ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2221
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

นายสุมนมาลาการ

[คัดลอกลิงก์]
กฎแห่งกรรมในข้อที่เรียกว่า ทิฎฐเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลทันตาเห็นนี้ เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเดียวกับที่เราเคยได้ยินหรือได้เห็นในปัจจุบัน ดังเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายมาลาการ(ช่างดอกไม้) เมื่อครั้งพุทธกาลในคราวที่พระศาสดา ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนายมาลาการชื่อสุมนะ ตรัสพระธรรมเทศนาที่ขึ้นต้นด้วยบาทพระคาถานี้ว่า ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ เป็นต้น

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาพระธรรมบทว่า นายมาลาการชื่อสุมนะ นำดอกมะลิไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าพิมพิสารในทุกเช้า วันหนึ่งขณะนายสุมนมาลาการกำลังจะเข้าไปถวายดอกมะลิในพระราชวังนั้น ก็ได้เห็นพระศาสดา มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี เสด็จเข้าไปบิณฑบาต เขาเห็นพระศาสดาแล้วเกิดศรัทธา มีความต้องการจะนำดอกไม้ที่นำมาทูลเกล้าถวายพระราชาทูลถวายพระศาสดา เขาได้ตกลงใจว่า แม้ว่าพระราชาจะฆ่าเขาหรือว่าจะขับไล่เขาออกจากแว่นแคว้น เขาก็จะไม่นำดอกมะลิไปทูลเกล้าถวายพระราชา เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็ได้ซัดดอกมะลิไปที่เบื้องบนพระเศียร ที่เบื้องหลัง ที่ทั้งสองข้างของพระศาสดา ดอกมะลิที่ซัดขึ้นไปนั้นแสดงปาฏิหาริย์ล่องลอยอยู่ในอากาศ ดอกที่อยู่เหนือพระเศียรได้รวมตัวกันเป็นเพดาน ส่วนดอกมะลิที่ซัดไปทางสองข้างของพระศาสดาได้รวมตัวกันเป็นกำแพงดอกไม้ ดอกมะลิเหล่านี้ติดตามพระศาสดาในทุกสถานที่ที่เสด็จไป และหยุดอยู่กับที่เมื่อพระศาสดาทรงหยุดประทับยืน ขณะที่พระศาสดาเสด็จโดยมีดอกมะลิลอยเคลื่อนไหวติดตามไปนั้น มีพระฉัพพรรณรังสีเรืองรองสวยงามงาฉายออกมา และติดตามด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากนั้น ประชาชนเป็นจำนวนมากมายทั้งในเมืองและนอกเมืองราชคฤห์ ก็ได้ออกมาจากบ้านมาถวายบังคมพระศาสดา นายสุมนมาลาการเห็นเช่นนั้นก็เกิดปีติปราโมทย์อย่างล้นพ้น

ข้างภรรยาของนายสุมนมาลาการ ได้เข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า นางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสามีของนางซึ่งไม่ยอมนำดอกไม้มาทูลเกล้าถวายพระองค์แต่กลับนำไปบูชาพระศาสดาแล้ว นางวางแผนจะเอาตัวรอดเข้าในลักษณะเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น ด้วยการกราบทูลพระราชาว่า นางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเพราะนางได้หย่าขาดจากเขาแล้วว่า “กรรมที่เขากระทำ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม กรรมนั้นจงเป็นของเขาผู้เดียว ขอเดชะ พระองค์จงทราบความที่เขาอันหม่อมฉันทิ้งแล้ว” พระราชา(พระเจ้าพิมพิสาร)ซึ่งพระองค์ก็เป็นพระโสดาปัน ทรงปลื้มพระทัยเมื่อทรงสดับเรื่องนายมาลากานำดอกไม้บูชาพระศาสดา พระองค์ได้เสด็จออกมาทอดพระเนตรภาพมหัศจรรย์พันลึกนั้น และได้ถวายบังคมพระศาสดา พระราชาได้ทรงถือโอกาสนี้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จกลับวัดพระเชตวัน และราชาก็ได้ตามส่งเสด็จพระศาสดาแล้วเสด็จกลับพระราชวัง และกฎแห่งกรรมทันตาเห็นก็ได้แสดงผล เมื่อพระราชามีรับสั่งให้ไปนำตัวนายสุมนมาลาการเข้าเฝ้า แล้วพระราชทาน ช้าง 8 ตัว ม้า 8 ตัว ทาสชาย 8 คน ทาสหญิง 8 คน เครื่องประดับใหญ่ 8 อย่าง เงิน 8 พันกหาปณะ นารี 8 นาง และบ้านส่วย 8 ตำบล แก่เขา

ที่วัดพระเชตวัน พระอานนทเถระได้ทูลถามพระศาสดาถึงว่า นายสุมนมาลาการจะได้วิบากผลจากการกระทำกรรมดีในวันนี้อย่างไรบ้าง พระศาสดาตรัสตอบอธิบายกฎแห่งกรรมในบริบทนี้ว่า นายสุมนมาลาการได้บูชาพระองค์โดยไม่เยื่อใยในชีวิตเช่นนี้ นอกจากจะได้เสวยผลของกรรมในปัจจุบันนชาตินี้แล้ว จะมีแต่สุคติตลอดไปและในที่สุดจักได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และได้เป็นถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า “เขาจักดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักไม่ไปสู่ทุคติ ตลอดแสนกัป นี่เป็นผลแห่งกรรมนั้น ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่าสุมนะ” หลังจากที่พระศาสดาเสด็จถึงพระเชตวัน เข้าสู่พระคันธกุฎี ดอกมะลิเหล่านั้นตกลงที่ซุ้มพระทวาร

ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงการการกระทำอันยิ่งใหญ่และอาจหาญของนายสุมนมาลาการ และผลทันตาเห็นของการกระทำนั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนในภายหลังย่อมไม่มี มีแต่โสมนัสเกิดขึ้น เมื่อระลึกถึง เพราะการกระทำกรรมใด กรรมนั้นอันบุคคลควรทำ”

ในคืนนั้น เมื่อแสดงธรรม พระศาสดาได้เชื่อมโยงเรื่อง ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 68 ว่า

ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ
ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
ยสฺส ปตีโต สุมโน
วิปากํ ปฏิเสวติฯ

บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เป็นผู้เอิบอิ่ม มีใจดี
ย่อมเสวยผลของกรรมใด
กรรมนั้นแล อันบุคคลทำแล้ว เป็นกรรมดี.

เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง การตรัสรู้ธรรม ได้บังเกิดแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พัน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้