ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2368
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ภัยที่เกิดแก่พระพุทธศาสนา ๑ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

[คัดลอกลิงก์]


อันตรายที่จะเกิดกับพระพุทธศาสนานั้นไม่เกิดจากผู้ใดอื่น เกิดจากผู้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักเกิดจากพระภิกษุสามเณร ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรักษาเทิดทูนพระพุทธศาสนาให้คุณอันล้ำเลิศดำรงอยู่ปรากฏเด่นชัดแก่โลก รูปใดไม่ทำหน้าที่เทิดทูนคุณของพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ แต่กลับทำให้เกิดความรู้สึกตรงกันข้าม รูปนั้นเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาซึ่งบาปหนักนักหนา ยิ่งกว่าบาปใดทั้งนั้น

ชีวิตนี้น้อยนัก อีกไม่นานก็จะพากันทิ้งชาตินี้ไปสู่ชีวิตหน้า ที่ยาวนาน พ้นจะประมาณได้ นับภพชาติไม่ถ้วน ชีวิตหน้าจะสูงจะต่ำจะดีจะชั่วเพียงใดอยู่ที่การทำชีวิตนี้

เป็นพระก็ให้เป็นพระดี
ทำหน้าที่สืบพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสูงส่งปรากฏแก่โลกยั่งยืนนาน
สอนเขาด้วย “กาย” คือด้วยการปฏิบัติตนดีงามตามพระพุทธบัญญติ
สอนเขาด้วย “วาจา” คือด้วยการพูดที่เป็นธัมมะจริง
สอนเขาด้วย “ใจ” คือด้วยการอบรมเมตตาให้มีในใจ
จนแผ่ออกไปช่วยเขาได้ เป็นที่พึ่งของเขาได้

เมื่อตั้งใจจริงที่จะเป็นที่พึ่ง เมตตากรุณาย่อมพรั่งพร้อมในใจ เพียงยังไม่ทันได้มีโอกาสให้ผู้ใดพึ่ง ตนเองก็จะเป็นสุขได้ แล้วจะมีแต่ความพร้อมที่จะทำทุกอย่างอันเป็นการแสดงความเมตตากรุณาช่วยเหลือผู้อื่นทั้งหลาย ขอให้ตั้งใจจริงว่า จะต้องเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายให้จงได้ แล้วพึงพยายามทำให้ได้อย่างดีที่สุด เท่าที่สติปัญญาความสามารถจะมี นั่นแหละจะได้พบความสุข


: แสงส่องใจ วิสาขบูชา ๒๕๓๘
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-15 05:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

  
ตนเอง..เมื่อทำผิด..พูดผิด..คิดผิด ก็ชื่อว่าเป็นพาลเหมือนกัน






คนพาลนั้น อาจจะเป็นคนพาลภายในคือตนเองก็ได้
กล่าวคือ ตนเองนั้นแหละ เมื่อทำผิด พูดผิด คิดผิด
ก็ชื่อว่าเป็นพาลเหมือนกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้พิจารณาดูตนให้เป็นอัตตัญญู
คือรู้ตนว่าเป็นอย่างไร ตนทำผิด พูดผิด คิดผิดหรือไม่
ถ้าปรากฏว่าตนเป็นดังนั้น ก็พึงรู้ว่าตนนั้นแหละเป็นพาล


เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องสละการทำผิด พูดผิด คิดผิดนั้นเสีย
ไม่คบเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ชื่อว่าไม่คบตนเองที่เป็นพาล
คือสละความเป็นพาลของตนเสีย นี่ก็ชื่อว่าไม่คบคนพาลประการหนึ่งด้วย

ผู้ชนะนั้นมักเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ได้ แต่โดยที่แท้เป็นผู้เสีย
คือเสียไมตรีจิตของอีกฝ่ายหนึ่งไปจนหมดสิ้น
หรือจะเรียกว่าได้ ก็คือได้ก่อเวร
เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป
จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย


ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้ทั้งชนะจึงจะได้ความสงบสุข
ทั้งนี้โดยไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้ชนะกันขึ้น
แต่เมื่อจะต้องให้มีเรื่องให้แพ้ฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่ง
ก็ควรต้องมีใจหนักแหน่นพอที่จะเผชิญผลได้ทุกอย่าง
และสามารถที่จะเห็นความจริงว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร”
ทั้งนี้ต้องชนะตนเอง คือชนะ “ใจ” ตนเองด้วย



: พระโอวาทธรรม วรคติธรรม พระคติธรรม
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-15 05:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สัมมาปัญญา...มีคุณสถานเดียว (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)



“ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ฟังแล้ว
ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง
คนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้
แม้ในความทุกข์ก็หาความสุขได้”


ปัญญา หรือสัมมาปัญญา มีคุณสถานเดียว เพราะเมื่อใช้คำว่าปัญญาย่อมหมายถึงปัญญาในธรรม ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออาศัยจิตบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์สะอาดระดับใด ปัญญาจะรู้ชัดจริงในระดับนั้น จิตเศร้าหมองขุ่นมัว ปัญญาก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย คือเมื่อจิตเศร้าหมอง ปัญญาก็จะหมอง คือไม่ใสสว่าง

จิตที่มีความสงบ มีความบริสุทธิ์ ก็ด้วยมีศีลเป็นที่รองรับ หรือเป็นพื้น ท่านจึงเปรียบศีลเป็นเช่นแผ่นดิน อันเป็นที่ดำรงอยู่ของสรรพสัตว์ในโลกและของสิ่งทั้งปวง ศีลเป็นเช่นแผ่นดิน เพราะศีลเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งปวง แม้ปราศจากศีลเป็นแผ่นดินรองรับ กุศลธรรมก็ตั้งขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้

ต้องมีศีลเป็นแผ่นดินรองรับ กุศลธรรมทั้งหลายจึงจะตั้งขึ้นได้ นอกจากศีล ความบริสุทธิ์ของจิตต้องมีสมาธิเป็นส่วนสำคัญ เพราะสมาธิจักทำให้จิตบริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ นั้นเป็นบาทของปัญญา

เปรียบกับร่างกาย สมาธิเป็นส่วนเท้า อันเป็นที่ตั้งของลำตัวและศีรษะ ฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิเป็นเท้า เป็นที่รองรับลำตัว คือปัญญา เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น อันเปรียบเป็นเช่นศีรษะ

ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นส่วนเหตุ
ซึ่งมีวิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นส่วนผล
จึงต้องอาศัยกัน เหมือนดั่งเป็นแผ่นดิน เป็นเท้า เป็นลำตัว เป็นศีรษะ
การปฎิบัติจึงต้องปฎิบัติให้มีศีลด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วย ประกอบกัน


ตาปัญญาก็เหมือนตาธรรมดา คือตาธรรมดานั้น แม้ไม่มีหมอกมัวม่านฝ้ามาบังกั้น จึงจะแลเห็นสิ่งที่มีอยู่รอบตัวได้ถนัดชัดเจน เช่นตาไม่เป็นต้อก็จะแลเห็นได้ชัดเจนดี แต่ถ้าเป็นต้อก็จะแลเห็นพร่ามัวจนถึงมืดมิดในที่สุด ตาปัญญาก็ทำนองเดียวกัน ต้อของตาธรรมดา คือกิเลสของตาปัญญา

แม้มีกิเลสปิดบังอยู่ ตาปัญญาก็หาอาจเห็นสัจธรรมได้ถนัดชัดเจนไม่ กิเลสหนาแน่นเพียงไร ตาปัญญาก็ยิ่งมืดมิดและไม่เห็นสัจธรรมเพียงนั้น แม้กิเลสจะเป็นสิ่งที่ฆ่าไม่ตายทำลายไม่ได้ มีอยู่เต็มโลกทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลาทุกนาที เหมือนโรคตาต้อที่มีอยู่ในโลก ที่เกิดแก่ใครๆทั้งหลายเป็นอันมาก

ถ้ามีรักษาตาไว้ให้ดี ไม่ให้โรคต้อเกิดแก่ตาก็จักเป็นผู้มีตาดีตาสว่าง เห็นผู้คนสิ่งของถนนหนทางได้ชัดเจน เช่นนี้ฉันใด ถ้ารักษาใจไว้ให้ดี ไม่ให้กิเลสเข้าใกล้ครอบคลุมบดบังจิต ตาปัญญาก็จะสว่างและเห็นได้ลึกซึ้งกว้างไกล ชัดเจน ถูกต้อง ฉันนั้น

จิตมีสมาธิคือความสงบเพียงไร ย่อมมีสติเพียงนั้น สติย่อมสามารถกั้นกระแสกิเลสไม่ให้เข้าใกล้จิตได้เพียงนั้น เห็นสัจธรรมเพียงนั้น เมื่อใดเห็นสัจธรรมอันเป็นความรู้จริง รู้ถูก รู้พร้อม เมื่อนั้นก็ย่อมวางความยึดถือ ถึงวิมุติหลุดพ้น ได้เป็นสุข

การฟังธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านสอนมิให้ฟังเพื่อจดจำเท่านั้น แต่สอน ให้ฟังเพื่อขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด เพื่อให้เป็นที่เที่ยวไปของใจอย่างสบาย เพื่อให้บังเกิดความหน่ายความ สิ้นติดใจยินดี เพื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อความรู้พร้อมเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อที่จะหนีไกลกิเลสให้อย่างยิ่ง

ท่านจึงสอนให้ปฎิบัติไปพร้อมกับการอ่าน หรือการฟังธรรมให้เกิดปัญญา คือแก้ไขจิตใจตนไปให้เกิดผล พร้อมกับการฟังหรือการอ่านทีเดียว มิใช่พยายามจดจำไว้เท่านั้น

: แสงส่องใจ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๖
: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-15 05:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ว่าด้วยความอิสสาริษยา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)




อิสสา คือริษยา

อิสสา ท่านแปลว่า “ริษยา” คือเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ ที่จริงความหมายของคำว่าอิสสาริษยา ก็ให้ความเข้าใจที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นความร้อน เพราะมีความหมายว่า “ทนอยู่ไม่ได้” สิ่งที่ต้องทนนั้นถ้าพอทนได้ก็แสดงว่าไม่ร้ายแรง หรือไม่หนักหนานัก

ความรู้สึกริษยาจนทนไม่ได้ ต้องให้ความร้อนอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับความร้อนอย่างยิ่งนั้นก็มิใช่ผู้อื่น เป็นเจ้าตัวผู้มีความริษยาเอง

ความริษยา เป็นอาการอย่างหนึ่งของกิเลส

ปุถุชนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาย่อมไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปอย่างผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ความริษยาเป็นอาการหนึ่งของกิเลส ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของปุถุชนจึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง

ผู้มีปัญญา แม้มิสามารถดับความริษยาได้จริง
จึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้เกิดง่ายและแรง

แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้มีปัญญาจึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้ความริษยาเกิดง่าย และเกิดแรง แม้ว่าจะไม่สามารถดับเสียได้จริงตลอดไป

ผู้ขาดเมตตาต่อตน...เมื่อเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้

ผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยา คืออิสสา ที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา มีเมตตาไม่พอ โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิด ความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้น ก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุข จึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเองนั่นเอง

แม้ความริษยาจะเป็นการขาดเมตตาแก่ตนด้วย ต่อผู้อื่นด้วย แต่บางทีความริษยาก็ให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเองเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนเร่าอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า

ความริษยาเกิดแก่ผู้ใด
ย่อมให้ความทุกข์เร่าร้อนแก่ผู้ริษยาเอง

ผู้มีปัญญารู้ว่า ความริษยาเป็นความทุกข์เป็นความเร่าร้อนแก่ตนแน่นอน ตรงกันข้ามกับเมตตา ที่ทำให้ความสุขความเย็นแก่ตนแน่นอน และเมตตาก็ดับความริษยาได้ เช่นเดียวกับดับโกรธได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงอบรมเมตตา เพื่อให้เพียงพอสำหรับดับความโกรธและความริษยา

ความคิดปรุงแต่งนั้นสำคัญนัก
แม้การทำให้ความริษยาเกิดหรือทำให้ไม่เกิด

อิสสาและริษยานั้น จะเกิดได้ก็ต้องมีความคิดปรุงแต่งให้เกิด ถ้าคิดปรุงแต่งให้เมตตา ก็จะเกิดเมตตา ก็จะไม่เกิดอิสสา ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญนัก แม้ในการทำให้เกิดความริษยาหรือทำให้ไม่เกิด

ความยินดีด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี
ย่อมให้ความสุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่รักที่ชอบพอ เป็นลูกหลาน ความคิดปรุงแต่งก็จะพาให้ความยินดีเกิดขึ้นด้วยในใจ ความคิดปรุงแต่งนั้นจะเป็นไปในทางชื่นชมยินดีในผู้ได้ดี เช่นว่า มีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้น จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น ก็จะพลอยเป็นความอิ่มเอิบไปกับความคิดยินดีด้วยของตน

กล่าวว่าความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ให้ความสุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความริษยา ที่ทำให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

ความคิดที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาเพียงพอ
ก็อาจพาให้เกิดความริษยาแก่ผู้นั้นได้

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อื่นหรือไม่ใช่ผู้เป็นที่รักที่ชอบพอ ความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาเพียงพอ ก็อาจพาให้เกิดความริษยา ความคิดปรุงแต่งนั้นอาจเป็นไปในทางไม่ชื่นชมยินดีไม่เห็นด้วยในผู้ได้ดี เช่นว่า ไม่มีความดีความเหมาะควรกับความดีที่ได้รับนั้น คนอื่นหรือตัวเองดีกว่า เหมาะควรกว่าเป็นต้น

จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น จะเป็นทุกข์เร่าร้อนด้วยความคิดริษยาของตน กล่าวว่าความริษยานั้นให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความพลอยยินดีด้วย ที่ให้สุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

ทั้งความพลอยยินดีด้วย และความริษยาเมื่อเห็นเขาได้ดี เกิดจากความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น แตกต่างกันที่เป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยเมตตา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา ทั้งเป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอีกด้วย

ควันอันเกิดจากไฟริษยา
บดบังความประภัสสรแห่งจิต

ริษยาเป็นไฟทำให้ใจร้อนใจไหม้ มีผลเป็นควันตลบอยู่ ควันนั้นจะบดบังความประภัสสรแห่งจิต ผู้ที่มีความริษยาแรงเท่าใด การจะแลเห็นความแจ่มใจประภัสสรสวยงามแห่งจิต ย่อมเป็นไปไม่ได้เพียงนั้น

ดับไฟริษยา ด้วยเมตตาและสันโดษ

ความริษยาจะเกิดหรือไม่เกิด จะเกิดเบาหรือเกิดแรง ขึ้นอยู่กับความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น มิได้ขึ้นอยู่กับอะไรอื่น ผู้มีปัญญารู้ว่าจิตของตนมีความประภัสสรงดงาม แต่ควันแห่งไฟริษยาเป็นสิ่งหนึ่งที่จะปกคลุมไว้มิให้ปรากฏความประภัสสรงดงามล้ำค่าได้

ผู้มีปัญญาจึงพยายามควบคุมความคิดปรุงแต่ง ดับความคิดปรุงแต่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความริษยาเกิด ด้วยเมตตาและสันโดษ ผู้มีปัญญารู้จักสันโดษและโทษของความคิดปรุงแต่งเท่านั้น จึงจะได้รู้จักจิตอันแจ่มใสประภัสสร ซึ่งเป็นสมบัติแท้ๆ ของตนที่มีอยู่แล้ว

: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
[size=13.63636302947998px]  ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้