ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2013
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนาน "เณรมั่น เณรคง" : ตำนานวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ปกป้องเมืองเพชรบูรณ์

[คัดลอกลิงก์]
หากเคยได้ยินตำนาน อิน จัน มั่น คง เรื่องราวที่เล่าสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โบราณถือว่าพิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง
ต้องฝังเสาหลักเมือง การฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาท ต้องเอาคนที่มีชีวิตทั้งเป็น ลงฝังในหลุม เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูมิให้มีโรคภัย
แต่ใครจะรู้ว่าตำนานนี้ ก็มีเกิดขึ้นกับอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่ถูกกล่าวขานจากรุ่นสู่รุ่น ของตำนานวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ปกป้องเมืองเพชรบูรณ์ หรือตำนาน "เณรมั่น เณรคง"
[url=][/url]
การสร้างกำแพงเมืองที่มั่นคงถาวรก่ออิฐถือปูนเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยาฯ กำแพงเมืองจะประกอบด้วยแนวกำแพง ป้อมปราการและประตูเมืองในแต่ละด้านทั้ง 4 ด้าน โดยประตูเมืองของแต่ละเมืองนั้นจะมีประตูที่มีความสำคัญประการหนึ่งตามการใช้สอย เรียกว่า”ประตูผี” เพราะเป็นประตูที่ใช้ขนศพคนตายออกไปนอกเมือง และเป็นประตูที่กองทัพทหารจะเดินทัพออกจากเมืองไปสู้รบในศึกสงคราม ทั้งนี้ เพื่อเป็นเคล็ดว่า ทหารทุกคนได้ตายไปหมดแล้ว จึงสู้รบได้อย่างไม่ต้องกลัวตายอีก … ตรงกับประตูผีนั้น จะต้องเป็นที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเมือง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันยันไว้ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหรืออัปมงคลเข้ามาในเมืองได้
กำแพงโบราณของเมืองเพชรบูรณ์ได้ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยาฯ เช่นกัน คือประมาณ 400-500 ปีที่แล้ว ประกอบด้วยแนวกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน มีป้อมปราการทั้ง 4 มุม คือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมถนนหลักเมือง ป้อมสนามชัย ป้อมศาลเจ้าแม่ และมีประตูเมืองอยู่กึ่งกลางกำแพงแต่ละด้านทั้ง 4 ทิศ คือประตูโพธิ์เย็น ประตูดาว ประตูประชาสรรค์ และประตูชุมพล
เมืองเพชรบูรณ์สมัยโบราณมีประตูผีอยู่ด้านทิศตะวันออกคือ ประตูดาว ซึ่งมีพระประธานในโบสถ์วัดไตรภูมิหันหน้าไปตรงค้ำยันกับประตูดาวดังกล่าว ส่วนประตูเมืองหลักที่ถือเป็นด้านหน้าของเมืองคือ ประตูชุมพล เป็นป้อมประตูที่ทางทิศตะวันตกของเมือง ซึ่งเป็นการหันหน้าไปยังบริเวณเมืองเพชรบูรณ์เก่าดั้งเดิมตั้งแต่สมัยสุโขทัย ที่ป้อมประตูชุมพลแห่งนี้ เป็นที่เชื่อตามตำนานที่คนเพชรบูรณ์เล่าขานสืบทอดกันมาว่า เป็นที่ฝั่งทั้งเป็นเณรมั่น เณรคง
มีตำนานและเป็นเรื่องเล่าที่ตรงกันในสถานที่หลาย ๆ แห่ง นั่นคือ ในสมัยก่อนเมื่อจะมีการสร้างเมือง ซึ่งจะต้องสร้างประตูเมืองและกำแพงเมืองพร้อมกันด้วยนั้น ได้มีคติความเชื่อในสมัยนั้นว่า จะต้องนำคนมาฝั่งทั้งเป็นไว้ที่ประตูเมืองเพื่อเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เฝ้าปกปักรักษาเมือง โดยจะใช้คนที่มีชื่อว่า อินทร์ จันทร์ มั่น คง อยู่ ดี
การสร้างเมืองเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน เจ้าเมืองได้ประกาศให้หาคนมาฝั่งทั้งเป็นที่ประตูด้านทิศตะวันตกแห่งนี้ แต่เนื่องจากเพชรบูรณ์เป็นเมืองเล็ก จึงทำให้หาคนที่มีชื่อตามต้องการได้ลำบาก จึงให้ประกาศให้หาเฉพาะ ชื่อมั่นและชื่อคง
แม้กระนั้นก็ดี การหาคนชื่อมั่น ชื่อคง ก็ยังหายากมาก เหล่าทหารได้ออกค้นหามาหลายวันก็ยังไม่พบ จนถึงวันกำหนดพิธีซึ่งจะต้องจัดตอนเที่ยง
เวลาใกล้เพล เหล่าทหารก็ประกาศหา คนชื่อมั่น ชื่อคง มาจนถึงวัดไตรภูมิ ตะโกนว่า “กระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ๊ย … ใครชื่อมั่นชื่อคง ให้ออกมาหน่อย” ก็มีเณร 2 รูปที่กวาดลานวัดอยู่ในวัดไตรภูมิตะโกนขานรับออกมา “โว้ย…” เหล่าทหารจึงรีบเขาไปคุมตัวจะนำมาเข้าพิธี เจ้าอาวาสเห็นเช่นนั้นก็ได้ออกมาห้ามปราม แต่เหล่าทหารได้อธิบายความจำเป็นที่จะต้องนำตัวไปร่วมพิธีเพื่อบ้านเพื่อเมืองดังกล่าว เจ้าอาวาสเห็นเป็นเช่นนั้น ก็ยอม แต่ขอให้เณรทั้ง 2 ได้ฉันเพลก่อนแล้วค่อยนำตัวไป
แต่เหล่าทหารเห็นว่า เวลาใกล้จะเริ่มพิธีแล้ว จึงได้นำตัวไปทันทีโดยไม่ยอมให้ฉันเพล ทำให้เจ้าอาวาสโกรธ และสาปแช่งเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ทุกคนไว้ว่า เจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเพชรบูรณ์เกินกว่า 3 ปี ขอให้มีอันเป็นไป
จากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีเจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเกินกว่า 3 ปีแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งทุกวันนี้
ส่วนดวงวิญญาณเณรมั่น เณรคง ก็ได้สิงสถิตอยู่ที่ประตูเมือง เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ให้การปกปักรักษาและให้พรแก่คนเพชรบูรณ์มาช้านาน โดยคนเพชรบูรณ์ได้สร้างศาลไว้ที่บนป้อมประตูเมืองด้วย และคนรุ่นเก่า ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะรู้ดีถึงเรื่องนี้ มีการไปขอพร บนบานศาลกล่าวต่าง ๆ และเมื่อผ่านไปมาก็จะยกมือไหว้กันทุกคน จนทุกวันนี้
ป้อมประตูชุมพลที่อยู่ทิศตะวันตกของเมืองนี้ ปัจจุบันจะเห็นเป็นซากโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐประกอบด้วยหินทราย ตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้สี่แยกถนนเพชรรัตน์ ทางไปวัดไตรภูมิ ซึ่งยังคงมองเห็นได้จนปัจจุบันนี้
อนึ่งการฝังคนทั้งเป็นเพื่อให้เป็นวิญญาณเฝ้าเมืองนั้น เป็นคติความเชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีอิทธิพลความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งก็ตรงกับหลักฐานทางประวิติศาสตร์ของช่วงเวลาในการก่อสร้างกำแพงเมืองเพชรบูรณ์
ส่วนที่ศาลหลักเมืองปัจจุบันนี้ ก็ตั้งอยู่บนป้อมปราการเช่นเดียวกัน แต่เป็นมุมกำแพง ไม่ใช่ประตูเมืองซึ่งเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นี้ ตามหลักฐานของกรมศิลปากร เพิ่งมีการปักเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว คือ พ.ศ. 2443 นี่เอง
ซึ่งตอนนั้น บ้านเมืองเรานับถือศาสนาพุทธแล้ว จึงคงจะไม่มีการฝังคนทั้งเป็นอย่างเด็ดขาดเณรมั่นเณรคง จึงไม่ได้ถูกฝังอยู่ที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบันนี้แต่อย่างใด หากแต่เมื่อมีการตั้งเสาหลักเมืองขึ้นมา ก็อาจจะมีการอัญเชิญดวงวิญญาณเณรมั่นเณรคงไปสถิตอยู่ที่ศาลหลักเมืองดังกล่าวในภายหลัง ก็อาจเป็นได้

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้