|
หลวงพ่อพระสุริยมุนี
พระครูศิลกิตติคุณหรือหลวงพ่ออั้น คนฺธาโร แห่งวัดพระญาติการาม ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอดีตเจ้าคณะตำบลหันตรา ศิษย์เอกผู้สืบทอดวิทยาคมจากหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีอยู่มากมายหลายรูปอาทิ พระอาจารย์เภา พระครูอุทัยคณารักษ์ หลวงปู่สีและหลวงปู่ดู่ วัดสะแก ฯลฯ ในสมัยที่หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ได้ทำนุบำรุงวัดพระญาติ ฯ ต่อจากหลวงพ่อกลั่น จนกระทั่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
เวลาต่อมาถึงแม้ว่าหลวงพ่ออั้นท่านจะเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมายก็ตาม แต่อิทธิวัตถุมงคลของหลวงพ่อกลับไม่มีมาก นอกจากเหรียญหลวงพ่อกลั่น สองสามรุ่น กับเหรียญรูปหล่อของท่านอีกสองรุ่น นอกจากนั้นก็เป็นพระเครื่องอีกประมาณสองชนิดคือ พระขุนแผนเคลือบที่นักพุทธนิยมรู้จักดีกับพระสุริยมุนี ซึ่งเป็นพระเครื่องเนื้อดินพิมพ์นาคปรก ซึ่งหลวงพ่ออั้นได้ปลุกเสกร่วมกับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
ผู้ที่ทำให้ชื่อเสียงของพระสุริยมุนีเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ นายพวง อุณจักร นายสถานีรถไฟอยุธยากับคณะ ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. 2475 ได้ช่วยกันรวบรวมพระพุทธรูปที่ชำรุดปรักหักพัง ที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกราดในบริเวณ วัดหัวกระบือ อันเป็นวัดเก่าแก่โบราณซึ่งอยู่ในเขตที่ดินของรถไฟ โดยนำมาตั้งเรียงกันและทำหลังคาบังแดดบังฝนไว้ คุณพวง อุณจักร เล่าว่าเมื่อประมาณปี 2475 ท่านย้ายจากทุ่งสง มาดำรงตำแหน่งนายสถานีอยุธยา โดยปกติ คุณพวงฯ เป็นคนมีใจบุญสุนทานอยู่แล้ว ได้เห็นโคกแห่งหนึ่งในเขตย่านสถานีอยุธยา เต็มไปด้วยป่าสะแก รกรุงรังมาก เป็นที่พักเลี้ยงควายของชาวบ้าน เพราะที่โคกนี้ฤดูน้ำท่วมไม่ถึง คุณพวงฯ เห็นชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูปทิ้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป บางส่วนมีมูลควายทับถมอยู่ บางชิ้นเป็นที่นั่งเล่นของชาวบ้าน เมื่อพบพระพุทธรูปชำรุดที่จมอยู่ในสิ่งโสโครก ในที่แวดล้อมเช่นนี้ก็มีความรูปสึกสังเวช จึงได้เก็บมารวบรวมไว้เป็นที่ แล้วถากถางบริเวณที่รกรุงรังให้สะอาดตาขึ้นตามสมควร นำชิ้นส่วนมาประกอบติดต่อกันเท่าที่จะทำได้ ผู้ที่สนใจร่วมกันในคราวนั้น จึงพากันขนานนามว่า “หลวงพ่อคอหัก” และชื่อนี้ยังใช้กันมาอยู่จนทุกวันนี้
ในวิหารแห่งนี้ มีพระพุทธรูปซึ่งซ่อมปฏิสังขรณ์ได้ 9 องค์ โดยปาฏิหาริย์มาจากที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้วในตอนต้น มีพระพุทะรูปองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปนาคปรกทำด้วยหินทรายสีเขียว ( นอกนั้นเป็นหินทรายสีแดงทั้งนั้น) ผู้เชียวชาญทางพระพุทธรูปหลายท่านกล่าวว่ามีพุทธลักษณะแบบทวาราวดี แกะนูนออกมาจากแผ่นศิลา ใบหน้ามีรอยกะเทาะหลุดออกทำให้เศียรขาด ส่วนตั้งแต่คอลงมาจนถึงฐานอยู่ในลักษณะดี ศีรษะพญานาคชำรุดซีกหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูปทุกองค์ ในลักษณะเป็นพระประธาน เมื่อชำรุดอยู่นั้นได้รับการปิดเป็นทองเด่นกว่าทุกองค์ ประชาชนมักพุ่งความศรัทธาต่อพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพิเศษ พระพุทธรูปปางนาคปรกที่มีผู้ขนานนามว่าพระสุริยมุนี เป็นพระพุทธรูปสลักจากศิลาเนื้อละเอียดสีเขียวเข้มเจือดำสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี
มีขนาดหน้าตักกว้าง 69 ซ.ม. สูง 89 ซ.ม. ที่น่าแปลกก็คือส่วนสัดขององค์พระไม่ว่าจะวัดจากมุมใดจะตกเลข “ 9 ”
ทั้งนั้น อาทิ แทน ประทับกว้าง 89 ซ.ม. ช่วงพระอังสาวัดได้ 39 ซ.ม. ช่วงพระกัปประวัดได้ 49 ซ.ม. ฯ
ประดิษฐานอยู่ที่วิหารขนาดย่อมตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา
ในจำนวนพระพุทธรูปทั้งหมด มีอยู่องค์หนึ่งที่งามเป็นพิเศษ นั่นก็คือพระสุริยมุนีหรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงพ่อคอหัก” ซึ่งปรากฏอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น เมื่อนายพวง อุณจักรกับพวกพนักงานรถไฟ ได้พากันไปอธิษฐานขอให้ถูกสลากกินแบ่ง ที่ตนและเพื่อนร่วมหุ้นกันซื้อไว้ 1 ใบ ๆ ละบาท
โดยออกเงินคนละ 10 สตางค์ แล้วจะสร้างวิหารถวายพร้อมกับทำสะพานไม้ เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ข้ามไปนมัสการโดยสะดวก ซึ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งเมื่อถึงกำหนดออกรางวัล สลากใบนั้นตรงกับเลขรางวัลที่ 1 ได้รับเงินถึง 80,000 บาท แบ่งหุ้นกันคนละ 8,000 บาท ค่าของเงินจำนวนนี้นับว่ามากโขในสมัยนั้น คุณพวง อุณจักร์ กับคณะที่ถูกลอตเตอรี่ก็ได้ช่วยกันออกเงินสร้างวิหารถวายทำด้วยไม้ สิ้นเงินไปประมาณสองพันบาทเศษ ทุกคนช่วยกันทะนุบำรุงรักษาหลวงพ่อตั้งแต่นั้นมายิ่งกว่าแต่ก่อน และหาช่างมาซ่อมแซมหลวงพ่อต่อเศียรขึ้น 3 องค์ แต่ก็ยังมีชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ประกอบเข้ากันไม่ได้อีกหลายชิ้น พระพุทธรูปทั้งหมดที่อยู่ในวิหารไม้นี้ เป็นพระพุทธรูปหินทราย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส พากันมาสักการบูชาอธิษฐานขอพรกันมากขึ้นเรื่อยๆ กิติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ก็เลื่องลือออกไปไกล ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาโดยเฉพาะทางรถไฟ มักจะยกมือขึ้นสักการะขอพรเสมอๆ และมีผู้รวมกันปวารณาเป็นศิษย์ของหลวงพ่อใช้นามว่าคณะศิษย์หลวงพ่อคอหัก
ต่อมาได้มีการก่อสร้างวิหารเป็นอาคารคอนกรีต ขึ้นแทนอาคารไม้ของเดิม เนื่องมาจากนายเฮาะจิว นิธากร เจ้าของโรงงานถ่านไฟฉายศรีชัย ซึ่งสมัยยังหนุ่มได้ไปมาค้าขายระหว่างกรุงเทพ – ปากน้ำโพ เมื่อนั่งรถไฟผ่านวิหารหลวงพ่อคอหักครั้งไร ก็ยกมือไหว้อธิษฐานขอให้ทำมาค้าขึ้นจนภายหลังมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี คุณยุพนา ธรรมโกวิทย์ บุตรสาว นายห้างเฮาะจิว นิธากร เจ้าของโรงงานถ่านไฟฉาย ยี่ห้อ ไบรท์ ตราใบโพธิ์ เล่าว่า ตามที่ปรากฏจากการนั่งตรวจทางในของ พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งปรากฏเสียงออกมาว่า “พระสุริยมุนี” พบว่า พระพุทธรูปในวิหารนี้เดิมมีนามว่า “พระสุริยมุนี” และราวปลายปี พ.ศ. 2507 จึงบริจาคเงินประมาณสองแสนบาท ขออนุญาตสร้างวิหารหลังใหม่และสะพานคอนกรีตกับบูรณะพระพักตร์ที่ชำรุดอยู่จนเรียบร้อยและได้นิมนต์พระภิกษุที่ทรงญาณ มาตรวจสอบทางในทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้เดิมมีนามเรียกว่า “พระสุริยมุนี” ดังนั้นจึงเปลี่ยนนามจากที่เรียก หลวงพ่อคอหัก เสียใหม่ให้ถูกต้อง
หลวงตาคำซึ่งก่อนบวชเป็นนักการของสถานีรถไฟอยุธยา และคอยดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาสักการะพระสุริยมุนี ที่วิหารมาตั้งแต่แรก ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นนายคำได้อธิษฐาน บอกกล่าวแก่หลวงพ่อพระสุริยมุนีว่า หากถูกสลากกินแบ่งก็จะบวช และปรากฏว่าถูกรางวัลจริงๆ นายคำก็เลยบวชที่วัดยม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวสถานีรถไฟ
และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการบูชาพระสุริยมุนีกันอย่างทั่วถึง
คณะกรรมการจึงสร้างพระสุริยมุนีจำลองขนาดเท่าองค์จริง จำนวน 9 องค์
นำไปประดิษฐานตามต่างจังหวัดต่างๆดังนี้
องค์ที่ 1 ประดิษฐานที่บึงพระราม สวนสาธารณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่ ร.ร วัดพระญาติการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
องค์ที่ 3 ประดิษฐานที่วัดป่าสวนเกษตรรังสรรค์ (วัดดงสระพัง) จังหวัดอุดรธานี
องค์ที่ 4 ประดิษฐานที่มณฑปวัดพุทธภูมิ อ.เมือง จ.ยะลา
องค์ที่ 5 ประดิษฐานที่วัดในจังหวัดชัยภูมิ
องค์ที่ 6 ประดิษฐานที่ ภาคตะวันออก
องค์ที่ 7 ประดิษฐานที่ ภาคเหนือ
องค์ที่ 8 ประดิษฐานที่ ศาสนาสถาน ค่ายพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
องค์ที่ 9 ประดิษฐานที่ จังหวัดอุบลราชธานี
หลวงพ่อพระสุริยมุนีนอกจากจะอำนวยโชคลาภ สิริมงคลและความปลอดภัยให้แก่ผู้สักการะอธิษฐานจิต เมื่อเดินทางผ่านไปมาแล้ว
น้ำมนต์ของท่านก็ศักดิ์สิทธิ์นัก ผู้ที่ถูกผีเข้าจ้าวสิงหรือถูกกระทำย่ำยี ด้วยคุณไสย เมื่อได้อาบและดื่มกินก็จะหายเป็นสุข
วัตถุมงคลในรูปลักษณ์ของหลวงพ่อพระสุริยมุนี ซึ่งหลวงพ่ออั้นเป็นผู้ปลุกเสกและบรรจุผงวิเศษที่ใต้ฐาน
นับเป็นของดีอีกชนิดหนึ่งที่นักพุทธนิยมคงจะลืม หรือเกือบจะลืมไปแล้ว ส่วนใหญ่จะรู้จักกันแต่เฉพาะพระขุนแผนเคลือบ
และเหรียญรูปเหมือนของท่าน
ทั้งที่เชื่อได้ว่ามีอานุภาพที่ไม่ต่างกันแต่อย่างไร ซ้ำจะเหนือกว่าตรงที่อยู่ในรูปจำลองของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
|
|