วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนบนที่ราบสูงเดกกัน พระภิกษุในสมัยนั้นได้ค้นพบสถานที่ที่เหมาะสำหรับทำเป็นกุฏิเพื่ออยู่อย่างสันโดษ ห่างไกลผู้คนและทำให้ประวัติศาสตร์หน้าต่อมาของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้ปรากฏขึ้นในหมู่ถ้ำบริเวณฝั่งตะวันตกของที่ราบสูงเดกกันนั่นเอง
ปีพุทธศักราช 2362 จอห์น สมิธ นายทหารชาวอังกฤษได้ตามล่าเสือเข้ามาถึงยอดเขาแห่งหนึ่งบริเวณหมู่บ้านอชันตา ใกล้เมืองออรังคบาด ขณะที่เขามองไปที่หน้าผาหินฝั่งตรงข้ามซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นไม้หนาทึบ ก็ได้สังเกตเห็นสิ่งหนึ่งที่มีรูปร่างแปลกไปจากลักษณะหน้าผาหินธรรมชาติในบริเวณนั้น สิ่งนั้นดูคล้ายกับส่วนโค้งของสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ทำขึ้น
ด้วยความแปลกใจ จอห์น สมิธ จึงปีนหน้าผาลงไปสำรวจ และเขาก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าบริเวณนั้นมีวัดถ้ำเป็นจำนวนมากซ่อนตัวอยู่ในหน้าผาท่ามกลางป่ารกแห่งนั้น
วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ
ถ้ำเหล่านี้ถูกเจาะลึกเข้าไปในภูเขาเพื่อสร้างเป็นวัด มีวิหารขนาดใหญ่ภายในเต็มไปด้วยงานแกะสลักหิน เป็นเจดีย์ เป็นพระพุทธรูป เป็นเรื่องราวต่างๆ ในพุทธประวัติและชาดกเต็มไปหมด ส่วนสิ่งที่เขามองเห็นแต่ไกลนั้นก็คือส่วนโค้งของประตูถ้ำขนาดมหึมาแห่งหนึ่งที่โผล่พ้นยอดไม้ออกมานั่นเอง
และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ ถ้ำเหล่านี้ซุกซ่อนตัวอยู่ที่นี่มานานถึงกว่า 1,500 ปีแล้วโดยไม่ถูกรุกล้ำนับจากวันที่ถูกทิ้งร้าง
การค้นพบหมู่ถ้ำอชันตาในครั้งนั้นทำให้โลกต้องตื่นตะลึงกับความมหัศจรรย์ของศิลปะวัดถ้ำที่ไม่มีใครเคยเห็นหรือรู้เรื่องมาก่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้อย่างชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการศึกษาจากภาพแกะสลักหินภายในถ้ำที่ยังคงอยู่อย่างยืนยง ไม่ผุกร่อนพังทลายไปเหมือนพุทธสถานอื่นๆ เพราะทุกอย่างที่นี่สลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูก
วัดถ้ำที่อชันตา รัฐมหาราษฏระ
ถ้ำเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่ของสงฆ์ เป็นวัด เป็นวิหาร โดยใช้วิธีเจาะภูเขาทั้งลูกเข้าไป บางถ้ำมีถึงสามชั้น มีทางเดินเชื่อมถึงกันตลอด
ถ้ำที่ก่อสร้างในยุคแรกๆ เป็นวัดถ้ำของพุทธฝ่ายเถรวาท
พระสงฆ์ในยุคนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเรียบง่าย โดยเจาะหินเข้าไปเป็นห้องโถงเปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งสนทนาธรรม ส่วนผนังทั้งสามด้านก็สกัดหิน เจาะเข้าไปเป็นห้องนอน ภายในมีเตียงหินห้องละสองหลัง
อารามแต่ละแห่งอาจมีพระสงฆ์อาศัยอยู่รวมกันตั้งแต่ 2 รูปจนถึง 20 รูป วัดถ้ำบางแห่งยังมีร่องรอยให้เห็นว่ายังสร้างไม่เสร็จ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พระสงฆ์จะใช้วิธีสร้างไปอยู่อาศัยไป พอมีกำลังทรัพย์ที่ชาวบ้านบริจาคมาจึงจะก่อสร้างเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ
วัดของพุทธฝ่ายเถรวาทหลายถ้ำสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องบูชาด้วย ฝีมือการแกะสลักของช่างในยุคนั้น พวกเขาได้สกัดหินจากด้านนอกเข้าไปและสกัดจากเพดานถ้ำลงมา จนได้ห้องโถงขนาดใหญ่ มีระเบียงทางเดินอยู่ด้านข้าง มีเจดีย์อยู่ปลายสุดของห้อง
ห้องโถงขนาดใหญ่มีเจดีย์อยู่ปลายสุดของห้อง
การสร้างเจดีย์ไว้เพื่อสักการบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นธรรมเนียมเดียวกับการสร้างพระสถูปเจดีย์ที่สืบทอดมาจากชาวพุทธทางอินเดียตอนเหนือนั่นเอง ถ้ำอชันตาในยุคแรกจึงยังไม่มีการแกะสลักพระพุทธรูปให้เห็น
ถ้ำหมายเลข 10 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่ถ้ำอชันตา สร้างเป็นหอสวดมนต์บูชาพระเจดีย์ เมื่อครั้งที่จอห์น สมิธ ได้เข้าพบเห็นเป็นครั้งแรก ตอนที่เขาเข้ามาในถ้ำนั้น ดินโคลนได้ทับถมสูงขึ้นไปจากพื้นถ้ำกว่าครึ่ง เขาได้จารึกชื่อไว้บนเสาหิน พร้อมลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2362 วันที่ถ้ำอชันตาปรากฏสู่สายตาชาวโลก
จอห์น สมิธได้จารึกชื่อไว้บนเสาหิน พร้อมลงวันที่
แต่รอยจารึกสำคัญที่พบในถ้ำเดียวกันนี้ได้ระบุชื่อกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์สาตวาหนะ ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้รู้ว่า วัดถ้ำที่อชันตาได้รับการอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์ตั้งแต่การสร้างวัดถ้ำในยุคแรกๆ |