|
ทหารคู่พระทัยทั้งสี่มีใครรู้จักบ้าง...............ยกมือขึ้นหน่อยเป็นไร
ผมเชื่อว่ามีฅนรู้น้อยแทบจะนับนิ้วได้ เพราะบ้านเมืองเราไม่ค่อยเชิดชูบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ฅนในชาติกันเท่าใดนัก เชิดชูกันอยู่ได้ก็เพียงแค่ฅนที่มีเงินมีทองเป็นหมื่นล้านเป็นพันล้านบาท แถมยังเชิดชูกันแบบถวายหัว มันเป็นเสียอย่างนี้แหละเมืองไทยเรา มีเงินก็เรียกน้อง มีทองก็เรียกพี่ ทำความดีข้าไม่รู้จัก และไม่สนใจ.....
คุณๆ ลองควักธนบัตรใบ ๒๐ ออกมาดูซิครับ จะเห็นบรรพบุรุษที่เป็นทหารหาญ ที่ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป.... ทหารหาญทั้งสี่ที่เป็นขุนศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ๔ หน่อ หนึ่งคือ "พระเชียงเงิน" ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีว่า มิได้หนีมาพร้อมกับพระเจ้าตากสินฯ แต่เสด็จมาพบในภายหลัง และได้ให้ "พลายแหวนกับพังหมอนทรง" แสดงว่าพระเชียงเงินน่าจะมีบริวารอยู่พอสมควร ถึงกับมีช้างที่จะถวายได้ อีกทั้งบรรดาศักดิ์ที่เป็น "พระ" ก็สูงกว่าบริวารทั้งหมดที่ออกชื่อไว้ในพระราชพงศาวดาร เข้าใจว่าเชียงเงินจะเป็นชุมชนหรือเมืองเล็กๆ แถบเมืองตาก-ระแหง เพราะแถบนั้นปรากฏชื่อเมือง "เชียงทอง" อยู่ด้วย (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, พระนคร, โอเดียนสโตร์, ๒๕๐๕, หน้า ๓๖๒) ถ้าเช่นนั้นก็พอเดาได้ว่า พระเชียงเงินก็คงเป็นเจ้าเมืองเชียงเงิน ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองตาก-ระแหง มาก่อน และด้วยเหตุนี้ เมื่อได้พบพระเจ้าตากสินฯ จึงได้เข้าสวามิภักดิ์ด้วยแต่ต้น
ต่อมา พระเชียงเงิน ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าตากสินฯ ให้รับตำแหน่งของขุนนางส่วนกลางในระหว่างทางเดินทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาไปเมืองระยอง ซึ่งตอนนี้ พระเจ้าตากสินฯ ได้ประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรอยุธยาหลังจากหนีออกจากอยุธยาแล้ว พระราชพงศาวดารกล่าวไว้ในคราวที่ทรงต่อสู้เหล่าร้ายที่เมืองระยอง พระเชียงเงินได้รับตำแหน่งที่ "ท้ายน้ำ" ไปแล้ว พระราชพงศาวดารเรียกว่า "พระเชียงเงินท้ายน้ำ" ครั้นเมื่อปราบเมืองเหนือได้เรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเชียงเงินท้ายน้ำผู้นี้รั้งเมืองสุโขทัย จึงปรากฏชื่อว่าเป็น "พระยาสุโขทัย" จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๓๒๐
พระเชียงเงินท้ายน้ำหรือพระยาสุโขทัยนั้น เป็นเจ้าเมืองฅนหนึ่งที่ พระเจ้าตากสินฯ โปรดให้มาเฝ้า เพื่อทรงสั่งสอนวิชาการต่อสู้ข้าศึก เพราะฉะนั้น พระยาสุโขทัยผู้นี้ จึงเป็นข้าราชการที่ได้รับความไว้วางพระทัยอย่างสูงจากพระเจ้าตากสินฯ ผู้หนึ่ง (จากหนังสือ "การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" โดย ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์)
ฅนต่อมาคือ หลวงราชเสนา ซึ่งต่อมาก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หลังจากพระยาตากสินที่รวบรวมไพร่พลตั้งอยู่ที่จันทบุรี เข้าตีพม่าข้าศึกที่ตีกรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าตากสิน สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทในขณะนั้นทรงได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็น "พระมหามนตรี" เจ้าพระตำรวจในขวา
ทหารหาญต่อมาคือ หลวงพิชัยอาสา ซึ่งก็คือพระยาพิชัยดาบหักนั่นแหละ พระยาพิชัยดาบหักนั้นเดิมชื่อ "จ้อย" และชอบชกมวยก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "นายทองดี ฟันขาว" นายทองดี ฟันขาว นั้น ถือว่ามีฝีมือในการชกมวยมาก เท้าไว เตะขากรรไกรครูมวยหลายฅนสลบไสลไปหลายครั้งหลายครา และได้ชกมวยต่อหน้าพระยาตากเสียด้วย เจ้าเมืองตากจึงชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (พระเจ้าตากสินฯ) ตั้งแต่บัดนั้น รับใช้เจ้าเมืองตาก เป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา"
เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ (จากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์) ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิด และเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการ พร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา และทหารหาญ ได้เข้าปะทะต่อสู้จนชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร ได้เข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ พระเจ้าตากสินฯ ได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว พระเจ้าตากสินฯ ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรี และได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสาเป็น "เจ้าหมื่นไวยวรนารถ" เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์
และฅนสุดท้ายก็คือ "หลวงพรหมเสนา" ซึ่งถือทหารชั้นประทวน มียศเป็นจ่าเมือง รับใช้ใกล้ชิดพระยาตากมาแต่ครั้งอยู่เมืองตาก เป็นฅนที่ชอบทางด้านไสยศาสตร์ วิชาอาคม เก่งในเรื่องการใช้ธนู เป็นหมอสักยันต์ให้แก่บรรดาทหาร
ธนบัตรรุ่นนี้นำเอาภาพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงพระปรีชาด้านการรบ และสามารถกอบกู้อิสรภาพของฅนไทยให้กลับคืนมาจากพม่า จนทางราชการประกาศให้วันที่ ๒๘ ธ.ค. ของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" มาบันทึกไว้ให้อนุชนฅนรุ่นหลังได้ศึกษา และระลึกถึงผ่านทางธนบัตร
แต่เชื่อว่าหลายฅนไม่เคยรับรู้
ที่มา http://www.posttoday.com
|
ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง
คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน
x
|