ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1801
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ

[คัดลอกลิงก์]


ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง  อ.ศรีเชียงใหม่  จ.หนองคาย
เมื่อวันที่ ๘  ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖


ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา

ปริยัติ เป็นชื่อเรียกคำสอนทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

ปฏิบัติ ปฏิบัติตนตามนัยที่พระองค์ทรงสอนไว้

ปฏิเวธ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเองภายในใจของผู้ปฏิบัติ  
เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล ไม่ใช่ของเกิดได้ในสาธารณะทั่วไป

ทีนี้จะพูดถึงหลักความจริงแล้วมันจะกลับกันจากความเข้าใจของคนทั่วไป

คือ ปริยัติเกิดมาจากปฏิเวธ ปฏิเวธจะเกิดได้เพราะปฏิบัติ
ถ้าไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ถึงปฏิเวธ ไม่มีปฏิเวธ
เมื่อไม่มีปฏิเวธ คือไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็บัญญัติไม่ถูก
(บัญญัติ ก็คือปริยัติ) บัญญัติไม่ถูก ก็ไม่มีปริยัติ


เมื่อพูดตามความเป็นจริงแล้วมันต้องเป็นอย่างนั้น

ที่ท่านตั้งเป็นแนวไว้ว่า ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ คือเรียนรู้เสียก่อน  เมื่อรู้เรื่องแล้วจึงค่อยปฏิบัติ ปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยถึงปฏิเวธ อันนี้ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปเรียนให้มากๆ จนได้นักธรรม ตรี โท เอก  เป็นมหาเปรียญเสียก่อนแล้ว จึงค่อยปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น

การเรียนนั้นไม่ต้องไปเรียนตามตำรับตำราอะไรมากมาย  คือเราเข้าหาสำนักครูอาจารย์หรือผู้ที่ท่านจะอธิบายธรรมะข้อใดบทใดให้ฟังก็ตามเรียกว่า  การฟัง นั่นแหละนับว่าเป็นการเรียนในที่นี้  เมื่อเรียนแล้วก็เกิดความเข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ในการเรียนจึงตั้งใจปฏิบัติตาม  เมื่อเราปฏิบัติด้วยตนเองแล้วจึงเกิดปฏิเวธในธรรมปริยัติข้อนั้นๆ  ขึ้นมา  ดังนั้น ปริยัติต้องออกมาจากปฏิเวธแน่นอน

คำว่า  ศึกษาธรรมะ  นั้นไม่ใช่การเรียนปริยัติ  ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าศึกษาปริยัตินั้นอันหนึ่ง  ศึกษาธรรมะก็อีกอันหนึ่งแตกต่างกัน  โดยมากเข้าใจกันว่า   ศึกษาธรรมะ คือ  ศึกษาตามตำรับตำรา บทบัญญัติ และพระธรรมคำสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า  เมื่อได้แล้วก็เป็นปฏิเวธ  แต่การศึกษาอันที่จะนำให้เกิดปฏิเวธนั้นไม่ใช่ศึกษาแต่ปริยัติดังที่เข้าใจกันเช่นนั้น  หากเป็นการศึกษาอุบายแยบคายโดยเฉพาะในการที่จะปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้เกิดปฏิเวธ  

ในสมัยพุทธกาลเมื่อยังไม่ได้ทรงบัญญัติพระธรรมคำสอนเลย  แต่สาวกได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัส บางองค์เพียงบาทคาถาเดียวก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  สามเณรลูกศิษย์พระสารีบุตรยังไม่ได้ฟังเทศน์ด้วยซ้ำ  ขณะปลงผมจะบรรพชาเท่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว  นี่แสดงว่าการศึกษาธรรมะที่แท้จริงกับการศึกษาปริยัติเป็นคนละเรื่องกัน  ที่ศึกษาในปริยัติก็จริงอยู่แต่ยังไม่ถูกทีเดียว  ต้องศึกษาแนวทางปฏิบัติด้วยถึงจะถูกโดยสมบูรณ์
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-20 09:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปฏิบัติ  การศึกษาที่จะให้เกิดการปฏิบัตินั้น  จะศึกษาบัญญัติแล้วนำมาปฏิบัติก็ได้  แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องไปศึกษามากมายเพียงหยิบยกเอาอุบายอันใดอันหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก็เรียกว่าศึกษา  หรือไม่ได้ศึกษาบัญญัติแต่มันเกิดเองรู้เองก็เรียกว่าการศึกษาเหมือนกัน  การที่จะรู้เองเช่นนั้นมีได้ในบางคน  เช่นมองดูตัวของเรานี้เวลามันจะเกิดอุบายขึ้นมาก็ไม่รู้ตัว  โดยที่เราไม่ได้คิดไม่ได้ตั้งใจที่จะให้มันเป็น  แต่ว่ามันปรากฏขึ้นมาเองภายใน  มันวิตกวูบขึ้นมา  เอ๊ะ !  ตัวอันนี้มันเป็นตัวอะไรนี่  ที่เรียกว่าคน  คนนั้นมันอยู่ตรงไหนกัน  ส่วนที่เกิดขึ้นมาเองอันนี้มันเป็นอุบายที่ถูกใจของเรา  ถูกนิสัยของเราแล้ว  เมื่อสนใจเรื่องนั้นใจก็ปักมั่นแน่วแน่คิดค้นแต่ในเรื่องนั้นเรื่องเดียว  จนกระทั่งมันรู้ชัดขึ้นมาตามความเป็นจริง  อันนั้นแหละเรียกว่า  แยบคาย

อุบาย  คือที่เราจับได้ในเบื้องต้นและมีแยบคาย  คือพิจารณาจนเกิดผลนั่นแหละ  คือ  การศึกษาธรรมะ  เวลามันเกิดเฉพาะของใครของมัน  ไม่มีใครสอนถูก  มันรู้ชัดเห็นชัดเอาจริงๆ  ทีเดียว  แยบคายจึงเป็นของสำคัญยิ่งกว่าอุบาย  คือด้วยปัญญาขั้นละเอียด

สำหรับผู้ที่ไม่เกิดเองเป็นเองก็ต้องอาศัยแนวทางปฏิบัติ  คือยกเอาอุบายขึ้นมาพิจารณาจนให้เกิดแยบคาย  อุบายในการภาวนาท่านกล่าวไว้มีมากมายเรียกว่ากัมมัฏฐาน  ๔๐ เช่นพิจารณา  อุสุภะ   อานาปานสติ  กายคตาสติ  สติปัฏฐานสี่  ฯลฯ  เป็นต้น  อุบาย  เป็นเพียงสิ่งที่ใช้นำจิตให้มาอยู่ในอารมณ์อันเดียว  เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจะมี  แยบคาย  เกิดขึ้น  รู้ชัดเห็นชัดตามเป็นจริงด้วยตนเอง  เรียกว่า  ปฏิเวธ  เกิดขึ้นแล้วในบุคคลนั้น

ปฏิเวธ  เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาเฉพาะตน   เช่นพิจารณากายของเราจนกระทั่งเห็นกายนี้เป็นกองทุกข์ทั้งหมด  ความรู้ชัดที่เกิดขึ้นเองนี้บางคนไม่ได้เรียนปริยัติเสียด้วยซ้ำ  แต่เขาพิจารณาเห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏะจริงๆ  มองดูสิ่งใดๆ  ในโลกนี้เห็นว่าเป็นทุกข์ภัยทั้งนั้นมีแต่ความเดือดร้อนตลอดเวลา  แม้แต่ตัวของเราเองจะดูตรงไหนๆ  ก็เป็นแต่ก้อนทุกข์มีแต่โรคภัยไข้เจ็บตลอดเวลา  เกิดโรคได้ทุกส่วนที่ตา  หู  จมูก  ลิ้น  ฯลฯ  แม้แต่เส้นผมแต่ละเส้นๆ  ก็มีโรคประจำอยู่  ความรู้เห็นเช่นนี้ไม่ได้ไปศึกษาที่ไหน  มันเกิดขึ้นโดยตนเอง  เมื่อรู้เห็นเช่นนี้แล้วมีผลให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายเสียจากความยินดีพอใจในอัตภาพร่างกายของตน  หายหลงกายอันนี้เห็นว่าของอันนี้ไม่จีรังถาวร  ของอันนี้ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว  ปล่อยวางลงได้  ใจเข้าถึงความสงบเป็นสมาธิแน่วแน่เต็มที่เรียกว่า  ปฏิเวธ  เกิดขึ้นแล้ว

ความเป็นจริงนั้นจิตมันอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วละอุปาทานที่มันเป็นทุกข์นั่นแหละ  มันไม่ได้ส่งสายไปที่อื่นมันแน่วแน่อยู่แต่ในเรื่องทุกข์นั้น  ขณะนั้นจิตสงบลงแล้วมันจึงค่อยเห็นชัดแจ้งขึ้นมา  ถ้าจิตไม่สงบก็ไม่เห็นชัด  อย่างเช่นเราเรียนรู้กันเรื่องอาการ  ๓๒  สวดกันอยู่บ่อยๆ  คล่องปากทีเดียว  แต่จิตมันไม่อยู่มันส่งสายไม่แน่วแน่ลงเฉพาะในเรื่องเดียว  ก็เลยเป็นสักแต่ว่าสวดไม่ทำให้เกิดความสลดสังเวช  ไม่เป็นเหตุให้เบื่อหน่ายคลายความพอใจในรูปอัตภาพ  เช่นนี้เรียกว่าปฏิเวธยังไม่เกิด เป็นเพียงเรียนตามปริยัติ  ท่องจำปริยัติเป็นสัญญาไม่ใช่ปฏิเวธ  

การที่จะเกิดปฏิเวธขึ้นนั้น  จิตต้องมีสมาธิเกิดขึ้นพร้อมๆ  กัน โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดสมาธิและปฏิเวธ  ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นสมาธิเลย  มันเข้าถึงสมาธิและเกิดปฏิเวธโดยไม่รู้ตัว  เหตุนี้จึงเคยพูดเสมอว่า  แยบคายของแต่ละบุคคลนั้นเป็นของสำคัญที่สุด  คือมองดูของสิ่งเดียวกันเห็นเหมือนกันหมดทุกคนนั้นแหละ  แต่ว่าบางคนไม่มีแยบคายที่จะประคองจิตให้มันแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว  จนกระทั่งจิตเห็นชัดขึ้นมาตามความเป็นจริง

ปริยัติ  พอปฏิเวธเกิดขึ้นมาแล้ว ทีนี้จะพูดอะไรบัญญัติอะไรก็ถูกต้องตามเป็นจริงทุกประการ  แต่จะต้องบัญญัติใหม่เสียก่อน  เพราะความรู้ตามเป็นจริงนั้นจะพูดให้คนที่ไม่รู้ตามเป็นจริงเข้าใจยาก  ต้องมาเรียบเรียงคำพูดใหม่เสียก่อนจึงจะเข้าใจเป็นเรื่องเป็นราว   ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ทั้งหมดที่เรียกว่า ปริยัติ  เช่นคำว่า ขันธ์ห้า, อายตนะ  ทีแรกเขาไม่ได้เรียกว่าขันธ์ห้า  เขาเรียกว่าคน  ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความเป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ  ต่างหาก จึงได้ทรงแยก “คน” ออกเป็นขันธ์  คือ ขันธ์ห้า บางทีทรงแยกเป็น ธาตุสี่ และบางทีเป็น อายตนะ เป็น อินทรีย์

ทำไมจึงทรงแยกอย่างนั้น  นั่นคือความแยบคายของพระองค์  พระปัญญาเฉียบแหลมของพระองค์  คำว่าแหลมในที่นี้ทั้งแหลมทั้งลึกทั้งละเอียด  เช่นทรงเห็นชัดแจ้งตลอดในสรีระร่างกายอันนี้ว่า แท้จริงไม่ใช่คน  ไม่ใช่สัตว์  มันเป็นเพียงก้อนธาตุประชุมกัน  พร้อมกับที่ทรงเห็นว่าเป็นก้อนธาตุประชุมกัน ก็ทรงเห็นการแตกสลายดับไปของก้อนธาตุอันนั้นร่วมไปด้วย  จึงได้ทรงสมมติบัญญัติร่างกายอันนี้ว่า รูป  รูปก็คือของสลายแตกดับ  คำว่า  รูป ในที่นี้เลยครอบไว้หมดทั้งเกิดและดับ  หรือรูปก็คือลบนั่นเอง  เป็นรูปขึ้นมาแล้วก็ลบหาย  (สลาย)  ไป  นี่เป็นแยบคายของพระองค์ คำว่า  ขันธ์  หมายถึงจับกันเป็นก้อน  เป็นกลุ่ม  เป็นหมู่  

ดังนั้นที่พระองค์ทรงแยกคนออกเป็นขันธ์  ก็คือ  สิ่งที่ข้นแข็งจับกันเป็นก้อนมองเห็นได้เรียกว่า  รูป  และส่วนที่ละเอียดมองไม่เห็น  แต่ก็มีอยู่เรียกว่า  นาม ได้แก่   เวทนา  สัญญา  สังขาร วิญญาณ  เมื่อทั้งสองส่วนมาประชุมกันเข้าจึงเป็น  ขันธ์ห้า  หมายถึงห้ากองนี่เอง  ทั้งห้ากองนี่ต่างก็เป็นสิ่งที่ไม่คงทนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนๆ  กัน  รูปนั้นเกิดดับช้าหน่อย  ส่วนเวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณนั้นเกิดดับเร็วกว่ารูป

ถ้าพิจารณาตามจนเห็นชัดจริงๆ  แล้ว  จะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงรอบรู้อย่างละเอียดละออและลึกซึ้งลงไปถึงที่สุด  โดยที่ไม่ทรงศึกษามาจากสำนักไหนจากอาจารย์ใดเลย   วิชชาของพระองค์จึงน่าสรรเสริญยิ่งนัก   เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรงบัญญัติขึ้น  บัญญัติของพระองค์สมจริงเป็นความจริงอยู่อย่างนั้นอยู่ตลอดกาล  แม้ใครจะเกิดมาภายหลังอีกกี่ร้อยกี่พันปี  กี่ภพกี่ชาติก็ตาม  หากมาศึกษาพิจารณาค้นคว้าบัญญัติของพระองค์นี้แล้ว   ไม่มีผิดแผกแตกต่างกันเลย  ตรงทุกสิ่งทุกประการ  แต่เรายังไม่ทันเห็นจริงด้วยตนเองเท่านั้นแหละ

คำสั่งสอนของพระองค์ที่เราศึกษากันอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่ลึกซึ้งเข้าไปถึงความรู้อันแท้จริงของพระองค์  ยกตัวอย่างอันเดิมคือ  รูป  นี่แหละ  พระองค์ตรัสไว้ว่า  รูป  เป็นก้อนธาตุมาประชุมกัน  เกิดขึ้นแล้วมีแตกสลายดับไป  ลองนำมาพิจารณาดูเถิดบรรดารูปที่ปรากฏเห็นได้ด้วยสายตาของเราในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นรูปมนุษย์  สัตว์  ต้นไม้  ภูเขา  ฯลฯ  มันเหมือนกันหมด  คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นก้อนธาตุ  เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับสลายไป  แม้แต่พื้นปฐพีกว้างใหญ่อันนี้ก็มีวันหนึ่งข้างหน้าที่มันจะสลาย  (มีอธิบายไว้ถึงเรื่องการแตกสลายของโลกในหนังสือไตรโลกวิตถาร)  มันตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ที่เขาศึกษากันในปัจจุบันนี้  

พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิทยาศาสตร์อย่างพวกเรา  ทำไมพระองค์จึงไปทรงทราบถึงเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด  และตรงกับของเขาอย่างจริงจังด้วย    สิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ยังมีอีกมากที่วิชาวิทยาศาสตร์และวิชาแพทย์ปัจจุบันนี้ก็ยังเข้าไปไม่ถึง  จึงว่าพระปัญญาของพระองค์น่าสรรเสริญยิ่งนัก  แทงตลอดถึงที่สุดในทุกสิ่ง

ทีนี้  บัญญัติ ทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธองค์ก็ไม่ให้เอาเช่น ขันธ์ห้า  นี่แหละ  พระองค์ไม่ได้ทรงสอนให้เอา  ไม่เป็นของเอา  ทรงสอนให้รู้จักต่างหาก  ทรงสอนให้รู้จักเรื่องสรีระร่างกาย  ให้รู้จักส่วนประกอบและหน้าที่ของมัน  หน้าที่ของมันเป็นอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ  รูปมันก็เกิด-ดับ  นามก็เกิด-ดับ  หน้าที่ของอายตนะก็เกิด-ดับเหมือนกัน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-20 09:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตา  สำหรับมองรูป  เห็นรูปนี้แล้วพอเห็นรูปใหม่รูปอันเก่าก็ดับไปหมดไป  หูได้ยินเสียงก็เช่นเดียวกัน  ได้ยินแล้วก็ดับไปหมดไป  จมูกดมกลิ่น  ลิ้นรับรส  กายรับสัมผัสต่างๆ  ใจคิดถึงเรื่องต่างๆ  อารมณ์ต่างๆ  ก็เกิด-ดับเหมือนกันทั้งนั้น  เรื่องแรกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเรื่องใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก  วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา  แล้วจะเอาอะไรมาเป็นเราเป็นของเรา  มันไม่มีของเราสักอย่าง  มันทำหน้าที่ของมันต่างหาก  เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้วมันก็คลายเสียจากความยึดถือ  ความยึดมั่นว่าตัวเราตัวเขา  ของเราของเขา  ก็จะมาเข้าใน  สภาวะธรรม

ถ้าลงถึง  สภาวะธรรม แล้วก็ถึงที่สุดไม่มีทางไป เพราะมันเป็นอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติของมัน เมื่อเราไม่เอาขันธ์มาเป็นตัวเราของเราแล้ว การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรอีก เพราะจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติก็คือให้ปล่อยวางจากความยึดมั่น สำคัญเอาขันธ์ว่าเป็นตัวเราของเรา อันการที่จะปล่อยวางได้นั่นซิมันยากนักหนา เพราะเราถือว่าเป็นตัวตนของเรามานานแสนนานแล้ว  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาหลายด้านหลายทาง  ให้พิจารณาแยกแยะออกไปเสียอย่าให้เป็นตัวคน   จึงได้บัญญัติให้เป็นชื่อไว้แต่ละอย่างๆ เป็นสัดเป็นส่วน ต่างก็ทำหน้าที่ของมันตามเรื่องของมัน เมื่อแยกอย่างนี้มันก็จะไม่เป็นคน ไม่เป็นตัวเป็นตน จิตมันก็จะปล่อยวาง

เมื่อเราปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ พิจารณาจนเกิดปัญญาเห็นความจริงดังที่อธิบายมาแล้วมันต้องวาง เมื่อปล่อยวางแล้วก็เรียกว่าเห็นธรรม เข้าถึงธรรมได้ธรรม เลยกลายเป็นธรรมขึ้นมา นี่แหละที่เรียกว่าเรียนปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ที่ต้องแท้ ถึงเล่าเรียนปริยัติจากตำราต่างๆ แล้วอย่าไปถือเอาเป็นของจริง อันนั้นเป็นแนวทางที่จะให้ถึงของจริง เข้าถึงของจริงในที่นี้คือ รู้จักหน้าที่ของมัน มันเป็นจริงอยู่อย่างนั้น  แล้วมันจะปล่อยวางเอง

ปล่อยวางแล้วทีนี้มันจะได้อะไร  ?

เราจะทราบว่าอันคำว่า ปล่อยวาง นั้นแหละมันยังมีเหลืออยู่ มันยังมีคำว่าไม่มีอะไร ผู้รู้ อันนี้มันปรากฏขึ้นมาเมื่อจิตสงบเท่านั้น ถ้าจิตไม่สงบคือยังไม่ปล่อยวางอุปาทาน ผู้รู้ อันนี้จะไม่ปรากฏ เพราะมันไปยึดเอาบัญญัติตำราไว้หมด เมื่อเราวางบัญญัติได้ สำรอกบัญญัติออกหมดแล้ว  จิตสงบจะปรากฏแต่  ‘ผู้รู้’ อยู่อันเดียว  แล้วจึงค่อยมาชำระผู้รู้นั้นอีก มันจะมีอะไรสำคัญเกิดมาที่ตรงนั้น ต้องชำระกันตรงนั้น  

สรุป การศึกษาธรรมมะ เบื้องต้นท่านตั้งเป็นแนวไว้คือ ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ หากมาพิจารณาดูมันจะย้อนกลับตรงกันข้าม คือ ปฏิเวธ แล้วจึงมาบัญญัติ ปริยัติ ที่ตั้งเป็นปริยัติไว้เพื่ออะไร เพื่อจะรู้ของจริงตามเป็นจริง เช่น ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ เป็นต้น แล้วจะไม่เข้าไปยึดถือ ถ้ายังยึดอยู่ยังใช้ไม่ได้ ยังรู้ไม่ถูก หากนำมาพิจารณาจนกระทั่งเห็นลงเป็น สภาวะธรรม มันเป็นจริงเช่นนั้นแล้วจะปล่อยวางไม่ยึด มันก็ว่าง นั่นแลเรียกว่า ปฏิบัติ

เมื่อรู้จักว่าว่างมันก็ยังมี ผู้รู้ ว่าว่างเหลืออยู่ ยังยึดผู้ว่างอยู่ก็ต้องชำระว่า ผู้ว่าง นั้นอีกทีหนึ่ง การปฏิบัติต้องให้มันมีหลักอย่างนี้ ไม่ใช่ปฏิบัติอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าผิดๆ ถูกๆ แล้วแต่มันจะเป็นไปอย่างไร   แล้วแต่ว่ามันจะถึงอะไร  แบบนั้นมันเป็นการเสียเวลาเปล่า ถึงแม้ว่าภาวนาเป็นหลักแล้วหากจับหลักไม่ถูกหรือไม่มีหลักการภาวนาก็สามารถที่จะเสื่อมเร็วไม่ค่อยจะเจริญก้าวหน้า  ถ้าหากปฏิบัติเข้าถึงธรรมของจริงแล้ว ธรรมทั้งหลายมันไปรวมกันได้ไม่ว่าพิจารณาอะไร เช่นพูดถึง ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ก็เข้าถึงธรรมได้เหมือนกัน พูดถึงเรื่องกรรม กรรมดี กรรมชั่ว กรรมไม่ดีไม่ชั่ว ก็เข้าถึงธรรมได้ พิจารณาเกิด-ดับ ก็เข้าถึงธรรมได้ ฯลฯ

ตกลงสิ่งทั้งปวงก็เลยเป็นธรรมทั้งหมด เมื่อเป็นธรรมแล้วก็หมดเรื่อง เพราะไม่ใช่อะไรทั้งหมด เรียกว่า ธรรม คือของว่างเปล่า ไม่มีสาระ เมื่อไม่มีสาระใจก็ไม่เข้าไปยึด ใจว่างหมดทุกสิ่ง และไม่เข้าไปยึดอะไรอีก

อธิบายเรื่องปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ มาในวันนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้ เอวํฯ

ทุกๆ คนเมื่อได้อ่านธรรมบรรยายนี้
ขอให้จดจำนำเอาไปใช้  นำไปพิจารณา
ปรับปรุงตนให้เข้ากับธรรม จนให้บรรลุ
เห็นแจ้งในใจด้วยตนเอง จึงจะเป็นของตัว

พระนิโรธรังสี



   คัดลอกเนื้อหามาจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15880

รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44750

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้