม้ว่าชาวอินโดฯ ส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม แต่พวกเขาต่างก็ภาคภูมิใจในพุทธสถานแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังได้ดูแลรักษามหาเจดีย์บุโรพุทโธให้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อสองปีที่ผ่านมา เถ้าถ่านจากภูเขาไฟระเบิดห่างไปไม่กี่กิโลได้ท่วมทับพุทธสถานแห่งนี้ แต่ด้วยจิตอาสาของชาวอินโดฯ ต่างศาสนา จึงช่วยกันทำความสะอาดให้โบราณสถานสำคัญได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง


ที่มา : http://dc-danai.com/archives/3281                                                                                       

...............................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45972

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้