ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1943
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองลาว

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-4-18 10:31



“พระบาง”
พระพุทธรูปอันเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงพระบาง
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


ประวัติและที่มาพระบาง

ตามตำนานขุนบรม* นั้น แรกเริ่มเดิมทีเมืองหลวงพระบางนี้
ชื่อว่า เมืองซัวหรือชวา อันเป็นเมืองที่ปกครองโดยชนชาติข่า
แต่ถูกขุนลอ ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ล้านช้างยึดเมืองนี้ได้
แล้วตั้งเป็นเมืองของชนชาติลาวในราวปี พ.ศ. ๑๓๐๐
จากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น เมืองเชียงทอง
(ชื่อนี้ได้นำมาตั้งชื่อวัดสำคัญของหลวงพระบาง ชื่อวัดเชียงทองนั่นเอง)

จนกระทั่งมาถึงสมัยเจ้าฟ้างุ้ม ผู้รวบรวมแผ่นดินลาวให้เป็นปึกแผ่น
พระองค์ได้รับกำลังสนับสนุนจากนครอินทปัตถ์ (เขมร)
และได้แต่งงานกับธิดากษัตริย์ของเขมรในขณะนั้น จึงสามารถรวบรวมเเผ่นดิน
เเละสถาปนาอาณาจักรล้านช้างอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๑๘๙๖

พระองค์ยังได้นำพุทธศาสนาจากเขมรขึ้นมาเผยแผ่ยังดินแดนล้านช้าง
พร้อมอาราธนาพระมหาปาสมันต์เถระ
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในนครอินทปัตถ์มายังล้านช้างด้วย
พร้อมกันนั้นได้นำพระพุทธรูปประทับยืน
ศิลปะเเบบหลังบายนของเขมรมาด้วย
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพุทธรูปปางประทานอภัย
แรกเริ่มนั้นคงเรียกชื่อกันว่า “พระปางประทานอภัย”
แต่คงเรียกให้สั้นเข้าว่า พระปาง จนกระทั่งมาเป็น “พระบาง”

ระหว่างทางที่นำพระบางมาจากนครอินทปัตถ์นั้น
บางตำนานบอกว่าได้เกิดปาฏิหาริย์ที่ทำให้พระบางต้องประดิษฐานที่เมืองเวียงคำ
บางตำนานก็บอกว่า พระสหายที่เมืองเวียงคำ
ได้ขอพระบางองค์นี้ประดิษฐานให้ผู้คนได้กราบไหว้

จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว
ได้มีความพยายามนำพระบางมาประดิษฐานที่เมืองเชียงทอง
แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กล่าวว่า เกิดอภินิหารไม่ยอมไป
(คาดว่าชาวเมืองเวียงคำคงไม่ยอม)

ถึงสมัยพระเจ้าหล้าแสนไทยไตรภูวนาถ
บางตำราบอกว่าสมัยพระเจ้าวิชุลราชที่มีความพยายามนำพระบางมาอีกครั้ง
แต่จากที่นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ คาดว่า น่าจะเป็นสมัยพระเจ้าหล้าแสนไทย
แต่ได้ให้ท้าววิชุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งแสนเมือง
ไปนำพระบางมาประดิษฐานที่เมืองเชียงทองจนสำเร็จ

พระบางได้นำไปประดิษฐานที่วัดมโนรมย์
จนกระทั่งพระเจ้าวิชุลราชได้ขึ้นครองราชย์และสร้างวัดวิชุลราชจนแล้วเสร็จ
จึงได้อัญเชิญพระบางมาประดิษฐานที่สิมวัดวิชุลราช
และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงทอง เป็นเมืองหลวงพระบาง
ตามชื่อนามพระพุทธรูปที่เป็นศรีแก่เมือง


มาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
ได้ย้ายเมืองหลวงของล้านช้างมายังนครจันทบุรี (เวียงจันทน์)
ในปี พ.ศ. ๒๑๐๓ จึงได้นำพระบาง
รวมทั้งพระแก้วมรกต พระแทรกคำ พระบุษยรัตน์
มายังเวียงจันทน์ด้วย และประดิษฐานที่เวียงจันทน์เรื่อยมา


ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒  อาณาจักรธนบุรีของสยามได้นำกองทัพยึดอาณาจักรล้านช้าง
ที่ภายหลังแตกออกเป็น ๓ อาณาจักรไว้ได้ทั้งหมด
(สามอาณาจักรที่แตกนั้น ได้แก่  ล้านช้างหลวงพระบาง
ล้านช้างเวียงจันทร์และล้านช้างจำปาสัก)

จึงได้นำพระบาง พระแก้วมรกต และพระพุทธรูปสำคัญลงไปยังธนบุรีด้วย
จวบจนสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบางและพระเก้วมรกต ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน
ในพระบรมมหาราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์

ซึ่งข้าราชบริพารและขุนนาง พากันโจษขานกันว่า
เพราะพระบางและพระแก้วมรกตอยู่ด้วยกัน
จึงทำให้อาณาจักรล้านช้างมีแต่ความวุ่นวายและประสบภัยพิบัติ
กล่าวคือ เมื่อนำมาประดิษฐานด้วยกันที่หลวงพระบาง
หลวงพระบางก็ต้องเจอกับศึกพม่าถึงกับต้องย้ายเมืองหลวง (ไปอยู่เวียงจันทร์)

พอนำมาไว้เวียงจันทน์อาณาจักรล้านช้างก็ต้องสูญเสียเอกราช
(ซึ่งบางท่านได้วิเคราะห์ว่า  จริงๆน่าจะเป็นกุศโลบายของคนลาวล้านช้างเอง
เพื่อต้องการนำพระบางกลับไปยังลาว)

ต่อมาในภายหลัง รัชกาลที่ ๑  จึงได้พระราชทานพระบาง
ให้แก่เจ้านันทเสนเจ้านครเวียงจันทน์นำกลับไปประดิษฐานดังเดิมที่เวียงจันทน์


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-18 10:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ เกิดศึกครั้งใหญ่
ที่รู้จักกันดีว่า ศึกเจ้าอนุวงศ์
ศึกคราวนั้นสยามได้ขึ้นไปทำศึกที่เวียงจันทร์
ปราบทำลายนครเวียงจันทน์ลงอย่างเด็ดขาด
และได้เข้าไปปกครองดินแดนของล้านช้างเวียงจันทน์และจำปาสักเองทั้งหมด
จากศึกคราวนี้ทำให้พระพุทธรูปองค์สำคัญจากเวียงจันทร์จำนวนหลายองค์
ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพมหานคร

ในครั้งนี้ พระบาง จึงถูกแม่ทัพสยามนำกลับมากรุงเทพอีกครั้ง
รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดพระราชทานพระบาง
ให้ไปประดิษฐานที่วัดจักรวรรดิราชาวาสหรือวัดสามปลื้ม
ซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง  
ดังนั้นพระบางเมื่อครั้งมาประดิษฐานในกรุงเทพมหานครวาระที่ ๒ นี้
จึงไม่ได้อยู่ในเขตเดียวกันกับพระแก้วมรกตเหมือนวาระแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑

จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔  พระองค์พระราชทานพระบางกลับคืนให้ล้านช้าง
ซึ่งในขณะนั้นเหลือความเป็นอาณาจักรอยู่เพียงอาณาจักรเดียว คือ ล้านช้างหลวงพระบาง
เป็นอันว่าพระบางอันเป็นที่มาของชื่อเมืองหลวงพระบาง
ก็ได้กลับมาประดิษฐานที่เดิมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่เคยย้ายไปที่ใดอีก

พระบาง เก็บรักษาไว้ในพระราชวังหลวงพระบาง
ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการอัญเชิญพระบางมาประดิษฐานยังพระอุโบสถหลังใหม่
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


ข้อมูลจาก facebook : กลุ่มสมาคมศิลปะลาว-ศิลปะอีสาน


* หมายเหตุ

ขุนบรม หรือ ขุนบรมราชาธิราช
นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความสำคัญว่า ตำนานขุนบรมนี้
ได้อธิบายการอพยพของกลุ่มชาวไทจากดินแดนจีน (เปรียบเทียบเป็นสวรรค์ในตำนาน)
ไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เปรียบเทียบเป็นดินแดนใหม่)
ระบบของการแบ่งและขยายอาณาจักรสำหรับพระโอรสทั้ง ๗ ในตำนาน
ก็แสดงให้เห็นถึงการบริหารองค์กรหมู่บ้านของชาวไทโบราณ
หมู่บ้านเหล่านั้นเรียกว่า “เมือง”

นักวิชาการ David K. Wyatt เชื่อว่าตำนานของขุนบรม
สามารถช่วยให้ความเข้าใจลึกซึ้งประวัติศาสตร์
ของชาวไทโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ตำนานของขุนบรมหลายรุ่นเกิดขึ้นนานที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๑๒๔๑ ในเชียงขวาง
และอาณาจักรกลุ่มคนที่พูดกลุ่มภาษาไท
ก็มีการสร้างอาณาจักรต่างๆ ในปีหลังจาก พ.ศ. นั้น

ข้อมูลนี้สามารถอธิบายการขยายตัวของกลุ่มชาวไท
และสามารถให้เหตุผลที่เป็นตำนานว่าทำไมชาวไทถึงแยกกันอยู่แบบนี้
นักวิเคราะห์ผู้ชำนาญด้านภาษาได้วิเคราะห์ว่าการแบ่งกลุ่มของชาวไทโบราณ
เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๗ และ ๑๑ การแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นคู่กัน
กับเส้นภูมิภาคคล้ายกับการแบ่งแยกในตำนานของขุนบรม
และกลุ่มไทได้อพยบออกมาจากแผ่นดินที่เคยอาศัยมานานในเวียดนามปัจจุบัน
ซึ่งในบริเวณนั้นก็ยังมีคนพูดกลุ่มภาษาไทอยู่
ที่อาจจะแยกตัวออกมาก่อนกลุ่มอื่นในประวัติศาสตร์แล้ว
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-18 10:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระบาง เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย
สูง ๒ ศอก ๗ นิ้ว (ประมาณ ๑.๑๔ เมตร) น้ำหนัก ๕๔ กิโลกรัม
หล่อด้วยปัญจโลหะ (ทอง เงิน ทองแดง ทองเหลือง และเหล็ก)
มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย

โดยมีพุทธลักษณะคือประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน
พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง
พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน
พระโอษฐ์บาง พระเศียรและพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง
ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบงและหน้านาง

ชาวลาวเรียกพระพุทธรูปสำริดว่า  พระพุทธรูปทอง (ทอง แปลว่า สำริด)
ส่วนพระพุทธรูปที่ทำจากทอง  
เรียกว่า พระพุทธรูปคำ (คำ แปลว่า ทอง ในภาษาไทย)
ทำให้บางครั้งสับสนนึกว่า พระบางทำจากทองคำ
ที่ถูกต้อง คือ เป็นพระพุทธรูปสำริด

   

                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/ ... 3d4c674a2c887385ec8

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้