ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3884
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่นนท์ วราโภ วัดเหนือวน ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงปู่นนท์ วราโภ
วัดเหนือวน
ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี


ประวัติและปฏิปทา
๏ อัตโนประวัติ

“พระครูวราโภคพินิต” หรือ “หลวงปู่นนท์ วราโภ” อดีตเจ้าอาวาสวัดเหนือวน ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเถระชื่อดังที่มีอาวุโสสูงสุดของจังหวัดราชบุรี เป็นพระที่มากไปด้วยความเมตตาปรานี และเป็นศิษย์สายพุทธาคมวัดสัตตนารถปริวัตร และวัดลาดเมธังกร แห่งเมืองราชบุรี ที่มีพระเกจิอาจารย์เรืองวิชาอาคมหลายรูป อาทิ พระพุทธวิริยากร (จิตร) เจ้าของเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของเมืองไทย, พระพุทธวิริยากร (อินทร์) ฯลฯ

หลวงปู่นนท์ วราโภ มีนามเดิมว่า นนท์ ศรีจันทร์สุก เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2453 ตรงกับวันพุธ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ ณ บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ 1 ต.เตาอิฐ อ.บางแพ (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ ต.วังเย็น) จ.ราชบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายพลอย และนางทองคำ ศรีจันทร์สุก


๏ ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษาเบื้องต้น

ในวัยเด็กเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหนองม่วง (หงษ์วิทยาคาร) ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี และยังเป็นลูกศิษย์วัดอยู่กับ หลวงพ่อเงิน นนโท วัดหนองม่วง ตลอดเวลาที่อยู่วัดได้ปรนนิบัติรับใช้พระเณรพร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วย เด็กชายนนท์ ศรีจันทร์สุก เป็นเด็กที่ขยันขันแข็ง เป็นที่รักใคร่ ชื่นชอบ และไว้วางใจของหลวงพ่อเงิน นนโท เป็นอย่างมาก จากนั้นได้เล่าเรียนวิชาโดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคาถาอาคม เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ ทั้งสำหรับกันและแก้ นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาตำรับตำรายาแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมอีกด้วย จนกระทั่งเด็กชายนนท์ ศรีจันทร์สุก มีจิตใจฝักใฝ่ในทางธรรมยิ่งขึ้น มีอุปนิสัยรักสงบ และดูเด่นและสะดุดตาต่อผู้พบเห็น แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน

ต่อมา พระครูใบฎีกาถาวร วัดโสมนัสวิหาร แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมาพักเยี่ยมญาติโยมแถวบ้านหนองม่วง เกิดชอบใจในอุปนิสัยของเด็กชายนนท์ จึงชักชวนให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี (ในตัวเมืองราชบุรี) เพราะท่านจะต้องไปจำพรรษาที่นั่น

เด็กชายนนท์จึงได้เล่าเรียนหนังสือที่วัดสัตตนารถปริวัตร เป็นเวลาถึง 2 ปี หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร (ดา) เจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร และเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ได้จัดส่งพระครูใบฎีกาถาวรให้มาช่วยดูแลที่วัดเหนือวน จึงเป็นเหตุให้เด็กชายนนท์ต้องติดตามพระครูใบฎีกาถาวร ผู้เป็นพระอาจารย์ ไปอยู่ด้วย

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-12 19:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ปี พ.ศ.2470 ในขณะที่นายนนท์ มีอายุได้ 17 ปี พระครูใบฎีกาถาวร ผู้เป็นพระอาจารย์ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรให้ ณ วัดเหนือวน ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระครูอุดมธีรคุณ (ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นได้บวชเป็นสามเณรแล้ว พระครูใบฎีกาถาวรได้ส่งไปเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม ณ วัดสนามพราหมณ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรก

ในขณะที่สามเณรนนท์กำลังเรียนนักธรรมชั้นโทอยู่นั้น พระครูใบฎีกาถาวรเกิดอาพาธหนัก สามเณรนนท์จึงต้องกลับมาปรนนิบัติดูแลพระอาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพลง นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สามเณรนนท์ก็มิได้ไปพำนักอยู่พรรษาที่วัดอื่นอีกเลย

ต่อจากนั้นเมื่ออายุได้ 19 ปี ได้หันมาเรียนทางด้านกรรมฐาน บำเพ็ญทางจิตเพื่อเป็นการกำราบกิเลสที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจ โดยฝากตัวเรียนกรรมฐานกับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี พระอริยสงฆ์ที่ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เนื่องจากหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระสหธรรมิกได้ธุดงควัตรผ่านมา และจำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวน

ครั้นเมื่อสามเณรนนท์ ศรีจันทร์สุก มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2474 ณ พัทธสีมาวัดเหนือวน ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระพุทธวิริยากร (ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูเมธีธรรมานุยุต (เม้ย) วัดลาดเมธังกร จ.ราชบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเฉื่อย วัดเหนือวน จ.ราชบุรี เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “วราโภ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีรัศมีอันประเสริฐ”
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-12 19:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเหนือวน

ครั้นบวชแล้ว ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวนมาตลอด ต่อมาในปี พ.ศ.2499 พระอธิการเฉื่อย เจ้าอาวาส ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ด้วยความศรัทธาชาวบ้านและพระเถระผู้ใหญ่ได้มีบัญชาแต่งตั้งพระภิกษุนนท์ วราโภ รักษาการแทนเจ้าอาวาส ไปพลางก่อนเป็นเวลา 1 ปี จึงได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเหนือวน ในปี พ.ศ.2500 จวบจนมาถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลานานถึง 49 ปี

ตลอดเวลาที่หลวงปู่นนท์ วราโภ ได้ปกครองวัดเหนือวน ท่านได้ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรทุกรูป ส่งเสริมการเรียนรู้พระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี เพื่อเป็นการเรียนรู้พระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า เพื่อเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติทางจิตอันเป็นจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา

เมื่อมีเวลาจะดูแลซ่อมแซมทำนุบำรุงเสนาสนะของวัด และยังได้ดูแลโรงเรียนประชาบาล อันเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ชาวละแวกตำบลคุ้งน้ำวน เท่ากับเป็นการตอบแทนชาวบ้านทั้งหลายที่มีต่อท่าน ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนโรงเรียนประชาบาลวัดเหนือวนประชาอุทิศ ตลอดมา

๏ การศึกษาพุทธาคมและกรรมฐาน

การศึกษาพุทธาคมของหลวงปู่นนท์ ท่านได้สืบทอดวิชามาจากครูบาอาจารย์หลายรูป นับตั้งแต่เป็นเด็กวัด อาทิ พระพุทธวิริยากร (ดา), พระครูเมธีธรรมานุยุต (หลวงพ่อเม้ย) วัดลาดเมธังกร อ.เมือง จ.ราชบุรี, พระภิกษุชม วัดบางแพเหนือ อ.บางแพ จ.ราชบุรี และอาจารย์พงษ์ พรรณารักษา (ฆราวาส) ฯลฯ

ครั้งยังเป็นสามเณรในสมัยเป็นผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระมหาเลื่อน ท่านได้ศึกษาด้านการกรรมฐานบำเพ็ญทางจิตจนสำเร็จ

นอกจากนั้นแล้ว ในชีวิตสมณเพศตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา หลวงปู่นนท์ก็ยังมั่นคงในการเจริญกรรมฐานตลอดมา ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้จิตใจหมดจดบริสุทธิ์ได้จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง และอาสวะเครื่องย้อมใจที่ทำให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ให้สิ้นไปได้

ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงปู่นนท์เป็นผู้มีกายผ่องใส ใจผ่องแผ้วอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ปรารถนาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เดินทางมากราบไหว้ท่านถึงวัดกันเป็นจำนวนมาก

บรรดาศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดต่างเชื่อว่าท่านเป็นทิพยจักษุ มีเทพคู่บารมีคอยช่วยเหลือ อีกทั้งมีมุขวาจาสิทธิ์ พูดจริงทำจริง และเป็นอย่างที่ท่านพูดเสมอ หลายคนเคยประจักษ์มาแล้ว อย่างเช่นงานพิธีเป่ายันต์เกราะเพชรที่วัดเจ้าอาม หลายปีก่อนนั้นได้นิมนต์หลวงปู่นนท์มานั่งบริกรรมภาวนาประจำทิศ เสร็จพิธีญาติโยมเข้าไปรดน้ำมนต์ พอเข้าไปใกล้บาตรน้ำมนต์ เห็นน้ำมนต์ในบาตรหมุนเป็นเกลียว ทั้งที่ยังไม่ได้พรมน้ำมนต์เลย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-12 19:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การสร้างวัตถุมงคล

หลวงปู่นนท์ ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้ไม่กี่รุ่น เหตุนี้ทำให้คนที่อยู่นอกพื้นที่หาบูชายากหน่อย บางรุ่นก็หมดจากวัดไปนานแล้ว อย่างเช่น เหรียญรูปไข่ รุ่นแรก พ.ศ.2511 หายากมาก นอกจากนี้ยังมี เหรียญกลมเล็ก รุ่น 3 พ.ศ.2530 แต่ที่ยังพอมีเห็นให้บูชาจะเป็นรุ่นหลังๆ อย่างรุ่น 4 รุ่น 5 โดยเฉพาะพระปิดตาสุดยอดเมตตามหานิยม ส่วนพระปิดตาเนื้อผงรุ่นแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.2539 ยอดเยี่ยมทางการค้าขายโชคลาภ

ส่วนพระเครื่องรุ่นหลังๆ ที่ได้รับความนิยมสูง เช่น พระสมเด็จอกครุฑเศียรบาตร ผงว่านมหามงคลมวลสาร 108 จากพระเกจิอาจารย์เกือบทั่วประเทศ ขนาดยังไม่ทันปลุกเสกไตรมาสพอลูกศิษย์และญาติโยมรู้เรื่องต่างสั่งจองก่อนหมด ก่อนเปิดให้บูชาเนื่องในวันคล้ายวันเกิด พ.ศ.2543 ของท่าน ส่วนรุ่นสุดท้ายก็คือ รุ่น 8 รอบ 96 ปี ที่สร้างเป็นรูปแบบงานย้อนยุคเหรียญดังวัดสัตตนารถปริวัตร พระเครื่องของหลวงปู่นนท์ กล่าวขานว่า ดีทางเมตตามหานิยม ผสมแคล้วคลาดปลอดภัย มีไว้ไม่อับจน

คณะศิษยานุศิษย์เชื่อมั่นในบุญญาบารมีของหลวงปู่นนท์ ว่ามีพลังจิตตานุภาพในการอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลให้เกิดฤทธิ์อำนาจได้ ทั้งนี้เพราะท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมสายตรงจากวัดสัตตนารถปริวัตร และวัดลาดเมธังกร

พระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยและพระเถระผู้ใหญ่ยกย่องนับถือหลวงปู่นนท์ ในเรื่องปฏิปทาว่ามีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ศีลาจารวัตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่พระเกจิอาจารย์วัดดังต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกมีงานพุทธาภิเษกจะต้องนิมนต์หลวงปู่นนท์ วัดเหนือวน ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลอยู่เป็นประจำ

๏ การมรณภาพ

หลังจากถูกโรครุมเร้าจนต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร อยู่ประมาณ 3 เดือน โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

ท่านก็ละสังขารลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ในเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ของวันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ.2550 ท่ามกลางความโศกเศร้าของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก สิริอายุรวม 96 ปี 9 เดือน 19 วัน พรรษา 76 กำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 11 มกราคม ณ วัดเหนือวน

ถึงหลวงปู่นนท์จะจากไป แต่ชาวบ้านและลูกศิษย์ที่เคารพนับถือทั้งหลายต่างเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านแสดงให้เห็น และสร้างความมั่นใจว่าหลวงปู่นนท์ยังอยู่ในใจ และคอยปกป้องรักษาคุ้มภัยช่วยเหลือทุกคน

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย ดุสิต ลิมปวัฒนางกูร
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5959
2. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้า 1
คอลัมน์ เกจิสยามรัฐ - 13/1/2550

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24389
กราบครับ

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้