|
พระไตรปิฎกหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การจารึก “พระไตรปิฎก” นั้น มิใช่จดจารอยู่แค่เพียงใน ใบลานหรือสมุดข่อย แต่ยังได้มีการจารึกพระไตรปิฎกไว้ใน หินอ่อน อีกด้วย
พระไตรปิฎกหินอ่อนชุดแรกของโลกนั้นเป็นของประเทศพม่า ตั้งอยู่ ณ วัดกุโสดอ (Kuthodaw Pagoda) เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ตามประวัติกล่าวว่า ได้จัดทำขึ้นในสมัยของ พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ซึ่งปกครองประเทศในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๕-๒๔๒๑ เป็นช่วงสมัยที่พระพุทธศาสนาในพม่ากลับมาเข้มแข็งมั่นคงอีกวาระหนึ่ง พระองค์ได้โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๑๔ ซึ่งมีพระสงฆ์จำนวน ๒,๔๐๐ รูปจากทั่วประเทศมาร่วมกันสังคายนาในครั้งนี้
รวมทั้ง ได้มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ และจารึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีลงในแผ่นหินอ่อนทั้งสองด้าน มีขนาดกว้าง ๑.๑ เมตร สูง ๑.๕ เมตร และหนาประมาณ ๕-๖ นิ้ว แบ่งเป็นจารึกพระสูตร ๔๑๐ แผ่น พระวินัย ๑๑๑ แผ่น และพระอภิธรรม ๒๐๘ แผ่น รวมทั้งหมด ๗๒๙ แผ่น
การตระเตรียมการจารึกพระไตรปิฎกนี้ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ และสิ้นสุดใน พ.ศ.๒๔๑๑ จากนั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๕ จึงได้มีการจัดสร้างพระเจดีย์จำนวน ๗๒๙ องค์เท่าจำนวนพระไตรปิฎกหินอ่อน เพื่อบรรจุพระไตรปิฎก ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “หนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
สำหรับพระไตรปิฎกหินอ่อนชุดที่ ๒ ของโลกเป็นของประเทศไทย และนับว่าเป็น “พระไตรปิฎกหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ตั้งอยู่ ณ พุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ความเป็นมาของการจัดสร้างพระไตรปิฎกหินอ่อนของไทยนั้น กล่าวคือ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้ดำเนินการจารึกพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี อันเป็นภาษาหลักของพระพุทธศาสนา จากพระไตรปิฎกฉบับซึ่งคณะสงฆ์ไทยได้ทำการตรวจชำระ และสังคายนาพระธรรมวินัย ลงบนแผ่นหินอ่อนขนาดกว้าง ๑.๑๐ เมตร สูง ๒ เมตร หนา ๗-๘ นิ้ว จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น เพื่อเป็นถาวรวัตถุอันเป็นนิมิตหมายแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นี้ ให้ปรากฎในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาและชาติไทย
ทั้งนี้ ได้มีการก่อสร้าง พระมหาวิหาร เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อนทั้งหมด ณ บริเวณพื้นที่เกาะทางทิศตะวันตก ด้านหลังพระพุทธรูปพระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ซึ่งมีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๙ ไร่ ส่วนอาคารพระมหาวิหารก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นที่ ๕,๘๒๔ ตารางเมตร ตัวอาคารเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ลักษณะรูปทรงจตุรมุขทั้ง ๔ ทิศ โดยมี พระเจดีย์มหารัชมังคลาจารย์ อยู่ตรงกลาง
|
|