[size=1.2em]การค้นพบ หมู่ถ้ำอชันตา ในครั้งนั้นทำให้โลกต้องตื่นตะลึงกับความมหัศจรรย์ของศิลปะภายในวัดถ้ำ ที่ไม่มีใครเคยพบเห็น หรือรู้เรื่องมาก่อน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียได้อย่างชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการศึกษาจากภาพแกะสลักหินภายในถ้ำ ที่ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่ผุกร่อนพังทลายไปเหมือนพุทธสถานอื่นๆ เพราะทุกอย่างที่นี่ สลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูก นับเป็นสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่สุดในโลกก็ว่าได้
ถ้ำเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ เป็นวัด เป็นวิหาร โดยใช้วิธีเจาะภูเขาทั้งลูกเข้าไป บางถ้ำมีถึง ๓ ชั้น มีทางเดินเชื่อมถึงกันตลอด
ถ้ำที่ก่อสร้างในยุคแรกๆ เป็น วัดถ้ำของพุทธฝ่ายเถรวาท พระสงฆ์ในยุคนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเรียบง่าย โดยเจาะหินเข้าไปเป็นห้องโถง เปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งสนทนาธรรม ส่วนผนังทั้งสามด้านก็สกัดหิน เจาะเข้าไปเป็นห้องนอน ภายในมีเตียงหิน ห้องละ ๒ หลัง
วัดของพุทธฝ่ายเถรวาท หลายถ้ำสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องบูชา ด้วยฝีมือการแกะสลักของช่างในยุคนั้น โดยได้สกัดหินจากด้านนอกเข้าไป และสกัดจากเพดานถ้ำลงมา จนได้ห้องโถงขนาดใหญ่ มีระเบียงทางเดินอยู่ด้านข้าง มีเจดีย์อยู่ในสุดของห้อง
มีการสร้าง พระสถูปเจดีย์ ไว้เพื่อสักการบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับการสร้าง พระสถูปเจดีย์ ที่สืบทอดมาจากชาวพุทธทางอินเดียตอนเหนือ...ด้วยเหตุนี้ ถ้ำอชันตา ในยุคแรกจึงยังไม่มีการแกะสลักเป็นองค์ พระพุทธรูป ให้พบเห็นมาก่อนหน้านี้
ถ้ำหมายเลข ๑๐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่ถ้ำอชันตา สร้างเป็น หอสวดมนต์บูชาพระเจดีย์ เมื่อครั้งที่ "จอห์น สมิธ" ได้เข้าไปพบเห็นเป็นครั้งแรก ตอนที่เข้าไปในในถ้ำนั้น ดินโคลนได้ทับถมสูงขึ้นไปจากพื้นถ้ำกว่าครึ่ง
"จอห์น สมิธ" ได้จารึกชื่อไว้บนเสาหิน พร้อมลงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๖๒ ซึ่งเป็นวันที่ ถ้ำอชันตา ได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก
นอกจากนี้ยังมีรอยจารึกสำคัญที่พบในถ้ำเดียวกันนี้ ได้ระบุชื่อของกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์สาตวาหนะ ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้รู้ว่าวัดถ้ำที่อชันตาได้รับการอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่การสร้างวัดถ้ำในยุคแรกๆ
ลักษณะของหมู่วัดถ้ำอชันตา นั้นพบว่ามีถ้ำมากกว่า ๓๐ ถ้ำ เรียงตัวต่อเนื่องกันยาวหลายร้อยเมตร บนเชิงเขาสูง ลักษณะเป็นวงโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยว
บริเวณหน้าถ้ำแต่ละแห่งสร้างเป็นบันไดทอดยาวลงไปยังแม่น้ำสายเล็กๆ ที่ไหลลดเลี้ยวไปตามหุบเขาเบื้องล่าง แม่น้ำสายนี้คือ "แม่น้ำวโฆระ" ซึ่งจะมีระดับน้ำขึ้นสูงในช่วงฤดูฝน
ถ้ำพุทธฝ่ายเถรวาท ที่ "อชันตา" เจริญรุ่งเรืองอยู่ต่อมาอีกราว ๒๐๐ ปี จนถึง พ.ศ.๕๕๐ ก็หยุดชะงัก ไม่ปรากฏร่องรอยการสร้างวัดถ้ำของพุทธฝ่ายเถรวาทที่นี่อีกต่อไป นานถึง ๔๐๐ ปี จึงกลับมาสร้างต่ออีกครั้งในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
แม้จะยังไม่มีคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับพุทธสถานที่ถ้ำอชันตาในช่วง ๔๐๐ ปี ที่เว้นว่างไป แต่ในช่วงเวลานั้นเองก็ได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญที่พลิกโฉมศาสนาพุทธในอินเดียไปอย่างสิ้นเชิง
สิ่งแรก คือ การเกิดขึ้นของ พระพุทธรูป สิ่งที่สองคือ ศาสนาพุทธ สายมหายาน ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเต็มตัว
การสร้าง วัดถ้ำ ที่ "อชันตา" ระยะที่ ๒ เริ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากศาสนาพุทธในอินเดียได้เข้าสู่ยุคของมหายานไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี