ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1861
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ การฝึกใจ ~

[คัดลอกลิงก์]


บทนำ

ชีวิตคนในสมัยของท่านอาจารย์มั่นและท่านอาจารย์เสาร์นั้นสบายกว่าในสมัยนี้มากไม่มีความวุ่นวายมากเหมือนอย่างทุกวันนี้สมัยโน้นพระไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับพิธีรีตองต่างๆเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ท่านอาศัยอยู่ตามป่าไม่ได้อยู่เป็นที่หรอกธุดงค์ไปโน่นธุดงค์ไปนี่เรื่อยไปท่านใช้เวลาของท่านปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มที่
สมัยโน้นพระท่านไม่ได้มีข้าวของฟุ่มเฟือยมากมายอย่างที่มีกันทุกวันนี้หรอกเพราะมันยังไม่มีอะไรมากอย่างเดี๋ยวนี้กระบอกน้ำก็ทำเอากระโถนก็ทำเอาทำเอาจากไม้ไผ่นั่นแหละ


ความสันโดษของพระป่า

ชาวบ้านก็นานๆจึงจะมาหาสักทีความจริงพระท่านก็ไม่ได้ต้องการอะไรท่านสันโดษกับสิ่งที่ท่านมีท่านอยู่ไปปฏิบัติภาวนาไปหายใจเป็นกรรมฐานอยู่นั่นแหละ
พระท่านก็ได้รับความลำบากมากอยู่เหมือนกันในการที่อยู่ตามป่าตามเขาอย่างนั้นถ้าองค์ใดเป็นไข้ป่าไข้มาลาเรียไปถามหาขอยาอาจารย์ก็จะบอกว่า"ไม่ต้องฉันยาหรอกเร่งปฏิบัติภาวนาเข้าเถอะ"
ความจริงสมัยนั้นก็ไม่มีหยูกยามากอย่างสมัยนี้มีแต่สมุนไพรรากไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าพระต้องอยู่อย่างอดอย่างทนเหลือหลายในสมัยนั้นเจ็บไข้เล็กๆน้อยๆท่านก็ปล่อยมันไปเดี๋ยวนี้สิเจ็บป่วยอะไรนิดหน่อยก็วิ่งไปโรงพยาบาลแล้ว
บางทีก็ต้องเดินบิณฑบาตตั้งห้ากิโลพอฟ้าสางก็ต้องรีบออกจากวัดแล้วกว่าจะกลับก็โน่นสิบโมงสิบเอ็ดโมงโน่นแล้วก็ไม่ใช่บิณฑบาตได้อะไรมากมายบางทีก็ได้ข้าวเหนียวสักก้อนเกลือสักหน่อยพริกสักนิดเท่านั้นเองได้อะไรมาฉันกับข้าวหรือไม่ก็ช่างท่านไม่คิดเพราะมันเป็นอย่างนั้นเองไม่มีองค์ใดกล้าบ่นหิวหรือเพลียท่านไม่บ่นเฝ้าแต่ระมัดระวังตน
ท่านปฏิบัติอยู่ในป่าอย่างอดทนอันตรายก็มีรอบด้านสัตว์ดุร้ายก็มีอยู่หลายในป่านั้นความยากลำบากกายลำบากใจในการอยู่ธุดงค์ก็มีอยู่หลายแท้ๆแต่ท่านก็มีความอดความทนเป็นเลิศเพราะสิ่งแวดล้อมสมัยนั้นบังคับให้เป็นอย่างนั้น


การภาวนาของท่านนักปฏิบัติสมัยนี้

มาสมัยนั้นสิ่งแวดล้อมบังคับเราไปในทางตรงข้ามกับสมัยโน้นไปไหนเราก็เดินไปต่อมาก็นั่งเกวียนแล้วก็นั่งรถยนต์แต่ความทะยานอยากมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเดี๋ยวนี้ถ้าไม่ใช่รถปรับอากาศก็จะไม่ยอมนั่งดูจะไปเอาไม่ได้เทียวแหละถ้ารถนั้นไม่ปรับอากาศคุณธรรมในเรื่องความอดทนมันค่อยอ่อนลงๆการปฏิบัติภาวนาก็ย่อหย่อนลงไปมากเดี๋ยวนี้เราจึงเห็นนักปฏิบัติภาวนาชอบทำตามความเห็นความต้องการของตัวเอง
เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่พูดถึงเรื่องเก่าๆแต่ครั้งก่อนคนเดี๋ยวนี้ฟังเหมือนว่าเป็นนิทานนิยายฟังไปเฉยๆแต่ไม่เข้าใจเลยแหละเพราะมันเข้าไม่ถึงพระภิกษุที่บวชในสมัยก่อนนั้นจะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อยห้าปีนี่เป็นระเบียบที่ถือกันมาและต้องพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยอย่าปล่อยตัวเที่ยวพูดคุยมากเกินไปอย่าอ่านหนังสือแต่ให้อ่านใจของตัวเอง


พิจารณาอ่านใจและดูใจตัวเอง

ดูวัดหนองป่าพงเป็นตัวอย่างทุกวันนี้มีพวกที่จบจากมหาวิทยาลัยมาบวชกันมากต้องคอยห้ามไม่ให้เอาเวลาไปอ่านหนังสือธรรมะเพราะคนพวกนี้ชอบอ่านหนังสือแล้วก็ได้อ่านหนังสือมามากแล้วแต่โอกาสที่จะอ่านใจของตัวเองน่ะหายากมากฉะนั้นระหว่างที่มาบวชสามเดือนนี้ก็ต้องขอให้ปิดหนังสือปิดตำรับตำราต่างๆให้หมดในระหว่างที่บวชนี้น่ะเป็นโอกาสวิเศษแล้วที่จะได้อ่านใจของตัวเอง
การตามดูใจของตัวเองนี่น่าสนใจมากใจที่ยังไม่ได้ฝึกมันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรมมันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราวตามความคะนองเพราะมันยังไม่เคยถูกฝึกดังนั้นจงฝึกใจของตัวเองการปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติเรื่องใจฝึกจิตฝึกใจของตัวฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละเรื่องนี้สำคัญมากการฝึกใจเป็นหลักสำคัญพุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจมันมีเท่านี้ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิตคือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-23 16:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การฝึกใจ

ใจของเรานี่มันอยู่ในกรงยิ่งกว่านั้นมันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วยใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้วมันก็อาละวาดเราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนาด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า"การฝึกใจ"


พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม

ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรมจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐานศีลนี้เป็นสิ่งอบรมกายวาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกันเมื่อเราพยายามจะบังคับใจไม่ให้ทำตามความอยาก
กินน้อย นอนน้อยพูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆลดมันลง อย่ายอมตามความอยากอย่ายอมตามความติดของตนหยุดเป็นทาสมันเสียพยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ด้วยการบังคับตัวเองเสมอนี้เรียกว่าศีล
เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้นจิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้มันจะรู้สึกถูกจำกัดถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยากมันก็จะกระวนกระวายดิ้นรนทีนี้เห็นทุกข์ชัดละ


เห็นทุกข์ทำให้เกิดปัญญา

"ทุกข์" เป็นข้อแรกของอริยสัจจ์คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์อยากหนีทุกข์ไม่อยากให้มีทุกข์เลยความจริง ทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะทำให้เกิดปัญญาทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์สุขนั่นสิมันจะปิดหูปิดตาเรามันจะทำให้ไม่รู้จักอดไม่รู้จักทนความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท
กิเลสสองตัวนี้ทุกข์เห็นได้ง่ายดังนั้นเราจึงต้องเอาทุกข์นี่แหละมาพิจารณาแล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้แต่ก่อนจะปฏิบัติภาวนาก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่าทุกข์คืออะไร
ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไรทำไป ทำไปก่อนฉะนั้นเมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใดก็ทำตามไปก่อนแล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเองไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อนเพราะมันเป็นอย่างนั้นเองอย่างเช่นเมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิเราก็ต้องการความสงบทีเดียวแต่ก็จะไม่ได้ความสงบเพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อนใจก็บอกว่า"จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ"


อย่าทอดทิ้งจิต

แต่พอความสงบไม่เกิดก็เป็นทุกข์ก็เลยลุกขึ้นวิ่งหนีเลยการปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น"การพัฒนาจิต"แต่มันเป็นการ"ทอดทิ้งจิต"ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าขี้เกียจก็ช่างขยันก็ช่างให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆลองคิดดูซิทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือการปล่อยใจตามอารมณ์นั้นจะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า
เมื่อเราปฏิบัติธรรมไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมันแต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆปฏิบัติให้สม่ำเสมอการตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้าถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเราเราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิดอันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเองและไม่มีวันรู้จักตัวเองดังนั้นถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้วย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุดแต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด


การพัฒนาจิต

ขอให้จำไว้ว่าถึงจะขี้เกียจก็ให้พยายามปฏิบัติไปขยันก็ให้ปฏิบัติไปทุกเวลาและทุกหนทุกแห่งนี่จึงจะเรียกว่า"การพัฒนาจิต"ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้วก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมายมันจะพาให้คิดไปว่า"เราไม่มีบุญเราไม่มีวาสนาปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้วยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที"การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น"การพัฒนาจิต"แต่เป็น"การพัฒนาความหายนะของจิต"
ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไปแล้วมีความรู้สึกอย่างนี้ว่ายังไม่รู้อะไรยังไม่เห็นอะไรยังไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างเลยนี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิดไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า


สิ้นสงสัยด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า"อานนท์ปฏิบัติให้มากทำให้มากแล้วจะสิ้นสงสัย"ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ด้วยการคิดด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเนหรือด้วยการถกเถียงกันหรือจะอยู่เฉยๆไม่ปฏิบัติภาวนาเลยความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกันกิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิตซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น
การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิงคำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสอาสวะทั้งหลายนี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์
เมื่อเราปฏิบัติธรรมเราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรมไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเราถ้าปฏิบัติอย่างนี้ทุกข์ก็จะเกิดขึ้นแต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้พอเริ่มปฏิบัติทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้วหน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีสติสำรวม และสันโดษสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุดคือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อนทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ถ้าไม่ทำอย่างนี้ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้วมันก็จะคึกคะนองวุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-23 16:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมชาติของจิตฝึกได้เสมอ

ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้เอามาใช้ประโยชน์ได้เปรียบได้กับต้นไม้ในป่าถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมันเราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมาต้องการไม้ไปสร้างบ้านเขาก็จะมองหาต้นไม้ในป่านี้และตัดต้นไม้ในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย
การปฏิบัติภาวนาและการพัฒนาจิตก็คล้ายกันอย่างนี้ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึกเหมือนไม้ในป่านี่แหละมาฝึกมัน จนมันละเอียดประณีตขึ้นรู้ขึ้น และว่องไวขึ้นทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมันเมื่อเรารู้จักธรรมชาติเข้าใจธรรมชาติเราก็เปลี่ยนมันได้ทิ้งมันก็ได้ปล่อยมันไปก็ได้แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป


จิตยึดมั่นมันก็สับสนวุ่นวาย

ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้นเมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพันยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดความวุ่นวายสับสนเดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่พอมันวุ่นว่ายสับสนมากๆเข้าเราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้วแล้วก็เป็นทุกข์นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเองความคิดความรู้สึกมันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติพยายามให้มันสงบมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นมันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นมันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้


ปล่อยวางได้จิตใจก็สงบ

ถ้าเราเห็นอันนี้ชัดเราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีกคอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า"มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง"พอเข้าใจได้ชัดเห็นแจ้งอย่างนี้แล้วทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆได้ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไปมันก็ยังอยู่นั่นแหละแต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว
เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซนเล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอาตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเองพอรู้อย่างนี้เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขาความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไปมันหมดไปได้อย่างไรก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็กความรู้สึกของเราเปลี่ยนและเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายเราปล่อยวางจิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็นนี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้วเป็นสัมมาทิฏฐิ
ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใดใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้เพราะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นนี่มันเป็นอย่างนี้เราไม่ชอบมันเราปล่อยวางมันเมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นเราปล่อยวางทันทีเพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเราแม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้นแต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง
ถ้าเราปล่อยวางมันเสียรูปก็เป็นสักแต่ว่ารูปเสียงก็สักแต่ว่าเสียงกลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่นรสก็สักแต่ว่ารสโผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่าถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกันมันก็ไม่ปนกันเพราะธรรมชาติมันต่างกันเหมือนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูปเสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง"สักว่า"เท่านั้น


ใจก็สักว่าใจความคิดก็สักว่าความคิด

พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่าใจก็สักว่าใจความคิดก็สักว่าความคิดพระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกันใจก็สักว่าใจความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิดความรู้สึกปล่อยให้มันป็นเพียงสิ่ง"สักว่า"รูปก็สักว่ารูปเสียงก็สักว่าเสียงความคิดก็สักว่าความคิดจะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไมถ้าคิดได้รู้สึกได้อย่างนี้เราก็จะแยกกันได้ความคิดความรู้สึก(อารมณ์) อยู่ทางหนึ่งใจก็อยู่อีกทางหนึ่งเหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่าอยู่ในขวดเดียวกันแต่มันแยกกันอยู่
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระองค์ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรมท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้นแต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้นทั้งคนฉลาดคนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมและรู้แจ้งในธรรมท่านสอนได้เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเองท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้นเหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ
ดังนั้นการปฏิบัติภาวนานี้อย่าไปสงสัยมันเลยเราหนีจากบ้านมาบวชไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลงหรืออยู่กับความขลาดความกลัวแต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเองเพื่อเป็นนายตัวเองชนะตัวเองถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้เราก็จะปฏิบัติธรรมได้ธรรมะจะแจ่มชัดขึ้นในใจของเรา


ธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเองใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้นความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหนถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาดด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญอย่าหนีด้วยความโง่ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาดด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ
เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะนั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้วกิเลสก็สักแต่ว่ากิเลสใจก็สักแต่ว่าใจเมื่อใดที่เราทิ้งได้ปล่อยวางได้แยกได้เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าเป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเองเมื่อเราเห็นถูกแล้วก็จะมีแต่ความปลอดโปร่งความเป็นอิสระตลอดเวลา
พระพุทธองค์ตรัสว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายท่านอย่ายึดมั่นในธรรม"ธรรมะคืออะไรคือทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-23 16:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปฏิบัติเพื่อละอย่าปฏิบัติเพื่อสะสม

เมื่อเราปฏิบัติธรรมเราเข้าใจอันนี้เราก็ปล่อยวางได้ดังนั้นก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจเราในจิตเรา ในร่างกายของเรามีแต่ความแปรเปลี่ยนไปทั้งนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นพระองค์ทรงสอนพระสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติเพื่อละเพื่อถอนไม่ให้ปฏิบัติเพื่อสะสม
ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์เราก็ถูกเท่านั้นแหละเราอยู่ในทางที่ถูกแล้วแต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกันไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวายกิเลสของเรานั้นแหละที่มันทำให้วุ่นวายมันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสียก็เลยทำให้เราวุ่นวาย
ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีอะไรลำบากไม่มีอะไรยุ่งยากการปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์เพราะทางของพระองค์คือ"ปล่อยวาง"ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้นท่านทรงสอนให้"ปล่อยวาง"อย่าแบกถืออะไรให้มันหนักทิ้งมันเสียความดีก็ทิ้งความถูกต้องก็ทิ้งคำว่าทิ้งหรือปล่อยวางไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติแต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ"การละ""การปล่อยวาง"นั่นแหละ


จงอยู่กับปัจจุบันอย่าจมอยู่กับอดีต

พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาธรรมทั้งหลายที่กายที่ใจของเราธรรมะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนอยู่ที่ตรงนี้อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่แหละดังนั้นนักปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจังให้ใจมันผ่องใสขึ้นสว่างขึ้น ให้มันเป็นใจอิสระทำความดีอะไรแล้วก็ปล่อยมันไปอย่าไปยึดไว้หรืองดเว้นการทำชั่วได้แล้วก็ปล่อยมันไปพระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้ที่นี้และเดี๋ยวนี้ไม่ใช่อยู่กับอดีตหรืออนาคต
คำสอนที่เข้าใจผิดกันมากแล้วก็ถกเถียงกันมากที่สุดตามความคิดเห็นของตนก็คือเรื่อง"การปล่อยวาง"หรือ "การทำงานด้วยจิตว่าง"นี่แหละการพูดอย่างนี้เรียกว่าพูด"ภาษาธรรม"เมื่อเอามาคิดเป็นภาษาโลกมันก็เลยยุ่งแล้วก็ตีความหมายว่าอย่างนั้นทำอะไรก็ได้ตามใจชอบละซิ
ความจริงมันหมายความอย่างนี้อุปมาเหมือนว่าเราแบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่งแบกไปก็รู้สึกหนักแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันก็ได้แต่แบกอยู่อย่างนั้นแหละพอมีใครบอกว่าให้โยนมันทิ้งเสียซิก็มาคิดอีกแหละว่า"เอ...ถ้าเราโยนมันทิ้งไปแล้วเราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ"ก็เลยแบกอยู่นั่นแหละไม่ยอมทิ้ง


ประโยชน์ของการปล่อยวาง

ถ้าจะมีใครบอกว่าโยนทิ้งไปเถอะแล้วจะดีอย่างนั้นเป็นประโยชน์อย่างนี้เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละเพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มทีจนแบกไม่ไหวแล้วก็เลยปล่อยมันตกลงตอนที่ปล่อยมันตกลงนี้แหละก็จะเกิดความรู้เรื่องการปล่อยวางขึ้นมาเลยเราจะรู้สึกเบาสบายแล้วก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่าการแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใดแต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้นเราไม่รู้หรอกว่าการปล่อยวางมีประโยชน์เพียงใด
ดังนั้นถ้ามีใครมาบอกให้ปล่อยวางคนที่ยังมืดอยู่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจหรอกก็จะหลับหูหลับตาแบกก้อนหินก้อนนั้นอย่างไม่ยอมปล่อยจนกระทั่งมันหนักจนเหลือที่จะทนนั่นแหละถึงจะยอมปล่อยแล้วก็จะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่ามันเบามันสบายแค่ไหนที่ปล่อยมันไปได้ต่อมาเราอาจจะไปแบกอะไรอีกก็ได้แต่ตอนนี้เราพอรู้แล้วว่าผลของการแบกนั้นเป็นอย่างไรเราก็จะปล่อยมันได้โดยง่ายขึ้นความเข้าใจในความไร้ประโยชน์ของการแบกหามและความเบาสบายของการปล่อยวางนี่แหละคือตัวอย่างที่แสดงถึงการรู้จักตัวเอง
ความยึดมั่นถือมั่นในตัวของเราก็เหมือนก้อนหินหนักก้อนนั้นพอคิดว่าจะปล่อย"ตัวเรา" ก็เกิดความกลัวว่าปล่อยไปแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือเหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินก้อนนั้นแต่ในที่สุดเมื่อปล่อยมันไปได้เราก็จะรู้สึกเองถึงความเบาสบายในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น


การฝึกใจต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น

ในการฝึกใจนี้เราต้องไม่ยึดมั่นทั้งสรรเสริญทั้งนินทา ความต้องการแต่สรรเสริญและไม่ต้องการนินทานั้นเป็นวิถีทางของโลกแต่แนวทางของพระพุทธเจ้าให้รับสรรเสริญตามเหตุตามปัจจัยของมันและก็ให้รับนินทาตามเหตุตามปัจจัยของมันเหมือนกันเหมือนอย่างกับการเลี้ยงเด็กบางทีถ้าเราไม่ดุเด็กตลอดเวลามันก็ดีเหมือนกันผู้ใหญ่บางคนดุมากเกินไปผู้ใหญ่ที่ฉลาดย่อมรู้จักว่าเมื่อใดควรดุเมื่อใดควรชม
ใจของเราก็เหมือนกันใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจใช้ความฉลาดรักษาใจไว้แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจเมื่อฝึกบ่อยๆมันก็จะสามารถกำจัดทุกข์ได้ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เองมันทำให้ใจสับสนมืดมัวมันเกิดขึ้นที่นี่มันก็ตายที่นี่

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-23 16:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ายึดมั่นเข้าเราก็ถูกกัด

เรื่องของใจมันเป็นอย่างนี้บางทีก็คิดดีบางทีก็คิดชั่วใจมันหลอกลวงเป็นมายา จงอย่าไว้ใจมันแต่จงมองเข้าไปที่ใจมองให้เห็นความเป็นอยู่อย่างนั้นของมันยอมรับมันทั้งนั้นทั้งใจดีใจชั่วเพราะมันเป็นของมันอย่างนั้นถ้าเราไม่ไปยึดถือมันมันก็เป็นของมันอยู่แค่นั้นแต่ถ้าเราไปยึดมันเข้าเราก็จะถูกมันกัดเอาแล้วเราก็เป็นทุกข์ถ้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วก็จะมีแต่ความสงบจะเป็นสมาธิจะมีความฉลาดไม่ว่าจะนั่งหรือจะนอนก็จะมีแต่ความสงบไม่ว่าจะไปไหนทำอะไรก็จะมีแต่ความสงบ
วันนี้ท่าน(ภิกษุชาวตะวันตก)ได้พาลูกศิษย์มาฟังธรรมท่านอาจจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างผมได้พูดเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้ท่านเข้าใจได้ง่ายท่านจะคิดว่าถูกหรือไม่ก็ตามก็ขอให้ท่านลองนำไปพิจารณาดูผมในฐานะอาจารย์องค์หนึ่งก็อยู่ในฐานะคล้ายๆกันผมเองก็อยากฟังธรรมเหมือนกันเพราะไม่ว่าผมจะไปที่ไหนก็ต้องไปแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังแต่ตัวเองไม่ได้มีโอกาสฟังเลยคราวนี้ก็ดูท่านพอใจในการฟังธรรมอยู่เวลาผ่านไปเร็วเมื่อท่านนั่งฟังอย่างเงียบๆเพราะท่านกำลังกระหายธรรมะท่านจึงต้องการฟัง
เมื่อก่อนนี้การแสดงธรรมก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งแต่ต่อมาความเพลิดเพลินก็ค่อยหายไปรู้สึกเหนื่อยและเบื่อก็กลับอยากเป็นผู้ฟังบ้างเพราะเมื่อฟังธรรมจากครูอาจารย์นั้นมันเข้าใจง่ายและมีกำลังใจแต่เมื่อเราแก่ขึ้นมีความหิวกระหายในธรรมะรสชาติของมันก็ยิ่งเอร็ดอร่อยมากขึ้น
การเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นนั้นจะต้องเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุอื่นๆเป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์เป็นตัวอย่างแก่ทุกคนฉะนั้นอย่าลืมตนเองแล้วก็อย่าคิดถึงตนเองถ้าความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นรีบกำจัดมันเเสียถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง


ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

วิธีปฏิบัติธรรมมีมากมายเป็นล้านๆวิธีพูดเรื่องการภาวนาไม่มีที่จบสิ่งที่จะทำให้เกิดความสงสัยมีมากมายหลายอย่างแต่ให้กวาดมันออกไปเรื่อยๆแล้วจะไม่เหลือความสงสัยเมื่อเรามีความเข้าใจถูกต้องเช่นนี้ไม่ว่าจะนั่งหรือจะเดินก็มีแต่ความสงบความสบายไม่ว่าจะปฏิบัติภาวนาที่ไหนให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่าถือว่าจะปฏิบัติภาวนาแต่เฉพาะขณะนั่งหรือเดินเท่านั้นทุกสิ่งทุกอย่างทุกหนทุกแห่งเป็นการปฏิบัติได้ทั้งนั้น
ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาให้มีสติอยู่ให้เห็นการเกิดดับของกายและใจแต่อย่าให้มันมาทำใจให้วุ่นวายให้ปล่อยวางมันไปความรักเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไปมันมาจากไหนก็ให้มันกลับไปที่นั่นความโลภเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไปตามมันไป ตามดูว่ามันอยู่ที่ไหนแล้วตามไปส่งมันให้ถึงที่อย่าเก็บมันไว้สักอย่าง



ฝึกใจได้ใจจักปราศจากกิเลส

ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ท่านก็จะเหมือนกับบ้านว่างหรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนี่คือใจว่างเป็นใจที่ว่างและอิสระจากกิเลสความชั่วทั้งหลายเราเรียกว่าใจว่างแต่ไม่ใช่ว่างเหมือนว่าไม่มีอะไรมันว่างจากกิเลสแต่เต็มไปด้วยความฉลาดด้วยปัญญา ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญาคิดด้วยปัญญาจะมีแต่ปัญญาเท่านั้น
นี่เป็นคำสอนที่ผมขอมอบให้ในวันนี้ถ้าการฟังธรรมทำให้ใจท่านสงบก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องจดจำอะไรบางท่านอาจจะไม่เชื่อถ้าเราทำใจให้สงบฟังแล้วก็ไม่ให้ผ่านไปแต่นำมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆอย่างนี้เราก็เหมือนเครื่องบันทึกเสียงเมื่อเรา "เปิด"มัน มันก็อยู่ตรงนั้นอย่ากลัวว่าจะไม่มีอะไรเมื่อใดที่ท่านเปิดเครื่องบันทึกเสียงของท่านทุกอย่างก็อยู่ในนั้น
ขอมอบธรรมะนี้ต่อพระภิกษุทุกรูปและต่อทุกคนบางท่านอาจจะรู้ภาษาไทยเพียงเล็กน้อยแต่ก็ไม่เป็นไรให้ท่านเรียนภาษาธรรมเถิดเท่านี้ก็ดีเพียงพอแล้ว

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/ ... g_of_the_Heart.html

ดีจังครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้