|
คันฉ่องโบราณ เครื่องรางเนื้อสำริดของจีน สมบัติฮ่องเต้
"คันฉ่อง" ปัจจุบันนักสะสม....เมือง ไทยนิยมมาก เป็นสมบัติของฮ่องเต้ และขุดพบในหลุมฝังศพ การที่จะนำมาเก็บสะสมไว้ในบ้าน จึงต้องทำพิธีขอขมา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าของเดิมเสียก่อน เหมือนกับที่คนไทยสมัยหนึ่ง นิยมสะสมลูกปัดทวารวดี ที่ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของเดิมก่อน เพราะลูกปัดก็เป็นของที่ขุดหาได้จากหลุมศพของคนโบราณเช่นกัน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ "คันฉ่อง" ไว้ว่า... เครื่องใช้ทำด้วยโลหะ ขัดจนเป็นเงา มีด้ามถือ ใช้สำหรับส่องหน้า ปัจจุบันเรียกกระจกเงามีกรอบ 2 ชั้น สําหรับเอนเข้าออกได้ ตั้งบนโต๊ะเครื่องแป้ง
สรุปง่ายๆ "คันฉ่อง" คือกระจกเงา นั่นเอง แต่ในความหมายของชาวจีนสมัยโบราณ คันฉ่อง มีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้นมาก เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นทั้งโบราณวัตถุ และเครื่องรางของขลัง รวมทั้งเป็นสารตรา ตั้งของฮ่องเต้ ที่จะทรงมอบหมายพระราชอำนาจให้กับใครก็ตาม ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ไปทำราชการแทนองค์ฮ่องเต้ ในทุกแห่งหน ทั่วพระราชอาณาจักร
คันฉ่อง เนื้อสำริด ของจีนโบราณ เริ่มมีการสร้างมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช (บางแห่งบอกว่าสร้างเมื่อ 4,000 ปีก่อน) โดยการนำโลหะชั้นเยี่ยมประเภททองสัมฤทธิ์ และปรอท เป็นส่วนผสมในการหล่อสร้าง มีลวดลายต่างๆ ดูแปลกตา แต่แฝงเอาไว้ด้วยศาสตร์ และศิลป์อันมีความหมายอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจว่า อาจจะมีการบรรจุพุทธาคมลงไปด้วย เพื่อใช้ในการปกป้องภยันตรายต่างๆ ปกป้องคุ้มครองมิให้สิ่งเร้นลับ คุณไสย หรือภูตผีปีศาจมารังควานได้
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของคันฉ่องคือ ด้านที่มีเงาแวววาวนั้น ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินได้ เช่น คนหลงป่า หรือเรือที่ประสบอุบัติเหตุกลางทะเล สามารถใช้ส่องให้สะท้อนแสงพระอาทิตย์ เพื่อบอกให้คนอื่นได้รับรู้ และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
แทบไม่น่าเชื่อว่า คนจีนในยุค 2,000-3,000 ปีก่อนหน้านี้ จะสามารถสร้างสรรค์คันฉ่องได้อย่างเยี่ยมยอดขนาดนี้ เคียงคู่กับศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ของจีนตลอดมา
ในทางปฏิบัติ หากฮ่องเต้พระองค์ใด สิ้นพระราชอำนาจ สิ้นราชวงศ์ เมื่อมีการสถาปนาฮ่องเต้ราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ จะมีการสร้างคันฉ่องประจำราชวงศ์ขึ้นมาแทนทุกครั้ง รูปแบบและลวดลายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลง ไปด้วย ตามแต่ฮ่องเต้แต่ละยุคแต่ละสมัยจะกำหนดขึ้น แต่จะไม่เลียนแบบของฮ่องเต้องค์ก่อนๆ อย่างเด็ดขาด
คันฉ่องจีนโบราณ เท่าที่มีการขุดพบในยุคแรก เป็นของสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.322-336) คือ เมื่อประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว จากนั้นได้มีการสืบสานสร้างกันต่อมา จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ชิน สมัยสามก๊ก สมัยหกราชวงศ์ (พ.ศ.963-1132) สมัยราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง สมัยห้าราชวงศ์ สมัยราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์ หงวน(มองโกล) ราชวงศ์เหม็ง (หรือหมิง) และราชวงศ์ชิง หรือเชง แมนจู (พ.ศ.2187-2455)
ในยุคแรกๆ คันฉ่องที่สร้างขึ้นมาไม่มีรูปแบบแกะสลักลวดลายอะไรมากนัก มีเพียงเป็นเส้นๆ เป็นจุดๆ หรือวงกลมๆ เท่านั้น โดยใช้ เป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา หรือใช้แทนพลังจักรวาล ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์
คอลัมน์ มุมพระเก่า
อภิญญา
เครดิต.http://kruprathai.com.
|
|