จะว่าไปแล้วในอดีตที่ผ่านมา วงการหนังสือพระเครื่องของเมืองไทย ได้มีผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องอย่างมีคุณภาพมากมายหลายท่านครับ ทุกวันนี้บทความบางตอนบางเรื่องของนักเขียนเหล่านั้น ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงถึงบริบทต่างๆ เกี่ยวกับพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลัง ซึ่งก็มีทั้งการอ้างอิงในเชิงวิชาการและการอ้างอิงในเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อาจารย์พินัย ศักดิ์เสนีย์ เป็นนักเขียนเรื่องพระเครื่องที่สำคัญอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย ผลงานของท่านมีทั้งการเขียนหนังสือแบบเป็นเล่มๆ และเขียนในลักษณะของการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือทั่วไป ผลงานของอาจารย์พินัย ศักดิ์เสนีย์ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือหนังสือ “นามานุกรมพระเครื่อง” ซึ่งนามานุกรมพระเครื่องเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระเครื่อง พุทธลักษณะและประวัติของพระเครื่องรุ่นต่างๆ มากเกินกว่าร้อยรุ่น ถึงผลงานของอาจารย์พินัย ศักดิ์เสนีย์อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าผลงานของอาจารย์ตรียัมปวาย ซึ่งเป็นนักเขียนร่วมยุคสมัยเดียวกัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าแนวทางการนำเสนอในแบบของอาจารย์พินัย ศักดิ์เสนีย์ ที่เน้นและเจาะลึกในเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความเชื่อ รวมไปถึงเรื่องลึกลับต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ถือเป็นอีกมิติหนึ่งของการนำเสนอที่ถูกใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้น(พ.ศ.๒๕๐๐) หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์จัดว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านยอดขายและความนิยม ทั้งนี้เป็นเพราะว่าหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์เป็นหนังสือพิมพ์ที่คงเอกลักษณ์ในด้านการนำเสนอข่าวแบบชาวบ้านๆ ประมาณว่าเรื่องแปลกๆ เรื่องลึกลับๆ รวมไปถึงความเชื่อในด้านต่างๆ ของสังคมในยุคนั้น ว่ากันว่าหากต้องการจะทราบว่าพระพุทธรูป พระเครื่องหรือพระเกจิอาจารย์ รุ่นไหน องค์ใด มีอภินิหารอย่างไร สามารถหาอ่านเรื่องราวอย่างจุใจได้จากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ใน “คอลัมน์พระเครื่อง” ที่เขียนโดยอาจารย์พินัย ศักดิ์เสนีย์.. ประสบการณ์จำนวนมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องความลึกลับและความเชื่อ ได้ถูกรื้อค้นขึ้นมาจากบรรดาผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยการเดินทางเข้าสัมผัส-สัมภาษณ์ด้วยตัวของอาจารย์พินัยเอง ซึ่งเมื่ออาจารย์พินัยได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วว่าเรื่องเหล่านั้นมีความเหมาะสมและสมควรที่จะเล่าสู่กันฟัง นั่นย่อมหมายถึงการที่ปลายปากกาจะถูกจิกลงบนหน้ากระดาษเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางและความอัศจรรย์ที่ท่านได้รับจากการไปเยือนบุคคลที่ประสบกับเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเช่นกรณีของ “ครูแก้ว อัจฉริยะกุลกับการท่องสวรรค์” ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับประจำวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒ “ศิลปินแก้วฟ้าเผยประสพการณ์มหัศจรรย์กับบางกอกไทม์ ยืนยันเรื่องสวรรค์มีแน่ๆ ได้ประสบมาแล้วกับตนเอง...” รายละเอียดมีอยู่ว่าหลังจากที่ครูแก้วประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้รับบาดเจ็บขาหักและกระดูกสะบ้าหัวเข่าแตก ท่านได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่ก็ไม่ดีขึ้น วันหนึ่งครูแก้วได้พบวิญญาณศักดิ์ของหลวงปู่เผือก อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสาลีโข ซึ่งประทับร่างของหลวงพ่อสมภพ เตชะปุญโญ หลวงปู่เผือกได้รับครูแก้วไว้เป็นลูกบุญธรรมเนื่องด้วยอดีตชาติที่ผ่านมาครูแก้วเคยเกิดมาเป็นลูกของท่านแล้วในชาติหนึ่ง เมื่อหลวงปู่เผือกได้ทำการรักษาอาการบาดเจ็บของครูแก้วจนหายขาด ทำให้ครูแก้วบังเกิดความเคารพเลื่อมใสในวิญญาณของหลวงปู่เผือกอย่างจริงใจจึงได้นิมนต์หลวงพ่อสมภพเพื่อให้ประทับร่างวิญญาณของหลวงปู่เผือกเพื่อจะได้สอนให้ท่านปฏิบัติวิปัสสนา โดยครูแก้วได้เดินทางไปนั่งฝึกสมาธิกับหลวงพ่อสมภพในสถานที่ซึ่งหลวงปู่เผือกท่านได้กำหนดให้รวม ๓ ครั้ง คือถ้ำแห่งหนึ่งในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ๑ ครั้ง เชิงผาลาดในเขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ๑ ครั้งและที่ถ้ำแก่งละว้า จังหวัดกาญจนบุรีอีก ๑ ครั้ง ครูแก้วเล่าว่าเมื่อได้ฝึกสมาธิจิตตามคำสั่งของหลวงปู่เผือกดังกล่าวแล้ว คืนวันหนึ่งในปี ๒๕๐๘ หลวงปู่ได้สั่งให้นั่งสมาธิเพื่อส่งกระแสจิตติดตามท่านไป ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่เผือกท่านได้ประทับอยู่ในร่างของหลวงพ่อสมภพและคอยให้คำแนะนำสอบถามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด โดยวิธีเข้าสมาธิก็คือ ให้กราบพระและนั่งทำจิตให้สงบ สักครู่หลวงปู่ก็สั่งให้ทำจิตให้เหมือนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านแล้วให้มองไปทางขอบฟ้าไกลๆ จะเห็นภูเขาสูงใหญ่ลูกหนึ่งตั้งอยู่ เมื่อครูแก้วปฏิบัติตามและเห็นตามนั้นแล้ว หลวงปู่เผือกท่านก็ได้สั่งให้ครูแก้วอธิษฐานจิตให้ไปอยู่บนภูเขาแล้วก็ให้มองลงไปเบื้องล่าง ครูแก้วเล่าว่าเมื่อตัวท่านได้มองลงไป ท่านได้เห็นพระอุโบสถหลังหนึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีบัวสีต่างๆ ชูดอกบานสะพรั่ง รอบๆ พระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมไว้อีกขั้นหนึ่ง หลวงปู่เผือกท่านได้สั่งให้ครูแก้วเข้าไปในพระอุโบสถนั้น เมื่อครูแก้วได้เข้าไปตามคำสั่งของหลวงปู่เผือก ท่านได้เห็นว่าตรงกลางของพระอุโบสถมีพานตั้งอยู่บนที่บูชาและในพานนั้นมีแสงสว่างเจิดจ้า หลวงปู่เผือกได้สั่งให้ครูแก้วกราบพานนั้น ๓ หนและให้เดินชมรอบๆ เป็นทักษิณาวัฏ ๓ รอบ โดยสถานที่แห่งนี้หลวงปู่เผือกท่านได้บอกครูแก้วว่าเป็น “พระจุฬามณีที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว” (อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์) หลังจากนมัสการพระเขี้ยวแก้วและได้ชมครบสามรอบแล้ว หลวงปู่เผือกท่านได้สั่งให้ครูแก้วเดินทางต่อไปยังภูเขาอีกลูกหนึ่งเพื่อพบกับตัวของหลวงปู่เผือก ซึ่งเมื่อครูแก้วเดินทางไปถึงจุดนัดพบท่านก็เห็นว่าที่เชิงเขามีวิหารสวยงามตั้งอยู่หลังหนึ่ง รอบๆ บริเวณวิหารมีต้นดอกซ่อนกลิ่นปลูกเอาไว้เป็นแปลงๆ เต็มไปหมด และเมื่อครูแก้วได้เดินตรงไปยังวิหารก็มีคนๆ หนึ่งออกมาถามว่า “จะมาหาใคร” ครูแก้วจึงตอบว่าจะมาหาหลวงปู่เผือกเพราะตัวท่านเป็นลูกของหลวงปู่เผือก เมื่อครูแก้วได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบและท่านได้เข้าไปข้างในแล้ว ท่านได้เห็นหลวงปู่เผือกนั่งอยู่บนตั่งกลางวิหารและมีพระสงฆ์นั่งรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก ครูแก้วจึงได้ตรงเข้าไปกราบหลวงปู่เผือกและบรรดาพระสงฆ์เหล่านั้นด้วยความปลื้มปิติ ซึ่งครูแก้วเข้าใจว่าหลวงปู่เผือกท่านได้แบ่งภาคมาประทับร่างและเป็นผู้นำพาท่านไปพบกับหลวงปู่เผือกด้วยตัวของหลวงปู่เผือกเอง และสถานที่อยู่ของหลวงปู่เผือกที่ท่านได้เข้ามาพบ ในภายหลังครูแก้วได้ทราบต่อมาว่าสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นพรหม |