ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2102
ตอบกลับ: 8
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ดวงตาเห็นธรรม ~

[คัดลอกลิงก์]
ดวงตาเห็นธรรม



ธรรมะคือธรรมชาติ

พวกเราบางองค์ที่มาอาศัยการปฏิบัตินั้น อยู่ไปตั้งปีสองปีก็ยังไม่รู้เรื่องกันเลยก็มี ไม่รู้เรื่องว่าเขาทำอะไรกัน เพราะความเข้าใจตั้งใจจดจ่อไม่มี ความจริงการเป็นผู้ปฏิบัติใจเรานั้น เมื่อเราดูใจเราเมื่อใด ก็ให้มีสติจ้องอยู่อย่างนั้น เมื่อมีสติมันก็มีปัญญา มองเห็นว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามและไม่ว่าจะเป็นใครพูดอะไรก็ตาม มันล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักนำมาคิด
        ธรรมะทั้งหลายคือธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ของมัน มันล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งหมด ทีนี้เมื่อเราไม่รู้ข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายคือธรรมะ เราจึงอาศัยแต่การอบรมจากครูบาอาจารย์แต่ความจริงแล้ว เราควรพิจารณาสภาวะธรรมชาติรอบตัวทุกอย่างอย่างต้นไม้อย่างนี้ ธรรมชาติ ของมันก็เกิดขึ้นมาจากเมล็ดของมัน แล้วมันก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ
        ถ้าเราพิจารณา เราก็จะได้ธรรมะจากต้นไม้ แต่เราไม่สามารถเข้าใจว่าต้นไม้ก็ให้ธรรมะได้ เมื่อมันใหญ่ขึ้นมาใหญ่ขึ้นมาจนเป็นดอก จนมันออกผล เราก็รู้เพียงว่าต้นไม้มันเป็นดอก มันออกผลมา แต่ไม่รู้จักน้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาในใจของเรา เลยไม่รู้ว่าต้นไม้ก็เทศน์ให้เราฟังได้
        พวกเราไม่พากันรู้จักต้นไม้นั้น มันเกิดเป็นผลขึ้นมาให้เราได้เคี้ยว ได้ฉัน ได้กินตามธรรมชาติมัน เราก็กินไปเฉยๆกินด้วยการไม่พิจารณารสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสเค็มเรียกว่าไม่รู้จักพิจารณาธรรมะ จากต้นไม้ จากธรรมชาติ เราไม่พากันเข้าใจถึงธรรมชาติของมัน เมื่อต้นไม้มันแก่ขึ้นใบของมันก็ร่วงลง เราก็เห็นเพียงว่าใบไม้นั้นมันร่วงลง แล้วเราก็เหยียบไป กวาดไปเท่านั้น การจะพิจารณาให้คืบคลานไปอีกก็ไม่มี อันนี้ก็คือไม่รู้จักว่าธรรมชาตินั้นคือธรรมะ
        พอใบร่วงแล้ว ทีนี้ก็จะมียอดเล็กๆโผล่ขึ้นมา เราก็เห็นเพียงแค่ว่า มันโผล่ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่นอีกนี่ก็ไม่เป็นโอปนยิโก คือไม่น้อมเข้ามาหาในตน นี่เป็นเช่นนั้น ถ้าน้อมเข้ามาหา เราจะเห็นว่าความเกิดของเรากับต้นไม้ก็ไม่แปลกอะไรกันเลย สกลร่างกายของเราเกิดขึ้นมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน อาศัย ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติของมัน
        มันก็เหมือนกันกับเรามันก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะเราก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆทุกสิ่งทุกส่วนของมันก็เจริญขึ้นเรื่อยๆมันเปลี่ยนสภาวะของมันไปเรื่อยๆเหมือนกันกับต้นไม้ ถ้าเราน้อมเข้ามาดูแล้วจะเห็นว่าต้นไม้เป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มองให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง

มนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเบื้องต้น ท่ามกลางแล้วก็แปรไป ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็แปรไป มันไม่อยู่เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่รู้จักต้นไม้ เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้นก็เหมือนกับเราไม่รู้จักตัวของเรา ถ้าเราน้อมเข้ามาเป็นโอปนยิกธรรม จึงจะรู้จักว่าต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์นั้นก็เหมือนกับเรา คนเราเกิดมาผลที่สุดแล้วก็ตายไป คนใหม่ก็เกิด มาต่อไป อย่างผม ขน เล็บ ของเราเกิดมาก็แปรไป ผมขน เล็บหลุดร่วงไปก็งอกขึ้นมาใหม่ สลับเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ไม่หยุดสักทีความเป็นจริงนั้น ถ้าหากเราเข้าใจในข้อปฏิบัติก็จะเห็นว่าต้นไม้ก็ไม่แปลกไปจากเรา จะเห็นของสะอาด ของสกปรกก็ไม่แปลกไปจากเรา เพราะมันเป็นอย่างเดียวกัน
        ถ้าเราเข้าใจธรรมะ เข้าใจฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์มันเปรียบเหมือนกับที่ข้างในกับข้างนอก สังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครองนี่มันก็เหมือนกัน ไม่ได้แปลกอะไรกัน ถ้าเราเข้าใจว่ามันเหมือนกันแล้ว เราเห็นต้นไม้ว่าเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นขันธ์ของเราคือ รูป เวทนา สัญญา สังขารก้อนสกลร่างกายของเรานี้ก็เช่นกัน มันก็ไม่ได้แปลกอะไรกันถ้าเรามีความเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะเห็นธรรม เห็นอาการของขันธ์ห้าของเราว่ามันเคลื่อน มันไหว มันพลิกมันแพลง มันเปลี่ยนมันแปลงไปไม่มีหยุด
        ทีนี้ไม่ว่าเราจะยืน จะเดินหรือนั่งหรือนอน ใจของเราก็จะมีสติคุ้มครองระวังรักษาอยู่เสมอ เมื่อเห็นของภายนอกก็เห็นของภายใน ถ้าเห็นของภายในก็เห็นของภายนอก เพราะมันเหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็ได้ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่า "พุทธภาวะ" คือผู้รู้เกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วมันรู้แล้วรู้อาการภายนอก รู้อาการภายใน รู้ธรรมทั้งหลายต่างๆที่มันเป็นมา
        ถ้าเราเข้าใ จอย่างนี้ แม้เรานั่งอยู่ใต้ร่มไม้ก็เหมือนกันกับพระ พุทธเจ้าท่านเสด็จมาเทศน์โปรดเรา เราได้ฟังเทศน์ของพระพุทธองค์อยู่เสมอ เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ได้ฟังเราจะได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ อันนี้เราก็ได้ฟังเทศน์อยู่เสมอ เหมือนกับพระ-พุทธเจ้าเทศน์ให้เราฟัง พระพุทธเจ้าก็คือผู้รู้อยู่ในใจของเรานี้แหละ
        รู้ธรรมเหล่านี้แล้ว เห็นธรรมเหล่านี้แล้ว ก็พิจารณาธรรมอันนี้ได้ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้วท่านจะมาเทศน์ให้เราฟัง พุทธภาวะคือตัวผู้รู้ คือดวงจิตของเรานี้เกิดรู้เกิดสว่างมาแล้ว ตัวนี้เแหละจะพาเราพิจารณาธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ธรรมก็คือพุทธเจ้าองค์นี้แหละ ถ้าตั้งพุทธะเอาไว้ในใจของเรา คือความรู้สึกมันมีอยู่อย่างนี้ เราเห็นมดเราก็พิจารณาไป มันก็ไม่แปลก จากเรา เห็นสัตว์ก็ไม่แปลก จากเรา เห็นต้นไม้ก็ไม่แปลก เห็นคนทุกข์คนจน ก็ไม่แปลกกัน เห็นคนร่ำรวยก็ไม่แปลกกัน เห็นคนดำขาวก็ไม่แปลกกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มันตกอยู่ในสามัญลักษณะอันเดียวกัน คือลักษณะอันเดียวกัน
        ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่าผู้นั้นอยู่ที่ไหนก็สบาย จะได้มีพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดเสมอเลยทีเดียว ถ้าผู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ก็ให้นึกอยากจะฟังเทศน์กับอาจารย์อยู่เรื่อยไปเลยไม่รู้จักธรรมะ
        ที่พระบรมศาสดาของเราท่านว่า ตรัสรู้ธรรมนั้นก็คือรู้ธรรม ชาติเหล่านี้แหละ ธรรมชาติที่มันป็นอยู่นี้แหละ ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติธรรมดาอันนี้พอเราเห็นเข้า เราก็กระตือรือร้นตื่นเต้น มีความร่าเริง จนหลงอารมณ์ จึงมีโศรกเศร้าเสียใจเพราะหลงอารมณ์ หลงธรรมชาติเหล่านี้แหละ เมื่อมัวหลงธรรมชาติอันนี้ มันก็คือไม่รู้จักธรรมะนั่นเอง
        สมเด็จพระบรมศาสดา ท่านทรงชี้ธรรมชาติคือธรรมชาติ หรือธรรมดาว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเกิดมาแล้วก็เปลี่ยนไป แปรไปแล้วดับไป เป็นธรรมดา จนเป็นตัวว่าสุขก็เหมือนกัน จะเป็นตัวว่าทุกข์ก็เหมือนกัน อย่างวัตถุที่เราปั้นขึ้น เช่นถ้วย หม้อต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อถูกปั้นขึ้นมา ก็เกิดจากเหตุจากปัจจัย คือความปรุงแต่งของเราขึ้นมาอีกทีหนึ่งเช่นกัน ครั้นได้ใช้ไปมันก็เก่าไป แตกไปสลายไป มลายไปได้ เพราะเป็นธรรมดาของมัน ต้นไม้ ถูเขา เถาวัลย์ต่างๆก็เหมือนกัน ตลอดจนมนุษย์ สัตว์ เดียรฉานก็เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นธรรมดาเช่นนั้น
        เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะ ท่านฟังเทศน์เป็นปฐมสาวกนั้น ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรมากมายท่านเข้าใจว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แล้วมีความแปรไปเป็นธรรมดาแล้วผลที่สุดก็มีความดับเป็นธรรมดาของมัน
        เมื่อก่อนนี้พระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ไม่เคยได้มีความนึก หรือความคิดอย่างนี้เลย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่เคยพิจารณาให้แจ่มแจ้งเลยสักครั้ง ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจึงไม่ได้ปล่อย หรือไม่ได้วาง คือมีอุปาทานในขันธ์ทั้งห้านี้อยู่ ต่อเมื่อได้มาฟังเทศน์ของพระบรมศาสดาของเรา ขณะนั่งฟังมีพุทธะ ภาวะเกิดขึ้น ได้มองเห็นธรรมว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่แน่นอน มันเป็นธรรมชาติหรือธรรมดานี่เอง ท่านจึงบอกได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แล้วมีความแปรไป สิ่งเหล่านี้ก็ดับไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติอันนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ความเห็นของพระอัญญาโกณฑัญญะในขณะที่ฟังนั้นเป็นความรู้สึกแปลก แปลกจากในอดีตหรือใน กาลก่อนที่ได้เคยพิจารณา อันนี้รู้เท่าถึงดวงจิตจริงๆเป็นได้ว่าพุทธะคือผู้รู้เกิดขึ้นมาในเวลานั้น สมเด็จพระศาสดาท่านทรงเรียกว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเป็นธรรมแล้ว

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรมนั้นคือดวงตาเห็นอะไร คือดวงตาเห็นสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นเบื้องต้น ความแปรไปเป็นท่ามกลาง ความดับเป็นที่สุด สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือทั้งหมดจะเป็นรูปก็ช่าง จะเป็นนามก็ตาม สิ่งใดสิ่งหนึ่งครอบรวมเลยทีเดียวได้แก่ ธรรมชาติทั้งหมดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นรูปธรรมก็ช่าง จะเป็นนามธรรมก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็แปรดับไป อย่างตัวสกลร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันเกิดแล้วก็แปรไปตามธรรมดาของมันแล้วมันก็ดับไป
        อย่างเด็กก็แปร จากเด็ก ดับจากเด็กมาหนุ่ม จากหนุ่มก็ดับไปเป็นแก่ จากแก่ก็ดับ จากแก่ก็เป็นชรา จากชราก็ตายต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ก็เหมือนกันมันแปรไปแล้วก็แก่ไป สิ่งทั้งหลาย เหล่านี้ ธรรมชาติเหล่านี้ เรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเห็นหรือความเข้าใจ อันเกิดมาจากผู้รู้ในคราวที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้นเข้าไปถึงใจอย่างแจ่มแจ้ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเลยเข้าฝังในดวง จิตของพระอัญญาโกณฑัญญะ จนเป็นเหตุให้ถอนตัวอุปธิหรืออุปาทานออกจากสังขาร ทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้ เป็นต้นว่าสักกายทิฐิ คืออาการที่ไม่ถือเนื้อ ถือตัวทั้งหลายนี้ เห็นตามสกลร่างกาย ของเราแล้ว ก็ไม่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เห็นชัดลงไปจนเป็นเหตุให้ถอนจากอุปาทานนั้น ไม่ถือตัวซึ่งเป็นสักกายทิฐิ และไม่มีวิจิกิจฉา
        เมื่อถอนอุปาทานออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็มิได้สงสัยเลยในธรรมทั้งหลาย หรือในความรู้ทั้งหลาย เข้าไปเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล้วก็เปลี่ยนออกไปเลยทีเดียว รู้ว่านี่วิจิกิจฉา นี่สีลัพพตปรามาส การปฏิบัติของท่านนั้นแน่แน่วตรงเข้าไป ไม่ได้เคลือบแคลงสงสัย ไม่ได้ลูบหรือไม่ได้คลำถึงแม้ว่า สกลร่างกายมันจะเจ็บ มันจะไข้เป็นไปอย่างใด ท่านก็ไม่ลูบไม่คลำมัน ไม่ได้สงสัยเสียแล้วการที่ไม่ได้สงสัยนี่ก็คือถอนอุปาทานออกมาแล้ว ถ้ามีอุปาทานอยู่ก็ต้องไปลูบไปคลำใน สกลร่างกายนี้
        อาการลูบคลำในสกลร่างกายนี้ เป็นสีลัพพตปรามาสเมื่อถอนสักกายทิฐิออกจากกายนี้ สีลัพพตปรามาสก็หมดไปวิจิกิจฉาก็ไม่มี ถ้าถอนสักกายทิฐิขึ้นอย่างเดียว วิจิกิจฉาก็ไม่มี ถ้าถอนสักกายทิฐิขึ้นอย่างเดียว วิจิกิจฉาก็เลิก สีลัพพตปรามาสก็เลิก ถ้ายังมีสีลัพพตปรามาสอยู่ วิจิกิจฉาก็ยังอยู่ อุปาทานก็ยังอยู่


เมื่อดวงตาเห็นธรรมก็หลุดพ้นจากอุปาทาน

อันนี้แสดงว่าธรรมะที่สมเด็จพระบรมศาสดา ของเราท่านแสดงคราวนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาอันนั้นก็คือผู้รู้แจ้งนั่นเอง เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม คือเห็นธรรมหรือธรรมดาอันนี้เอง เมื่อเห็นชัดลงไปอย่างนี้ก็ถอนอุปาทานได้
        ฉะนั้นการถอนอุปทานได้นี้ จึงรู้สึกว่ามันเกิดผู้รู้ขึ้นมาจริงๆ เมื่อก่อนก็รู้อยู่เหมือนกันแต่มันถอนอุปาทานไม่ได้ นั่นเรียกว่าผู้รู้ธรรม อยู่แต่ไม่เห็นธรรม เห็นธรรมอยู่แต่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่รู้ตามสภาวะของมัน ฉะนั้นพระบรมศาสดาท่านจึงตรัส"อัญญาสิ อัญญาสิวตโภ โกณทัญโญ ได้รู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ " รู้อะไรล่ะ ท่านรู้อะไรก็คือได้รู้ธรรมชาติที่มันเป็นอยู่นี่เอง
        เราทั้งหลายมักหลงธรรมชาติ อย่างสกลร่างกายนี้ กายของเรานี้ประกอบขึ้นด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าวัตถุที่มองเห็นด้วยตา มันอยู่ด้วยอาหารเจริญมาเจริญมาเจริญขึ้นมาแล้วก็แปรไป ถึงที่สุดมันก็ดับไปเช่นกัน

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิญญาณ:จิต:ผู้รู้:ผู้คุ้มครองภายใน

ส่วน ข้างในนั้น ผู้คุ้มครองอยู่ซึ่งกายนี้ก็คือวิญญาณผู้รู้นี้แหละ ผู้รู้ผู้เดียวนี้แหละ ถ้าไปรับทางตาก็เป็นจักษุวิญญาณถ้าไปรับทางหูก็เรียกโสตวิญญาณ ถ้าไปรับทางจมูกก็เรียกฆานะวิญญาณ ไปรับทางลิ้นก็เรียกชิวหาวิญญาณ ไปรับทางกายก็เรียกกายวิญญาณ รับทางจิตมโนนี้ก็เรียกมโนวิญญาณ
        ตัววิญญาณนี้ตัวเดียวเกิดขึ้นที่ไหนก็เรียกว่า ผู้รู้ทั้งนั้นไปรู้ทางตาก็เรียกไปอย่างหนึ่ง ไปรู้ทางหู จมูก ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง รู้ที่ตา รู้ที่หู รู้ที่จมูก รู้ที่ลิ้น รู้ที่กาย รู้ที่จิต มันก็ตัวผู้รู้อันเดียวนี้แหละ ผู้รู้อันเดียวนี้ไม่ใช่ผู้อื่น ตัวผู้รู้อันเดียวนี้เรียกว่าวิญญาณ ก็วิญญาณหกอย่างนี้แหละชื่อมันว่าหกเฉยๆคือมันไปรู้อยู่ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง รู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตอย่างนี้แหละ ไปรู้ที่ตาบ้าง รู้ที่หูบ้าง รู้ที่จมูกบ้าง ที่ลิ้นบ้างที่กายบ้าง ที่จิตบ้าง เขาจึงเรียกว่าหก
        ความเป็นจริงมันไม่มีหกหรอก มันไปรู้ในช่องทั้งหกเท่านั้นแหละ เพราะช่องทั้งหกมันเป็นประตูผ่าน เข้ามาสู่ผู้รู้อันเดียว ผู้รู้เดียวสามารถจะรู้ทั่วถึงในทวารทั้งหกอย่างนี้ เราจึงเรียกว่าวิญญาณหก
        วิญญาณหกนี่แยกออกโดยปริยัติ ความเป็นจริงมีผู้รู้ผู้เดียวเท่านั้น รู้ทางตาก็ว่าอย่างหนึ่ง รู้ทางหูก็ว่าอย่างหนึ่ง รู้ทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ว่าอย่างหนึ่ง ความเป็นจริงก็คือคนเดียวนี้เองแหละ วิญญาณคือผู้รู้ผู้เดียว คือดวง-จิตของเรา ผู้รู้นี้แหละจะเป็นเหตุให้มีอำนาจสามารถรู้สภาวะหรือธรรมชาติตามเป็นจริง
        ถ้าตัวนี้ยัง มีเครื่องปกปิดอยู่เมื่อใด รู้อันนี้ท่านเรียกว่าโมหธรรมคือรู้ไปในทางที่ผิด รู้ผิด เห็นผิด ก็ตัววิญญาณตัวเดียวนี้แหละ ผู้รู้ตัวเดียวนี้เองไม่เป็นตัวอื่นอีก รู้ผิดเห็นผิดรู้ถูก เห็นถูก ก็ตัวเดียวนี้เอง เพราะ เช่นนี้ท่านจึงว่าเป็นมิจฉาทิฐิสัมมาทิฐิไม่มี ๒ ตัว มีตัวเดียว ผิดก็เกิดขึ้นจากตัวเดียวถูกก็เกิดขึ้นจากตัวเดียว เมื่อโมหะเกิดในทางที่ผิดก็เรียกว่าโมหะมันกำบังความรู้อันนี้มันก็ผิดไป
        เมื่อความรู้ผิดมันก็มีความเห็นผิด ดำริผิด การงานผิดเลี้ยงชีวิตผิด ผิดไปหมด เป็นมิจฉาทิฐิ อันนี้ท่านจึงว่าองค์ ของมรรคก็เหมือนกัน สัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นชอบก็เกิดจากผู้รู้ผู้เดียว ถ้ามันชอบแล้วความไม่ชอบมันก็หายไป ถ้ามันถูกแล้ว ความผิดมันก็หายไป ฉะนั้นสมเด็จ-พระบรมศาสดา ท่านประพฤติ หรือปฏิบัติอยู่นั้น ทรงทรมานสกลร่างกายของท่านด้วยเรื่องอาหารบริโภคต่างๆ จนร่างกายของท่านซูบผอมลงไป อย่างที่เราเรียนมาฟังมา แล้วท่านก็พิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไป เข้าไป เข้าไป แล้วก็ถอนออกมาได้ความรู้ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ตรัสรู้ทางจิต เพราะกายนี้มันไม่รู้จักอะไร กายนี้จะให้มันกินก็ได้ จะไม่ให้มันกินก็ได้ ฆ่ามันทิ้งเมื่อไรก็ได้ กายนี้ฆ่าทิ้งก็ได้
        เมื่อท่านได้ความรู้แล้วว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญ ทางจิต ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่ที่รู้จิต เมื่อท่านมาพิจารณาถึงจิตของท่าน ท่านก็ได้ออกจากการปฏิบัติทรมานกาย เมื่อท่านแสดงธรรม เรื่องกามสุขัลลิ กานุโยโคอัตตกิลมถานุโยโค ท่านจึงแสดงขึ้นอย่างชัดแจ้งเลยทีเดียวเพราะท่านได้เห็นแล้ว ธรรมเทศนาอันนี้มันจึงชัดในใจของพวกคนทั้งหลาย



สุข-ทุกข์คือทางเดินสายโลก

กามสุขัลลิกานุโยโคนั้น คือใจของเรามันลุ่มหลงอยู่ในความสุขลุ่มหลงอยู่ในความสบาย ลุ่มหลงอยู่ในความดีใจลุ่มหลงว่าเราดี ว่าเราเลิศ เราประเสริฐ อาศัยอยู่ในความสุขนี้อันนี้ก็ไม่ใช่หนทางที่บรรพชิตจะพึงเดินเข้าไป เพราะมันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค อาการที่ไม่พอใจ อาการที่เป็นทุกข์ใจอาการที่ไม่ชอบใจ อาการที่กริ้วที่โกรธ อันนี้ก็เป็นอัตตกิลม-ถานุโยโค ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ธรรมสองอย่างนั้น ท่านจึงว่าไม่ใช่หนทางของบรรพชิตจะพึงเดิน
        คำว่าหนทางนั้นก็คือ อาการที่มันดีใจหรือเสียใจที่เกิดขึ้นมา คำว่าผู้เดินทางนั้นก็คือตัวผู้รู้ของเรานั่นแหละ ไม่ควรเดินไปในอาการที่มันดีใจหรือเสียใจนั้น ผู้เดินทางของเราก็คือ ตัวจิตนี้เอง ทางนั้นเรียกว่าอาการผู้เดินทางก็คือดวงจิต ถ้าดีใจก็ไป ยึดเอาความดีใจเอาไว้ด้วย นี่เป็นกามสุขัลลิกานุโยโคถ้าหากว่าอารมณ์ที่ไม่ดีไม่ชอบใจเราก็เข้าไปยึดหมายอุปาทานว่าไม่ดีใจไม่ชอบใจ นี่ก็เรียกว่าใจมันเข้าไปเดินในทางอันนี้ เป็นอัตตกิลมถานุโยโค นี่ก็ไม่ดี ข้างนี้ก็สุข ข้างนี้ก็ทุกข์
        ท่านจึงว่า กามสุขัลลิกานุโยโค และอัตตกิลมถานุโยโคทางสองอย่างนี้ ไม่ใช่ทางของสมณะ เป็นธรรมของชาวบ้านชาวบ้านเขาหาสิ่งที่เป็นสุขสนุกสนาน อันเกิดทุกข์ไม่สบายเขาไม่ชอบ ฉะนั้นพวกชาวมนุษย์โลกทั้งหลาย จึงไปอาศัยความสุขและทุกข์ สับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนั้น ความสุข ทุกข์นั้นแหละคือทางเดินสายโลกละ มันมีสุขแล้วก็มีทุกข์ มีทุกข์แล้วก็มีสุขของเหล่านี้เป็นของไม่แน่นอน ปะปนกันไปอยู่ตลอดจนปลายทาง

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้รู้ผู้สงบ

ฉะนั้น มันจึงเป็นธรรมของบุคคลที่ลุ่มหลงอยู่ในโลก ผู้ที่ไม่สงบ ผู้สงบนั้น ท่านไม่เดินทางนั้น แต่ว่าทางนั้นท่านก็เห็น อาการที่สุขท่านก็เห็น อาการทุกข์ท่านก็เห็น แต่ท่านไม่มีอุปาทานยึดแน่นแน่กับมัน ไม่เอาจริงจังกับมัน ท่านไม่เดินแต่ท่านรู้ รู้หนทางของมัน
        อาการใดที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นมา นั่นก็เป็นหนทาง ท่านก็เห็นเหมือนกัน แต่ท่านไม่เดินตามมันไป ท่านไม่มั่นหมายมันไม่มีอุปาทานกับมัน ท่านก็เห็นทางเหมือนกันแต่ว่าท่านไม่เดินนี่เรียกว่าท่านผู้เห็นทาง ผู้สงบแล้วก็เห็นทางที่ไม่สงบ จึงเป็นผู้สงบอยู่ได้ ทางที่เป็นสุขหรือทางที่เสียใจ ทางที่ดีใจล้วนแต่เป็นทางที่ผิดทั้งนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านก็รู้จัก รู้อยู่มันเกิดกับท่านอยู่เหมือนกัน แต่ท่านไม่เอาจริงเอาจังกับมัน ปล่อยมันไปวางมันไปละมันไป
        ท่านผู้สงบแล้วคือสงบจากอะไร สงบจากความดี สงบจากความเสียใจ สงบจากความสุข สงบจากความทุกข์ สุขทุกข์นั้นไม่มีหรือ มีอยู่แต่ไม่มีในใจ ก่อนจะมีในใจนั้น ใจก็เป็น ผู้รู้เสียแล้ว เป็นผู้รู้จักชอบเสียแล้ว รู้ดีเสียแล้ว อาการสุขก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงสุข อาการทุกข์ก็เกิดขึ้นที่นั่นแต่ก็ไม่ได้หมายถึงทุกข์ นั่นถ้ารู้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความเห็นชอบ
        นี่ถ้าท่านไม่ยึดไม่หมายท่านก็ปล่อยความสุข ความทุกข์เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติหรือธรรมดามันเป็นเช่นนั้น ถ้าเรารู้เท่าแล้ว สุขหรือทุกข์มันก็เป็นโมฆะ ไม่มีความหมายกับใครไม่มีความหมายกับจิตของพระอริยะเจ้าทั้งหลายผู้เข้าไปถึงแล้วมันมีอยู่ แต่ไม่มีความหมาย ท่านรับทราบไว้เฉยๆ รับทราบไว้ว่าสุขหรือทุกข์ ร้อนหรือเย็น ท่านรับทราบอยู่ไม่ใช่ว่าท่านไม่รับทราบ



การเป็นอยู่เหนือโลก

สมเด็จพระบรมศาสดาท่านจึงตรัสว่า พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นไกลกิเลส ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ท่านจะไกลไปไหนไม่ใช่ว่าท่าน จะหนีไปจากกิเลส ไม่ใช่ว่ากิเลสจะหนีไปจากท่าน มันมีอยู่อย่างนั้นแหละ มีอยู่อย่างนั้น ท่านจึงเปรียบเหมือนกับน้ำ กับใบบัว ใบบัวก็อยู่กับน้ำ น้ำก็อยู่กับใบบัว ถึงแม้ใบบัวกับน้ำจะอยู่ด้วยกันก็จริง เมื่อน้ำกระเด็นขึ้นมาบนใบบัวน้ำก็กลิ้งถูกกันอยู่เหมือนกัน แต่น้ำไม่สามารถซึมซาบเข้าไปในใบบัวได้
        กิเลสทั้งหลายก็เปรียบเสมือนน้ำ จิตของผู้ประพฤติปฏิบัติก็คือใบบัว ถูกกันอยู่ไม่หนีไป แต่ว่าไม่ซึมซาบเข้าไป จิตของพระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน ไม่ได้หนีไปไหนอยู่ที่นั่นแหละ ความดีมาก็รู้ ความชั่วมาก็รู้ ความสุขมาก็รู้ ความทุกข์มาก็รู้ ความชอบมาก็รู้ ความไม่ชอบมาก็รู้ รู้หมดรู้หมดอยู่ที่นั่น แต่ว่าท่านรับทราบไว้เฉยๆ มันไม่ได้เข้าไปในจิตของท่าน เรียกว่าไม่มีอุปาทาน เป็นผู้รับทราบไว้เรื่อยๆเรื่อยๆไป
        อาการที่ท่านรับทราบไว้นั้นก็อย่างที่ภาษาเราว่า รับทราบไว้ วางใจเป็นกลางๆ วางใจเป็นกลาง ตามภาษาสามัญว่ารับทราบไว้ คือไม่ไปแตะไปต้อง รับทราบไว้เฉยๆ อาการเช่นนี้เหล่านี้มีอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เพราะสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในโลกมันมีโลก พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้อยู่ในโลก ท่านเอาอาการของโลกนี้ไปพิจารณา ถ้าท่านไม่ได้พิจารณาก็ไม่เห็นโลกท่านก็จะอยู่เหนือโลกไม่ได้
        ฉะนั้น องค์พระบรมครูของเราตรัสรู้ก็ด้วยเอาเรื่องของโลกนี้แหละมารู้เท่าโลกนี่เอง โลกก็ยังมีอยู่อย่างนั้น สรรเสริญก็มี นินทาก็มี ลาภก็มี เสื่อมลาภก็มี ยศก็มี เสื่อมยศก็มีสุขทุกข์ก็มี ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรจะตรัสรู้
        เมื่อท่านตรัสรู้ตามเป็นจริงแล้ว คือรู้โลกนี้ โลกธรรมธรรมอันครอบงำสัตว์โลกอยู่ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตาม ธรรมครอบหัวใจสัตว์ ครอบหัวใจคน มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญ สุขทุกข์ นินทา เป็นของโลก
        ถ้าหากว่าใจมนุษย์ทั้งหลายเป็นไปตามอำนาจสุข ทุกข์นินทา เป็นไปตามอำนาจมัน นั่นแหละคือโลก ท่านจึงเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมเป็นธรรมอันหนึ่ง ทำให้มองไม่เห็นทางมรรคแปดที่จะเดินไปหาทางพ้นทุกข์นั้น มีแต่โลกท่วมหัวอยู่นี่ชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามธรรม ธรรมนั้นมันให้สัตว์เป็นโลกโลกก็เดินไปตามธรรมนั้น มันจึงเป็นโลกธรรม ผู้อยู่ในโลกธรรมคือ เป็นสัตว์โลก วุ่นวายอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา
        ฉะนั้นในการประพฤติหรือปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงสอนว่า ให้เจริญมรรคคือตัวปัญญา รวมแล้วคือปฏิบัติศีลให้มันยิ่ง สมาธิให้มันยิ่ง ปัญญาให้มันยิ่ง นี่คือเครื่องทำลายโลก นี่หนทางเดินเข้าไปทำลายโลก โลกมันอยู่ที่ไหนล่ะทีนี้ โลกมันอยู่ที่ใจของสัตว์ที่ลุ่มหลงนั่นแหละ อาการที่มันติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ ติดสุข ติดทุกข์นั่นแหละ เมื่อมีอยู่ในใจเมื่อใดใจก็เป็นโลก เมื่อใจเป็นโลกอยู่ที่ไหนโลกก็อยู่ที่นั่นแหละ

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต้นเหตุของการเกิดโลก

ต้นเหตุที่โลกจะเกิดขึ้นมาก็เกิดจากความอยาก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก ความ อยาก เป็น บ่อ เกิดของโลกทั้งหลาย ฉะนั้นเมื่อเรามาประพฤติหรือปฏิบัติแล้ว เราจึงเดินทาง ศีล สมาธิ ปัญญานี่ท่านว่าโลกธรรมแปดและมรรคแปดเป็นของคู่กัน ทำอย่างไรจึงเป็นของคู่กัน ถ้าหากว่าเราพูดทาง ปริยัติของเราแล้ว ก็พูดได้ว่า ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา นี่ก็แปดอย่างในทางโลก ส่วนในทางธรรม ก็มีมรรคแปด สัมมาทิฐิ สัมมาสังกับโปสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัม-มาสติ สัมมาสมาธิ รวมแล้วก็แปดอย่างเหมือนกัน
        ทางสองแปดนี่นะมันอยู่ที่เดียวกัน ไม่ได้อยู่คนละที่พวก ยินดีใน ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็อยู่ในใจนี้ ใจผู้รู้นี้ แต่ผู้รู้นี้มีเครื่องปกปิดเอาไว้จึงให้รู้ผิดไป มันก็เลยเป็นโลก ผู้รู้นี้ยังไม่มีพุทธภาวะเกิดขึ้นมา จึงถอนตัวออกไม่ได้ จิตใจขณะนี้ก็เลยเป็นโลก
        เมื่อเราได้มาปฏิบัติ มาทำศีล ทำสมาธิ ทำปัญญาก็คือเอากาย เอาวาจา ใจนี้มาประพฤติปฏิบัติ ที่โลกธรรมมันแฝงอยู่นี้แหละ ที่มันยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในทุกข์นี้แหละ มาทำลงที่เดียวกัน ถ้าเมื่อเราได้มาทำลงที่เดียวกันนี้ก็เลยเห็นกัน เห็นโลก เห็นธรรม มันขวางกันเลยทีเดียวไม่มีลาภก็คิดอยากได้ลาภ มียศก็ติดยศ มีสรรเสริญก็ติดสรรเสริญ มีสุขก็ติดสุข มีทุกข์ก็ติดทุกข์ มีนินทาก็ติดนินทาถ้าเรามาปฏิบัติลงที่ใจของเรา มันก็จะได้เห็นโลกธรรมชัด
        ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันน่าตระการดุจราชรถ อันพวกคนเขลาทั้งหลายขลุกอยู่ หมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดู โลกทั้งโลก หรือทั้งประเทศไม่ใช่อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ให้ดูโลกอยู่เสมอ
        ให้ดูจิต พิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดขึ้นอยู่ที่ใจความอยากเกิดที่ไหน โลกก็เกิดที่นั่น เพราะความอยากเป็นบ่อเกิดของโลก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น เมื่อเรามาปฏิบัติ แล้วมาเจริญมรรค มานั่งสมาธิ อยากให้มันสงบ มันก็ไม่สงบ ไม่อยากให้มันนึกคิดมันก็นึกคิดเพราะไปนั่งใส่รังมดแดง รังมดอยู่ที่นั่นก็เอาก้นไปนั่งทับมัน อย่างนั้นมันก็กัดเอาซิ ใจของเรา มันเป็นโลกอยู่ มาปฏิบัติมันก็เกิดโลกขึ้นมาเลย ความดีใจ ความเสียใจ ความวุ่นวายความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นมาทันที เพราะอะไรล่ะฯเพราะเราไม่บรรลุถึงธรรม เพราะใจเราเป็นอยู่อย่างนี้
        ผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ ก็เพราะทนโลกธรรมไม่ได้ จึงไม่ได้พิจารณา ฉะนั้นจึงเหมือนกันกับเราไปนั่งในรังมดแดงนั่นแหละ ก็มดมันอยู่ที่นั่น ไปนั่งที่บ้านของมัน มันก็กัดเอานะซิถ้ามันกัดเรา เราจะทำอย่างไรล่ะ? เราก็หาวิธีทำลายมันเสียเอายามากันมัน กลบมันเสีย เอาไฟมาเผามันเสีย หรือทำให้หนีจากที่นั่นเสียนี่คือการปฏิบัติ แต่ผู้ปฏิบัติบางคนไม่ได้คิดอย่าง นั้น ถ้ามันไม่สบายก็ไปกับมันเลย มันว่าสบายก็ไปกับมันเลยไปกับลาภยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทาไปกับมันเลย ไม่พากันระงับเหล่านี้ ดังนั้นมันจึงเป็นโลก
        ฉะนั้น ผู้ที่ทดลองปฏิบัติแล้วพูดว่าปฏิบัติไม่ได้ ไปไม่ได้ไปไม่ไหว ก็คือเราไม่ได้พยายามนั่นเอง โลกธรรมแปดประการนี่มันข่มมรรคไม่ให้เกิดขึ้นมา จะพยายามอดทนรักษาศีลไม่ได้จะอดทนพิจารณามันไปอีกก็ไม่ได้ เพราะอะไรก็เหมือนกับบุรุษที่ไปนั่งในรังมดแดง ทำอะไรก็ไม่ได้มันกัดมันไต่ มันนั่นมันนี่อยู่วุ่นวายต่างๆนานา แต่ไม่สามารถกำจัดภัย ทั้งหลายออกจากที่นั่งของเรา ก็ทนนั่งอยู่นั่นแหละ ฉันใด นี่ก็เช่นกันฉันนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็น ปฏิปักษ์กัน

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อใดสงบก็อยู่เหนือโลกธรรม

ฉะนั้นโลกธรรมมันจึงอยู่ที่ใจ เมื่อมาทำใจจะให้มันสงบมันก็เลยพลุ่งขึ้นมาทันที เพราะมันอยู่ที่นั่น เมื่อใจเป็นโมหะ เมื่อใดมันก็เป็นความมืดอยู่ที่นั่น เมื่อใดที่โมหะมันจางไปมันก็รู้ขึ้นมาที่นั่น ได้ความรู้ว่าความรู้กับความหลงนั้นมันเกิดขึ้นอยู่ที่เดียวกัน เมื่อความหลงเกิดขึ้นมาแล้ว ความรู้ก็เข้าไปไม่ได้ มันระงับความรู้ไว้เสีย เมื่อความรู้เกิดขึ้นมาแล้วความหลงก็อยู่ไม่ได้
        ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาท่านจึงให้ปฏิบัติที่ใจ มันเกิดอยู่ที่ใจ โลกธรรมแปดประการมันอยู่ที่นั่น มรรคแปดประการที่เจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะเรามาพิจารณา ด้วยสมถ-กรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ด้วยญาณทั้งหลายทั้งปวง การทำความเพียรกรรมฐานนั้นก็ช่วยข่มลงไปเสียจน ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในลาภ ยศ สรรเสริญ เหล่านี้ เบาออกไป เมื่อมันเบาออกไปแล้วเราก็รู้จัก เมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ มากระทบเราก็รู้จัก เพราะโลกอยู่กับเรา เราอยู่ในโลก อยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างนี้ เมื่อเรา อยู่ เราก็อยู่กับมัน ก็เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในเรือน เวลาเข้าไปในเรือน เมื่อเวลาเราออกจากเรือน เราก็มีความรู้สึกว่าเราออกจากเรือน ได้ความสว่าง ไม่มืดเหมือนอยู่ในเรือน
        อาการที่จิตเข้าไปหาโลกธรรมนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น อาการที่จิตทำลายโลกธรรมแล้วนั้น หรือโลกธรรมต่าง จากใจ แล้วนั้น ก็เหมือนกันกับเราออกจากเรือนมา ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงรู้เฉพาะตัวของตัวเองว่า โลกธรรมมันหายแล้วหรือยัง มรรคมันเจริญแล้วหรือยัง เมื่อมรรคเจริญขึ้นมาได้เท่าใด มันก็ฆ่าโลกธรรมเท่านั้น มันจะฆ่าโลกธรรม เบียดเบียนโลกธรรมเรื่อยๆไป ผลที่สุดแล้วมรรคจะกล้าขึ้นมา คือความเห็นชอบกล้าขึ้นมา ความเห็นผิดไม่ชอบมันก็หายไป ผลที่สุดมรรคก็ฆ่ากิเลส แต่ถ้ามรรคอ่อน กิเลสก็ฆ่ามรรค มีสองอย่างเท่านั้นแหละ ความเห็นผิดและความเห็นถูกมีสองอย่างนี้เท่านั้น
        ความเห็นผิดก็มีวิธีการของมันเช่นกัน ความเห็นผิดนี้มันก็มีปัญญาเหมือนกัน แต่มันมีปัญญาในทางที่ผิด ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเห็นถูกเห็นผิดแย่งกันไป ผู้ปฏิบัตินั้นก็จะคล้ายกับคนสองคน คือโลกกับธรรม โลกกับธรรมนี้มันแย่งกัน เถียงกันไปเช่นนั้น แย่งกันไปเถียงกันไป เมื่อใดที่เราพิจารณาดูจะเห็น มันจะแย่งกันไปตลอดกาลตลอดเวลา จนกว่าจะรู้ถึงโน้น....ถึงวิปัสสนา แต่บางทีมันก็เอาวิปัสสนู* ขึ้นมา หมายความว่าเมื่อเราพากันพยายามสร้างคุณงามความดีความบริสุทธิ์ พอไปเห็นความดีขึ้นมาก็ไปติดความดีอยู่อีก อาการที่ไปติดความดีไปยึดหมายความดีนี้ ก็เป็นวิปัสสนูอีกนั่นแหละ เป็นปัญญาของกิเลสนั่น บางคนก็ไปติดความดีอยู่ มีความบริสุทธิ์ ก็ไปติดความบริสุทธิ์ มีความรู้ก็ติดความรู้อยู่อย่างนี้ อาการที่ไปยึดมั่นหมายมั่นในความรู้นี้อีก ในความบริสุทธิ์นี้อีก อันนั้นก็เป็นวิปัสสนูแทรกเข้ามาอีก
        ฉะนั้น เมื่อเจริญวิปัสสนาถึงขั้นนี้ให้ระวัง ระวังวิปัสสนูกิเลส เพราะมันใกล้กันที่สุดจนเราจะไม่รู้ตัว แต่ถ้าหากมีความรู้ถูกต้องแล้ว เราจะเห็นทั้งสองอย่างได้ชัดเจน ถ้าเป็นวิปัสสนูแล้วมันจะมีความทุกข์ขึ้นมาเป็นบางคราว ถ้าหากเป็นวิปัสสนาจริงๆแล้วก็จะระงับทุกข์ ระงับสุขทุกข์ นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นมา เราจะรู้เองด้วยตัวของเรา
        ฉะนั้น การปฏิบัติท่านจึงให้อดทน บางคนมาปฏิบัติไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยากให้มันมีอะไรเกิดขึ้น
ไม่อยากให้มันเดือดร้อน แต่มันก็เดือดร้อน เพราะของเก่ามันมี เราต้องพยายามระงับความเดือดร้อนที่มีอยู่นั่นเอง พระท่านว่า ถ้าหากปฏิบัติแล้วเกิดความเดือดร้อนนั่นถูก ถูกแล้วถ้าหากมันเดือดร้อน ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เดือดร้อน ไม่ถูก ถ้ากินสบาย นอนสบายอยากจะไปไหนก็ไปตามเรื่อง อยากจะพูดอะไรก็พูดตามเรื่อง อยากทำตามใจมันทุกอย่างนั้น มันไม่ถูก
        ฉะนั้นธรรมะคำสั่งสอนของพระศาสดาท่านว่า ขัด ขัดอะไร? โลกุตตระขัดโลกียะ ความเห็นชอบขัดความเห็นผิดความบริสุทธิ์ขัดความไม่บริสุทธิ์เรื่อยไป
        ฉะนั้น จึงมีอุบายที่ตามตำรากล่าวว่า สมเด็จพระบรม-ศาสดาก่อนตรัสรู้นั้น ท่านไปรับข้าวจากนางสุชาดา เมื่อท่านทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงลอยถาดลงในน้ำ ธรรมดาน้ำมันไหลลง ท่านได้ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากว่าได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้ไหลลอยไปเหนือน้ำ แล้วถาดก็ลอยไหลไปเหนือน้ำ

        ความจริงถาด ก็คือ ความเห็นชอบของพระองค์ท่านนั่นแหละ ผู้รู้หรือพุทธภาวะของท่านที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาแล้วนั้น ไม่ได้ปล่อยตามใจของสัตว์ แต่ไหลขึ้นไปทวนกระแสใจของท่าน ทวนขึ้นไปหมดทุกอย่างไม่ได้ ไปฟังเสียงใคร ฉะนั้นพระธรรมเทศนาของพระองค์จึงทวนใจของพวกเราจนทุกวันนี้
        โลภท่านก็ว่าไม่ให้โลภ โกรธท่านก็ไม่ให้โกรธ ให้ทำลายมัน อยากหลง ก็ไม่ให้หลง ให้ทำลายมัน มีแต่เรื่องทำลายมันอย่างเดียว ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ท่านจึงทรงเชื่อแน่ว่าจิตของท่านนั้นทวนกระแสขึ้นไปนั่นเอง
        มันทวนสัตว์โลกหมด ทวนกระแสสัตว์โลก สิ่งที่ว่าสกลร่างกายสวย ท่านว่าไม่สวย โลกว่าอันสกลร่างกายเป็นของเราท่านว่าไม่ใช่ของเรา อันนี้ว่า เป็นแก่นเป็นสาร ท่านว่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร ความเห็นชอบอย่างนี้เหนือ เหนือสัตว์โลกขึ้นไปสัตว์โลกนั้นตามลงมากับน้ำ
         ต่อมาท่านได้รับหญ้าคาจากโสตถิยะพราหมณ์แปดกำมือท่านทรงทำอธิษฐานเป็นบัลลังก์ เพื่อนั่งสมาธิว่าถ้าไม่ตรัสรู้จะไม่ทรงลุกขึ้น แล้วท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนี้
        ถ้าจะกล่าวเป็นธรรมาธิษฐานแล้ว หญ้าคาก็คือโลกธรรมแปดนี่แหละ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ สรรเสริญ นินทาเหล่านี้แหละ โลกธรรมแปดประการหญ้าคาแปดกำมือฟังแต่ชื่อมันซิ หญ้าคา "คา" คาอะไร
        นักบวชของเราเมื่อบวชเข้ามาก็ "คา" สิ่งเหล่านี้แหละมาคาลาภ มาคาสรรเสริญ มาคาทุกข์ โลกทั้งหลายมาคาอยู่ที่นี่หมด
        สมเด็จพระศาสดาจึงทรงอธิษฐานเป็นบัลลังก์ นั่งทับลงไปด้วยสมาธิธรรม อาการที่นังทับคือสมาธิ นั่งทับคือจิต ของท่านเหนือกว่าโลกธรรม จิตในขณะนั้นเป็นโลกุตตรธรรมทับโลกียธรรมไว้ แต่ก็ยังเกิดเป็นมารต่างๆนานามาหลอกล่อ ซึ่งความจริงก็เป็นอาการของจิตนั่นเอง จนกระทั่งท่านได้ตรัสรู้ธรรม ก็ได้ชนะมารในที่นั้น
        ชนะคือชนะโลกนี่เอง ไม่ใช่ชนะอะไรอื่นไกล ฉะนั้นท่านจึงทรงเจริญมรรคในที่นั้น มรรคจึงฆ่าโลกธรรมทั้งหลายเหล่านั้น

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เห็นธรรมเป็นธรรมก็มีดวงตาเห็นธรรม

ผู้ประพฤติหรือผู้ปฏิบัติของเราทุกวันนี้นั้น ศรัทธามันน้อย พอปฏิบัติได้ ปี สองปี เดือน สองเดือน ก็อยากจะได้อยากไปไวไว ไม่รู้จักนึกบ้างเลยว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านทรงสร้างบารมีของท่านมานานแสนนานเพียงใด แล้วท่านยังต้อง มาต่อสู้ในพระชาติสุดท้ายอยู่อีกถึง ๖ ปี ฉะนั้นท่านจึงทรงตั้งนิสัยพระนวกะว่า จะต้องอยู่ฝึกอบรมกับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย ๕ พรรษา
        ผู้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาตรวจค้น มีศรัทธาจริงๆ ผู้บากบั่นพยายามตลอด ๕ พรรษา นี่ก็เรียกว่าใช้ได้แต่ให้ปฏิบัติจริงๆนะ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ถ้าเราพยายามทำจริงๆได้ ๕ พรรษาแล้วจะได้รู้ว่า คุณค่าของพระพุทธโอวาทที่สมเด็จพระบรมศาสดาท่านบัญญัติไว้นั้นมันเป็นเช่นไร จะได้รู้จัก ห้าพรรษาคือคนใช้ได้ จิตใจก็ใช้ได้ อะไรก็พอเป็นพอไปแล้วแน่นอน ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นแรก แต่ทว่าต้องไม่ใช่ ๕ พรรษาแต่อายุเท่านั้น ต้องเป็น๕ พรรษาในจิตด้วย
        ผู้ปฏิบัติเข้าถึงจิตใจเช่นนี้ จะมีความกลัว ความละอายทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่มืดและที่แจ้ง เพราะเข้าถึงพระพุทธเจ้า แล้วอาศัยพระธรรม อาศัยพระสงฆ์ แล้วมีพระพุทธ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว ถ้าพึ่งพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ต้องเห็นพระพุทธเจ้า ต้องเห็นพระธรรม ต้องเห็นพระสงฆ์ ถ้าเราขอพึ่งท่านขอพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ แล้วเรายังไม่เห็นท่านนั้นจะเป็นประโยชน์อะไร ถ้าเราขอพึ่งท่านก็ต้องรู้จักท่าน จะรู้จักแต่กายเท่านั้น ยังไม่พอ ต้องรู้จักด้วยใจจึงจะใช้ได้
        ถ้าเข้าใจถึงแล้วจึงจะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระธรรมเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระสงฆ์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าเป็นรูปลักษณะอาการอย่างนั้นอย่างนั้นพระธรรมก็เช่นเดียวกัน จึงจะได้เป็นที่พึ่งของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดอยู่ที่จิตของเรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามมีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์อยู่เรื่อยไปในจิตผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นี้จึงไม่กล้ากระทำบาป
        พระอริยบุคคลขั้นแรก ท่านจึงไม่เข้าไปสู่อบายตรงแน่วแน่ไปเลย ไม่มีชาติที่แปดเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะมันแน่นอนแล้วน่ะซิ มัน แน่นอนแล้ว เมื่อเข้าหนทางก็ไม่ได้สงสัย ทีนี้ค่อยเคลื่อนไปไม่ได้มีความสงสัย ไม่ถึงวันใดก็จะต้องถึงวันหนึ่ง จะให้กลับมาทำบาปทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจาอีกไม่มี พ้นจากความเดือดร้อน ที่จะเป็นนรกแล้ว ฉะนั้นท่านจึงว่าอริยบุคคลพ้นอบายภูมิ จิตก็ไม่ไปถึงอบาย ไม่ไปสู่อบายจึงเป็นผู้ไม่กลับคือไม่กลับมาทำชั่ว ใจนั้นมาทำความชั่วไม่ได้อีก
        อันนี้จะได้เห็นเองว่าใจมันทำไม่ได้ ก็แปลว่ามันเปลี่ยนไปเป็นอริยชาติ ไปแล้ว มันกลับมาไม่ได้แล้ว มันเปลี่ยนในชาตินี้เอง เรื่องเหล่านี้จะรู้จักเฉพาะเจ้าของเอง
        ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ที่ยังไม่ได้เห็นธรรม เมื่อได้ยินอย่างนี้ อาจคิดว่าการรู้ธรรมการเห็นธรรม การปฏิบัติธรรมเช่นนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นการยากอยู่ เรื่องเหล่านี้น่ะก็คือ ธรรมชาติธรรมดาที่มันเป็นอยู่นี้แหละ ทุกวันนี้บางทีเรามีความสุขใจ บางทีเรามีความทุกข์ใจ มีความดีใจ มีความเสียใจ เพราะอะไร? เพราะไม่รู้ธรรม เพราะไม่เห็นธรรม ไม่รู้ธรรมชาติ ไม่เห็นธรรมชาติ คือธรรมชาติมันเป็นของมันเช่นนั้นเรื่อยๆ ทั้งกายและจิต คือรูปและนาม
        ฉะนั้น พระบรมศาสดาท่านจึงได้ หมายขันธ์ ห้าวางขันธ์ห้า เลิกขันธ์ห้าละขันธ์ห้าที่ละมันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะไม่เห็นมัน เพราะไม่รู้เท่าทันมัน เห็นว่ามันเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นมัน เห็นเราว่าเป็นสุข เห็นสุขว่าเป็นเรา เห็นทุกข์ว่าเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันไม่ได้
        เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้ก็แปลว่าเราไม่เห็นธรรม คือธรรมชาติอย่างนี้มันไม่เป็นเรา แต่เราเข้าใจว่าเป็นเรา สุขก็มาถูกเรา ทุกข์ก็มาถูกเรา เสียใจก็มาถูกเรา เพราะเราเข้าไปขวางอยู่ตรงนั้น
        เราก็คือก้อนอัตตา ตัวตน เมื่อมีก้อนอัตตาเมื่อใดแล้วสุขก็ถูกเรา ทุกข์ก็ถูกเรา อะไรถูกเราหมด ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาท่านจึงว่าให้ทำลายก้อนอัตตา เมื่อทำลายก้อนอัตตา คือสักกายทิฐินี้แล้ว หมดก้อนอัตตาแล้ว อัตตามันก็ไม่ต้องเรียกมันเป็นของมันเอง เมื่อหมดอัตตา อนัตตาก็เกิดขึ้นมาเอง
        เมื่อบุคคลถือเนื้อถือตัว ก็จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตน เห็นว่าเราสุข เห็นว่าเราทุกข์ เห็นว่าเราดี เห็นว่าเราชั่ว เห็นว่าเราต่างๆนานา ความจริงสิ่งเหล่านี้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่เรากลับไปเอาธรรมชาติมาเป็นเรา เอาเรามาเป็นธรรมชาติ เลยไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ธรรมชาติมันดี ก็หัวเราะกับมันธรรมชาติมันร้าย ก็ร้องไห้กับมัน
        ความจริงธรรมชาติก็คือสังขาร อย่างเราว่า "เตสัง วูป-สโม สุโข" ความสงบของสังขารนั้นเป็นสุข สงบอะไรล่ะ? ก็คือถอนอุปาทานออกมาว่า เห็นธรรมชาติตามเป็นจริงของมันเดี๋ยวนี้ความจริงของมันมีอยู่ มันเป็นจริงอยู่ ต้นหญ้า ภูเขาเถาวัลย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มันเกิดมันก็ดับ มันดับมันก็เกิด มีเลื่อนไหลไปมา ธรรมชาติ มันเป็นจริงอยู่ แต่เราผู้ไม่จริง เมื่อไปเห็นแล้วก็ตื่นเต้น ธรรมชาติไม่ตื่นเต้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าใครจะร้องไห้ ใครจะหัวเราะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นของจริง เราไม่รู้จักของจริงเมื่อไปเห็นของจริงแล้วกระตือรือร้น ร้องไห้ หัวเราะ ต่างๆนานา เสียอกเสียใจ ดีอกดีใจ
        ถึงเราจะดีใจเสียใจอย่างไรก็ตาม สภาวะร่างกายรูปนี้ของเรา ก็เป็นอยู่ของมันเช่นนี้ มันเกิดมาแล้วมันก็แปรตามธรรมชาติ แปรไป เจ็บไป ตายไป พลัดพรากจากกันไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เมื่อหากว่าบุคคลผู้ใดจะเอาธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ให้มันเป็นตัวเรา เป็นของเราอย่างนี้มันก็เป็นการแบกทุกข์ไว้

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-12 12:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
        ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะท่านจึงว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง"คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหมายรวมตลอดเลย จะเป็นรูปหรือเป็นนามก็ช่าง ใช่หมดทั้งนั้น ความเห็นของท่านในขณะที่ท่านฟังเทศน์ของพระพุทธองค์นั้นเปลี่ยนขึ้นมาจนเห็นแจ้ง ออกจากที่นั่งแล้วก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น จริงอยู่อย่างนั้น อาการอย่างใดผ่านเกิดขึ้นมา ก็เห็นความเกิด อันมันดับไปแล้ว ท่านก็เห็นความดับ เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด
        ท่านก็เห็นมัน อันใดมันเกิดแล้วก็ดับ อันใดมันดับแล้วก็ดับไป เป็นอยู่เรื่อยไป สุขทุกข์ก็มากระทบจิตของท่านอยู่เสมอ แต่ว่าจิตของท่านเพียงแต่รับทราบ ไม่พลอยตกนรกไม่พลอยไปสู่อบาย ไม่พลอยไปดีใจ ไม่พลอยไปเสียใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตของท่านตั้งมั่นเด่นอยู่ พิจารณาอยู่อย่างนั้น นั่นเพราะท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านได้ดวงตา ได้ดวงตาอันหนึ่งที่เห็นธรรมชาติตามเป็นจริง ความรู้เท่าตามเป็นจริงของสังขารสังขารมันเป็นจริงอย่างไร ก็รู้เท่าตามเป็นจริงของมันอย่างนั้นนี่เรียกว่าผู้รู้ธรรม ผู้เห็นธรรม รู้แล้วละเลิกถอน
        ถ้ายัง ไม่เห็น ก็ยังพากันอดพากันละ มันไม่เห็นหรอกที่มาอดละ อดกลั้น อดทน อดทานนั่นนะ แต่ถ้าถึงที่ของมันแล้ว ก็จะไม่มีเรื่องอดละ อดกลั้น ไม่มีเรื่องใดได้อด เรื่องผู้เห็นธรรมแล้วก็เป็นธรรม ไม่มีเรื่องอดกลั้น นี่เรายังไม่ทันรู้จักธรรมไม่เป็นธรรม จึงเอาธรรมมาใช้ เอาความเพียรมาใช้มันเป็นอย่างนี้
        ทีนี้ถ้าเรามาเพียรแล้ว มันไม่เกียจคร้านแล้ว ความเพียรก็ไม่ต้องเอามาใช้ มันรู้เท่าต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้วมันไม่สุข ไม่ทุกข์กับมัน ก็ไม่ต้องเอาขันติมาใช้ เมื่อมันเป็นธรรมแล้ว มันเกิดมามันก็เป็นธรรม ผู้รู้ก็รู้ตามธรรมแล้วก็เลยเป็นธรรม รู้ธรรมแล้วเห็นธรรม เรียนธรรมรู้ธรรมเห็นธรรมเป็นธรรม
        เมื่อมันเป็นธรรมแล้วก็หยุด สงบแล้ว ทีนี้ไม่ได้เอาธรรมมาใช้เพราะมันเป็นธรรมแล้ว ภายนอกก็เป็นแล้ว ภายในก็เป็นแล้ว ผู้รู้ธรรมก็เป็นธรรม สภาวะมันก็เป็นธรรม อันที่รู้มันก็เป็นธรรม เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างเสรี เป็นหนึ่งเสียแล้ว ธรรมชาติอันนี้จึงไม่เกิด ธรรมชาติอันนี้จึงไม่แก่ ธรรม-ชาติอันนี้จึงไม่เจ็บ ธรรมชาติอันนี้จึงไม่ตาย ธรรมชาติอันนี้จึงไม่สุข ไม่ทุกข์ ธรรมชาติอันนี้ไม่น้อย ไม่ใหญ่ ไม่หนัก ไม่เบา ไม่สั้นไม่ยาว ไม่ดำไม่ขาว ไม่มีเรื่องเปรียบเทียบ ไม่มีเรื่องจะเอามาเปรียบ สมมุติอะไรๆเข้าไม่ถึง เข้าไม่ถึงที่นั่น
        ฉะนั้น พระนิพพานท่านจึงว่าไม่มีสีสรรวรรณะ สีเขียวสีแดง สีดำ อะไรไม่มี เรื่องสีเขียวสีดำ อะไรต่างๆเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องบัญญัติในโลกีย์ เมื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วไม่มีเรื่องเหล่านี้ตามไปถึง ดังนั้นจึงกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็นโลกุต-ตระ ธรรมอันนั้นท่านจึงว่าเป็นปัจจัตตัง อันผู้รู้ก็ได้เฉพาะเจ้าของ ประกาศไม่ได้ มีแต่ให้อุบาย ผู้ที่เข้าไปถึงแล้วก็แล้ว จะเอาสมมุติบัญญัติมาพูดไม่ได้ มันหมดมันหมดสิ้น  
........ความสบายหรือไม่สบาย ไม่ได้อยู่ที่คนมากหรือน้อย มันอยู่ที่ควา มเห็นถูกเท่านั้น......

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/ ... _Seeing_Dhamma.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้