ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4645
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เปิดตำนาน "มหาศาสตราวุธ" คู่พระทัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

[คัดลอกลิงก์]


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์กู้แผ่นดินที่ปวงชนชาวไทยรู้จักกันมากที่สุด เรื่องราวการรบเพื่อสถาปนาความมั่นคงและเอกราชของอาณาจักรศรีอโยธยาได้ถูกบันทึกและเล่าขานสืบมาจนกลายเป็นตำนานที่คนรุ่นหลังไม่เคยลืม ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล วีรกรรมของพระองค์ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย




เรื่องราวของศาสตราวุธคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น จากประวัติศาสตร์นั้นมีการบันทึกจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญๆของพระองค์ ได้แก่พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย และพระแสงของ้าว เจ้าพระยาแสนพลพ่าย จากสงครามยุทธหัตถี
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-9-27 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑.พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง
             เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๑๒๗ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพของอโยธยาจากกรุงหงสาวดี หลังจากฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนคาบชุดยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมาแม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค

            เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงพระราชดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดีพาพรรคพวกเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีกถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-9-27 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒.พระแสงดาบคาบค่าย
                ปีพ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้านันทบุเรงประชุมกองทัพจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม่าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์และสมเด็จเอกาทศรถเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปรบทันที (สมเด็จพระเอกาทศรถทรงถูกกระสุนปืนแต่ไม่เป็นอะไร เพียงแค่ฉลองพระองค์ขาดเท่านั้น) ผลปรากฏว่าทรงยึดค่ายคืนมาได้

                จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่พระบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตเอาไว้ การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายหลวงของพระเจ้านันทบุเรง เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่า พระแสงดาบคาบค่าย
                ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงวางแผนให้ลักไวทำมูนำทหารจำนวน ๑๐,๐๐๐ ไปดักจับ สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปปล้นค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารจำนวนน้อยเข้าล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที แต่พระองค์ยังถูกล้อมอยู่และสู้กับทหารพม่า จำนวนมากนานร่วมชั่วโมง จนทัพไทยตามมาทันจึงเสด็จกลับพระนครได้ สุดท้ายกองทัพหงสาวดีบอบช้ำจากการสู้รบกับไทยอย่างมากจึงถอยทัพกลับไปเช่นเดิม

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-9-27 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓.พระแสงของ้าว
               ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทองและตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย
               เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน

              สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า
"พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"
              พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้ามังจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน พระแสงของ้าวที่ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ทำยุทธหัตถีในครั้งนี้ ก็ได้รับชื่อในเวลาต่อมาว่า "พระแสงของ้าว เจ้าพระยาแสนพลพ่าย"

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-9-27 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


               สำหรับของ้าวศึกนี้มีลักษณะพิเศษ โดยเป็นการนำตะขอและใบมีดมาใช้รวมกัน ซึ่งยังมีการใช้งานเฉพาะเมื่อทรงช้างแล้วเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่นำมาใช้ต้องผ่านการฝึกฝนด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย ในฐานะยุทธวิธีประจำตำแหน่งระดับสูง
"ใบมีดของ้าวนั้นมีความคม และได้รับการพิจารณาว่าสร้างขึ้นมาจากเหล็กกล้า ส่วนด้ามจับทำมาจากโลหะหรือไม้เนื้อแข็ง ที่เคลือบด้วยทองกับไม้สนชั้นดี"

ขอขอบคุณข้อมูล https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
                       https://th.wikipedia.org/wiki/พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย
ขอบขอบคุณภาพจาก : http://student.nu.ac.th (มหาวิทยาลัยนเรศวร)
                               ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
                               https://board.postjung.com/767316.html
(ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

เรียบเรียงโดย
เสาวลักษณ์ แสงสุวรรณ : สำนักข่าวทีนิวส์

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้