ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3120
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระครูอาทรพัฒนคุณ(หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร) วัดนาอุดม ~

[คัดลอกลิงก์]

ประวัติท่านพระครูอาทรพัฒนคุณ (หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร)
(อ้างอิงจากหนังสืออนุสรณ์ในงานบำเพ็ญกุศล พระครูอาทรพัฒนคุณ)

     ชาติภูมิ : ท่านพระครูอาทรพัฒนคุณ (หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร) เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2453 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ เกิดในสกุล แสงเขียว เชื้อสายทางบิดา ท่านเกิดอยู่ที่นี่บ้านสำโรง เชื้อสายทางมารดา ท่านเกิดอยู่ที่บ้านนาทม บิดา-มารดา มีอาชีพทำนา ท่านมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 8 คน

1. นายพูน แสงเขียว
2. นางหมูน พินธุรักษ์
3. นางเข็ม แสงเขียว
4. นางหลวย แสงเขียว
5. พระครูอาทรพัฒนคุณ (หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร)
6. นายนวล แสงเขียว
7. นางอ้วน สมเพราะ
8. นางทองสี บุดดี
  
ชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย ท่านเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย เรียบร้อย สุภาพอ่อนโยนอุปนิสัย ชอบรักความสงบ มีใจใฝ่ในทางพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่เด็กๆ จึงเป็นที่รักใคร่ของบิดา มารดา เป็นอันมาก  เมื่อท่านเจริญเติบโตขึ้นชีวิตย่างเข้าสู่วัยรุ่นท่านเป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีช่วยเหลือการงานบิดา มารดา ในการทำไร่ทำนา ด้วยความขยันขันแข็ง ด้วยอุปนิสัยที่ท่านเป็นผู้ที่มีความสุภาพอ่อนโยนมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเติบโตขึ้น จึงทำให้ท่านเป็นคนที่มีความสุขุม เยือกเย็น นุ่มนวล เป็นผู้ที่มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อเพื่อนฝูงอีกทั้งยังมีความเสียสละต่อส่วนรวมเสมอ จึงทำให้ท่านเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูง และบุคคลทั่วไป
   
จะด้วยบุพกรรมเก่าที่ท่านเคยสร้างสมมาเมื่อครั้งในอดีต ก็มิอาจจะทราบได้ท่านกลับไม่มีความลุ่มหลง นิยมชมชอบ หรือจรรโลงใจกับชิวิตแห่งการครองเพศฆราวาส อันหาแก่นสารสาระไม่ได้ จึงทำให้เกิด
ความรู้สึกเบื่อหน่าย จริตของท่าน กลับมีความนิยมชมชอบในศีลาจารวัตร อันสมถะเรียบง่ายของพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนา

ท่านมีความครุ่นคิดที่อยากจะออกบวช แต่ด้วยความเกรงใจ และสำนึกในพระคุณของบิดา มารดา ท่านจึงต้องอยู่ช่วยงานบิดา มารดาทำไร่ทำนา เพื่อแสดงความกตัญญู ตอบแทนพระคุณบิดา มารดา เมื่ออายุย่างเข้า 20 ปี บริบูรณ์ ท่านจึงตัดสินใจกราบอ้อนวอนบิดา มารดา เพื่อที่จะขออนุญาตออกบวช เพื่อแสวงหา สัจธรรม ปรากฏว่า บิดา มารดา ของท่านปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะความจริงแล้ว บิดามารดาของท่านก็มีความประสงค์จะให้ท่านออกบวชอยู่แล้ว

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 16:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ครั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมพุทธศักราช 2473 ท่านจึงได้ตัดสินใจ เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ในบวรพระพุทธศาสนา ณ วัดนาอุดม บ้านนาทม ต.คำหว้า อ.พิบูลมังสาหาร (ในขณะนั้น ตอนนี้เปลี่ยนเป็น อ.นาตาลแล้วในปัจจุบัน) โดยมีพระอธิการพรมมา วัดบ้านระเว ต.ทรายมูล (ปัจจุบัน ต.ระเว) อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ ฉันทโร” ซึ่งแปลว่า “ ผู้ทรงไว้ซึ่งความพอเพียง ” ผู้พอใจ กับความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สำเร็จเป็นพระภิกษุสงฆ์ในเวลา 18.08 น.
เมื่อท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสวน ฉันทโร แล้วท่านได้พำนักและศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ฝึกฝนสวดมนต์ และปาติโมกข์ อยู่ในสำนักของเจ้าอธิการส่วน ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนาอุดม ซึ่งสมัย นั้นวัดนาอุดมเป็นแหล่งพำนักและศึกษาธรรมะของพระภิกษุสามเณร จำนวนมาก ท่านได้ศึกษาธรรมะอยู่ ณ วัดนาอุดม เป็นเวลา 3ปี จากนั้นท่านจึงย้ายไปศึกษาเพิ่มเติม ที่วัดบ้านคำหว้า เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อพุทธศักราช 2478 ท่านจึงย้ายไปศึกษาต่อที่วัดสำโรงใหญ่ ซึ่งในสมันนั้นก็เป็นแหล่งศึกษาธรรม เช่นกัน ขณะนั้น อาจารย์หม่อนซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส พระภิกษุสวนท่านได้ศึกษาวิชามูลกัจจายน์ และวิชาวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักแห่งนี้ ท่านเล่าว่า อาจารย์หม่อนท่านเคร่งครัด ระเบียบวินัยมาก ผู้ที่จะมาศึกษาเล่าเรียนที่สำนักแห่งนี้ จะต้องมีความขยันหมั่นเพียร และต้องมีความขยันอดทนเป็นอันมาก พระอาจารย์หม่อนท่านมีอุปนิสัยค่อนข้างดุมาก พระที่คอยอุปัฏฐากรับใช้ท่าน หลายรูป ที่ขาดความอดทน ทนอยู่ไม่ได้ต้องหนีไปก็มี จนไม่มีใครกล้าจะไปอุปัฏฐากรับใช้ท่าน

อยู่มาวันหนึ่งพระอาจารย์หม่อนจึงได้เรียกพระภิกษุสวนเข้าไปพบและมอบหน้าที่พระอุปัฏฐากแทนพระที่หนีไป หลวงปู่ญาท่านสวนท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านถูกพระอาจารย์หม่อนใช้งานอย่างหนัก เช่น ให้เลื่อยไม้ เพื่อสร้างเสนาสนะภายในวัด ท่านทำจนมือไม้แตกไปหมด เลือดก็ออก ทั้งเจ็บทั้งระบม แต่ก็ต้องทน จะทำอย่างไรได้เมื่อได้รับคำสั่งจากครูบาอาจารย์ บางทีท่านก็จะดุ จะว่าโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะวันไหนที่มีญาตโยมมากันมากวันนี้แหละที่ท่านทำอะไรก็ไม่ถูกใจเอาไปเสียหมดบางทีท่านก็ ดุว่าเสียงดัง บางครั้งถึงขนาดต้องอับอายญาติโยม จนแทบจะแทรกแผ่นดินหนี แต่ท่านก็ไม่หนี ท่านบอกว่าต้องใช้ความขันติ อดทนเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการปฏิบัติครูบาอาจารย์

จนในที่สุดพระอาจารย์หม่อนเกิดความเมตตาสงสารเห็นว่าพระภิกษุสวน มีความอดทนขันติ มีความเพียรพยายาม มีความมุมานะไม่เคยปริปากบ่นสักคำอาจจะเป็นด้วยว่าพระอาจารย์หม่อนท่านต้องการทดสอบจิตใจ ความอดทนหรืออย่างไรไม่ทราบ อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เรียกพระภิกษุสวนเข้าไปหาและบอกว่าจะสอนกรรมฐานให้ ทำให้พระภิกษุสวนท่านดีใจมาก พระอาจารย์หม่อนยังได้พาพระภิกษุสวนไปฝึกกรรมฐานในป่าช้า สองต่อสองโดยการแยกปฏิบัติคนละที่ หลวงปู่ญาท่านสวนท่านเล่าให้ฟังว่าพระอาจารย์ หม่อนท่านจะมีอาสนะพิเศษ ทำด้วยหนังหมี หอบหิ้วไปทุกครั้งที่ท่านสอนกรรมฐานในป่าช้า

การที่ฝึกกรรมฐานท่านอาจารย์หม่อนให้ฝึกวิธีการกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อฝึกปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้วท่านก็ให้กลับไปฝึกปฏิบัติเอง ถ้าหากติดขัดประการใดก็ให้มาถามท่าน นอกจากวิชากรรมฐานแล้ว พระอาจารย์หม่อนยังได้สอนวิชาเวทมนตร์คาถาต่างๆให้อีกด้วย การฝึกกรรมฐานท่านเล่าว่าไม่เคยออก ธุดงค์เลย แต่ท่านตั้งใจฝึกฝนเพียรพยายาม ตามครูบาอาจารย์ท่านสอนต้องไม่ขี้เกียจ พยายามค้นคว้าหาความรู้ในแนวปฏิบัติตามตำราต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านบันทึกเอาไว้ นอกจากนั้น ท่านได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการเขียน การอ่านอักษร ขอม เขมร และอักษรธรรมอีสาน จนเกิด ความชำนิชำนาญ สามารถอ่านออกเขียนได้จนคล่องแคล่ว

การศึกษาทางด้านวิทยาคมนอกจากการศึกษาทางด้านวิปัสสนากรรมฐานและสรรพวิชาเวทมนต์คาถาต่างๆจากพระอาจารย์หม่อนแล้วต่อมาท่านคิดว่าจะเดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับท่านสำเร็จลุน ที่วัดเวินไชย เมืองปากเซ นครจำปาศักดิ์
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 16:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านสำเร็จลุน ถือว่าเป็นพระปรมาจารย์ผู้ทรงอภิญญา มีกฤษดาอภินิหารมากมายเป็นที่เลื่องลือในแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีคนเคยเห็นท่านยืนสรงน้ำกลางแม่น้ำโขงท่านสามารถบังคับให้เรือรบของทหารฝรั่งเศสหยุดได้ และเคยเหยียบเรือรบของทหารฝรั่งเศส เอียงวูบ จนเกือบจะล่ม เมื่อคราวที่ทหารฝรั่งเศสให้คนมานิมนต์ ให้ท่านลงไปในเรือรบ แต่ท่านบอกว่าท่านไม่อยากลงท่านกลัวเรือจะล่ม แต่ไม่มีใครเชื่อท่าน จึงก้าวเท้าไปเหยียบปรากฏว่าเรือเอียงวูบทันที จนไม่มีใครกล้าคะยั้นคะยอให้ท่านลงและมีอยู่คราวหนึ่ง ท่านสำเร็จลุนบอกให้ลูกศิษย์ปลอกมะละกอและหาเครื่องตำส้มตำเอาไว้ ส่วนท่านจะไปเอาน้ำปลาจาก กรุงเทพฯมาให้ ปรากฏว่าท่านเดินคล้อยหลังไปแว๊บเดียว แล้วกลับมาพร้อมกับถือเอาขวดน้ำปลายี่ห้อแปลกๆที่ไม่เคยมีในแถบนี้มาให้ลูกศิษย์ ท่านพระภิกษุสวนเดินทางไปแต่น่าเสียดายที่ท่านไม่พบกับสำเร็จลุนท่านจึงได้เดินทางกลับ ต่อมาท่านได้ทราบว่า ยังมีศิษย์ของท่านสำเร็จลุนอีกรูปหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆเอาไว้และมีกฤษดาอภินิหารมากเช่นกัน พระภิกษุรูปนี้ก็คือ ญาท่านกรรมฐานแพง แห่งวัดสะพือ อ.พิบูล จ.อุบลราชธานี ท่านจึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของญาท่านกรรมฐานแพง การเรียนสรพพวิชา เวทมนตร์คาถาต่างๆในสายของสำเร็จลุน ญาท่านกรรมฐานแพงท่านกล่าวว่าผู้ที่จะมาเรียนวิชาในสายนี้จะต้องตั้งสัจจะคือเมื่อเรียนเสร็จแล้วจะต้องบวชไม่สึก
วิชาที่เรียน ท่านพระภิกษุสวน ท่านได้ศึกษาวิชากรรมฐาน วิชาการเดินธาตุต่างๆเช่นแม่ธาตุอันได้แก่ นะ โม พุท ธา ยะ ธาตุ 4 ได้แก่ นะ มะ พะ ทะ ธาตุกรณีได้แก่ จะ ภะ กะ สะ แก้ว 4 ดวง ได้แก่ นะ มะ อะ อุ ท่านได้เรียนรู้การปลุกเศกวัตถุมงคล ให้เกิดฤทธิ์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ท่านยังได้เรียนวิชาการลงตะกรุดต่างๆ เช่น

- ตะกรุดโทน ตะกรุดสายรกพระพุทธเจ้า ตะกรุดอุปคุต ตะกรุดกันระเบิด
- ตะกรุดสามกษัตริย์ ตะกรุดห้ากษัตริย์ ตะกรุดมหานิยม ตะกรุดรัตนบัลลังก์
- ตะกรุดสาลิกา ตะกรุดสาลิกาตอมแห่ว ตะกรุดธรณีไหว ตะกรุดไก่โตนคอน
- ตะกรุดเข้าตา ทำจากเงินปากผีตายวันเสาร์เผาวันอังคาร ตะกรุดโภคทรัพย์
- ตะกรุดผูกข้อมือเด็ก ตะกรุดกันผี และอื่นๆ

วิชาอื่นๆ เช่น
-เสื้อยันต์
–ถักเชือกมงคล
-การทำสีผึ้งเมตตามหานิยม
–การสร้างปลัดขิก ทำจากสากกระเบือแม่หม้ายแก่นไม้มะขามไม้คูณ
-ตายพราย กัลปังหา ไม้มะยมตายพราย
–การสร้างลูกปะคำ108 การสร้างลูกปะคำ 108
–การสร้างลูกปะคำโทน
–การสร้างพระราหูอมจันทร์
–การฝังเข็มทองคำซึ่งมีกลุ่มเข็ม 32 เล่ม และเข็มโทน 1 เล่ม
–การเข้าแผ่นทองคำเปลว
–วิชาการทำน้ำมนต์เข้าหม้อ เพื่อเสริมดวง เสริมบารมี ต่อดวงชะตา
–วิชาการเสกข้าวสารใส่กระบอกไม้ไผ่เพื่อต่อดวงชะตา
–วิชาการทำน้ำพระพุทธมนต์ 7 บ่อ และอื่นๆ

สรรพวิชาต่างๆในสายของสำเร็จลุน ที่ญาท่านกรรมฐานแพงได้รับการถ่ายทอดมาจากท่านสำเร็จลุน ท่านได้ถ่ายทอดให้พระภิกษุสวนจนหมดสิ้นยกเว้นวิชาสุดท้าย เป็นวิชชาที่สุดยอดทางเมตตา ก็เพราะว่าผู้ที่จะเรียนวิชานี้จะต้องไปหารังผึ้งร้างรังมาทำเป็นเสื้อปูรองนั่งให้ได้ 2 คนคือ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาและลูกศิษย์ผู้รับการถ่ายทอดวิชา จึงจะสามารถถ่ายทอดวิชากันได้ พระภิกษุสวนใช้เวลาหารังผึ้งอยู่นานหลายปี แต่กว่าจะหาได้ญากรรมฐานแพงก็มรณภาพไปเสียก่อนนอกจากเรียนจากครูบาอาจารย์แล้วพระภิกษุสวนยังได้ศึกษาวิชาตามคำภีร์ใบลานซึ่งเป็นของครูบาอาจารย์ต่างๆที่บันทึกไว้นอกจากนี้ภายหลังพระภิกษุสวน ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสำโรงแล้วยุคหลังยังมีอาจารย์ฆราวาสผู้มีอาคมขลังท่านหนึ่งได้ไปมาหาสู่กับท่าน ซึ่งอดีตอาจารย์ท่านนี้เคยบวชปรนนิบัติรับใช้สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์เทพวนาราม กรุงเทพฯ อยู่นานหลายสิบปี เข้าใจว่าท่านมาถ่ายวิชาให้ ด้วยศีลาจริยธรรมอันงดงาม พร้อมด้วยจิตที่มีความมุ่งมั่นในการทะนุบำรุง และพัฒนาวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรือง ถาวรสืบไป ด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ จากพระภิกษุสวน ณ บัดนี้หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโรที่ศิษยานุศิษย์และชาวบ้านทั้งหลายให้ความเลื่อมใสและเคารพศรัทธาเป็นอันมาก ท่านได้สร้างเสนาสนะ ภายในวัดบ้านสำโรง จนมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ แต่ท่านหาได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ไม่ นอกจากวัดสำโรงใหญ่แล้วท่านยังไปเป็นประธานในการบูรณวัดเก่าที่บ้านสำโรงใต้ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2524 ท่านได้เริ่มไปบูรณะสำนักสงฆ์ที่บ้านหนองโน จากนั้นเมื่อ พ.ศ.2525 ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่สำนักสงฆ์บ้านหนองโนและได้เริ่มพาชาวบ้านบูรณะสำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อมาจึงกลายเป็นวัดหนองโนในปัจจุบันนี้ ต่อเมื่อปี พ.ศ.2534 ท่านได้กลับไปวัดนาอุดม บ้านนาทมซึ้งเป็นวัดที่ท่านได้อุปสมบทครั้งแรก ทำให้เกิดความสังเวชใจที่เห็นสภาพวัดที่ทรุดโทรม เกือบจะเป็นวัดร้าง ท่านจึงได้ตัดสินใจกลับมาจำพรรษาที่วัดนาอุดม เพื่อต้องการบรูณะฟื้นฟูวัดนาอุดมขึ้นใหม่ซึ้งขณะนั้น อาจารย์ยอดท่านดำรงค์ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส แต่หลวงปู่ญาท่านสวนท่านไปอยู่ในฐานะพระลูกวัด

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านได้สร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่แทนเสนาสนะเดิมที่เก่า กำลังพังทรุดโทรม เช่นโบสถ์ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง เมรุเผาศพ ศาลาพักศพ โรงครัว และถังเก็บน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วมโดยไม่มีสิ่งก่อสร้างเก่าหลงเหลืออยู่เลย แทบจะเรียกว่าท่านกลับมาสร้างวัดใหม่ ทำให้วัดนาอุดมเจริญขึ้นตามลำดับ

ตำแหน่งหน้าที่ และสมณศักดิ์

เมื่อปีพุทธศักราช 2517 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ สัญญาบัตรพัดยศชั้นตรีที่ราชทินนาม พระครูอาทรพัฒนคุณ

เมื่อปีพุทธศักราช 2525 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ สัญญาบัตรพัดยศชั้นตรีเป็นชั้นโทที่พระนามเดิม พระครูอาทรพัฒนคุณ

ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลสำโรง ตลอดมา

เมื่อปีพุทธศักราช 2548 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์สัญญาบัตรยศชั้นโท เป็นชั้นเอก ที่นามเดิมพระครูอาทรพัฒนคุณ

ปฏิปทา และศีลาจารวัตร

พระครูอาทรพัฒนคุณ (หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร) ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งความเมตตาออกโปรดญาติโยมและศิษยานุศิษย์ท้งหลายโดยไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย ท้อถอย ถึงแม้จะได้รับคำทัดทานจากลูกศิษย์ลูกหาว่า ขอห็หลวงปู่พักผ่อนดูแลสุขภาพของท่านเองบ้าง ท่านก็ได้แต่ยิ้มถึงแม้ท่านจะเจ็บป่วยท่านก็ไม่เคยแสดงให้ผู้อื่นที่มากราบท่านทราบ ท่านก็ยังคงสงเคราะห์ญาติโยมต่อไปไม่หยุดหย่อน จนลูกศิษย์เขียนป้ายห้ามรบกวนท่าน เพื่อต้องการให้ท่านพักผ่อนบ้าง เมื่อท่านเห็นท่านก็จะให้เอาออกทันที ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ว่า บางคนเค้าอาจจะเดินทางมาไกล เขาอาจจะมีเรื่องเดือดร้อนให้เราช่วยเหลือ หรือเขาอาจจะต้องรีบกลับเพราะเขาอยู่ไกล ส่วนเราอยู่ที่นี่จะพักผ่อนเมื่อไรก็ได้นี่ ท่านสอนให้เรารู้จักเมตตา เห็นอกเห็นใจ ในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รู้จักเสียสละ ความสุขส่วนตัวไม่เห็นแก่ความสุขสบาย เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ท่านให้การสงเราะห์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ท่านให้ความเสมอภาคเท่ากันหมด ไม่ว่าคนจน คนรวย เศรษฐีมั่งมี ยาจก เด็กหรือผู้ใหญ่ ท่านเต็มใจสงเคราะห์ให้ทั้งหมด

ท่านมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ สมถะ เรียบง่าย ประหยัด มัธยัสถ์ ใช้สิ่งของที่ญาติโยมนำมาถวายอย่างคุ้มค่า ไม่มีความยินดีในการเป็นอยู่อย่างสุขสบาย หากแต่มีความยินดีในความเป็นอยู่อย่างทุรกันดาร แบบชนบท ซึ่งเป็นการส่วนกระแสของโลกโลกาภิวัตน์ อันเป็นสังคมที่มีแต่การแข่งขัน พัฒนาการเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่โลกมนุษย์ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสของความไม่รู้จักพอเป็นโลกแห่การช่วงชิงอำนาจ เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จนทำให้โลกในขณะนี้ มีความสับสนวุ่นวาย เกิดภัยพิบัติทั้งปวง ก็อันสืบเนื่องมาจากตัวกิเลสอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกู กอดรัดฟัดเหวี่ยงเอาไว้ไม่ยอมปล่อย...ไม่ยอมวาง...
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้วยเหตุนี้หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร ท่านจึงรู้เท่าทันกิเลส ไม่ยอมลุ่มหลงอยู่ในความสุขสบาย หากแต่ต้องการอยู่ใกล้ชิดกับความทุกข์ยากลำบาก เพื่อเอาความทุกข์ยากลำบากมาเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เพราะท่านรู้ว่าสรรพสิ่งในโลกนั้นล้วนแต่เคลื่อนไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย ในโลกนี้เคลื่อนไปสู่ความเสื่อมสลายในที่สุด ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข สิ่งเหล่านี้ ละได้ย่อมสงบ ท่านเป็นพระเถระผู้มีความสงบ เรียบร้อย ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน แม้กระทั่งเวลาฉันเป็นผู้มีความนอบน้อม อ่อนโยน ถ่อมตน ไม่โอ้อวดดังคำที่ว่า

“ปราชญ์แท้ ไม่คุยฟุ้ง ไม่อวดตน”
“คนดีย่อม ไม่ยกตน ข่มท่าน”
“คนเก่ง ย่อมทะนงอยู่ อย่างเงียบ”
“คนโง่ อวดรู้ดี มีทั่วภพ”

“คนโง่ อวดรู้ดี มีทั่วภพ”

ท่านเคยปรารภว่า “อย่างเรามันต้องเสือซ่อนเล็บ ไม่จำเป็นต้องโอ้อวดคนอื่นเขาหรอก....”
ท่านสอนคนให้รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวต้องการให้ศิษยานุศิษย์ มีความรักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ไม่อิจฉาริษยากัน ท่านสอนให้รู้จัก เป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตที่ดี เอาใจใส่แขกญาติโยมผู้มาเยือนจะเห็นได้ว่า ถ้ามีญาติโยมมากราบท่าน ท่านจะลุกขึ้นไปหยิบเอาสาดเสื่อมาปูให้จัดหาน้ำหาท่า ผลหมากรากไม้ตามที่มีมาให้รับประทาน นับเป็นความอบอุ่นและความประทับใจ แก่ญาติโยมผู้มากราบท่านโดยทั่วหน้ากัน ท่านเป็นแบบอย่างของนักพัฒนา นักก่อสร้างสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์เพื่อประกอบกิจในทางพระพุทธศาสนา ในวัดวาอารามต่างๆอย่างมากมาย ตามแต่สถานภาพของความจำเป็น เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป แต่ท่านหาได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นไม่ หากแต่ท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม ปล่อยวางกับสิ่งที่เรียกว่าวัตถุ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น

ปฏิปทาที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในช่วงประวัติของท่าน เมื่อท่านยังดำรงสังขารธรรมอยู่นั้น ท่านไม่ได้ตั้งตัวเป็นอาจารย์สอน ท่านไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่เป็นการสอนให้ด้วยการลงมือทำให้ดูให้เป็นตัวอย่าง
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 17:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วาระแห่งการมรณภาพ

เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2548 สุขภาพของหลวงปู่เริ่มอ่อนเพลียเพราะท่านฉันอาหารไม่ค่อยได้ ปลายเดือนมกราคม 2549 ท่านมีอาการปวดท้อง คณะศิษย์จึงได้นิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล ปรากฏ
ว่าอาการป่วยของท่านเป็นลำไส้อุดตัน เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วคณะแพทย์จึงได้อนุญาตให้ท่านกลับวัดได้ ต่อมาเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ท่านมีอาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง เพราะท่านฉันอาหารไม่ได้คณะศิษย์จึงได้นิมนต์ท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว คณะแพทย์จึงอนุญาตให้ท่านกลับวัดได้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุธี มากบุญ ท่านทราบว่าหลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียไม่ค่อยสบาย ท่านจึงได้มีคำสั่งให้คณะแพทย์โรงพยาบาลตาลสุม มาเฝ้าดูแลอาการของหลวงปู่ที่วัดนาอุดม ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549 ท่านมีอาการอ่อนเพลียชีพจรเต้นอ่อนลง คณะแพทย์ผู้เฝ้าดูอาการ
จึงได้ตัดสินใจนำท่านไปรักษาอาการ ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ คณะแพทย์ต้องให้อาหารทางสายยางและใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่สามารถพลิกตัวเองได้

วันที่ 9 -10 -11-12 มีนาคม ท่านไม่มีอาการตอบสนอง (วันที่ 11 มี.ค.2549 คณะแพทย์ได้อนุญาตคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯเข้าเยี่ยมดูอาการหลวงปู่)

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เวลาช่วงประมาณบ่ายโมงท่านรู้สึกตัว ลืมตาขึ้นมองเพดานไปมา
ก็พอดีลูกศิษย์ที่เฝ้าอยู่มองเห็นอาการดีขึ้นและมีอาการตอบสนองยังมีสติสัมปชัญญะ เหมือนท่านพยายามบอกอะไรบางอย่างให้ลูกศิษย์ทราบ แต่มันติดอยู่ที่สายยางที่แพทย์สอดไว้ในปากของท่าน ลูกศิษย์ก็พากันดีอกดีใจและกราบเรียนท่านว่า หลวงปู่หายเร็วๆนะ จะได้พาหลวงปู่กลับวัด ท่านมองด้วยดวงตาที่ใสเป็นประกายพร้อมกับยักคิ้วให้ทั้ง 2 ข้างอย่างที่ท่านเคยยักคิ้วให้ลูกศิษย์ตอนที่ท่านยังดำรงสังขารตามปกติ ทำให้ลูกศิษย์ทุกคนที่ได้ทราบข่าวอาการของท่านดีขึ้น ก็พากันดีอกดีใจไปตามๆกัน แต่แล้วในเช้าวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2549 เวลา 6.30 นาฬิกา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ วังอังคาร (เป็นวันครูของท่าน) หลวงปู่ญาท่านสวน ได้ปล่อยวางสังขาร ด้วยอาการอันสงบยังความเศร้าโศกเสียใจและอาลัยอาวรณ์แก่ศิษยานุศิษย์ บัดนี้หลวงปู่ญาท่านสวนของเรา ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่ที่แพร่กิ่งก้านสาขา คอยปกคลุมให้ความชุ่มชื่น ร่มเย็น เป็นที่พักพิงแก่เหล่าสรรพสัตว์และศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ท่านได้ปล่อยวางสังขารจากเราเสียแล้ว ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ล้มด้วยอายุ กาลเวลาที่ตรากตรำ ทนแดดทนฝนมานาน ไม่ได้ล้มด้วยเพราะโรคาพยาธิเบียดเบียน เป็นการล้มไปตามกฎของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมโทรมและก็ดับไปเป็นธรรมดา ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ การยกเว้น ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีพวกเราพวกเขาทุกคนมีสิทธิ์และความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งหมด แม้กระทั่งองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาเอกของโลก เมื่อครั้งที่ท่านยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ท่านก็ปฏิบัติตนไปตามกฎของธรรมชาติ ท่านมิได้หลีกหนีความตาย ท่านเผชิญหน้ากับความตายอย่างองอาจ ท่านเป็นดั่งวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ท่านได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เรื่องของโลก จนในที่สุดท่านก็รู้ทันธรรมชาติ รู้ทันโลก และท่านก็รู้วิธีการเอาชนะธรรมชาติเอาชนะโลก เป็นผู้อยู่เหนือโลก อยู่เหนือวัฏฏะสงสารท่านได้ตัดกิเลสอุปาทานจากขันธ์ 5 ตัดจากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งเครื่องพันธนาการผูกมัดชาวโลกทั้งหลายเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เมื่อท่านตัดกิเลส อุปาทานลงได้อย่างราบคาบแล้ว ท่านก็หาได้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวไม่ท่านกลับมีความสงสารชาวโลก ที่ยังมีความโง่หลงงมงายนับเป็นพระมหากรุณาและเมตตาอันใหญ่หลวงที่พระองค์ท่านได้นำเอาธรรมะ ซึ่งพระองค์ท่านได้รู้แจ้งเห็นจริง นำมาเผยแผ่พร่ำสอน ชี้แนะให้แก่ชาวโลกเหล่าสาวก พุทธบริษัททั้งหลาย ได้มองเห็นโลกอันแท้จริง ดั่งที่ท่านมองเห็น เราอยู่กับโลกต้องเข้าใจในโลกมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เหล่าศิษยานุศิษย์พึงแสดงความเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ต่อการจากไปของหลวงปู่อย่างไม่มีวันกลับ ก็เนื่องจากว่าเมื่อครั้งท่านยังดำรงสังขารอยู่นั้นท่านได้ประกอบคุณงามความดีอันทรงคุณค่าทางธรรมอย่างมากมายมหาศาลมีความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์เหมือนพ่อที่มีต่อลูกอย่างหาที่สุดไม่ได้ ด้วยคุณงามความดีและปฏิปทานี้แหละมันคือทรัพย์สมบัติอันมหาศาลที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้พวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้น้อมนำเอาไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตต่อครอบครัว ต่อหน้าที่การงาน ต่อสังคมหลวงปู่ท่านมิได้หายไปไหน หลวงปู่ท่านยังสถิตอยู่ในหัวใจของศิษยานุศิษย์อยู่ตลอดเวลา สถิตตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้พบกับท่าน และจะสถิตต่อไปชั่วนิรันดร์

หลวงปู่ญาท่านสวน ฉนฺทโร สิริรวมอายุได้ 95 ปี 6 เดือน 6 วัน 75 พรรษา


http://watnaudombunnatomnua.com/                                       


กราบนมัสการ

ขอบคุณข้อมมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้