|
ประวัติวัดมหาพุทธาราม
วัดมหาพุทธาราม ในปัจจุบัน เดิมชื่อ วัดป่าแดง และวัดพระโต ก่อน พ.ศ.๒๓๒๕ ชื่อว่า “วัดป่าแดง” พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๙๐ ยุคเมืองศรีนครเขต-ศรีสะเกษ ชื่อว่า “วัดพระโต” เป็นวัดฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี ความหมายปัจจุบัน คามวาสี เป็นวัดฝ่ายคันถธุระ ที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม-แผนกบาลี และจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่กุลบุตร กุลธิดา ส่วนอรัญวาสี เป็นวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระ เน้นและส่งเสริมการปฏิบัติกัมมัฎฐาน หรือเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่มหาเถรสมาคมประกาศขึ้นทะเบียน
ก่อนจะมาเป็นวัดมหาพุทธาราม มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในการคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ (เฉพาะบางส่วน) อันเนื่องมาจากการยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เพื่ออนุวัตรตามการปกครองฝ่ายบ้านเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย โดยการจัดการบริหารราชการแผ่นดินแบบอธิปไตย ๓ คือ อำนาจนิติบัญญัติ ๑ อำนาจบริหาร ๑ อำนาจตุลาการ ๑ แต่ละฝ่ายต่างเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคณะสงฆ์ ได้จัดระบบบริหารคณะสงฆ์คล้อยตามฝ่ายบ้านเมืองเป็น ๓ อำนาจ คือ อำนาจสังฆาณัติ (นิติบัญญัติ) ผ่านสังฆสภา ๑ อำนาจบริหาร ผ่านคณะสังฆมนตรี ๑ อำนาจตุลาการ ผ่านคณะวินัยธร ๑
ในส่วนการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง แบ่งออกเป็น ๔ องค์การ แต่ละองค์การ ให้มีสังฆมนตรีว่าการองค์การๆ ละ ๑ รูป ถ้าเห็นสมควรจะกำหนดให้มีสังฆมนตรีช่วยก็ได้ ดังนี้
๑. องค์การปกครอง
๒. องค์การศึกษา
๓. องค์การเผยแผ่
๔. องค์การสาธารณูปการ
ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในสังฆาณัติ เช่นให้ผู้ตรวจการภาค มีคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดโดยมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน และคณะกรรมการสงฆ์อำเภอโดยมีเจ้าคณะอำเภอเป็นประธานอนุวัตรตามการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง ยกเว้นระดับแขวง ระดับตำบล และวัด คงให้เป็นไปตามหลักจารีตนิยม
จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ หลังจากพระครูธรรมจินดามหามุนี (เดช มหาปุญฺญเถร) เจ้าอาวาสวัดพระโต ได้ถึงแก่มรณภาพ ได้มีการเคลื่อนไหวของคณะบุคคลบางฝ่าย ซึ่งมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองวัดพระโต ให้เป็นไปตามความประสงค์จะให้เป็น โดยอ้างว่า เพื่อเป็นการยกฐานะของวัดให้สูงขึ้น (อันที่จริง ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงได้มีมาตั้งแต่สมัยที่พระครูธรรมจินดามหามุนี ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษแล้ว)กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ครั้นลุ พ.ศ.๒๔๘๔ พระมหาอิ่ม (สายชมภู) เปรียญธรรม ๕ ประโยค น.ธ.เอก วัดหลวงสุมังคลาราม (ธ) ได้รับโปรดแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษ พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะเมือง ในราชทินนนามที่ “พระครูชินวงศ์ปฏิภาณ” พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนนามที่ “พระชินวงศาจารย์” ซึ่งถือว่าเป็นพระราชาคณะรูปแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ปกครองคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายคือ ธรรมยุตและมหานิกาย ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๙๔ คณะสงฆ์ไทย ได้แยกการปกครองออกเป็นคณะธรรมยุต กับ คณะมหานิกาย ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองศรีสะเกษได้เปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระชินวงศาจารย์ปกครองเฉพาะคณะธรรมยุต เปลี่ยนชื่อตำแหน่งว่า “เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดศรีสะเกษ” ส่วนตำแหน่งผู้ปกครองคณะมหานิกาย เรียกว่า “เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ” สืบมาจนทุกวันนี้ (พระราชเมธี (วรวิทย์) ประวัติเมืองในเขตภาค ๑๐ ตอนประวัติศรีสะเกษ)
ในการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษครั้งนั้น ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายมหานิกาย ได้มีการแสดงสังฆมติ (สมัยพระวินัยธรทองพูล เป็นเจ้าอาวาส) เพื่อเปลี่ยนชื่อวัดพระโตใหม่ นัยว่าเพื่อให้ทันสมัยกว่าเดิม ครั้งนั้นได้แบ่งแนวคิดออกเป็น ๒ แนวคิด คือ แนวคิดที่ ๑ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระชินวงศาจารย์ (อิ่ม) ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษทั้งสองนิกาย (ขณะนั้น) เห็นว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อวัดพระโตเป็น “วัดมหาพุทธวิสุทธาราม” และแนวคิดที่ ๒ เห็นว่า ชื่อดังกล่าว เรียกยาก จำยาก ควรจะหาชื่อที่เหมาะสมและเรียกง่ายกว่าชื่อนี้ ในที่สุด กรรมการสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ จึงเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการๆ ได้มีบัญชาให้เปลี่ยนชื่อวัดพระโตเป็น “วัดมหาพุทธาราม” เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๐ (อ้างบันทึก พระมหาประยูร วัดมหาพุทธาราม) และก็ใช้ชื่อ “วัดมหาพุทธาราม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน
ที่มาและความหมายของนาม วัดมหาพุทธาราม เป็นการนำเอานามวัดพระโต ที่แปลว่า วัด พระ ใหญ่ ไปแปลกลับเป็นคำภาษาบาลี ซึ่งแยกคำดังนี้ มหา แปลว่า โต, พุทธ แปลว่า พระ, อาราม แปลว่า วัด เมื่อนำคำทั้งหมดมารวมกัน ก็จะเป็น วัดมหาพุทธารามแปลว่า วัดพระโต หรือ วัดพระใหญ่ ซึ่งก็คือนามเดิมของวัดนั่นเอง จะแตกต่างเพียงพยัญชนะ คือ ลีลาทางภาษาเท่านั้น อย่างไรก็ดี ไม่ว่า วัดมหาพุทธาราม จะมีต้นกำเนิดมาจากวัดพระโต และหรือวัดป่าแดงก็ตาม ย่อมมีทั้งตำนาน คำบอกเล่า และประวัติความเป็นมาและความสำคัญ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ติดตาม ศึกษา ค้นคว้า เพื่อแสวงหาความจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ผู้สร้างบ้านแปลงเมืองและรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย และที่สำคัญได้สร้าง “วัดมหาพุทธาราม” ให้เป็นสถาบันแห่งภูมิปัญญาธรรม และปุญญสถานของมวลมนุษยชาติสืบไปชั่วกาลนาน
ปัจจุบัน วัดมหาพุทธาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เนื่องด้วยในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ ทั่วประเทศรวมจำนวน ๒๐ วัด
ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
เว็บไซต์สำนักศาสนศึกษาวัดมหาพุทธาราม
http://ssk.onab.go.th/index.php?option= ... Itemid=123
http://www.atubon.com/topic/288
..............................................................
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46282
|
|